ชีวิตที่พอเพียง : ๗๑๑. ออกแบบประเทศไทย


 

          วันที่ ๒๘ ก.พ. ๕๒ ผมไปร่วมออกแบบประเทศไทย ๒๕๖๒ กับผู้ทรงคุณวุฒิรวม ๓๐ คนเศษ ที่สวนสามพราน    จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ   เป็นการประชุมที่สนุกมาก   และผมต้องจากการประชุมมาด้วยความเสียดายในตอนเย็น   เพื่อมาทำหน้าที่พ่อ เพราะลูกสาวคนเล็ก (ซึ่งอยู่ที่นิวยอร์ค) เขามาเยี่ยมบ้าน    การประชุมนี้จัดวันที่ ๒๘ ก.พ. – ๑ มี.ค.    ผมอยู่ได้เพียงวันเดียว  

          ผมบอกตัวเองว่า ชีวิคคนเราก็เป็นเช่นนี้เอง    เวลามีน้อย ต้องแบ่งปันกันไป    คนเรามีหลายหน้าที่ ต้องแบ่งเวลาให้หน้าที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม   เป็นข้อจำกัดที่ทุกคนเท่าเทียมกัน  

          ถ้าไม่มีวิกฤตใหญ่กำลังท้าทายอยู่ในปัจจุบัน    และวิกฤตนี้ชัดเจนว่าจะขยายใหญ่มากในอนาคตอันใกล้   สถาบันคลังสมองฯ คงจะไม่สามารถเชิญผู้ทรงคุณวุฒิระดับนี้จากหลากหลายสาขามาร่วมกันได้มากและเหมาะสมขนาดนี้

          นี่คือข้อดีของวิกฤต    คือเปิดโอกาสให้คนหันมาร่วมคิดร่วมทำกันมากขึ้น   ร่วมกันคิดในมุมมองใหม่ได้ง่ายขึ้น

          และนี่คือข้อดีของการมีหน่วยงานเล็กๆ อย่างสถาบันคลังสมองฯ    ที่มีทุนทางสังคม ว่าเป็นหน่วยงานเป็นกลาง ที่เปิดรับความคิดเห็นรอบด้านหลากหลายแบบ    เพื่อการสร้างสรรค์

          ผมจึงจัดว่าเป็นคนมีบุญ ที่ได้มีโอกาสเป็นกรรมการของสถาบันคลังสมองและได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมนี้ด้วย  

          การประชุมนี้สนุกมากเพราะใช้เทคนิคพิเศษในการประชุม   ที่เรียกว่า foresight technique   เพื่อสร้างฉากอนาคตร่วมกัน   ทั้งฉากดีและฉากร้าย    และร่วมกันหาทางสร้างผลกระทบไปสู่ฉากดี

           ดร. นเรศ ดำรงชัย วิทยากรหลักของเทคนิคนี้ แนะนำ foresight and scenarios ดังนี้
                • เน้นฟังความคิดของคนอื่น  เอามาเปนแรงบันดาลใจให้คิดได้ดีขึ้น    มุ่งระยะยาว
                • ออกแบบ – ทำได้ตั้งแต่วันนี้   สร้างผลกระทบลูกโซ่ไปข้างหน้า  
                • มองทั้งส่วน  โฟกัส – ลำแสง   และส่วนสลัว – periphery
                • ไม่ใช่ทำนาย  แต่เป็นการมองหาสัญญาณ   หาทางเข้าไปกระทบให้อนาคตเป็นตามที่พึงประสงค์  
                • เริ่มจาก idea market (เช้า ๒๘ ก.พ.) -> 2562 Scenario writing (บ่าย) -> Share the scenarios (เช้า ๑ มี.ค.) -> Strategy for Today

          จะเห็นว่าผมมีบุญแต่กรรมบัง    ได้เรียนรู้เทคนิค foresight เพียงท่อนเดียว    ยังไม่ทันได้เห็นการวาดฉากอนาคต (scenario) ก็ต้องจำใจจากมาด้วยความเสียดาย   

          ที่จริงประเทศไทยไม่มีใครออกแบบได้    ไม่มีใครออกแบบสังคมไหนๆ ได้    แต่เราทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์สังคมได้คนละเล็กละน้อย    ผมเชื่อว่าสังคมออกแบบไม่ได้ แต่สร้างสรรค์ได้    คือไม่มีพิมพ์เขียวของสังคม   แต่เราร่วมกันหนุนเสริมการผุดบังเกิด (emergence) ของภาพดีๆ ในสังคมได้    โดยที่สังคมเป็นฉากเชิงซ้อนที่มีหลากหลายซับ ซ้อนมาก    ที่เรียกว่า Complex Adaptive Syatems   คือนอกจากซับซ้อนแล้ว ยังดิ้นได้อีกด้วย  

          การไปร่วมการประชุมนี้ ผมได้เรียนรู้ทั้งเชิง process  และเชิง content    เชิง process ผมเรียนรู้เทคนิค foresight    เชิง content ผมเรียนสาระสังคมจากหลากหลาย มุมมอง ของผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายด้าน 

          ดร. นเรศ แนะนำให้คิดแบบสามเหลี่ยม  คือมองโลก  มองรัฐ (ไทย)  และมองชุมชน    ว่ามีอะไรเกิดขึ้น   และในอนาคตเราอยากขยายส่วนไหนให้มาเชื่อมกันเป็นภาพใหญ่ที่พึงประสงค์    เท่ากับเป็นวิธีคิดแบบสร้างสรรค์อนาคตโดยเอา SS – Success Story เล็กๆ ที่มีอยู่แล้วมาขยาย    ผมชอบวิธีคิดแบบนี้จริงๆ    แต่จนถึงเวลาที่ผมจากมา ผมคิดว่าคนไม่ get ประเด็นนี้   

          ผมเล็งไว้ว่า จะยุให้ กกอ. (จริงๆ แล้วผู้จัดคือ สกอ.) จัดประชุมแบบนี้    ใช้ foresight technique ร่วมกันวาดภาพอนาคตของระบบอุดมศึกษาไทย    แต่จะปรับนิดหน่อย โดยจะมีทีมรวบรวมข้อมูล SS ในระบบอุดมศึกษาไทย เอามาให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ ศึกษาไว้ก่อน    คือข้อมูลที่ใช้ในเวที foresight ไม่ใช่มาจากประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น    ต้องมาจากผลการวิจัยหรือการรวบรวมข้อมูลด้วย    โดยเฉพาะข้อมูล SS สะเก็ดเล็กๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ  

          ผมฝันต่อ ว่า สัมมนา foresight ระบบอุดมศึกษาต้องพิถีพิถันการเลือกผู้เข้าร่วม ให้มาจากหลายฝ่ายอย่างสมดุล    คือต้องให้มาจาก demand side อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง    มิฉนั้นจะกลายเป็นมาจาก supply side ทั้งหมด    foresight ก็จะกลายเป็น supply side foresight ไป 

          กลับมาที่ออกแบบประเทศไทย    คิดตามสามเหลี่ยมของ ดร. นเรศ    และคิดแบบ AAR   ถ้าเราเชิญคนจากภาคชุมชนมาร่วม เราจะเห็นสะเก็ดภาพดีๆ ที่ก่อเกิดในชุมชน มากมายที่คนกรุงเทพไม่มีโอกาสรับรู้    เราก็จะออกแบบประเทศไทยโดยใช้ “ทุนสังคม” ที่มีอยู่ได้ทะมัดทะแมงยิ่งขึ้น  

          การออกแบบประเทศไทย ต้องมุ่งใช้ “จิ๊กซอว์” ที่มีอยู่ให้ครบถ้วน   และสร้าง “จิ๊กซอว์” ใหม่ที่ยังขาด   เอามาสร้างสรรค์ประเทศไทย   “จิ๊กซอว์” นี้ ส่วนหนึ่งเอามาจากต่างประเทศ เอามาปรับให้เข้ากับบริบทไทย   แต่เราต้องไม่ละเลย “จิ๊กซอว์” ที่เรามีอยู่แล้ว จากการสร้างสรรค์ในสังคมของเราเอง ตามซอกมุมต่างๆ ของสังคมไทย

 

วิจารณ์ พานิช
๑ มี.ค. ๕๒

   

หมายเลขบันทึก: 248962เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2009 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์หมอ

ได้ฟังที่อาจารย์เล่า แล้วรู้สึกประทับใจมาก แม้จะไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ แต่ก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศดีๆ ที่อาจารย์เล่าให้ฟังครับ

สถาบันผู้จัด และผู้ดำเนินรายการเขาลึกซึ้งมากนะครับ

กับกระบวนการระดมพลังปัญญาที่นำมาใช้

มันดูเหมือนการประยุกต์ใช้หลักการของ The Secret

แต่ขยายผลจากระดับปัจเจก มาสู่กลุ่มคน

ให้คนได้ฝันร่วมกัน  คิดร่วมกัน 

เพื่อให้คนได้มีแรง มีพลังที่จะทำอะไรดีๆ ด้วยกัน  เยี่ยมจริงๆ ครับ

ครั้งหนึ่งเคยอ่านหนังสือเรื่อง ปรัชญาอภิมนุษย์ - Synchronicity

ผู้เขียนได้เล่าว่า บริษัทเชลล์ ก็เคยใช้ลักษณะคล้ายๆ แบบนี้

เพื่อจัดทำกลยุทธการดำเนินการของบริษัท

มีการจัดทำเป็น 2 scenario อันแรกเป็นภาพอนาคตแบบที่ โลกนี้มีสภาพแวดล้อมที่ดี บริษัทก็มีกำไร 

กับอย่างที่สองที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูแย่ไปหมด

บางทีมันก็ดูเหมือนหลอกตัวเองไปบ้าง

แต่หากการหลอกตัวเองนั้นมันทำให้เรามีพลังที่จะทำอะไรดีๆ  เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ความฝัน  มันก็ดีในตัวมันเองแล้วใช่ไหมครับ

หรือในความเป็นจริง แล้ว อนาคตนั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องร่วมกันกำหนด ร่วมกันรับผิดชอบ  และร่วมกันกระทำ

การออกแบบประเทศไทย  คงต้องเป็นเรื่องที่เราทุกคนจะต้อง ร่วมฝัน ร่วมคิด ร่วมทำ

ขอบคุณท่านอาจารย์หมอ

เทคนิคนี้ เป็นประโยชน์มากในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในองค์กร ผมจะลองนำมาใช้ในวงการศึกษา เช่น กำหนดภาพอนาคตของหน่วยงาน กำหนดหลักสูตร ฯลฯ

  • สวัสดีค่ะ ท่านศ.นพ.วิจารณ์
  • มารับองค์ความรู้ เกี่ยวกับ forestsight technique
  • และหนทางการออกแบบประเทศไทย
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอวิจารณ์

ขอบพระคุณที่กรุณาสละเวลามาเข้าร่วม และได้ให้ข้อคิดเห็นดี ๆ เช่นเคยครับ

"จะยุให้ กกอ. (จริงๆ แล้วผู้จัดคือ สกอ.) จัดประชุมแบบนี้    ใช้ foresight technique ร่วมกันวาดภาพอนาคตของระบบอุดมศึกษาไทย    แต่จะปรับนิดหน่อย โดยจะมีทีมรวบรวมข้อมูล SS ในระบบอุดมศึกษาไทย เอามาให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ ศึกษาไว้ก่อน    คือข้อมูลที่ใช้ในเวที foresight ไม่ใช่มาจากประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น    ต้องมาจากผลการวิจัยหรือการรวบรวมข้อมูลด้วย    โดยเฉพาะข้อมูล SS สะเก็ดเล็กๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ"

ที่คุณหมอคิดจะทำนั้นถูกต้องแล้วและผมเห็นด้วยเต็มที่ครับ ประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒินั้นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ต้องมีการศึกษา background ประกอบด้วยเสมอครับ นอกจาก SS แล้ว ถ้าหากมี FS (failure stories) ด้วยก็จะมีประโยชน์มากเช่นกันครับ จะทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น

ผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้เกียรติมาร่วมงานออกแบบประเทศไทย ล้วนเป็นท่านที่แสดงความคิดความเห็นต่อสังคมอยู่เสมอ เป็นที่รู้จักดีแทบทุกท่าน นอกจากการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว โดยส่วนตัวผมอยากให้มีเวทีที่เชิญคนรุ่นใหม่ (หรือรุ่นกลาง ๆ) และคนที่ลงมือทำจริงแต่ไม่ได้มีโอกาสพูดกับสังคมมากเท่า ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยก็จะดีมาก

ภาพอนาคตและการใช้ foresight (ด้านวิทยาศาสตร์) จะช่วยเหลือคนยากคนจน หรือประเทศยากจนได้อย่างไร? ผมเพิ่งเขียน paper เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กับ Institute for Alternative Futures (http://www.altfutures.com) และกำลังมาประชุมกับเขาเรื่องนี้จัดโดย Rockefeller Foundation ที่เมือง Bellagio เป็นเมืองเล็ก ๆ ในอิตาลี หวังว่าจะได้ความรู้และ connection ที่ดี ๆ เอากลับมาใช้ประโยชน์กับบ้านเราได้มาก ๆ ครับ

http://gotoknow.org/file/naresdamrongcha/view/306430

นเรศ

สวัสดีครับอาจารย์

รู้สึกดีใจที่อาจารย์เขียนถึงเรื่อง Foresight analysis

ผมเองรับโครงการหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

หลังจากทำมา 9 เดือนจนจะปิดโครงการเร็วๆนี้

พบว่าเทคนิคนี้ยากในการทำให้คนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าอาจารย์และนักวิชาการ

เข้าใจและยอมรับ โดยจะติดขัดตรงที่หลายคนยึดติดกับ conventional method และคำจำกัดความของเขาเรื่องหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based)

ทำให้ระหว่างดำเนินงาน ผมเกิดความท้อใจพอสมควร

ในขณะที่หากทำในเวทีระดมสมองกับภาคส่วนอื่นที่ไม่ได้มาจากมหาวิทยาลัย แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญภาคปฎิบัติ กลับพบว่าพวกเขาเปิดใจยอมรับ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจนได้ข้อมูลที่ดีหลายด้าน

ที่น่าแปลกใจตอนย้อนกลับไปมองอดีตที่ดำเนินงานมา ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ว่ามูลเหตุของการที่ประเทศไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร อาจมาจากบางสาเหตุที่ผมกล่าวถึง เช่น การยึดติดกับวิธีและแนวคิดของตนเองของอาจารย์ นักวิชาการ รวมถึงบางคนที่อยู่ในสถาบันที่มีหน้าที่สร้างแผนพัฒนาประเทศ ที่เขากล่าวมาวรรคหนึ่งและผมจำได้แม่นระหว่างการถกเถียงกันในคณะวิจัยคือ

"ผมว่า อาจารย์(หมายถึงตัวผมเอง)ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ ส่วนใหญ่ที่ทำงานของผมก็ copy และแปลมาจากหน่วยงานต่างประเทศเลยดีกว่า อย่างน้อยก็เป็นหลักฐานที่ดี"

ตรงนี้แหละครับที่ผมอยากเรียนสนับสนุนอาจารย์ว่า หากคนไทยเปิดใจกว้างมากขึ้น ร่วมกันพัฒนาแบบวิธีใหม่ อย่างที่สถาบันคลังสมองดำเนินการ น่าจะเป็นตัวจุดประกายความคิด และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และน่าจะดีกว่าการหวังพึ่งข้อมูลจากสถาบันเดิมๆ ที่อิงข้อมูลจากต่างประเทศเป็นหลักอย่างที่ผมยกตัวอย่างมา และคงจะคาดการณ์ได้ระดับหนึ่งว่าตอนนี้เรากำลังเดินเข้าสู่วิกฤตตามอเมริกาอย่างแน่นอน หากไม่มี special intervention

สวัสดีครับ

ขอร่วมวงด้วยคน

Foresight scenario อาจจะคล้ายๆ vision ใน outcome mapping นะครับ แต่ผมคิดว่า อะไรก็ตามที่ทำให้คนเราหยุด และใช้เวลาจินตนาการสักนิดว่า สิ่งที่เรากำลังทำ กับสิ่งที่เราใฝ่ฝัน มันต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน (หรือไม่และตอนไหน) อาจจะเป็นจุดเริ่มที่ดี

ผมคิดตามต่อไปว่า จากการใช้แบบจำลองอนาคต อาจจะทำให้เรามองเห็น strategic partners มายิ่งขึ้น ลดการคิดว่า "เรา" เป็นคนทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นเพียงลำพังลง และสามารถมองเห็น multidimensional impact จากสิ่งที่เราทำ เราพูด เราคิดได้ ไม่เพียงเป็นแต่สมการเชิงเดี่ยวเท่านั้น

ผมอยากจะเสริมเห็นด้วยเรื่องการใช้ไม่เพียงแค่ successful stories มาเป็นตัวผลักดัน เราคงจะใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยจาก failure stories เหมือนกับที่เราสามารถใช้ได้ทั้งโพชฌงค์ 7 (หนทางสู่การตื่นรู้) ควบคู่ไปกับสังโยชน์ 10 (อุปสรรคในการตื่นรู้) มิฉะนั้นเราอาจจะเกิดมานะติดกับที่มองเรื่องอุปสรรค ความล้มเหลว เป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาใช้ นำมาคิด ที่จริง Robert Greenleaf ผู้เขียน Servant Leadership มีตอนหนึ่งที่บอกว่า ในการสอนนักศึกษานั้น บางทีการ "จงใจ" นำเข้าป่า เข้ารก ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แตกฉานและสนุกสนาน มากกว่าการจูงมือเดินไปบนพรม บนหนทางที่ถูกต้องอย่างเดียวเสียด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ดี ทำงานกับจินตนาการ ความฝัน มันไม่แห้งแล้งเกินไป เหมือนทำงานกับตัวเลข สมการ การวัดที่มีเรื่องราว เรื่องเล่า เสียงหัวเราะและน้ำตา เป็นตัวเตือนให้เรารู้อยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังทำงานกับมนุษย์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก ไม่ใช่หมอกสังคมในเชิงสมการเพียงเท่านั้น

สวัสดีอีกรอบนะครับ ท่านอาจารย์และกัลยาณมิตรทุกท่าน

อ่านแล้วทำให้นึกไปถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมสังเกตการณ์ วง Dialogue ครั้งหนึ่งในหน่วยงานผม

ครั้งนั้นมีโจทย์เล็กๆ ก็คือ ต้องการระดมสมองเพื่อ หารูปแบบการจัดงานพิธิเปิดของกิจกรรมภายในกิจกรรมหนึ่ง

ก็มีการเสนอให้ใช้รูปแบบของDialogue   โดยก่อนที่จะเริ่มวงDialogue ได้มีการเปิดเพลงเบาๆประมาณ 5 นาที  และในชั่วขณะที่เปิดเพลงอยู่นั้น ก็จะให้ทุกท่านที่อยู่ในวง ได้ทำการจินตนาการถึงภาพของพิธีเปิด ที่ทุกคนปรารถนาอยากจะเห็น  และเมื่อเพลงจบก็นำภาพในจินตนาการของแต่ละคน ออกมาแชร์กัน 

ผลที่ได้ก็นับว่า น่าตื่นเต้นครับ  ในวงนั้น ซึ่งมีทั้งผู้บริหารระดับสูง และพนักงานระดับผู้ปฏิบัติ ต่างแสดงภาพในจินตนาการของตนมาอย่างพรั่งพรู  ซึ่งผมที่นั่งอยู่นอกวง ยังสามารถสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความปรารถณาของแต่ละคนที่แสดงออกมาอย่างเท่าเทียม 

แม้ว่าหากมองในกระบวนการ Dialogue จะไม่ประสบผลเท่าที่ควร เนื่องจาก มีการครอบครองเวทีบ้าง จากบางท่านที่ยังไม่เข้าใจและไม่มีทักษะเรื่อง Dialogue  แต่หากในมองในแง่ของผลลัพท์ที่ได้นั้นถือว่า ประสบความสำเร็จมากครับ  มีความคิดสร้างสรรค์ดีๆ หลายความคิดได้ถูกจุดประกายขึ้นมา

เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ทำให้ผมเรียนรู้ว่า  หากเราใช้ "หัวใจ" หรืออีกนัยยะหนึ่งคือ "สมองซีกขวา" เป็นอวัยวะนำ  โดยมุ่งประเด็นไปที่เรื่องของ ความปรารถนา หรือจินตนาการ  ก็น่าจะเป็นหนึ่งในหนทางที่สามารถสร้างพลังร่วมในการทำงานได้เป็นอย่างดี

เมื่อมองย้อนกลับไป ผมจึงมองว่าความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มิได้มาจากการ "ระดมสมอง"  แต่มันได้กลายไปเป็นการ "ระดมหัวใจ"  หรือ "ระดมความฝัน"  โดยสุดท้ายทุกคนจะได้มีโอกาสแบ่งปันความฝัน ความปรารถนา และจินตนาการ ซึ่งกันและกัน และร่วมกันทำฝันนั้นให้เป็นจริงอย่างมีพลังได้

 

อ่านบทความนี้แล้วทำให้ผมอยากเห็นหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นใน GotoKnow ครับ

ผมอยากเห็นบรรดา ครูอาจารย์ ช่วยกันออกแบบระบบการศึกษาในฝัน

อยากเห็นบรรดาผู้มีความรู้ทางการเกษตร ช่วยกันออกแบบระบบเกษตรกรรมในฝัน

อยากเห็นบรรดาบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ช่วยกันออกแบบระบบสาธารณสุขในฝัน

และสุดท้ายก็อยากให้ทุกคนในที่นี้ ช่วยกันออกแบบประเทศไทยในฝัน ให้ทุกคนได้มีโอกาสร่วมแบ่งปันความฝัน ความหวัง สร้างพลังเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นไปอย่างที่เราได้ฝันร่วมกันครับ

ขอบคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านที่เปิดเวที สร้างโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ครับ

ขอบคุณค่ะ ที่ท่านทั้งหลายมาเขียนเรื่องนี้ค่ะ อยากได้อ่านมุมมองประมาณนี้ค่ะ หลายเรื่องที่เป็นเงาๆ ในหัว ชัดขึ้นมากค่ะ

ขอบคุณมากเลยครับ อาจารย์ ทำให้เห็นภาพการคิดมุมใหม่จาก SS แล้วขยายจาก SS ไปสู่ความรู้ น่าจะใช้ได้กับทุกงานเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท