มาเข้าใจธรรมชาติของการสร้างภาพ (ลักษณ์) กันค่ะ


หากคุมพลังแห่งอารมณ์ได้ก็คือพลังธรรมชาติที่ผลักดันเกื้อหนุนให้ทำอะไรเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อความสำเร็จ

พูดถึงเรื่องหลงใหลไปบ้างแล้ว ขอมาทำความเข้าใจกับคำว่าการสร้างภาพ (ลักษณ์) หน่อยนะคะ 

 

หากมีใครสักคนพูดถึงเราไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมว่าเราสร้างภาพ เราจะโกรธกันไหมคะลองสมมติฐานดูซิคะ

 

ตอบคำถามนี้ในใจตัวเองดู เพราะแต่ละคนมีมุมมองและโลกทัศน์ในเรื่องนี้แตกต่างกันค่ะ….และศิลาเคารพอย่างจริงใจและไม่รู้สึกประหลาดใจอะไรหากจะมีคนตอบว่าโกรธ ไม่พอใจ จะทำตัวห่างเหินกัน  หรือถึงขั้นเลิกคบกันได้เลย

 

ทีนี้ ถามว่าทำไมนำเรื่อง sensitive point นี้มาเขียน  บันทึกนี้ ศิลาไม่หวังว่าจะมีใครมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่าไหร่ เพราะอาจจะมีคนกลัวหรือหลีกเลี่ยงที่จะแชร์ประเด็นอ่อนไหวง่าย  หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจเพียงพอ

 

จะด้วยเหตุผลความรู้สึกอะไรก็แล้วแต่ ขอทำความเข้าใจก่อนนะคะว่าถ้าเรามองว่าการสร้างภาพลักษณ์เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ตามหลักจิตวิทยา ก็ไม่ควรจะรู้สึกสะเทือนอารมณ์แต่อย่างใด  แต่สาเหตุที่อาจจะสร้างความไม่พอใจกันได้  นั่นเป็นเพราะผู้ฟังรู้สึกสัมผัสถึงเจตนาแอบแฝงของผู้พูดมากกว่าจะใส่ใจกับการทำความเข้าใจในธรรมชาติของการสร้างภาพ 

 

 

เป็นเรื่องปกติที่คนเราอยากจะให้ใครเห็นในสิ่งที่เราอยากให้มอง  บางคนอาจมี Self Image หรือแบบฉบับที่อยากให้ใครเห็น  ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

 

ในมิติหนึ่งการสร้างภาพเป็นการกำหนดมาตรฐาน Super ego  ว่าเราอยากอิงกับอัตลักษณ์หรือ model อะไร   โดยที่แบบอย่างนั้น  อาจเป็นสิ่งดี ๆ ตัวอย่างบุคคลสำคัญ  ๆ คนดี ๆ ที่เราอยากจะทำตาม แล้วเราก็ทำให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น….และเราก็เพียรพยายามที่จะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ มันเหมือนกับว่าเรากำลังพยายามที่จะเป็นคนดีคนหนึ่งและก็อยากให้คนทั่วไปมองเห็นแต่สิ่งดีๆ ของเรา

 

ในเมื่อการสร้างภาพลักษณ์นั้นเป็นภาพที่สวยงามและเขาก็พยายามที่จะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องหลอกลวงหวังผลอะไรกัน หากว่าเขารู้ตัวว่าสิ่งที่ "เขาเป็นและทำอยู่นั้น" เป็นกระบวนการพัฒนาตนเองไปสู่ภาพลักษณ์ที่เป็นอุดมคติ   เราก็ควรส่งเสริมซึ่งกันและกันมิใช่หรือ?

 

ศิลาเข้าใจธรรมชาติของการสร้างภาพของคนศูนย์หัวใจผ่านการฟัง Panel ของ Enneagram จิตวิทยาบุคลิกภาพ 9 ลักษณ์

 

เมื่อฟังแล้วก็เกิดความเข้าใจและมีเมตตาอย่างยิ่ง เพราะเขาเน้นความสัมพันธ์และมิตรภาพอันเป็นสาระสำคัญของชีวิตเขามองเรื่อง ...

“ความรัก”   หรือ 

“การยอมรับ”   หรือ 

“การซื่อตรงต่ออารมณ์” คือแก่นของชีวิต 

หากมีปริมาณมากไปก็คือกลุ่มคนประเภทหลงใหลที่เคยกล่าวไว้ในบันทึกก่อน ๆ  

 

หากคุมพลังแห่งอารมณ์ได้ก็คือพลังธรรมชาติที่ผลักดันเกื้อหนุนให้ทำอะไรเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อความสำเร็จ และเพื่อคุณค่าของอะไรสักอย่างที่เขาให้ความสำคัญและสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ หรือคนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อตัวเองเป็นหลัก

 

เวลามีน้องมาเล่าให้ศิลาฟังว่า “พี่ พี่  คนนั้นเขาสร้างภาพจังเลยเน๊อะ  พูดจาดูดี และพูดคุยแต่เรื่องดี ๆ ความสำเร็จ เป้าหมาย สิ่งที่ทำเพื่อสังคม ….มัน fake  มันเว่อร์  จริงเหรอที่คนเราจะดีขนาดนั้น”

 

ศิลาอยากบอกว่าต่อให้สิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องหลอกลวง แต่ก็ต้องถามว่าเขาหลอกแบบไหน  หากไม่ได้หลอกเอาเงิน หลอกเอาทอง ฉ้อโกงก็ไม่เป็นไรถ้าไม่ใช่เรื่องผิดศิลธรรม การหลอกลวง หรือสร้างภาพว่าเป็นคนดี แล้วเขาพยายามที่จะเป็น  และสามารถเป็นได้จริง ๆ เราควรจะชื่นชมในภาพที่เขาสร้าง

 

อย่าสงสัยในภาพความดีที่เขาสร้างเลย  เพราะภาพนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้ทำร้ายใคร   แต่ใจของเราเอง (ที่ไปมองเขาเช่นนั้น) ทำร้ายใจตัวเรา

 

คนมองว่าการสร้างภาพเป็นเรื่องไม่ดีก็ควรเข้าใจในมิติใหม่

คนถูกกล่าวหาก็ควรยึดมั่นในการสร้างภาพความดีต่อไป ไม่ควรหวั่นไหวต่อแรงลมปะทะเสียดทาน  เมื่อต้องบินขึ้นสู่ที่สูงค่ะ 

 

หากเราขาดคนที่พยายามสร้างภาพความดีก็จะไม่มีใครพยายามที่จะเป็นคนดีและไม่มีใครแคร์ซึ่งกันและกัน   จริงไหมคะ

 

ไม่ทราบว่าบันทึกนี้โยนอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนออกมาตีแผ่มากเกินไปหรือเปล่า?  

 

หากภาพที่สร้างเป็นสิ่งที่ดี   ศิลาขอส่งเสริมค่ะ

 

 

เพราะเขารัก และเชื่อมั่นในความดี ก็เลยอยากสร้างภาพความดีให้คุณรักเขาด้วยเช่นกัน จริงไหมคะ            

 

                       ลดอัตตา ลดอคติก็จะมีแต่เมตตาธรรมค่ะ

 

 ------------------------------------------------------------------------

หลังจากเปิดประเด็นบันทึกนี้ไปได้ 1 วัน 1 คืน มีความคิดเห็นหลากหลายมากมาย ซึ่งศิลาก็ได้ตอบความเห็นของทุกท่านตามการมองเห็นของตนเองไปเรียบร้อยแล้ว 

 

ขอแสดงความขอบพระคุณคุณ Mr. Direct ที่ได้แวะมาเยี่ยมและแสดงความเห็น...ในความเป็นจริง ศิลาได้ตอบความเห็นของท่านไปแล้ว  แต่หลังจากทบทวนดูใหม่ ขออนุญาตลบความคิดเห็นของตนเองออก และคงความคิดเห็นของท่าน Mr. Direct ไว้เท่านั้นเพื่อเป็นวิทยาทานความรู้ด้านจิตวิทยาต่อไป

 

ส่วนการตอบตามแนวศิลา..ขอละไว้...เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องของการ "มองเห็น"..การเปิดใจและการปฏิบัติ...หากมองเห็นเรื่องเดียวกันโดยเริ่มจาก concept ที่แตกต่างก็จะไปเป็นคู่ขนานค่ะ...เหมือนการเดินทางไปจุดหมายเดียวกัน...แต่เริ่มออก start คนละจุด...ทั้งที่เราตั้งใจที่จะไปในที่เดียวกัน

 

ดังนั้น หากเป็น concept แนวจิตวิทยา สิ่งที่คุณ Mr. Direct อธิบายมา ชัดเจน น่าสนใจดีแล้วค่ะ

ส่วนท่านใดสนใจจะแลกเปลี่ยนในแนวอื่นก็ยินดีค่ะ ขอเพียงเราไม่สรุปว่าอะไรถูกผิดก็จะเป็นการต่อยอดทางความคิดและการพัฒนาทางจิตวิญญาณค่ะ

ส่วนแขกผู้มีเกียรติท่านอื่น ศิลารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่มาฝากรอย และเพิ่มเติมความหมายมากมาย...สุดท้าย ขอเน้นย้ำว่า ...ไม่มีข้อสรุป...อยากให้เข้าใจจากการมองเห็นตามภูมิธรรมของแต่ละท่านเองค่ะ

  

 

หมายเลขบันทึก: 247554เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2009 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (40)

อาจารย์ครับ

หากเรื่อง "ดี" เราควรส่งเสริมทั้งนั้นนะครับ..

หากดีนั้น มีประโยชน์ต่อทั้งตนเองและสังคม

หากมองในมุมของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม

การสร้างภาพลักษณ์ ก็เป็นเรื่องจำเป็น

หากสร้างแล้ว พยายามทำได้อย่างที่สร้าง

ก็ถือว่า เป็นการพัฒนาตนเอง...

-----------------------

ผมอ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว ได้ข้อคิด มุมมอง ที่ดีทุกครั้งไป

ละเอียดอ่อน มีมุมคิดที่ง่าย งาม และบางครั้งคาดไม่ถึง

-----------------------

ต้องขอบคุณ ความคิดปราณีตที่โยนออกมาให้ได้เรียนรู้กันครับ

 

ขอยกประโยคนี้ออกมาหน่อยเถอะครับ ผมชอบ

(^ ^)//

"อย่าสงสัยในภาพความดีที่เขาสร้างเลย  เพราะภาพนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้ทำร้ายใคร   แต่ใจของเราเอง (ที่ไปมองเขาเช่นนั้น) ทำร้ายใจตัวเรา"

ควรใช้คำว่าจิตรกร  แทนคำว่า พวกสร้างภาพ (เลี่ยงบาลี) เพราะโลกยังต้องการจิตกร เพื่อความสุนทรียะ นี่เนอะ แต่สุนทรียะ ก็ยังไม่ใช่เป้าหมายของ พุทธะ (การยึดติดในดี ในชั่ว)

ให้ทำความดีแต่ก็ไม่ควรยึดมั่นในความดี เพราะจะกลายเป็น การลูบคลำ ศิลา (สีลตปรามาส)

สีลตปรามาส พิมพ์ตกที่ถูกคือ

**สีลัพตปรามาส=ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร คือทำความดี ตามๆ กันไป อย่างงั้นๆ

  • ขอบพระคุณคุณเอก P มากค่ะที่มองเห็นเช่นเดียวกันอีกแล้ว

  • หากสร้างแล้ว พยายามทำได้อย่างที่สร้าง

    ก็ถือว่า เป็นการพัฒนาตนเอง...

  • การสร้างภาพอุดมคติและเพียรพยายามทำให้ภาพฝันเป็นความจริง ควรได้รับการชื่นชมค่ะ

  • พอพ้นขั้นนี้แล้ว ก็ควรพัฒนาจิตวิญญาณขึ้นสู่ขั้นอย่ายึดความดีเป็นอัตตาเหมือนที่คุณกวินกล่าวไว้ในบันทึกอัตตาของ Blog บทความของคุณกวินค่ะ เพราะบังเอิญตรงกับสิ่งที่อยากจะสื่อพอดี

  • เพิ่งเข้าใจอีกครั้งว่าว่าศีล สมาธิ ปัญญา เสมอหรือใกล้เคียงกันเป็นอย่างไรก็คราวนี้

มหาศาลจริงๆ ทั้งผู้เขียนบล็อก และท่านที่เม้นท์ทุกท่านข้างบน ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจิตใจ นำไปสู่สุขในภายหน้า สาธุ คิดดีค่ะ

ขออนุญาติแลกเปลี่ยนนะครับ...

การสร้างภาพ (Self Image) ที่ใกล้เคียงกับตัวตน (Real Self) ที่เป็น แล้วพยายามพัฒนาตัวตนเพื่อไปให้ถึงนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ครับ...

แต่กับการเพียรสร้างภาพแต่ปราศจากการพัฒนาตัวตนนั้น มันจะเกิดช่องว่างระหว่าง Image กับ Real Self กลายเป็นภาพสองภาพที่ทับกันไม่สนิทครับ...

ขอบคุณครับผม...

 

  • ขอบพระคุณคุณครูต้อย P ค่ะ ที่มาเยี่ยมเยียนกลางดึก
  • พลังแห่งอารมณ์เป็นธรรมชาติที่สร้างสรรค์ได้ค่ะ
  • คืนนี้เป็นคืนพิเศษที่มีผู้ให้ความเห็นที่น่าสนใจทุกท่านเลย
  • เป็นพลังใจที่ดีค่ะ

แหมๆๆๆ

มาช้าไปหน่อยครับ ประโยคเด็ดโดนใจผม โดนคุณจตุพรยกไปก่อนแล้ว

ผมลองสแกนดูใหม่...ติ๊ด...ติ๊ด...ตี๊ด...พบแล้ว

...หากเราขาดคนที่พยายามสร้างภาพความดี…ก็จะไม่มีใครพยายามที่จะเป็นคนดี…และไม่มีใครแคร์ซึ่งกันและกัน...

หากไร้ซึ่ง "คนอยากดี" แล้ว "คนดี" จะมาจากไหนกัน

:)

พันคำ อาจโชคดีที่ไม่ค่อยเจอ ใครสร้างภาพ(ทั้งๆตนนั้นไม่ดี)เลยครับ ต่างคนต่างพัฒนาตนเองไปสู่ภาพอุดมคติในใจที่เขาปราถนา ซึ่งแน่นอนก็เป็นสิ่งที่ดีต่อเขาเอง ผู้อื่น และส่วนรวม

แต่ก็คิดว่า ภาพลักษณ์ที่ อาจารย์ศิลา พูดถึงคงมีจริงๆ บางทีอาจเป็นหมวกที่ต้องสวม เป็นบทบาทในสังคมที่ต้องรับผิดชอบ ก็ภาวนาให้ใครที่เป็นเช่นนั้นได้เข้าใจและสามารถรักษาสุขภาพจิตใจที่ดีครับ

 

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การยึดความดีเป็นที่ตั้ง  ...และยึดมั่นในความสวยงามของความดี

ผมว่าระดับปถุชนเราไม่ขออะไรมาก เพียงแต่ คิดให้ดี ทำให้ดี ปฏิบัติก็ให้ดีตามไป

ภาพลักษณ์ก็คือ ข้างนอก หากพัฒนาข้างในให้งามตามกัน ก็ถือว่าได้ว่าเพริศเเพร้วทั้งข้างนอกและใน

ผมเองก็พัฒนาตัวเองอย่างตั้งใจครับ บางครั้งอาจจะเดินเลยเส้น เเตกแถวบ้าง แต่ยังดีที่พอมีทุนดึงเข้ามาอยู่ในกรอบของความดีที่ถือว่าเป็นคุณธรรม - ศีลธรรม นำทางชีวิตครับ

ยากครับ...บางทีศีลห้าผมก็ยังตกๆหล่นๆ ...

;)

  •  
    • เรียนคุณกวินว่าจะเรียกว่านักจิตรกรหรือนักสร้างภาพก็ได้ หากเราเข้าใจว่าหมายความถึงเรื่องเดียวกัน บังเอิญคำว่าสร้างภาพสื่อถึงความหมายลบไปหน่อยก็เลยอยากทำให้บวกขึ้นมา แต่คำใหม่ที่ช่วยสร้างคือคำว่านักจิตรกร ฟังดูไพเราะมากค่ะ
    • ขอบพระคุณสำหรับคำนี้ค่ะ สีลัพตปรามาส=ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร คือทำความดี ตามๆ กันไป อย่างงั้นๆ 
    •   การเป็นนักจิตรภาพวาดภาพความดีไม่ใช่เรื่องง่าย...โดยเฉพาะความดีอย่างคนมีปัญญา ย่อมไม่ใส่ใจว่าจะได้รับการยอมรับหรือชื่นชม หรือไม่ 
    • การทำให้ไม่มีอัตตาคงทำไม่ได้สำหรับปุถุชนอย่างเรา ๆแต่การลดอัตตายังพอทำได้ จริงไหมคะ ...
    • หากทำความดีเป็นการยึดถืออัตตา ...การลดอัตตา ก็ไม่ใช่การลดความดี ตรงนี้คือความเข้าใจที่ตรงกัน...ความดียังคงมีอยู่ แต่เราไม่ได้ทำเพื่อหวังผล  แต่เพื่อกุศลแห่งจิตภายในก็พอ...นี่คือ Spiritual Development ในแบบที่คุณเอกเคยกล่าวถึงค่ะ ...
  • ที่กล่าวมานั้น เป็นพื้นมาจากแนวจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ เพราะมีเรื่อง super ego เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย...
  • ในแนวนั้น มี ego และ id เป็นพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ...
  • อยากเรียนว่า ego นั้น ไม่ใช่ "อัตตา" ในพุทธะ นะครับ
  • เพราะ ego มีพื้นจาก จิต แต่ "อัตตา" มีพื้นจาก "อวิชชา"
  • ดังนั้น แนวความคิดดังกล่าว จึงไม่หลุดพ้นจากอัตตา (แม้จะถือว่า ละ ego ได้ก็ตาม.....
  • ลองมาเหนื่อยกับการจับ "อวิชชา" ดูนะครับ....
  • แล้วจะหลุดทั้งหมดได้ง่ายขึ้น....
  • เพราะ โซ่ ข้อบนสุด ถูกปลดนะครับ....

ชยพร แอคะรัจน์

จิตรกร ก็มีอีกหลายสำนักนะครับ

abstract
Impressionism
ฯลฯ

พูดเรื่อง คุณธรรม และศีลธรรม ศ.ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา กล่าวไว้ประมาณว่า  คุณธรรมนั้นเป็นเรื่องของปัจเจก ส่วนศีลธรรม นั้นเป็นเรื่องของส่วนรวมเช่น

แม่ที่ขโมยนมผงในห้าง นั้น มีคุณธรรม ต่อลูก เพราะไม่ยอมให้ลูกอด
แต่ไร้ศีลธรรม เพราะขโมยของในห้าง

คุณธรรมสำหรับผู้ใดผู้หนึ่ง ก็คือ ความรู้สึกว่า ถูกต้องในความคิดความเชื่อของเขา แต่อาจจะไม่ถูกต้องในทางสังคม

ฉะนั้นแล้วภาพลักษณ์ ที่ผู้อื่นมอง ใครสักคนว่ามีภาพลักษณ์ ของขโมย หรือ คุณแม่มีคุณธรรม ก็ย่อมขึ้นกับผู้ที่มองเข้ามา??

แต่คุณแม่ย่อมรู้ภาพลักษณ์ภายในใจของตนดี ว่ามั้ยครับ อ้าวถ้างั้น ภาพลักษณ์ ที่แท้จริงคืออะไร ล่ะ? 

ในฐานะที่คุณ ศิลา เป็นนักกฎหมายคงมองถึงประเด็น Classic นี้ได้

ผมว่าถ้าให้ผมเลือกเป็น จิตรกร/นักสร้างภาพ ผมขอเลือกเป็นจิตกรแนว abstract ที่ผลิตภาพบิดๆ เบี้ยว แต่ก็มี ความงาม ความดี ความจริง ที่ต้องใช้สมองในการมอง และตีความ (ดีกว่าจะวาดภาพ สีสวยๆ เข้าใจง่ายๆ แต่ก็งั้นๆ) ว่าไปนั่น

เป็นบันทึก ที่ประเทืองปัญญามากครับ

กับการแลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างอิสระเสรี

อยากให้มีบันทึกลักษณะนี้เยอะๆ จังเลยครับ

ยอมรับว่าทำให้เห็นตัวเองชัดเจนขึ้นมากครับ

ความคิด ความรู้สึกที่ผมจะกล่าวต่อไป ก็คงไม่ต่างจากสิ่งที่

หลายๆ ท่านได้กล่าวไว้ คงไม่ขอยกคำกล่าวใดๆ มาอีก

สำหรับผมในตอนนี้ "ภาพลักษณ์" อันเป็นอุดมคติของผมก็คือ

ผมอยากเป็นคนสนุกสนาน เฮฮา มีอารมณ์ขัน 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ใครที่เคยรู้จักผมดีก็จะทราบว่า

"จืดสนิท ศิษย์ส่ายหน้า"

ผมจึงพยายามสร้างตัวตนใหม่ ในบล็อกนี้

ให้ดู ต๊องๆ กวนๆ มันส์ๆ บ้าง

เม้นท์อะไรที่มันหลุดๆ  สนุกๆ บ้าง

ผมเชื่อเหมือนกับหลายๆ ท่านว่า

การมี "ภาพลักษณ์" ที่อยากเป็น

แม้จะแตกต่างกับ "ตัวตนที่แท้จริง"

ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด

ตราบใดที่เรายังคง มุ่งมั่น พัฒนา

ไปสู่สิ่งนั้นอย่างจริงจัง

  • ขอบพระคุณคุณณภัทร9 Pค่ะ
  • เห็นรอยยิ้มมาแต่ไกล ก็อุ่นใจทุกที
  • ตอนนี้ภาพลักษณ์ที่เห็นในตัวคุณณภัทร9 คือ ความสดใส สีสัน และลูกล่อลูกชน...ขนมุกมาไม่ซ้ำ...กำลังคิดว่าเป็นเพราะการฝึกฝนวิทยายุทธ์จากบรรดายอดฝีมือใน G2K หรือเปล่า
  • ดีใจที่มาแวะแชร์กันค่ะ
  • เรียนท่านอาจารย์พันคำ P  สิ่งที่เราเห็นอาจจะเป็นสิ่งที่เขาอยากให้เห็นและเราก็เชื่อว่าเป็นจริง ๆ  และในที่สุดเขาก็เป็นได้จริง ๆ ก็มีความสุขที่ได้เป็นค่ะ  ...งง...
  • สาเหตุที่ยกเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพราะมีคนรู้สึกมากเกินไปกับการสร้างภาพลักษณ์ของผู้อื่น ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มากระทบอะไรตัวเองเท่าไหร่
  • ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าลองโยนประเด็นอารมณ์เรื่องนี้ออกมาดู
  • ชื่อเรื่องภาพลักษณ์ก็บอกแล้วว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ ...นำเหตุผลมาอธิบายมากก็งงเปล่า ๆ ...
  • ลองใช้ความรู้สึกพรรณากันต่อดูดีกว่าค่ะ
  • ขอให้บันทึกนี้เป็นเวทีเสรี...ทางอารมณ์สุนทรียะสนทนาแล้วกันค่ะ
  • ยึดติดกับ "คำ" มากก็จะเมา...เปล่า ๆ ..จริงไหมคะ...คำว่าภาพลักษณ์ กับบทบาทหน้าที่...จึงขอไม่นิยามต่อ...ขึ้นอยู่กับอธิบายโดยใช้ศาสตร์อะไร ไม่มีผิดถูกค่ะ

 

  • ขอบพระคุณคุณเอกPสำหรับข้อความต่อไปนี้ค่ะ

  • ภาพลักษณ์ก็คือ ข้างนอก หากพัฒนาข้างในให้งามตามกัน ก็ถือว่าได้ว่าเพริศเเพร้วทั้งข้างนอกและใน

    ผมเองก็พัฒนาตัวเองอย่างตั้งใจครับ บางครั้งอาจจะเดินเลยเส้น เเตกแถวบ้าง แต่ยังดีที่พอมีทุนดึงเข้ามาอยู่ในกรอบของความดีที่ถือว่าเป็นคุณธรรม - ศีลธรรม นำทางชีวิตครับ

  • คำอธิบายเกี่ยวกับ "การพัฒนามนุษย์" และ "การพัฒนาจิตวิญญาณ"  หากไม่ปฏิบัติเอง ก็คงไล่ประเด็นไม่ได้ตลอดสาย การถ่ายทอดจากภาวะฝึกฝนหรือการปฏิบัติ นับว่าใกล้ถึงแก่นธรรม (ชาติ) แล้วค่ะ

  • ยินดีที่ได้ต้อนรับคุณเอกอีกครั้ง

สวัสดีค่ะคุณศิลา

มาอ่าน...แต่ ขออนุญาตไม่คอมเม้นท์นะคะ ....

สบายดีนะคะ

คิดถึงค่ะ

(^___^)

สวัสดีครับ วิ่งตามคนไม่มีรากมาเยี่ยมติด ๆ อิอิ..คิดถึงเหมือนกัน จริง ๆ น่ะ ไม่ได้สร้างภาพ

  • ขอบพระคุณคุณชยพร    P    ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะ

·         ขออ้างอิงคำที่ศิลาตอบไปแล้วก่อนหน้านี้นะคะ การอธิบายเกี่ยวกับมนุษย์ "ไม่มีผิดถูกหรือสูตรตายตัว  ความสำคัญคือวิธีการอธิบายตามหลักธรรม (ชาติ) ซึ่งไม่ว่าอธิบายแบบไหนก็มีเจตนาเดียวกันคือการเข้าถึง"

·         กลับมาในสิ่งที่คุณชยพรอธิบายค่ะ

·         ego มีพื้นจาก จิต แต่ "อัตตา" มีพื้นจาก "อวิชชา"  ดังนั้น แนวความคิดดังกล่าว จึงไม่หลุดพ้นจากอัตตา (แม้จะถือว่า ละ ego ได้ก็ตาม..... ลองมาเหนื่อยกับการจับ "อวิชชา" ดูนะครับ....

·         ขออุปมาอุปไมยว่าเมื่อเราต้องทำอาหาร 1 จาน สมมติว่าเป็นส้มตำก็ได้ค่ะ ก่อนทำ ก็มีมะละกอ..เครื่องปรุงเผ็ดร้อน เปรี้ยวหวานเค็ม ....ก่อนจะปรุงเราก็จะแยกออกได้ว่าอะไรมะละกอ หรืออะไรคือเครื่องปรุง ได้แก่ พริก ปลา...ปลาร้า มะนาว ...ทีนี้ พอปรุง พอตำ ๆๆๆๆๆ ตามใจชอบ   ออกมาเรียกว่า "ส้มตำ"...

·         คำว่า ส้มตำถ้าต่างคนต่างตำ ก็คงต่างรสชาติแน่นอน แต่เรียกว่า ส้มตำเหมือนกัน ทีนี้หากแม้ว่าเราทานส้มตำจานเดียวกัน  คนหนึ่งบอกว่าเผ็ด อีกคนบอกว่าไม่เผ็ด  คนหนึ่งรู้สึกเปรี้ยวไป  อีกคนเค็มไป.....ทั้งที่เราทานจานเดียวกันแท้ ๆ

·         ขอตอบแบบไม่ตอบว่า...บางเรื่องอยู่ที่การปฏิบัติ....ควรเชื่อในสิ่งที่เห็น ไม่ควรเชื่อในสิ่งที่บอก

·         จึงขอให้เป็นอิสระเสรีทางจิตวิญญาณ และภูมิธรรมค่ะ

·         ศิลาขอบพระคุณอย่างสูงที่เสนอความเห็นที่น่าสนใจค่ะ

·         แล้วมาแวะเยี่ยมใหม่นะคะ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งค่ะ

  • ที่กล่าวว่า "ไม่ว่าอธิบายแบบไหนก็มีเจตนาเดียวกันคือการเข้าถึง"...
  • คงไม่ใช่นะครับ....
  • เพราะในทางพุทธะ "ไม่มีเจตนา การเข้าถึง" นะครับ
  • แต่มีเจตนา "ออกจาก"
  • ที่กล่าวว่า "ไม่มีผิดถูกหรือสูตรตายตัว"...
  • ก็คงไม่ใช่อีกนะครับ...
  • เพราะสัจธรรม ระดับ สัจธรรมสมบูรณ์ (Absolute) ...มีอยู่นะครับ
  • ที่กล่าวว่า "คนหนึ่งบอกว่าเผ็ด อีกคนบอกว่าไม่เผ็ด ...บางเรื่องอยู่ที่การปฏิบัติ....ใช้เหตุผลอธิบายก็จะไม่จบ"
  • ก็คงเป็นเพราะ "สัจธรรมสัมพัทธ์ (Rlative)"...นะครับ
  • ที่กล่าวว่า "ขอให้เป็นอิสระเสรีทางจิตวิญญาณ"
  • นั้นน่าจะเป็นเพราะ "อัตตา" นะครับ (อิสระ บางที ก็นิยามได้ว่า ไม่อยากรับ นะครับ)
  • ผมขอเรียนสุดท้ายนี้ว่า...อย่าเอาแนวคิด "ตะวันตก" มาบูรณาการกับแนวคิด "ตะวันออก" ในบางเรื่องนะครับ...
  • เพราะ ราก(root) ไม่ใช่นะครับ
  • ตรงนี้ ชาว ภาษาศาสตร์ , ฟิสิกส์ , ฯลฯ เราหวั่นเกรง และระวังกันมากครับ
  • ส้มตำ จะมีรสอะไร ...นั่นก็เพราะ บูรณาการระหว่าง มะละกอ พริก ฯลฯ ซึ่งทำได้ เพราะเป็นกลุ่มพืชผักบริโภค(Vegetables)
  • ราก(root) สัจจะ ไม่ได้เป็นกลุ่ม (Group) เดียวกันเสมอไปนะครับ
  • ผมขออภัย และขอกลับไปที่บล็อกตนเองนะครับ....

ชยพร แอคะรัจน์

ศิลาขอบพระคุณอีกครั้งที่คุณชยพร P แวะมาเยี่ยมอีกจริง ๆ ตามคำเชิญชวนและก็ชอบการแสดงความคิดเห็นที่เปิดเผยตรงไปตรงมา  แต่ขอเรียนให้ทราบว่าต่อไปนี้คือการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเช่นกัน  จึงไม่ควรมีการสรุปนะคะ

            

  • ที่กล่าวว่า "ไม่ว่าอธิบายแบบไหนก็มีเจตนาเดียวกันคือการเข้าถึง"...
  • คงไม่ใช่นะครับ....
  • เพราะในทางพุทธะ "ไม่มีเจตนา การเข้าถึง" นะครับ
  • แต่มีเจตนา "ออกจาก"
  • ที่กล่าวว่า "ไม่มีผิดถูกหรือสูตรตายตัว"...
  • ก็คงไม่ใช่อีกนะครับ...

ศิลาขอแสดงความเห็นว่า  ถ้าเราไม่เห็นทางเข้าก่อน จะเห็นทางออกได้อย่างไร  เฉกเช่นถ้าเราไม่เข้าถึงก่อน เราจะหลุดพ้นได้อย่างไร…. นี่คือสิ่งที่ศิลามองเห็นและเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวขอปิดประเด็นนี้นะคะ

  • เพราะสัจธรรม ระดับ สัจธรรมสมบูรณ์ (Absolute) ...มีอยู่นะครับ
  • ที่กล่าวว่า "คนหนึ่งบอกว่าเผ็ด อีกคนบอกว่าไม่เผ็ด ...บางเรื่องอยู่ที่การปฏิบัติ....ใช้เหตุผลอธิบายก็จะไม่จบ"
  • ก็คงเป็นเพราะ "สัจธรรมสัมพัทธ์ (Rlative)"...นะครับ
  • ที่กล่าวว่า "ขอให้เป็นอิสระเสรีทางจิตวิญญาณ"
  • นั้นน่าจะเป็นเพราะ "อัตตา" นะครับ (อิสระ บางที ก็นิยามได้ว่า ไม่อยากรับ นะครับ)

ในความหมายภายในของศิลา “อิสระ” คือ อิสระแท้จริง ไม่มีความหมายแอบแฝงเลยค่ะ

  • ผมขอเรียนสุดท้ายนี้ว่า...อย่าเอาแนวคิด "ตะวันตก" มาบูรณาการกับแนวคิด "ตะวันออก" ในบางเรื่องนะครับ...
  • เพราะ ราก(root) ไม่ใช่นะครับ

ขอบพระคุณค่ะ....สรรพสิ่งล้วนว่างเปล่าค่ะ….....ศิลาต้องขออภัยอย่างจริงใจหากทำให้เข้าใจว่าที่อธิบายมาทั้งหมดเป็นการบูรณาการตะวันตกกับตะวันออกที่มีรากต่างกัน ซึ่งในความคิดเห็นของคุณอาจจะไม่ควร

ในบันทึกศิลาต่อไป ก็คงจะเปิดประเด็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ  ไม่มีราก ไม่มีตะวันออก ไม่มีตะวันตก…. เพราะ สรรพสิ่งล้วนว่างเปล่า ตอบได้แค่นี้จริง ๆ ขอปิดประเด็นนี้เช่นกันค่ะ

  • ตรงนี้ ชาว ภาษาศาสตร์ , ฟิสิกส์ , ฯลฯ เราหวั่นเกรง และระวังกันมากครับ
  • ส้มตำ จะมีรสอะไร ...นั่นก็เพราะ บูรณาการระหว่าง มะละกอ พริก ฯลฯ ซึ่งทำได้ เพราะเป็นกลุ่มพืชผักบริโภค(Vegetables)
  • ราก(root) สัจจะ ไม่ได้เป็นกลุ่ม (Group) เดียวกันเสมอไปนะครับ
  • ผมขออภัย และขอกลับไปที่บล็อกตนเองนะครับ....

ขอตอบรวบยอดเลยค่ะว่า….ศิลายกตัวอย่าง ส้มตำ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่อง  “การเข้าใจเรื่องเดียวกันต่างกัน” จึงทำให้มีรสชาติไม่เหมือนกันเท่านั้น และชิมกี่ทีก็คงสัมผัสไม่เหมือนกัน  

ดังนั้นหากคุณมีความเห็นแตกต่างอย่างไรอีก ก็คงเพราะรับรู้รสชาติที่แตกต่างกันแล้วค่ะ….ศิลาชอบเผ็ดน้อยกว่า….และตอนนี้รู้สึกว่าจะชอบรสเปรี้ยวหวานแก้เผ็ด  พร้อมกับน้ำสักแก้วก็น่าจะแก้กระหายค่ะ

……….ขอปิดท้ายคำเดียวสั้น ๆ ค่ะ เมตตา  สันติ

 ผู้ให้ความรู้เป็นทานควรมีเมตตาต่อกันค่ะ..

  • มาบอกว่า...
  • มาอ่านแล้วนะครับ...
  • ขอภัย ด้วยน้ำใสใจจริงนะครับ
  • ย้อนเวลาได้
  • ผมอยากเรียบเรียงใหม่จังเลยนะครับ
  • ลูกศิษย์ผม ว่าผมเสมอเลยนะครับ
  • ว่า เป็นคนจริงจัง แต่จริงใจ ครับ
  • วาทะของเราสองคนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ
  • การสร้างเวที ปัญญา ร่วมกับหลาย ๆ ท่าน แล้วนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • คงปิดประเด็นแบบนี้นะครับ
  • ระลึกถึงเสมอ นะครับ
  • จาก กล้วยไม้ป่า ครับ

ชยพร แอคะรัจน์   

  • ขอบพระคุณคุณคนไม่มีราก P ทีแวะมาทักทายค่ะ
  • บันทึกนี้เปิดอิสระค่ะ เพราะเป็นลานอารมณ์
  • เปิดใจอย่างเดียวก็จะเข้าใจซึ่งกันและกัน
  • แค่มาก็อุ่นใจแล้วค่ะ

(^___^)

...แวะมาส่งคุณศิลาเข้านอนค่ะ....

หลับฝันดี ตื่นขึ้นด้วยความสดชื่นค่ะ

(^___^)

สวัสดีครับ คุณพี่ศิลาฯ ครูบาอาจารย์ และกัลยาณมิตรทุกท่าน

ผมขออนุญาตแสดงความเห็นอีกครั้งนะครับ ในฐานะปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่ได้มีความรู้ หรือภูมิธรรมอะไรมากมาย

ผมเชื่อในทฤษฎีองค์รวมครับ

ผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนเล็กจ้อยและมีมุมมองที่จำกัด เสมือนกับมดตัวน้อย ที่กำลังไต่อยู่บนตัวช้าง ย่อมอธิบายความเป็น "ช้าง" ในแง่มุมที่มดแต่ละตัวเคยสัมผัสมา มากบ้างน้อยบ้าง ก็แล้วแต่เส้นทางและประสบการณ์ของแต่ละคน

และผมก็เชื่อว่า เมื่อเราสามารถเข้าใจ และยอมรับในมุมมองที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละคนได้ ก็จะทำให้เราเห็นภาพช้าง ได้อย่างตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น

ทุกวันนี้ ผมจึงพยายามที่จะยอมรับทุกสิ่งด้วยใจที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาจากทิศไหน หรือจากดาวดวงไหน  หากทำให้ผมมีมุมมองที่กว้างขวางขึ้น เข้าใจอะไรๆ ได้ดีขึ้น ผมขอน้อมรับไว้หมดครับ หากสิ่งนั้นจะทำให้ผมเห็นถึงความเป็น "องค์รวม" แห่งชีวิตมนุษย์ และเข้าถึง "องค์รวม" แห่งความเป็นจริงของจักรวาลนี้

ขอขอบคุณพี่ศิลา ตลอดจนทุกท่าน ที่ได้แสดงความคิดความเห็นไว้อย่างกว้างขวาง

ที่ทำให้ผมเห็นตัวเอง ชัดเจนขึ้นครับ

หมายเหตุ

บริบทของสิ่งที่ผมกล่าวนั้น อยู่ในขอบเขตของภูมิปัญญาทางโลกเท่านั้นนะครับ ไม่ขออนุญาติก้าวล้ำล่วงไปในภูมิปัญญาขั้น "เหนือโลก"

เนื่องจาก ยังไม่มีประสบการณ์ตรงครับ

  • สวัสดีค่ะ คุณกวิน
  • ขอบพระคุณที่แวะมาอีกครั้ง ขอยกคำกล่าวที่น่าสนใจมาอ้างอิงอีกครั้งค่ะ
  • พูดเรื่อง คุณธรรม และศีลธรรม ศ.ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา กล่าวไว้ประมาณว่า คุณธรรมนั้นเป็นเรื่องของปัจเจก ส่วนศีลธรรม นั้นเป็นเรื่องของส่วนรวม ....
  • คุณธรรมสำหรับผู้ใดผู้หนึ่ง ก็คือ ความรู้สึกว่า ถูกต้องในความคิดความเชื่อของเขา แต่อาจจะไม่ถูกต้องในทางสังคม
  • ฉะนั้นแล้วภาพลักษณ์ ที่ผู้อื่นมอง ...ภาพลักษณ์ ที่แท้จริงคืออะไร ล่ะ?
  • ในฐานะที่คุณ ศิลา เป็นนักกฎหมายคงมองถึงประเด็น Classic นี้ได้ ผมว่าถ้าให้ผมเลือกเป็น จิตรกร/นักสร้างภาพ ผมขอเลือกเป็นจิตกรแนว abstract ที่ผลิตภาพบิดๆ เบี้ยว แต่ก็มี ความงาม ความดี ความจริง ที่ต้องใช้สมองในการมอง และตีความ (ดีกว่าจะวาดภาพ สีสวยๆ เข้าใจง่ายๆ แต่ก็งั้นๆ) ว่าไปนั่น
  • ชอบภาพ (ลักษณ์) ที่คุณวาดค่ะ...จริงอยู่แม้ว่าบางช่วงตอนจะเข้าใจยาก เพราะศิลายังไม่ลึกเพียงพอ  แต่สิ่งที่ศิลารู้เท่าที่ปัญญาหยั่ง จากสิ่งที่คุณกวินบอก แม้จะเล็กน้อย  แต่ล้ำค่ามากเพราะศิลานำมาประดับไว้กับตน  เช่น เรื่องการยึดความดีเป็นอัตตา เป็นต้น
  • เคยถามตนว่า จะรู้ให้มากขนาดไหน จึงจะพอ....ในที่สุดก็ตระหนักแล้วว่า รู้เท่าไรก็ปฏิบัติเท่านั้น จึงจะได้ชื่อว่ารู้ลึก รู้รอบ และเข้าใจมากกว่าที่ได้รู้มา
  • หากไม่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ  สิ่งที่รู้คงไม่ได้อยู่กับเรา

เจริญพร โยมsila

การสร้างภาพพจน์ให้มีชื่อเสียง เกียรติคุณสูงเกินเลยกว่า

ข้อเท็จจริง จะเป็นตัวทำลายชื่อเสียงของผู้นั้นให้ย่อยยับ

อาตมาอ่านพบในหนังสือเล่มหนึ่งจำมา

เจริญพร

  • ขอยกคำกล่าวของคุณณภัทร9 P มาอีกครั้งค่ะ

  • เป็นบันทึก ที่ประเทืองปัญญามากครับ

    กับการแลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างอิสระเสรี

    อยากให้มีบันทึกลักษณะนี้เยอะๆ จังเลยครับ

    ยอมรับว่าทำให้เห็นตัวเองชัดเจนขึ้นมากครับ

    ความคิด ความรู้สึกที่ผมจะกล่าวต่อไป ก็คงไม่ต่างจากสิ่งที่

    หลายๆ ท่านได้กล่าวไว้ คงไม่ขอยกคำกล่าวใดๆ มาอีก

    สำหรับผมในตอนนี้ "ภาพลักษณ์" อันเป็นอุดมคติของผมก็คือ

    ผมอยากเป็นคนสนุกสนาน เฮฮา มีอารมณ์ขัน 

    แต่ในความเป็นจริงแล้ว ใครที่เคยรู้จักผมดีก็จะทราบว่า

    "จืดสนิท ศิษย์ส่ายหน้า"

    ผมจึงพยายามสร้างตัวตนใหม่ ในบล็อกนี้

    ให้ดู ต๊องๆ กวนๆ มันส์ๆ บ้าง

    เม้นท์อะไรที่มันหลุดๆ  สนุกๆ บ้าง

    ผมเชื่อเหมือนกับหลายๆ ท่านว่า

    การมี "ภาพลักษณ์" ที่อยากเป็น

    แม้จะแตกต่างกับ "ตัวตนที่แท้จริง"

    ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด

    ตราบใดที่เรายังคง มุ่งมั่น พัฒนา

    ไปสู่สิ่งนั้นอย่างจริงจัง

  • การได้อ่านความคิด ความรู้สึก  ต่อเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ซึ่งหลากหลายมุมมอง ...รู้ไหมคะ เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง

  • คุณณภัทร9 มองภาพลักษณ์ เป็นภาพอุดมคติที่อยากจะเป็น และมองเห็นตัวตนที่ตนเป็น...โดยที่ไม่ได้รู้สึก conflict หากไม่ได้เป็นในแบบนั้น...เพราะไม่ได้เชื่อมโยงภาพลักษณ์ตนกับการยอมรับทางสังคมมากนัก ...

  • ศิลาหยุดไว้เท่านี้ ให้คุณณภัทร9 มาต่อเอง ...หากสนใจ และถ้าเราไปในทางเดียวกัน ศิลาจะขยายต่อความเห็นของตนเองค่ะ 

  • ศิลานอนหลับได้ ก็เพราะคุณคนไม่มีรากP มาส่งเข้านอนนี่แหละค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะคุณชยพร P  ขอยกคำสำคัญ (สำหรับศิลา) มาไว้ตรงนี้ค่ะ
  • วาทะของเราสองคนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ การสร้างเวที ปัญญา ร่วมกับหลาย ๆ ท่าน แล้วนะครับ ขอบคุณมากครับ
  • อ่านความเห็นภาพรวม โดยเฉพาะความเห็นหลัง ๆ จากคุณชยพรให้ความเห็นแล้ว พบความมหัศจรรย์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในบันทึกศิลาค่ะ
  • แขกที่มาเยือนดูเหมือนเปิดอก เอ๊ย เปิดใจกันมากมายหลากหลาย
  • รู้สึกประทับใจมาก โดยบังเอิญคิดคำเล่น ๆ เขียนหยอกล้อคุณคนไม่มีรากไปว่าบันทึกนี้เป็นลานอารมณ์ เพราะการกล่าวถึงภาพลักษณ์เป็นเรื่องของหัวใจ (อารมณ์) ...ก็เลยขอแก้ใหม่ค่ะ  เป็นลานวิญญาณเสรี...เขียนพาดพิงถึงคุณวิญญาณเสรีได้เพราะเราเป็น soulmate กัน
  • ป.ล.  ชอบกล้วยไม้มากค่ะ ที่รั้วนอกบ้านไม่มีที่จะแขวน จะวางแล้วค่ะ

 

 

 

สวัสดีครับ คุณพี่ศิลาฯ

จริงๆ แล้วผมก็หมดมุขที่จะต่อแล้วล่ะ

สำหรับตัวผมเอง บางครั้งพูดเพ้อเจ้อมากไป ก็ทำให้ชักรู้สึกหลงๆ

ผมอยากเป็นโน่นเป็นนี่หลายอย่างเลยครับ มันก็คือความอยากแบบปุถุชนคนมีกิเลส

แต่ผมเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า

เราสามารถเป็นอะไรก็ได้

ตราบใดที่เราไม่ได้เป็นอะไรเลย

ฟังดูงงๆ ไหมครับ

ผมก็งง เพราะยังไม่ชัด เพียงแค่นึกคิดเอาเท่านั้น

มันอาจดูเหมือนกับ "น้ำ"

ที่ไม่มีรูปร่างที่แน่นอน

แต่ก็สามารถเป็นได้ทุกรูปทรง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาน้ำไปใส่ในภาชนะรูปทรงใด

อยากพัฒนาไปให้ถึงขั้น "ไร้ลักษณ์"

เพื่อที่จะเป็นให้ได้ "ทุกลักษณ์" น่ะครับ

นี่แหละครับ "กิเลส"  ของผม ที่อยากเป็นโน่นเป็นนี่ไปโม๊ดดดดด...

พร่ำบ่นมากชักหิว "น้ำ" ซะแล้วครับ

สีลัพพตปรามาส มาจากคำว่า สีล+พ(ร)ต+ปรามาส

ขอตั้งข้อสันนิษฐานทาง นิรุกติศาสตร์ ว่า มาจาก

สีล+พต=สีลพต(า) ต่อมาใส่ไม้หันอากาศเข้าไปเป็น สีลัพต(า) และเพื่อไม่ให้อ่านสับสน จึงใส่ เข้าไปอีกตัวเป็น สีลัพตา เพื่อให้รู้ว่า ตัวหนึ่งเป็นตั้งตัวสะกด และ พ อีกตัวหนึ่งออกเสียง ประวิสรรชนีย์

เทียบกับกรณี พน/วน+สถาน ที่ใส่ไม้หันอากาศเข้าไปเป็น พนัสถาน/วนสถาน(1) หรือเช่นคำว่า มรณ+สติ ใส่ไม้หันอากาศเข้าไปเป็น มรณัสติ สำหรับคำว่า พนัสถาน/วนัสถาน  ยังไม่เห็น มีการแผลงคำเป็น พนัสถาน/วนัสถาน แต่สำหรับคำว่า มรณสติ มีการ แผลงคำเป็น มรณัสติ

การแผลงคำในลักษณะนี้ถ้าเข้าใจไม่ผิดก็น่าจะเรียกว่า อัพภาส [อับพาด] ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง  คําซํ้า, ในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต หมายเอา การซ้อน
 หรือซํ้าอักษรลงหน้าศัพท์ เช่น ชวาล (เรือง) เป็น ชัชวาล (รุ่งเรือง),
ใน  ภาษาไทยก็ใช้ เช่น ครื้น ครึก ยิ้ม แย้ม ใช้ อัพภาส เป็น คะครื้น คะครึก  ยะยิ้ม ยะแย้ม. (ป.; ส. อภฺยาส) (2)

สำหรับคำว่า ปรามาส  นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความเอาไว้ 2  ความหมาย (ซึ่งออกเสียงต่างกันเล็กน้อย) ความหมายที่หนึ่ง คำว่า ปรามาส [ปฺรามาด] หมายถึง  ดูถูก  และในความหมายที่ 2 คำว่า ปรามาส [ปะรามาด] หมายถึง การจับต้อง, การลูบคลํา.(3)

สำหรับคำว่า พรต นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความไว้ ว่า พรต [พฺรด] หมายถึง กิจวัตร, การปฏิบัติ; มรรยาท, เขตแห่งความประพฤติ,  ธรรมเนียม, ประเพณี, การสมาทานหรือประพฤติตามลัทธิศาสนา,  การจําศีล (เช่น การเว้นบริโภค เว้นเมถุนธรรม); การสมาทานบริโภค  อาหารอย่างเดียวเป็นนิตย์ (เช่น มธุพรต คือ การสมาทานกินแต่นํ้าผึ้ง);  ข้อกําหนดการปฏิบัติทางศาสนาเพื่อข่มกายใจ มีศีลวินัยเป็นต้น เช่น  บําเพ็ญพรต ทรงพรต ถือพรต, เรียกผู้บําเพ็ญพรตว่า นักพรต.  (ส. วฺรต; ป. วตฺต).(4)
 
จะเห็นได้ว่า คำว่า พรต/พต มาจากคำในภาษา บาลี คือคำว่า วตฺต ในสำเนียงภาษา สันสกฤต ออกเสียงว่า วฺรต (พึงเข้าใจว่าคนไทยออกเสียง (สำเนียง)  ในภาษาบาลีเพี้ยนเป็น เช่น คำว่า มหรรณออกเสียง เป็น มหรรณหรือ วิษณุ ออกเสียงเป็น พิษณุ ฯลฯ)


ฉะนั้นเมื่อนำ สีล+พ(ร)ต+ปรามาส  มาสมาสกันจะได้ว่า สีลัพพตปรามาส (สี-ลับ-พะ-ตะ-ปะ-รา-มาด) หากแปลตรงตามศัพท์จะแปลว่า "การลูบคลำ สีล และ พรต"

คำว่า สีล/ศีล/ศีลา/ศิลา  คือคำเดียวกัน  และคำว่า พรต ในที่นี้นำมาใช้ ขยายความคำว่า สีล อีกทีหนึ่งเท่านั้น สีล และ พรต มีความหมายใกล้กันมาก ฉะนั้นในความคิดเห็นครั้งแรกๆ กวินเลยกระเซ้าเหย้าแย่ว่า คำว่า  สีลัพพตปรามาส = การลูบคลำ ศิลา (เรื่องนิสัยที่ชอบกระเซ้าเย้าแย่นี่ คงเป็น อธิวาสนา (5)  ที่แก้ไม่หายเพราะเป็นมาหลายชาติแล้ว คนที่ไม่รู้ถึงเรื่อง อธิวาสนา แต่ชา ติ ปางก่อน ของกวิน ก็อาจจะรู้สึกว่า ตัวเองกำลัง ถูกแกล้ง หรือ ถูกล้อเล่นแรงๆ)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ให้คำจำกัดความ สีลัพพตปรามาส ว่าหมายถึง ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร (คือถือว่าเพียงประพฤติศีลและวัตรให้ เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาก็ตาม ถือศีลและวัตรที่งมงามหรืออย่างงมงายก็ ตาม) , ความถือศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เข้าใจความหมาย และความมุ่งหมายที่แท้จริง , ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่าจะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ล่วงธรรมดา วิสัย (ข้อ 3 ในสังโยชน์ 10)(6)  สอดคล้องกับ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ (คนไร้กรอบ) ได้อรรถาธิบายเอาไว้ในบทความ "สีลัพพตปรามาส อธิบายยากนะ เป็น tacit Knowledge จริงๆ " ที่ว่า

  • ถือศีลแบบขาดสติ   ก็ถือว่า ปรามาสศีล (ลูบๆ คลำๆ)
  • ถือศีลแบบทำให้จิตไม่ปกติ  ก็ถือว่า ปรามาสศีล
  • ถือศีลแบบทำคนอื่นเดือดร้อน ทำตนเอง ทำหมู่คณะเดือดร้อน  ก็ถือว่า ปรามาสศีล
  • ถือศีลแล้วเป็นทุกข์   ก็ถือว่า ปรามาสศีล
  • ถือศีลแล้ว  หยิ่งพยอง  อวดตน ก็ถือว่า ปรามาสศีล(7) 

และถ้า เอาคำว่า ทำดี ไปใส่แทนคำว่า ศีล ในคำอธิบายข้างต้น ก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า สีลัพพตปรามาส ที่กว้างขวาง ยิ่งขึ้น

ไม่อยากอธิบายยาวๆ เพราะขี้เกียจพิมพ์  แต่มานึกๆ ดู การเขียนอะไรที่สั้นๆ (สร้างภาพ abstract ที่บิดๆ เบี้ยวๆ) ก็หมิ่นเหม่ กับการแปลความกันไปต่างๆ นาๆ ผิดจุดประสงค์ในการสื่อ หรือเป็นการทำร้ายน้ำใจกันจึงรีบมา สร้างสร้างภาพแนว Impressionism เทียบเคียงไว้ด้วย

สรุป
1.นิสัยที่ชอบแกล้งคนก็ดี  พูดจาเสียดสีก็ดี เป็นอธิวาสนา ที่แก้ไม่หาย คนที่ทราบแล้วก็อย่าถือสา กวินนะครับ
2. จิตรกร/นักสร้างภาพ แห่งความเป็นคนดี คนมีศีล ต้องตระหนักถึงเรื่อง สีลัพพตปรามาส

 



อ้างอิง
(1) คำศัพท์ วนัสถาน นี้ อ่านพบในคำประพันธ์ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรฯ (เจ้าฟ้ากุ้ง)

(2) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ฉบับออนไลน์. อัพภาส [cited 2009 march 12].Available from: URL; http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp

(3) อ้างแล้ว (ดูที่ข้อ 2)

(4) อ้างแล้ว (ดูที่ข้อ 2)

(5) กวิน (นามแฝง). ดัด (จริต นิสฺสัย) [cited 2009 march 12].Available from: URL; http://gotoknow.org/blog/kelvin/207717?page=1

(6) พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) . พจนานุกรมพุทธศาสน์  [cited 2009 march 12].Available from: URL; http://palungjit.com/dict/

(7) คนไร้กรอบ. สีลัพพตปรามาส อธิบายยากนะ เป็น tacit Knowledge จริงๆ [cited 2009 march 12].Available from: URL;  http://gotoknow.org/blog/ariyachon/73065

แก้ เดี่ยวโดนแซว คำว่า นาๆ ที่ถูกคือ นานา ครับ คำนี้เป็นคำเฉพาะที่ห้ามใช้ (ๆ)

พระเทวทัต คิดฆ่าพระพุทธเจ้าไม่สมประสงค์ จึงชวนพรรคพวกมีพระโกกาลิกะเป็นต้น คิดเสนอข้อปฏิบัติ 5 ประการ เพื่อให้เห็นว่าตนเคร่งครัด คือ  

1.ให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ป่าตลอดชีวิต  เข้าสู่บ้านมีโทษ
2.ให้ถือบิณฑบาตตลอดชีวิต รับนิมนต์มีโทษ
3.ให้ถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต รับคฤหบดีจีวร ผ้าที่เขาถวายมีโทษ
4.ให้อยู่โคนไม้ตลอดชีวิต เข้าสู่ที่มุงบังมีโทษ
5. ห้ามฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต  ฉันเข้ามีโทษ 

เมื่อได้โอกาสจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปฏิเสธ คือใน 4 ข้อข้างต้น ให้ภิกษุปฏิบัติตามความสมัครใจ ไม่บังคับ โดยเฉพาะข้อที่ ๔ ทรงอนุญาตให้อยู่โคนไม้ได้เพียง 8 เดือน ฤดูฝนไม่ให้อยู่โคนไม้  และข้อ 5  การฉันเนื้อสัตว์ ทรงอนุญาตเนื้อสัตว์ที่ บริสุทธิ์ โดยเงื่อนไข 3 ประการ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้นึกรังเกียจว่า เขาฆ่าเพื่อตน พระเทวทัตก็ดีใจ ที่จะได้ประกาศว่าตนเคร่งกว่าพระพุทธเจ้า จึงเที่ยวประกาศทั่วกรุงราชคฤห์ถึงเรื่องข้อเสนอนั้น(1)  

จะเห็นได้ว่า ภาพลักษณ์ ของพระเทวทัต นั้น คือภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อให้ผู้คนเลื่อมใสศรัทธา เพื่อหวังคำชื่นชมสรรเสริญ เพื่อลาภสักการะ เพื่อความเจริญในตำแหน่งหน้าที่ (หวังเป็นศาสดาแทนพุทธองค์) ฯลฯ เป็น ภาพลักษณ์ ของความยึดติดในความดี หรือยึดติดใน สีล และวัตร/พรต หรือที่เรียกว่า   สีลัพพตปรามาส (การลูบๆ คลำๆ ศิลา/สีล) ถามว่าในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ ในแบบ พระเทวทัต ยังมีให้เห็นอยู่หรือไม่?

เราได้เห็น ภาพลักษณ์ในแบบ พระเทวทัต ไปแล้วคราวนี้เราลองมาดู ภาพลักษณ์ที่ตรงกันข้าม ดูบ้าง กวินขอยก ตุ๊กตา ว่าด้วยเรื่อง ภาพลักษณ์ในแบบพระจี้กง มาเป็นอุทธาหรณ์ ความว่า

สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน จี้กง ถูกจัดเป็น อรหันต์ (罗汉) แต่เป็นพระอรหันต์ที่แปลกประหลาดเสียจนผู้คนงุนงง จนผู้คนให้ฉายานามว่า พระบ้า หรือ พระเพี้ยน (疯和尚) สาเหตุก็ คือ จี้กงเป็นพระที่รับประทานเนื้อสัตว์ ดื่มสุราอยู่เป็นนิจ นอกจากนี้ยังลักษณะท่าทางยังปราศซึ่งความสำรวม ผิดแผกกับ พระสงฆ์ทั่วไปโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม 'เปลือกนอก' กับ 'เนื้อใน' หรือ 'สิ่งที่เห็น' กับ 'สิ่งที่เป็น' นั้นบางครั้งก็มิใช่เรื่องเดียวกันเสียหมด อรหันต์จี้กง ก็ถือเป็นหนึ่งในข้อยกเว้นนั้น จี้กง (济公) หรือ จี้เตียน (济颠) มีตัวตนอยู่จริงในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ปกครองประเทศจีน โดยใช้ชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.1148-1209 เดิมแซ่หลี่ นามซินหย่วน (李心远) นอกจากนี้ยังมีนามอื่นๆ อีก เช่น หูหยิ่น (湖隐) และ ฟังหยวนโส่ว (方圆叟) เกิดที่ หมู่บ้านหย่งหนิง ตำบลเทียนไถ มณฑลเจ้อเจียง ในตระกูลของผู้มีอันจะกิน อย่างไรก็ตามหลังจาก บิดา-มารดา เสียชีวิต จี้กงก็ตัดสินใจละทางโลก สละเพศฆราวาส ออกบวชที่วัดหลิงอิ่น (灵隐寺) แห่งเมืองหางโจว โดยได้ฉายานามว่า เต้าจี้ (道济) ทั้งนี้เต้าจี้ได้รับการอุปสมบทโดยมีพระสงฆ์ผู้มีชื่อเสียงในเวลานั้น คือ พระอาจารย์ฮุ้ยหย่วน หลังจากจี้กงออกบวช และ ต่อมาก็ออกลาย กลายมามีพฤติกรรมพิเรนทร์ผิดกับพระทั่วไป จนเป็นที่ติฉินนินทาของพระสงฆ์รูปอื่นๆ แต่ด้าน พระอาจารย์ กลับทราบดีว่า แม้ภายนอกจี้กงจะมีกิริยาไม่สำรวมผิดกับพระทั่วไป ทั้งผิดศีล เล่นซุกซนกับเด็กๆ ประพฤติ-พูดจาไม่สำรวม ดื่มสุรา บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ลึกลงไปภายใน จี้กงกลับเป็นบุคคลที่ตื่นแล้ว! นอกจากนี้ด้วยการกระทำหลายๆ ประการของ จี้กง แม้จะเป็นการกระทำที่ดูเหมือนจะผิดศีลธรรม ผิดประเพณีดั้งเดิม แต่เมื่อพิจารณาจาก เนื้อแท้ จุดมุ่งหมายและผลลัพธ์ แล้ว การกระทำเหล่านั้นของจี้กงกลับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และ ก่อคุณประโยชน์(2)

อ้างอิง

(1) สังฆเภท [cited 2009 march 13].Available from: URL; http://www.kammatthana.com/D_74.htm

(2) ตามรอยพระพุทธะจี้กง [cited 2009 march 13].Available from: URL; http://www.littlecatzhome.net/chongter/Articles/thamma/001/001.htm

(3) กวิน (นามแฝง). เขียนบทความประชันกับ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ว่าด้วยเรื่องมา(ร)ยาคติ [cited 2009 march 13].Available from: URL; http://gotoknow.org/blog/kelvin/204203

(4) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ฉบับออนไลน์. ทิชา  อ้างใน กวิน (นามแฝง). สุขสันต์วันเกิด [cited 2009 march 13].Available from: URL;http://gotoknow.org/blog/kelvin/207685 

เพิ่มเติม

จะเห็นได้ว่า ภาพลักษณ์ของ พระเทวทัต และภาพลักษณ์ของ พระจี้กง เป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจภาพลักษณ์ภายนอกได้ดียิ่งขึ้น (เข้าใจว่าเราอาจะไม่สามารถเข้าใจได้เลย) ถามว่า ในสังคมเรานี้มีคนอย่าง พระเทวทัต หรือคนอย่าง พระจี้กง มากกว่ากัน? จะเห็นได้ว่าหากนำภาพลักษณ์ ภายนอกมาตัดสินคน ว่า ดี หรือ เลว หรือเพียงเพราะการกระทำของเขา หรือจากการฟังตามๆ กันมา ว่าเขาดี หรือเลว นั้นยังไม่สามารถตัดสินคนๆ นั้นได้

ในคัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค กล่าวไว้ว่า ทุชฺชาโน สมโณ ทุชฺชาโน พรฺาหฺมโณ แปลว่า สมณะรู้ได้ยาก พราหมณ์ก็รู้ได้ยาก การที่จะ รู้ว่าใครคือสมณะ หรือเป็นพราหมณ์ที่แท้นั้น ต้องอยู่ใกล้ชิดนานๆ ด้วยเหตุนี้ การที่จะดูคน ว่าดีหรือเลว จึงดูได้ยากเพราะต้องใช้เวลา (3)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์  มาตรา 15 กล่าวถึงสภาพบุคคลเอาไว้ ว่า "สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย" การคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก ถือเป็นการเกิดครั้งที่หนึ่งของมนุษย์ แต่ทว่า มนุษย์นั้นย่อมถูก อวิชชา  ห่อหุ้มดวงจิต หากมนุษย์ผู้ใดรู้จักทำลาย อวิชชา (เปลือกไข่) ให้แตกสลายย่อยยับลงไปได้ มนุษย์ผู้นั้นก็จะมีชีวิตใหม่อันประเสริฐ ซึ่งถือเป็นการเกิดครั้งที่สอง  ก็ฉันนั้น การเกิดครั้งที่สอง/การเกิดสองครั้ง ตรงกับคำศัพท์ในภาษาบาลี ที่ว่า  ทวิช / ทิช ซึ่งมีความหมายดังนี้

ทวิช, ทวิช- [ทะวิด, ทะวิชะ-] (แบบ) น. นก; พราหมณ์. (ป., ส. ทฺวิช ว่า ผู้เกิด 2 หน). 

ทิช-, ทิชะ / ทิชา [ทิชะ-] (แบบ) น. ผู้เกิด 2 ครั้ง คือ นก และพราหมณ์. (ป., ส. ทฺวิช)
(4)

การที่คุณ ศิลา กล่าวถึงว่า ถ้าเราไม่เห็นทางเข้าก่อน จะเห็นทางออกได้อย่างไร  เฉกเช่นถ้าเราไม่เข้าถึงก่อน เราจะหลุดพ้นได้อย่างไร?

 

เพิ่มเติม ก็ต้องตอบด้วยคำถามที่ว่า ลูกเจียบเข้าไปอยู่ในไข่ได้อย่างไร? (ไม่เห็นมีทางเข้าทางออก) ก็แล้วลูกเจี๊ยบจะออกมาจากไข่ได้อย่าง?

  • ขอบพระคุณคุณเอกราช P ค่ะ
  • ทราบค่ะว่าคิดถึงจริง ๆ ไม่ได้คิดเป็นอื่นเลยค่ะ
  • ใจถึงใจค่ะ
  • ขอบคุณคุณ balloon เจอกันอีกแล้วค่ะ
  • ไม่ต้องตกใจค่ะ
  • เวทีสาธารณะ ลานวิญญาณเสรี
  • มิติใหม่ของบันทึกศิลาค่ะ
  • ตอนนี้ ได้ยก comments ของทุกท่านไปขึ้นเป็นบันทึกใหม่ 3 บันทึกแล้ว
  • ไม่มีคำตอบ ไม่มีข้อสรุปค่ะ
  • เพราะทุกคนคือนักเรียน ต่างคนต่างเรียนรู้กันไปเรื่อย ๆ
  • เหนื่อยก็พัก รักก็เรียน ...ต่อไป ไม่มีวันสิ้นสุด
  • กราบนมัสการท่านพระปลัดPค่ะ
  • จริงอย่างที่ท่านว่า ศิลาสะท้อนในระดับของการส่งเสริมให้คนมุ่งมั่นสร้างความดี มีภาพความดีเป็นที่ตั้ง
  • ส่วนเรื่องการหลงในความดีที่สร้าง นั่นย่อมไม่ใช่ความดีของจริงอย่างที่ท่านตักเตือน
  • จึงอยากให้ข้อคิดที่ท่านพระปลัดเตือนเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนระลึกไว้ไม่ให้หลงในลาภยศสรรเสริญ
  • ทำความดีเพราะจิตใฝ่ดีก็พอค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท