Change Governance ต่างจาก Change Management อย่างไร


          บันทึกนี้เป็นบันทึกแห่งคำถาม ไม่ใช้บันทึกแห่งคำตอบ    การอ่านหนังสือตามที่อ้างอิงข้างล่าง    กระตุ้นให้ผมตั้งคำถามนี้   ผมกำลังฝึกอ่านหนังสือแบบ “อ่านเพื่อตั้งคำถาม”   และกำลังเชิญชวนให้แฟนคลับช่วยกันตอบคำถามนี้จากมุมมองหรือประสบการณ์ของท่าน 

          ที่สำคัญ ผมจะเอาคำตอบนี้ไปทดลองปฏิบัติในชีวิตจริงของผม    ที่เทวดามาดลใจให้ผม “ลอกคราบ” ตัวเอง    พ้นจากวงจรชีวิตช่วงที่ทำงานด้านบริหารจัดการ    ไปสู่วงจรชีวิตช่วงที่ “ทำงานแบบไม่ทำงาน” คือไม่มีงานด้านการจัดการ (Management) เลย   เมื่อมีคนมาชักชวนให้ทำงาน ผมก็เลือกเฉพาะงานด้านกำกับดูแล (Governance)    ผมจึงต้องขวนขวายหาความรู้ว่าด้วยการทำงานกำกับดูแล   และยิ่งทำ ยิ่งเรียน ก็ยิ่งสนุก    จึงเอามา ลปรร. กัน

          สำหรับผม การเล่นกับคำถาม สนุกกว่าเล่นกับคำตอบ   ซึ่งที่จริงก็เล่นกับทั้ง ๒ อย่างนั่นแหละ   และสนุกเพราะไม่ถือว่ามีคำตอบเดียว   และสนุกเพราะว่าได้ทดลองเอาไปใช้จริง   แล้วได้คำตอบที่มีหลายมิติยิ่งขึ้น มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

          ผมลองค้นหาคำตอบในหนังสือเล่มนี้

          ไม่พบคำตอบโดยตรงครับ   ไม่มีบทใดกล่าวถึง Change governance    ค้นที่ Index ด้วยคำว่า Change governance ก็ไม่พบ  

          แต่ค้นพบด้วยการตีความครับ โดยต้องตีความหลายตลบทีเดียว    จนไม่แน่ใจว่าผมตีความถูก

          ทั้ง Change governance และ Change Management มีเป้าหมายเดียวกัน   คือความอยู่รอด อยู่ดี ขององค์กร   แต่ใช้แหล่งพลังงาน (source of energy) ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างกัน

          Change Management ใช้พลังงานจากภายในองค์กร ๗๐%  ใช้พลังงานจากภายนอกองค์กร ๓๐%   ในขณะที่ Change governance ใช้พลังงานจากภายในองค์กร ๓๐%  ใช้พลังงานจากภายนอกองค์กร ๗๐%   พลังงานในที่นี้หมายถึงอะไรก็ได้ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง    รวมทั้งความรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม หรือรู้สึกว่าถ้ายังทำธุรกิจแบบเดิมๆ องค์กรไปไม่รอดแน่

          สภามหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมทำงานกำกับดูแลนโยบายหรือทิศทาง    โดยใช้เครื่องมือ 4P (Participatory Public Policy Process)    นี่คือตัวอย่างของการทำ change governance

          กกอ. มีมติกำหนดวิธีทำงานแบบ knowledge-based  โดยใช้ systems research สร้างความรู้เกี่ยวกับระบบอุดมศึกษา   สำหรับเอามาใช้ทำความเข้าใจร่วมกันกับสังคม   เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการทำ change governance    ซึ่งพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะมาจากสังคมภายนอกระบบอุดมศึกษา

          มองอีกมุมหนึ่ง change governance เป็นการทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงคือสภาพแวดล้อมภายนอก   ทำให้ผู้เกี่ยวข้องรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   ทำให้คนในองค์กรรู้สึกว่าทุกคนต้องเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง หากต้องการอยู่รอด   

          ท่านผู้อ่านมีความเห็นเกี่ยวกับการทำหน้าที่ change governance อย่างไรบ้างครับ


Ref. Bob Garratt. The fish rods from the head. The crisis in our boardrooms : developing the crucial skills of the competent director. 2nd Ed., 2003. pp. XXV, 4 - 5.

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ก.พ. ๕๒


 

หมายเลขบันทึก: 247195เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2009 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน ท่าน Prof. Vicharn Panich

เป็นเกียรติที่ได้อ่านบล็อกของท่าน

สพฐ. พยายามกระจายอำนาจให้โรงเรียนที่มีความเข้มแข็ง ที่เรียกว่าโรงเรียนประเภทหนึ่ง โดยให้โรงเรียนบริหารงานในแบบ School Base Management ตอนนี้ปีเศษแล้ว ผมมีความรู้สึกว่าไม่มีอะไรคืบหน้า สำนักงานเขตพื้นที่ยังคงกำกับดูแลโรงเรียนเหล่านั้นอยู่

หรือว่าจะต้องเปลี่ยนเป็น School Base Governance

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท