พระที่นั่งวิมานเมฆ


วางศิลาฤกษ์ขึ้นในวันที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๓ ซึ่งนายช่างทั้งหลายได้ทำการก่อสร้างพระที่นั่งจนแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่ง เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔ และได้เสด็จฯ มาประทับ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆนี้พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายฝายในหลายพระองค์ ตราบจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๔๙

 

 

 

พระที่นั่งวิมานเมฆ

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังสวนดุสิตเพื่อให้เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย นั้น ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างอาคารในวังสวนดุสิตพอแก่การที่จะมาประทับแรมได้  โดยในชั้นแรกได้มีการปลูกพลับพลาขึ้นเป็นที่ประทับ  จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสหัวเมืองชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันออกทรงทอดพระเนตรพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยมีฐานเป็นทรงแปดเหลี่ยม ก่อสร้างเป็น อาคารยาวเพื่อให้รับลมทะเลได้สะดวก ณ เกาะสีชัง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จบริบูรณ์  เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างไทยและฝรั่งเศส (ร.ศ. ๑๑๒) เสียก่อน ทำให้พระราชฐานบนเกาะสีชังไม่เป็นสถานที่ปลอดภัยอันควรแก่การเสด็จพระราชดำเนิน ถูกทิ้งร้างให้ทรุดโทรเปล่าประโยชน์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโยธาเทพ (กอน หงสกุล ภายหลังเป็นพระยาราชสงคราม) เป็นนายงานในการรื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์จากเกาะสีชังมาปลูกสร้างขึ้นในวังสวนดุสิต เพื่อจะได้ใช้เป็นที่ประทับแรมได้โดยสะดวกทุกเมื่อ และพระราชทานนามเปลี่ยนเป็น “พระที่นั่งวิมานเมฆ”

     พระที่นั่งวิมานเมฆ  ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในวังสวนดุสิตนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้กำกับการออกแบบเอง สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงอาคารจากทรงยาวตลอดมาเป็นอาคารทอดยาวตั้งมุมหักศอก  คล้ายตัวแอลในภาษาอังกฤษ  ด้านทิศใต้ขนานกับอ่างหยกและด้านทิศตะวันออกขนานกับคลองร่องไม้หอม แต่ละด้านยาว ๖๐ เมตร เป็นอาคาร ๓ ชั้น  เว้นแต่ตอนที่ประทับซึ่งเป็นบริเวณที่เรียกว่า “แปดเหลี่ยม” นั้นสร้างเป็น ๔ ชั้น ชั้นที่อยู่ติดดินเป็นชั้นใต้ต่ำก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นที่อยู่เหนือไปจากนั้นเป็นเรือนไม้ทั้งสิ้น มีห้องจำนวน ๓๑ ห้อง ส่วนกว้างที่สุดวัดได้ ๓๕ เมตร ส่วนกว้างทั่วไป ๑๕ เมตร  ส่วนสูงวัดถึงเพดานชั้น ๔ สูง ๒๐ เมตร  มีอัฒจันทร์ขนาดใหญ่ต่อยื่นออกไปเป็นมุขศาลาท่าน้ำที่ริมอ่างหยกตรงบริเวณแปดเหลี่ยม

 

 

     การดำเนินงานก่อสร้างพระที่นั่งวิมานเมฆมีการก่อรากมาตามลำดับและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดวางศิลาฤกษ์ขึ้นในวันที่  ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๓ ซึ่งนายช่างทั้งหลายได้ทำการก่อสร้างพระที่นั่งจนแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔  หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่ง เมื่อวันที่ ๒๗  มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔ และได้เสด็จฯ มาประทับ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆนี้พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายฝายในหลายพระองค์  ตราบจนถึงเดือนกุมภาพันธ์  พุทธศักราช ๒๔๔๙ ได้มีการเฉลิมพระราชมณเฑียร  ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน  ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่สวนแง่เต๋งในพระราชวังดุสิตพร้อมๆ กับเวลาที่มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ  จึงได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานอย่างเป็นทางการจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓

     ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายามาประทับ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต จึงทรงย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักสวนหงส์ เมื่อพุทธศักราช  ๒๔๖๙  นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระที่นั่งวิมานเมฆก็มิได้ใช้เป็นพระราชฐานที่ประทับของเจ้านายพระองค์ใดอีก จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาพัสดุภัณฑ์ของสำนักพระราชวังตลอดมาเป็นเวลา ๕๐ ปี

 

              

           

 

     ในมหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์  ๒๐๐  ปี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๕  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงสำรวจพบว่า พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ประณีตงดงามเป็นเลิศ และยังมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ รวมทั้งศิลปวัตถุส่วนพระองค์เป็นจำนวนมาก  จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณะซ่อมแซม  เพื่อจัดเป็นพระที่นั่งเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์และศิลปวัตถุที่ทรงสะสมไว้มาจัดแสดงให้ชมจำนวน ๓๑ ห้อง  บางห้อยังคงลักษณะและบรรยากาศในอดีตไว้เช่น พระที่นั่งส่วนองค์พระที่นั่งชั้น ๓ ที่อยู่ถัดลงมานั้นได้จัดแสดง เครื่องแก้วเจียระไน เครื่องเบญจรงค์เครื่องของเล่นขนาดเล็ก เครื่องลายคราม เครื่องถม ตลอดจนได้จัดตกแต่งห้องท้องพระโรงหรือที่เรียกว่า “ห้องโป่ง”  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นห้องพระโรงเสด็จฯ ออกว่าราชการอย่างไม่เป็นทางการเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชอาสน์ที่ทรงใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ ๔ องค์ ห้องทรงพระอักษรใหญ่  ห้องเสวย หมู่ห้องไทย  เป็นห้องแบบไทยแสดงให้เห็นถึงลักษณะของการจัดห้องที่เจ้านายเคยประทับไว้อย่างพร้อมมูล

     ในส่วนของชั้น ๒ เหนือจากชั้นใต้ต่ำนั้น ได้จัดแสดง เครื่องเงินฝีมือประณีตในแบบต่าง ๆ เครื่องลายครามนานาชนิด รวมทั้งชุด จ.ป.ร. ที่สวยงาม เครื่องกระเบื้อง ตลอดจนงาช้างและเขาสัตว์ที่ทรงสะสมไว้ เป็นต้น  นอกจากพระที่นั่งวิมานเมฆแล้ว ยังมีหมู่พระตำหนักและตำหนักต่างๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบ่งที่ดินสร้างพระราชทาน ได้จัดแสดงศิลปวัตถุต่างๆ ให้ประชาชนได้เข้าชมด้วยเช่นกัน

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พระที่นั่ง
หมายเลขบันทึก: 246680เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2009 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เข้ามาแสวงหาความรู้ค่ะ

  • ไม่ได้ไปนานมาก เคยไปตอนเรียนแต่ภายในสวยมาก
  • แต่งงๆๆรูปพี่
  • เปลี่ยนให้น้องๆๆงงๆๆซะงั้น

(*-*)ขอบคุณ อ.ขจิต ค่ะที่แวะมาเยี่ยม

(*-*)ช่วงนี้อากาศร้อนมากๆ  รูปถ่ายเลยเปลี่ยนไป

(*-*)ออกจะบวมๆๆ หน่อย แต่ก็ดูน่ารักดี อิอิอิ

(*-*)ถ่ายมาจากตลาดสามชุก ไปไหว้พระและเลยไปตลาดมาเห็นรูปน่ารักดีเลยถ่ายมาจ๊ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท