โคเลสเตอรอลชนิดดี(HDL)ต่ำทำภูมิต้านทานโรคต่ำ


...

ภาพเรือดำน้ำเยอรมนี... ถ้าเปรียบเทียบกระแสเลือดเราเป็นแม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร ไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอลก็จะเปรียบได้กับ "เรือดำน้ำ" เนื่องจากมัน "ลอย" อยู่ในกระแสเลือดนั่นเอง > [ Wikipedia ]

...

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอลของคนเรามีตัวละครหลัก 3 ฝ่ายได้แก่ โคเลสเตอรอลฝ่ายดี (HDL) โคเลสเตอรอลฝ่ายร้าย (LDL) และผู้ช่วยฝ่ายร้ายหรือไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides)

ส่วนที่ว่า ทำไมมีแต่ผู้ช่วยฝ่ายร้าย ไม่มีผู้ช่วยฝ่ายดี ทำให้คนดีมักจะต้องโดดเดี่ยวเดียวดาย จนไปคล้ายกับการเมืองไทยนั้น... จำเป็นต้องรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมกันต่อไป (ไม่ทราบเหมือนกัน)

...

ท่านอาจารย์ รศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตีพิมพ์เรื่อง "ไตรกลีเซอไรด์และเอชดีแอล" ในวารสารหมอชาวบ้าน ท่านกล่าวว่า เจ้า HDL กับ LDL นี่จริงๆ แล้วคือ "เรือดำน้ำ" ดีๆ นี่เอง(ดังภาพ) เนื่องจากมัน "ลอย"อยู่ในกระแสเลือด

เดิมเรามักจะเปรียบเทียบกันว่า เจ้าโคเลสเตอรอลชนิดดีหรือ HDL ทำหน้าที่ "เก็บขยะ" หรือทำความสะอาดคราบไข(มัน)บนผนังหลอดเลือดเป็นหลัก นำมาพักไว้ที่ตับก่อนจะขับออกทางน้ำดีลงสู่ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และขับออกทางอุจจาระไปบางส่วน (ต้องกินอาหารที่มีเส้นใยหรือไฟเบอร์ จึงจะขับออกไปได้ดี)

...

ทุกวันนี้เราพบว่า เจ้า HDL ไม่ได้ทำความดีอย่างเดียว ทว่า... ทำดีพร้อมกันหลายๆ อย่าง หรือภาษาสมัยใหม่เรียกว่า "ทำความดีเป็นชุดๆ (package = "แพ็ค" หรือชุดในภาษาไทย)" ได้แก่

  • (1). ทำความสะอาดผนังหลอดเลือด เก็บกวาดคราบไขมันหรือ "ขยะ" นำกลับมาพักที่ตับ ขับออกทางน้ำดี และอุจจาระในที่สุด

...

  • (2). จับสารพิษจากเชื้อโรค (endotoxin / เอนโดทอกซินของแบคทีเรีย) ทำให้ร่างกายทำลายเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมคนไข้เบาหวานที่มี HDL ต่ำติดเชื้อโรคได้ง่าย (กลไกที่ทำให้ภูมิต้านทานลดลงในคนไข้เบาหวานมีหลายกลไกด้วยกัน)
  • (3). ลดการอักเสบ ทำให้ธาตุไฟในร่างกายกำเริบน้อยลง โดยเฉพาะจะทำให้ผนังหลอดเลือดไม่บวมมาก และไม่ตีบตันเร็ว

...

  • (4). ลดการก่อลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดง ช่วยชะลอปัญหาหลอดเลือดตีบตัน
  • (5). ลดการออกฤทธิ์ของสารอนุมูลอิสระต่างๆ

...

  • (6). ลดการตายของเซลล์ดีๆ ในร่างกาย

ผลคือ ช่วยลดความเสี่ยงหรือโอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บมากมาย ตั้งแต่หลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ โรคติดเชื้อ ฯลฯ

...

 > [ FreeFoto ]

สาเหตุที่ทำให้เจ้า HDL หรือโคเลสเตอรอลชนิดดีต่ำลงมีอะไรบ้าง? คำตอบได้แก่

  • (1). ออกแรง-ออกกำลังน้อยเกินไป

...

  • (2). อ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตรในผู้ชาย หรือ 80 เซนติเมตรในผู้หญิง)
  • (3). กลุ่มอาการ "อ้วนพีมีพุง (เมทาโบลิค / metabolic syndrome)" ได้แก่ อ้วนลงพุง, ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง (ถ้าสูงจะทำให้ HDL มีขนาดเล็กลง และถูกทำลายได้ง่าย ผลคือ HDL จะลดลง), HDL ต่ำ (เช่น ต่ำจากการออกแรง-ออกกำลังน้อย ต่ำจากการสูบบุหรี่ ฯลฯ), ความดันเลือดสูง, น้ำตาลในเลือดสูง

กลุ่มอาการนี้ท่านอาจารย์เรียกว่า "เอว-มัน-ดัน-หวาน" ได้แก่ อ้วนลงพุง(เอว), ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง(มัน), ความดันเลือดสูง(ดัน), น้ำตาลในเลือดสูง(หวาน)

...

  • (4). กินอาหารไขมันต่ำมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ HDL ลดต่ำลงได้
  • (5). กินยาลดไขมันบางชนิด

ข้อนี้ (ข้อ 5) อาจจะไม่ใช่ข้อเสีย เนื่องจากเป็นการกินยาตามที่หมอแนะนำ ซึ่งอาจทำให้ระดับไขมันหรือโคเลสเตอรอลในเลือดต่ำมากๆ ทำให้ไม่มีโคเลสเตอรอลเหลือใช้ (ร่างกายเรานำไปใช้สร้างผนังเซลล์ ฮอร์โมน และสารอื่นๆ อีกหลายอย่าง) ทำให้ร่างกายไม่มีความจำเป็นต้องสร้าง HDL ไปเก็บขยะมากๆ

...

 > [ FreeFoto ] 

...

เว็บไซต์สถาบันเมโยคลินิกแนะนำวิธีเพิ่มโคเลสเตอรอล หรือ HDL 4 วิธีได้แก่

(1). ไม่สูบบุหรี่

  • การเลิกสูบบุหรี่อาจทำให้ HDL เพิ่มขึ้นได้จนถึง 10%

...

(2). ระวังอย่าให้อ้วน

  • ลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน ถ้าลดน้ำหนักที่เกินได้ 2 ปอนด์ (0.908 กิโลกรัม หรือเกือบๆ 1 กิโลกรัม) จะเพิ่ม HDL ได้ประมาณ 0.35 mg/dL (มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)
  • หรือถ้าลดน้ำหนักได้ 6 ปอนด์ (2.72 กิโลกรัม) จะเพิ่ม HDL ได้ประมาณ 1 mg/dL

...

 > [ FreeFoto ]

(3). ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ

  • คนที่ไม่ค่อยได้ออกแรง-ออกกำลัง... ถ้าออกแรง-ออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น วิ่งเหยาะ(จอกกิ้ง) เดินเร็ว ปั่นจักรยานเร็วๆ ฯลฯ เทียบเท่าเดินเร็ว (brisk walking) วันละ 30 นาทีนาน 2 เดือนจะเพิ่ม HDL ได้ประมาณ 5%

...

(4). ลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์

  • ไขมันอิ่มตัวมีมากในกะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู ฯลฯ และการกินเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ หมู ฯลฯ มากเกิน

...

  • ไขมันทรานส์มีมากในเนยขาว (ใช้ทำเบเกอรี ขนมกรุบกรอบสำเร็จรูป อาหารฟาสต์ฟูดหรืออาหารจานด่วน) เนยเทียม เช่น คอฟฟี่เมต ฯลฯ
  • ควรเลือกใช้น้ำมันพืชชนิดดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนลา น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันมะกอก(น้ำมันมะกอกเหมาะกับการทำสลัด ไม่ค่อยทนความร้อนจากการทอดเท่าไหร่)

...

  • ควรลดอาหารประเภท "ผัดๆ ทอดๆ" ให้น้อยลง
  • ควรกินปลาที่ไม่ผ่านการทอด โดยเฉพาะปลาทะเล เช่น ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ ฯลฯ เมล็ดพืช ถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง(นัท / nut) สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                       

  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์ รศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์. ไตรกลีเซอไรด์และเอชดีแอล. หมอชาวบ้าน.  ปี 30. ฉบับ 359. หน้า 18-26. 
  • Thank Mayoclinic.com > HDL cholesterol: How to boost your 'good cholesterol' > [ Click ] > July 24, 2008.
  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • ข้อมูลในบล็อกมีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค > ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงโรคสูง ควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์ > ยินดีให้ท่านผู้อ่านนำไปเผยแพร่ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 5 มีนาคม 2552.
หมายเลขบันทึก: 246557เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2009 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท