เพื่อชีวิต..ความหวังโรงเรียนชายขอบ


โรงเรียนเพื่อชีวิต..ก้าวแรกสู่ทางรอด

 

                                           

                                             

หนังสือถอดบทเรียนเศรษฐกิจพอเพียง เล่มที่ ๘ ของโรงเรียนราชานุเคราะห์ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านสิบสองพัฒนา ตำบลผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา หนังสือเล่มเล็กนี้จัดทำโดย สรส.ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ของการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดระบบการศึกษาเพื่อชีวิตของเด็กนักเรียนชนเผ่าม้ง ซึ่งเดิมมีสภาพปัญหามากมายแทบทุกด้าน เช่น ด้านความเป็นอยู่ที่ขาดแคลนอาหาร ด้านการใช้ภาษาสื่อสารที่ใช้แต่ภาษาม้ง ด้านสังคมโดยเฉพาะยาเสพย์ติด ด้านการศึกษาที่เด็กไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพอนามัย การรักษาความสะอาด ด้านการคมนาคมที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ด้านสิ่งแวดล้อมในการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง และปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ผลผลิตตกต่ำ เป็นต้น

      ภายหลังจากการปรับระบบการศึกษาเพื่อชีวิตแล้ว ได้ปรากฏความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาพื้นฐานดังกล่าวอย่างเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งจะได้นำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

 

    แนวคิดในการจัดระบบการศึกษาเบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นโรงเรียนเพื่อชีวิต นั้น มีรูปแบบของการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการจัดระบบชีวิต เพื่อเพิ่มความรู้ทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ เพื่อให้นักเรียนที่จบการศึกษาออกไปแล้ว สามารถดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ

 

    ขั้นตอนการดำเนินการ ตามการจัดลำดับความสำคัญของชีวิต :

 

           * โรงเรียนเพื่อชีวิต..ก้าวแรกสู่การอยู่รอด ด้วยการจัดทำโครงงานเกษตรพึ่งตนเองเพื่อเป็นอาหารกลางวัน โดยระดมความคิดของครูและนักเรียนด้านการเกษตร ด้วยการใช้กระบวนคิดวิเคราะห์ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการทำกิจกรรมเกษตรนี้อย่างได้ผล :

 

                    - กิจกรรมปลูกผักอายุสั้น ที่สามารถหมุนเวียนใช้เป็นอาหารได้ทุกวันตามที่เด็กๆชอบ เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาด ผักฮ่องเต้ เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินการโดยนักเรียนตั้งแต่ประถม ๔ ขึ้นไป โดยทุกคนจะเป็นเจ้าของแปลงผัก คนละ ๑ แปลง และมีครูเป็นที่ปรึกษา ผลได้นอกจากใช้ในการประกอบอาหารแต่ละวันแล้วยังเหลือพอออกจำหน่ายในตลาดของชุมชนเป็นรายได้ของนักเรียนเจ้าของแปลงผักอีกด้วย ซึ่งเด็กจะแบ่งรายได้เป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเก็บเป็นทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก ส่วนที่ ๒ เก็บออมทรัพย์กับธนาคารโรงเรียน และส่วนที่ ๓ เพื่อการใช้จ่ายส่วนตัว

 

                 - กิจกรรมเลี้ยงสัตว์ โดยคณะครูและนักเรียนจะหาความรู้ในการเลือกเลี้ยงสัตว์ก่อนลงมือปฏิบัติ เช่น ประเภทของสัตว์ที่สามารถเติบโตตามฤดูกาลและสภาวะสิ่งแวดล้อม เช่น ปลา และกบ เป็นต้น

 

      กิจกรรมด้านเกษตรเหล่านี้ นอกจากจะ ทำให้นักเรียนมีอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิตและเสริมรายได้แล้ว ยังเป็นการการฝึกคุณธรรมในเรื่อง ความอดทน ความขยัน ความมีระเบียบวินัย และการทำงานเป็นทีม เป็นต้น

 

            น้องฉัตรชัย แซ่กือ เล่าว่า " มาเรียนที่นี่มีความสุขมาก ได้รู้จักเพื่อนเยอะ ได้ความรู้หลายอย่าง ทั้งด้านการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และการรู้จักออมเงิน ซึ่งผมได้นำความรู้กลับไปใช้ที่บ้าน และสอนน้องๆด้วย "                   

 

         * ชีวิตสดใส..พอใจเศรษฐกิจพอเพียง :

                 - แผนจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กในเรื่องบ้าน และห้องเรียนน่าอยู่ ที่ฝึกให้นักเรียนสามารถทำความสะอาดบ้านและห้องเรียนและสถานที่สำคัญๆอื่นๆในโรงเรียนได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย มีระเบียบ โดยใช้สื่อการสอนคือ เพลงบ้านน่าอยู่ ประกอบไปกับการแสดงท่าทางการใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านและห้องเรียนที่ถูกต้อง ครูจะให้นักเรียนผลัดกันเล่าประสบการณ์ในการช่วยทำความสะอาดบ้านและห้องเรียน และความรู้สึกในการช่วยกันทำงานนี้ เพื่อสุขอนามัยที่ดี

 

                - สร้างระบบพี่ดูแลน้อง โดยให้พี่ช่วยกันสอนหนังสือน้อง โดยเฉพาะในกรณีที่น้องมีความบกพร่องทางสติปัญญา หรือเด็กที่มีปัญหาพิเศษซึ่งมีอยู่ค่อนข้างมากในโรงเรียน วิธีนี้ให้ผลดีเพราะเด็กสามารถสื่อภาษาและความหมายระหว่างกันเองได้รวดเร็วกว่าครูในบางกรณี โดยเฉพาะการสื่อภาษาท้องถิ่นที่ต้องใช้ล่ามเป็นภาษากลาง

 

         * กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน...ซึมซับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง :

 

                 - การปักผ้าลายชาวเขา เป็นกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน ซึ่งเด็กชาวม้ง มีฝีมือในการปักผ้ามาจากครอบครัว เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ครูผู้ดูแลรับผิดชอบเป็นเพียงแนะนำสีสันให้สวยงามมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยคิดเพิ่มเติมรูปแบบการประยุกต์ใช้ ให้มีความหลายหลาก เช่น กระเป๋า ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น ที่สามารถนำออกจำหน่ายเป็นของที่ระลึก เป็นรายได้สำหรับออมหรือแบ่งใช้จ่ายตามความจำเป็น

 

                 - การฝึกเป็นยุวมัคคุเทศก์ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สอดคล้องกับสภาพวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของ พื้นที่บ้านสิบสองพัฒนา อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามของ ภูลังกา โครงการหลวงปังค่า และวิถีชีวิตชนเผ่าภูเขา เด็กๆจะได้รับการฝึกอบรมทั้งด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนเผ่าของตนและท้องถิ่น สถานที่ท่องเที่ยว ประเภทต้นไม้ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ พร้อมทั้งได้รับการฝึกการเรียบเรียงการการพูด การต้อนรับแขกผู้มาเยือน รวมทั้งการแสดงขนบประเพณีของชนเผ่า ซึ่งนอกจากเป็นการเพิ่มพูนทักษะชีวิตและอาชีพส่วนตัวแล้ว ยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจรักใคร่ในท้องถิ่นของตนแล้ว ยังเป็นอีกลู่ทางหนึ่งในการหารายได้ที่ดีด้วย

 

             น้องวรารี เตรียมพยุง บอกพวกเราอย่างภาคภูมิใจว่า " เมื่อก่อนอยู่ชั้น ป.๔ เข้าชมรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ตอนนี้อยู่ชั้น ม.๓ เข้าชมรมยุวมัคคุเทศก์ ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ และสถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งได้ทำหน้าที่ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ได้ประโยชน์หลายอย่าง รวมทั้งมีรายได้สำหรับเก็บออมด้วย เดี๋ยวนี้ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่สามารถซื้อหนังสือและอุปกรณ์การเรียนได้เองแล้ว..." 

 

            ครูวันดี ทองเลิศ สะท้อนกำลังใจในการทำหน้าที่ครูในโรงเรียนชายขอบแห่งนี้ว่า..."การปรับประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่ระบบการเรียนการสอน ทำให้ได้พัฒนาตนเอง ได้ลองผิดลองถูก ส่วนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ตัวนักเรียนจะเป็นตัวชี้ว่า เรามาถูกทางหรือเปล่า ? ถ้าเด็กไม่เอาด้วย หรือไม่ได้ผลดี เราจะปรับกิจกรรมใหม่ ซึ่งเมื่อได้เรียนรู้ ได้ตอกย้ำ ทำซ้ำๆ เสริมเติม ซึมซับ เด็กๆจะรู้หน้าที่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กเอง "

 

           ผู้ใหญ่บ้าน ดู่ ชลปิติญานนท์และเป็นผู้ปกครองเด็ก เผยความในใจว่า " ลูกหลานของผมเข้าเรียนที่นี่หมด ลูกหลานกลับจากโรงเรียน มาทำความสะอาด ช่วยงานบ้านโดยไม่ต้องสั่ง หมู่บ้านเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ตอนนี้โรงเรียนมีงานการอะไร ผู้ปกครองร่วมกันไปช่วยทุกอย่าง.."

 

           นายจงฮ้อ แซ่ซ้ง กล่าวเสริมว่า โรงเรียนสอนดี ลูกๆมีความรู้เพิ่มขึ้นมาก ตั้งใจเรียน และได้เป็นตัวแทนนักเรียนไปเข้าประกวดต่างๆ ได้รับรางวัลบ้าง ไม่ได้รับบ้าง แต่มีความเก่ง เฉลียวฉลาดและนิสัยดี มากขึ้น..."

 

           ปัจจุบัน โรงเรียนราชานุเคราะห์ ได้พัฒนาขึ้นมาก ซึ่งนอกจากเกิดจากวิถีเศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียนได้ปรับปรุงตนเองอย่างเอาจริงเอาจังตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีหน่วยงานอีกหลายแห่ง ได้เข้ามาให้การสนับสนุน เช่น

 

                   - ธกส.สาขาปง ให้ความรู้เรื่องการออมทรัพย์ ธนาคารโรงเรียน

 

                   - โครงการหลวงปังค่า ให้ความอนุเคราะห์พันธุ์พืชผักที่ปลูกในโครงการเกษตรพึ่งตนเอง

 

                   - ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูง สนับสนุนไม้ดอกไม้ประดับ และการทำน้ำยาอเนกประสงค์และปุ๋ย

 

                   -สำนักงานปศุสัตว์ให้ความรู้ด้านเกษตรและอนุเคราะห์วัสดุอุปกรณ์และพันธุ์สัตว์

 

                   - วิทยาลัยเกษตรพะเยา ให้ความรู้ด้านเกษตรและวัศดุอุปกรณ์

 

                   - มูลนิธิศุภมิตร สนับสนุนทุนการศึกษานักเรียน

 

                   - อบต.ผาช้างน้อย สนับสนุนงบเกษตรพี่งตนเอง

 

                นายอวยชัย รัตนแพทย์ ศึกษานิเทศก์ สพท.พะเยาเขต ๒ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการของโรงเรียนราชานุเคราะห์ว่า 

 

              " ได้เห็นแนวโน้มการพัฒนาของโรงเรียนเป็น เส้นขึ้นตลอดมา ที่นี่มีการทำงานเป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู ที่มุ่งเป้าหมายเดียวกันคือนักเรียน จากเดิมผลสัมฤทธิ์การศึกษาที่นี่ค่อนข้างต่ำ นักเรียนขาดเรียนบ่อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโรงเรียนชายขอบ แต่ปัจจุบันสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้หมดแล้ว...."

โปรดอ่านรายละเอียดได้ที่ :

http://www.scbfoundation.com/news_publish_detail.php?cat_id=6&nid=326

 

                                      ---------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 246531เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2009 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2013 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ

แล้วจะแวะมาเยี่ยมอีกค่ะ

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ

ขอบคุณน้อง Berger และครูแป๋มมากค่ะ..

                       nongnarts

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท