๑๙. หยุด...ระวัง ! รถไฟ


ความประมาท เป็นหนทางให้พบกับชะตากรรมที่ไม่พึงประสงค์

ผลไม้สุกแล้ว ก็หวั่นแต่จะต้องร่วงหล่นไปตลอดเวลาฉันใด

สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วก็หวั่นแต่จะตายอยู่ตลอดเวลาฉันนั้น    พระพุทธพจน์(อมฤตพจนา)

 

วันนี้มีข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ กรณีผู้ปกครองเด็กเป็นโจทก์ยื่นฟ้องการรถไฟต่อศาล เรียกค่าเสียหายที่รถไฟดีเซลรางขบวนด่วนพิเศษชนรถโดยสารนักเรียน  เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน ๙ คน และบาดเจ็บจำนวน ๓๒ คน  เป็นจำนวนเงิน ๕๔ ล้านบาท  จึงขอเสนอคดีที่เป็นกรณีคล้ายคลึงกัน เพื่อเป็นคติเตือนใจ ดังนี้

 

ข้อเท็จจริงมีว่า เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลากลางวัน จำเลยได้ขับรถยนต์ปิคอัพ มีผู้โดยสารเต็มคันรถไปตามถนนมิตรภาพมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วสูง  เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุถนนช่วงดังกล่าวตัดผ่านทางรถไฟ  และมีป้ายติดตั้งป้ายเตือนว่า...หยุด  ระวัง !  รถไฟ... เป็นทางรถไฟ จำเลยจะต้องระมัดระวัง

 

 เมื่อจะขับรถยนต์ผ่านทางรถไฟโดยลดความเร็วของรถลง หรือหยุดรถและดูให้ดีเสียก่อนว่า มีรถไฟกำลังจะแล่นผ่านทางรถไฟหรือไม่ หากมีก็ต้องหยุดรถยนต์รอให้รถไฟผ่านพ้นไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วค่อยขับรถยนต์ผ่านทางรถไฟไป

แต่จำเลยหาได้ใช้ความระมัดระวังแต่อย่างใดไม่ ยังขับรถยนต์ต่อไปด้วยความเร็วสูงผ่านทางรถไฟโดยมิได้คำนึงว่าจะมีรถไฟผ่านมาในขณะนั้นหรือไม่

ปรากฎว่า ขณะนั้นมีรถไฟขบวนรถเร็วจากจังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้าไปกรุงเทพมหานคร กำลังจะผ่านบริเวณตัดผ่านทางรถไฟ  เป็นเหตุให้รถไฟขบวนดังกล่าวพุ่งชนรถยนต์กระบะของจำเลยอย่างแรง เป็นเหตุให้ผู้โดยสารมากับรถยนต์ถึงแก่ความตายจำนวน ๓ คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวน  ๒ คน และได้รับอันตรายแก่กายจำนวน  ๔ คน

พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการ และพิจารณาสั่งฟ้องจำเลยในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส และถึงแก่ความตาย และยื่นฟ้องต่อศาล

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามฟ้อง  ให้จำคุก ๔ ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๒ ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยขอให้ศาลฏีกาลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกให้

กรณีศาลฏีกาพิพากษาไว้ตอนหนึ่งว่า .... การที่จำเลยขับรถยนต์ผ่านทางรถไฟซึ่งมีการติดตั้งเครื่องหมายจราจรเตือนไว้  โดยมิได้ลดความเร็วของรถและหยุดรถรอคอยจนกว่ารถไฟผ่านพ้นไป  เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับรถผ่านไป จนเป็นเหตุให้รถยนต์ถูกรถไฟที่แล่นผ่านมาพุ่งเข้าชนได้รับความเสียหาย  และมีผู้โดยสารในรถยนต์ดังกล่าวถึงแก่ความตาย๓ คน ได้รับอันตรายสาหัส ๒ คน และได้รับอันตรายแก่กาย  ๔ คน

 การกระทำของจำเลยเป็นการขับรถด้วยความประมาท  จงใจฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารมากับรถยนต์  นับว่าก่อให้เกิดความสูญเสียจำนวนมากเป็นการประมาทอย่างร้ายแรง

 แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กับมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวและได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทุกคนจนเป็นที่พอใจไม่ติดใจเอาความอีก  ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

แต่เมื่อจำเลยได้บรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทุกคนแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ลงโทษจำคุก ๔ ปี ก่อนลดโทษนั้นเห็นว่าหนักเกินไป จึงพิพากษาเป็นว่าให้ลงโทษจำคุก ๓ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน...(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๒๒๗/๒๕๕๐)

 

...บนเส้นทางทุกย่างก้าวของชีวิต มีอันตรายอยู่เสมอ การมีสติ ใช้ความระมัดระวัง และไม่ประมาทอยู่เสมอ  จะทำให้ชีวิตไม่ต้องประสบชะตากรรมดังกล่าว...

 

คำสำคัญ (Tags): #กระทำโดยประมาท
หมายเลขบันทึก: 245741เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2009 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ่านแล้วค่อนข้างเครียดและสลด

ก็อย่าประมาทกับชีวิตค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • สลดใจกับเรื่องน่าเศร้านะคะ
  • ไปบ้านพ่อครูบา
  • มีโอกาสไปฟังท่าน..ดร.ไร้กรอบ ง่ายมากค่ะ.."อยู่กับปัจจุบัน" ค่ะ

สวัสดีค่ะ ท่าน

  • สวัสดีคุณberger
  • ขอบคุณที่ติดตาม
  • สวัสดีครูคิม
  • ขอบคุณที่ติดตามอ่าน
  • สวัสดีครูอ้อย
  • ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท