โครงการเสวนากองทุนเงินออม


โครงการเสวนาผู้นำสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

เรื่อง  กองทุนเงินออม สร้างคน สร้างชาติ

โดย

ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด 

ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

วันที่ 2 3 มีนาคม 2552 

  ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด

หลักการเหตุผล

                การออม   ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ออมให้มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต  ขณะที่ในภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ  การออมเป็นแหล่งเงินก้อนใหญ่ที่จะใช้พัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ    สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะผลักดันให้รัฐบาลตั้งวาระการออมแห่งชาติในระยะยาว โดยได้มีการศึกษาวิจัย การพัฒนาระบบการออมระยะยาวของประเทศ  เพื่อศึกษารูปแบบการออมและส่งเสริมการออมภาคประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ  ซึ่งแบ่งได้  2 กลุ่มใหญ่ คือ  กลุ่มอาชีพข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีเครื่องมือในการออมระยะยาวภาคบังคับ ได้แก่  กองทุนประกันสังคม และ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และ กลุ่มอาชีพภาคแรงงาน และ เกษตรกร   ซึ่งมีเครื่องมือในการออม ภาคสมัครใจ    ได้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน  การประกันชีวิต  สหกรณ์  และกลุ่มองค์กรการเงินในชุมชน

                สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นสถาบันที่ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก มีปรัชญาสูงสุด คือการพัฒนาคนให้มีคุณภาพมีความสมดุลทั้ง 3 ด้านคือด้านจิตใจให้เป็นคนดีมีคุณธรรมด้านเศรษฐกิจมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง และ ด้านสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ  โดยใช้อุดมการณ์  หลักการ และวิธีการสหกรณ์ เป็นเครื่องมือในการสร้างวินัย  การออม   ให้กับสมาชิก และครอบครัว      สถานะกองทุนเงินออมของขบวนการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในปัจจุบัน   ณ วันที่  31 ธันวาคม 2551  มีกองทุนเงินออม (เงินหุ้น/เงินฝาก) ประมาณ  10,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วน กับกองทุนการออมระยะยาวรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีประมาณ  2.1 ล้าน ล้านบาท (ที่มา : สำนักงานประกันสังคม  กบข. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ณ กันยายน 2549)  เห็นได้ว่ากองทุนของขบวนการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนับว่ายังเล็กมาก ดังนั้นเพื่อให้ผู้นำสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเห็นความสำคัญ และ ร่วมกันกำหนดนโยบาย และ กลยุทธ์  การสร้างกองทุนเงินออมของขบสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้เพิ่มมากขึ้น   เพื่อความมั่นคงของสมาชิก และขบวนการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต่อไป จึงได้จัดโครงการเสวนาผู้นำสหกรณ์ในครั้งนี้

 

วัตถุประสงค์

                1.             เพื่อให้ผู้นำสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้ทราบ นโยบายการสร้างกองทุนเงินออมจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการออมเงินระยะยาวภาคประชาชน  

                2.             เพื่อให้ผู้นำสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเห็นความสำคัญของการสร้าง     กองทุนเงินออม

และ ร่วมกันกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ การสร้างกองทุนเงินออมของสหกรณ์ และขบวนการสหกรณ์

                3.             เพื่อให้ผู้นำสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน

กำหนดการ

 

วันจันทร์ที่  2  มีนาคม  2552

08.00 09.00                       ลงทะเบียน

09.00 10.00                       พิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ  ความสำคัญของการออมให้เป็นวาระแห่งชาติและแก้ไขปัญหาวิกฤติ โดย  หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล 

10.00 10.30                       พัก 

10.30 12.30                       การอภิปรายทั่วไป เรื่องกองทุนเงินออม  

                                                โดย  ศ.ดร. จีระ  หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

คุณเชษฐทวี เจริญพิทักษ์ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

คุณกิตติพงศ์ บุญยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ธนาคารออมสิน

คุณทำนอง ดาศรี

และ อาจารย์สุริยา  มนตรีภักดิ์  ประธาน ช.ส.ค.

12.30 13.30                       พัก อาหารกลางวัน

13.30 15.00                       Workshop  กลยุทธ์การสร้างกองทุนเงินออมในขบวนการสหกรณ์เครดิต

                                                ยูเนี่ยน  โดย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

15.00 15.30                       พัก

15.30 16.30                       รายงานผลการประชุมกลุ่ม และ คำมั่นสัญญา

18.00 21.00                       งานเลี้ยงสังสรรค์ภาคกลางคืน                                                        

วันอังคารที่  3  มีนาคม  2552

07.00 08.00                       อาหารเช้า

08.30 09.00                       สถานภาพทั่วไป และสถานภาพการออมของขบวนการสหกรณ์ฯ

                                                โดย  คุณวีระยุทธ   รุจิเรข      ผู้จัดการฝ่ายบริหารทั่วไป ช.ส.ค.

09.00 10.00                       นโยบาย  ช.ส.ค. กับการส่งเสริมการออม

                                                โดย  คุณดาบชัย  ใจสู้ศึก       ผู้จัดการใหญ่ ช.ส.ค.

10.0 10.30                         พัก

10.30 12.00                       เสวนา  กลยุทธ์ และแผนการส่งเสริมการออมของชมรมเครดิตยูเนี่ยน

                                                ประชุมกลุ่มย่อยระดมสมอง

 ดำเนินการ โดย คุณชาญชัย  ตั้งชู  รองผู้จัดการใหญ่  ช.ส.ค.

12.00 – 13.00                       อาหารกลางวัน

13.00 14.30                       รายงานผลการการประชุมกลุ่มฯ และคำมั่นสัญญา

1430 15.00                        ประเมินผล และ ปิดการเสวนา

หมายเลขบันทึก: 245176เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2009 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (73)

สวัสดีค่ะ

ขออนุญาตถามเพื่อเป็นความรู้ รบกวนแวะตอบที่บล็อกค่ะ

การซื้อกองธนะทวี ของbbl มีความเสี่ยงไหมค่ะ

ขอบคุณค่ะ

บรรเจิด สิทธิโชค สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนครูดอยสะเก็ด

เห็นด้วย การออมพัฒนาระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็งและยั่งยืน

เรามีเงินออมเองและเผื่อแผ่สหกรณ์ด้วยกัน

ครูกู้ 40% และออม 60%

 

การออมต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กและเยาวชน

ควรลดรายจ่าย นำรายจ่ายที่ลดมาเป็นเงินออม

 

ปัญหาคือ สร้างยุวเครดิตให้เด็กรู้จักการออม รับเป็นสมาชิกสมทบ มาร่วมบริหารจัดการแต่รองนายทะเบียนเพิกถอนการเป็นสมาชิกสมทบ

 

ควรขยายวงกว้างขึ้น

ควรนำเงินมาเข้าระบบแล้วจัดเป็นสวัสดิการ

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

ผมจะใช้เครดิตยูเนี่ยนเป็นแนวร่วม

ควรนำส่วนดีของการออมผลักดันไป

ครูเป็นตัวแทนที่ดี

 

สวัสดิ์ (เชียงใหม่)

ผมอยากฟังประสบการณ์จากขบวนการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แลกเปลี่ยน

เรียนรู้

การยกการออมเป็นวาระแห่งชาติ ต้องดูพฤติกรรมภาครัฐในการดูแลสหกรณ์

รัฐควรส่งเสริมสนับสนุน แต่รัฐเน้นกำกับควบคุมแทน

กฎหมายบางทีไม่สอดคล้องกับความจริงในปัจจุบัน

ควรนำความรู้วันนี้มากำหนดกรอบการทำงาน ปรับปรุงให้เหมาะกับกิจกรรม

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้นำสมาชิกในพื้นที่มาเป็นสมาชิก และบุตรสมาชิกสามัญก็เป็นสมาชิกสมทบ สร้างระบการออมให้แต่แรกเกิด

ควรเรียนรู้จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนต่างๆ

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

        ยุคต่อไปต้องได้ประโยชน์ร่วมกันหมดทุกฝ่าย

ควรค่อยๆหล่อหลอมพฤติกรรม เพราะเป็นเรื่องยาก

ปัญหาคือรัฐมีโครงสร้างจึงปรับพฤติกรรมลำบาก

ต้องดูอุปสรรคการออมต่างๆในขบวนการเครดิตยูเนี่ยน ค่อยๆแก้ปัญหาที่ละขั้น

กวิน สงขลา กลุ่มออมทรัพย์ (สมาชิกเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง)

เรามี 3 เครือข่าย กลุ่มออมทรัพย์ใหญ่สุด ควรทำให้เป็นระบบมากขึ้นเหมือนเครดิตยูเนี่ยนและจะเริ่มเมื่อใด

ผู้แทนจากจันทบุรี

                การหักเป็นเงินออมก่อนนำมาใช้ จะทำได้อย่างไร ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสมาชิกสมทบ

หมู่บ้านอีสานแห่งหนึ่งพิมพ์คูปองและใช้แทนเงิน มีผลต่อเศรษฐกิจชาติไหม

นุกูล กรรมการเครดิตยูเนี่ยนหนองกรด

 เห็นด้วยกับการออม

ควรสนับสนุนนักเรียนเรียนฟรีให้ออมวันละบาท

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

ผมเห็นโอกาสว่า เครดิตยูเนี่ยนทำประโยชน์โดยการฝึกการออมให้ประเทศ

ชื่นชมที่คิดที่จะเดินหน้า นำความคิดไปปฏิบัติ

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

สมาชิกเครดิตยูเนี่ยนมากขึ้นและมีพัฒนาการ

เรามีเป้าส่งเสริมการออม ต้องหาวิธีการ

เรียนรู้จากที่ปฏิบัติ เรียนรู้จากเพื่อนๆแล้วขยายวงออกไปถึงกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน ธนาคารออมสิน ธกส.

ผมแนะธกส.ทำการออม เขาก็ทำ มีมิติการออมมาก เกษตรกรออมมากขึ้น

ทั้งหมดควรร่วมสร้างขบวนการออมทรัพย์แห่งชาติ รวมพลังกันขับเคลื่อนเป็นพหุภาคี

ผมส่งเสริมการออมต่อเนื่องมา 20 ปี ปรับปรุงกฎหมายสหกรณ์

ควรหาทางทำประโยชน์โดยไม่ติดข้อบังคับ

ต้องมีการกำกับดูแลแต่ต้องหาความพอดีร่วมกัน

อาจารย์สุริยา มนตรีภักดิ์

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทำการออมแต่ยังถูกคุมโดยกฎหมายรัฐ

เคยมีความพยายามแก้กฎหมายตั้งแต่ท่านรองนายกไพบูลย์

รัฐธรรมนูญให้สหกรณ์เป็นอิสระแต่กฎหมายลูกของรัฐมาคุมมากเกินไป

สหกรณ์ของผมสมาชิกคลอดลูกนำสูติบัตรมาเบิกแล้วฝากเงินให้ลูกเท่ากับฝึกการออม

การตีความกฎหมายมีผลต่อการปฏิบัติ

คุณเชษฐทวี เจริญพิทักษ์

เงินได้-เงินออม = รายจ่าย ทำได้โดย

ดูรายรับ รายจ่าย จากรายจ่ายว่ามีอะไรจำเป็นจริง แยกให้เห็นว่าอะไรไม่จำเป็นและลดลงได้

เงินออมอาจเริ่มจากน้อยๆก่อนก็ได้

 

อัตราภาษีดอกเบี้ยหัก ณ ที่จ่าย ตอนนี้เป็น 15% ขอให้รัฐปรับลดลงให้เหมาะกับดอกเบี้ย

 

ในประเทศไทย ประชาชนส่วนหนึ่งยังชอบเสี่ยงโชค ถ้าสนับสนุนให้คนมีเงินออมเพิ่ม สลากออมสินช่วยได้ จะขอให้ธนาคารลดรางวัลที่ 1 มูลค่าน้อยลง แต่เพิ่มรางวัลมากขึ้นเพื่อให้คนมีโอกาสถูกมากขึ้น

 

ปัจจุบัน กำกับดูแลน้อยลง ให้ชุมชนดูแลกันเอง

ทุกอย่างควรคิดนอกกรอบ

กลุ่มออมทรัพย์เป็นระบบเข้มแข็งมาก ควรประสานขอความช่วยเหลือจากรัฐ

การวิจัยเรามีงบน้อยมากและอยู่บนหิ้ง

 

การออมเป็นวาระแห่งชาติ ทุกคนออมแต่ไม่ได้คุยกัน ต้องเริ่มที่เรา

ควรทำเป็นแผนแม่บทเพื่อที่จะเป็นสังคมการออม มีแผนปฏิบัติการ ขอความร่วมมือรัฐอย่างไร

ควรใช้หลัก Recycle, reuse, repair

กิตติพงศ์ บุญยิ่ง

การฝากกับกลุ่มออมทรัพย์ได้รับเฉพาะสัจจะ ถ้าถอนก็กลายเป็นเงินประกันหนี้

ในอนาคต เครดิตยูเนี่ยนมีเงินให้รัฐบาลกู้โดยรัฐให้สิทธิพิเศษ

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

ตัวละครเรื่องการออมมีมาก เราน่าจะเป็นตัวแทนดึงเขาเข้ามา

ควรต่อยอดการออม ใช้เวลาให้เกิดผล ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน

อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยฝ่ายเดียว

สร้างวัฒนธรรมการออมต้องเริ่มวันนี้ และต้องสะสมไปถึงรุ่นหลัง

เน้นการปฏิบัติให้ได้ผล

 

1.การวิจัยเพื่อสร้างวาระแห่งชาติ
   1. ดูงานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องกับการออม
มหาวิทยาลัย
หน่วยงานวิจัย เช่น สกว.
หน่วยงานราชการ
   2. ศึกษาจุดอ่อนจุดแข็ง
พื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ขยายผล
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน-การจัดการ (หลักคุณธรรม 5 ประการ จิตตารมย์)
 -การออม
 
3. เปรียบเทียบรูปแบบการออมอื่นๆในประเทศและต่างประเทศ
   4. การสร้างแรงจูงใจและวินัยการออม
การทำบัญชีครัวเรือน
การออมสมทบในกลุ่มเด็กเยาวชน
   5. การเชื่อมโยงกับภาครัฐ เอกชนในการหนุนเสริมขบวนการออมเพื่อเป็นวาระแห่งชาติ
   6.การศึกษาเชิงนโยบายรัฐที่สนับสนุนการออม/ข้อจำกัดเชิงนโยบายที่มีผลกระทบต่อการออม
 -สวัสดิการ

ข้อเสนอแนะสำหรับกลุ่ม 1

  • เรื่องการออมต้องทำให้เป็นวัฒนธรรม ต้องอดทนในการทำ
  • ขอให้เอาจริงเรื่องวิจัยการออม
  • การนำเสนอตรงประเด็น
  • ควรสร้างแบรนด์เราให้เป็นที่ยอมรับ
  • ขอให้เลือกผู้แทนผู้เข้าร่วมออกรายการทีวีพูดเรื่องการออมเป็นวาระแห่งชาติ

ข้อเสนอแนะสำหรับกลุ่ม 2

  • ข้อเสนอแนะยังไม่ชัด
  • เวลานำเสนอโครงการเครดิตยูเนี่ยน ต้องเน้นประเด็นให้คนฟังมีส่วนร่วม ให้ปะทะกันทางปัญญา
  • ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนอื่นอยากเข้ามาออมมากขึ้น
  • การให้ความรู้แก่ประชาชน ต้องมีวิธีที่เหมาะสม ดึงเอาความสนใจและความเป็นเลิศของผู้ฟังออกมา
  • ขณะนี้เครดิตยูเนี่ยนมีเครื่องมือแล้ว ต้องหัดใช้เครื่องมือให้เป็น
  • การออมคือการเรียนรู้ ต้องใช้เวลาปลูกฝัง
  • ในปี 2552 ควรฝึก trainers ของเครดิตยูเนี่ยน 100 คน ออกไปในชุมชนฝึกคนเพื่อนำไปสร้างพลังให้ผู้อื่น
  • ประชาสัมพันธ์ต้องมีหนัง เพลง ดารา ติดต่อช่อง 3 ช่อง 7 ขอให้ช่วยทำประโยชน์ให้สังคมโดยทำโฆษณาสั้นๆเรื่องการออม
  •  

 

3. การออมกับสร้างเยาวชน
 
วิธีการ
สร้างจิตสำนึกและให้ความรู้เรื่องการออมให้เกิดขึ้นกับเยาวชน
กระบวนการ
1.กำหนดหลักสูตรแกนกลาง
2.โรงเรียนจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษา
3.สำรวจ จัดหา ส่งเสริมองค์กร หน่วยงาน สถาบัน ภาครัฐและเอกชน
4.กำหนดกิจกรรมที่เหมาะสมให้กลุ่มเยาวชนอายุ 3-19 ปี
4.1 กลุ่มเยาวชนในโรงเรียน
-การเรียน การสอน วัดประเมินผลกิจกรรมออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ร้านค้าตามโรงเรียน
                        -จัดกิจกรรมออมทรัพย์
                        -จัดสรรงบ
                        -ให้รางวัล
                        -จัดรถรับฝากเงิน

ข้อเสนอแนะสำหรับกลุ่ม 3

ประชุมครั้งหน้าควรเชิญสถาบันการเงินมามากขึ้น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์

 

ข้อเสนอแนะสำหรับกลุ่ม 4

ควรเน้นประกัน

 

5. ขบวนการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อสร้างวาระแห่งชาติ
 
จุดเด่น
สู่วาระแห่งชาติ
1. สถาบันการเงินและสวัสดิการของชุมชนเพื่อชุมชนที่มั่นคงและยั่งยืน
เชิญชวนคนที่ไม่เป็นสมาชิกเป็นสมาชิก
2. พัฒนาคนโดยอาศัยหลักวิธีการจิตตารมย์และคุณธรรม
เปิดรับสมาชิกองค์กรอื่นเข้าสู่สก.ของ CU
3. เน้นการอยู่ร่วมกันโดยวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
หลักสูตร CU สู่สถานศึกษา
4. สร้างเสริมการออม สร้างวินัยการออมตั้งแต่เกิดจนตาย
จัดกิจกรรมวันออมแห่งชาติ 31 ต.ค.ของทุกปี
5. ส่งเสริมอาชีพสมาชิกให้มีความกินดีอยู่ดี

 

6. สร้างภูมิคุ้มกันโดยการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย

 

7. มีความเป็นเครือข่ายเหนียวแน่นทั้งภายใน ภายนอกประเทศ

 

8. เอื้ออาทรต่อชุมชน

 

ข้อเสนอแนะสำหรับกลุ่ม 5

ควรจัดวันออมแห่งชาติ

สรุปการอภิปรายเรื่อง กองทุนเงินออม

อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

·       เมื่อมาอยู่ในเครดิตยูเนี่ยน การออมเป็นหัวใจที่สร้างชีวิตพอเพียง ชีวิตดีงาม มีความดี เศรษฐกิจและสังคมที่ดี อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

·       บุคคล ครอบครัว ชุมชนและมนุษยชาติ มีสิ่งค้ำยันคือ

·       คุณธรรม ความเป็นธรรม เอื้ออาทร

·       ความสามารถ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น บริหารจัดการได้ ทำให้ชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง

·       ความสุข เป็นสิ่งจำเป็น ทำให้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ ต้องมีทั้งความสุขทางกาย ใจ จิตวิญญาณและสังคม อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับปณิธานเครดิตยูเนี่ยน

·       ออมทรัพย์ภาคประชาชนแบ่งได้ดังนี้

·       สหกรณ์ออมทรัพย์

·       สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (อยู่ใต้กฎหมายเดียวกับสหกรณ์ออมทรัพย์)

·       กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน

·       กองทุนหมู่บ้าน ต้องส่งเสริมเงินออมสมทบ อาศัยกองทุนหมู่บ้านไปเสริมการออมและกู้

·       กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนก็ทำตามหลักสหกรณ์ คือพึ่งตนเอง ร่วมมือ เสียสละ ซื่อสัตย์

·       ควรส่งเสริมการออมให้สำคัญ เพราะสังคมที่ดีน่าจะมีการออมที่เพียงพอเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ถือเป็นภูมิคุ้มกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

·       ขบวนการเครดิตยูเนี่ยนถือว่าเล็ก ควรทำให้ใหญ่ขึ้นหรือไปร่วมกับขบวนการอื่นที่เป็นพี่น้องกัน

·       ในการส่งเสริมการออม

·       ควรร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนและธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในใจคนดูแลนโยบาย ต้องมีการเคลื่อนไหวในหมู่ประชาชน ควรมีการศึกษาหาความรู้หรือหายุทธวิธีดำเนินการ

·       ตั้งประเด็นการออมทรัพย์เป็นเป้าหมาย เพิ่มคุณภาพและปริมาณ ควรร่วมมือไปในแนวเดียวกันและหารือกันด้วย

คุณเชษฐทวี เจริญพิทักษ์

·       คนตั้งคำถามว่า ออมเงินอย่างไรในเศรษฐกิจแบบนี้ รายได้น้อย หนี้มาก

·       ควรคิดว่า ต้องหักเป็นเงินออมก่อน แล้วที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายจะได้ผลกว่า

·       แนวคิดแบบนี้ตรงตามเศรษฐกิจพอเพียง

·       ออมมากหรือน้อยไม่สำคัญ

·       ในการเสนอการออมเป็นวาระแห่งชาติ ก็เห็นด้วยเพราะ

·       การมีเงินออมทำให้มีพลังต่อยอดทำสิ่งต่างๆ รอดพ้นจากการกู้นอกระบบที่โหดร้ายกว่า

·       ทำให้คนพึ่งพาตนเองได้ นำเงินออมไปลงทุนอย่างอื่นได้

·       ควรทำการออมเป็นนิสัย ปลูกฝังให้เยาวชน เมื่อเข้าทำงานแล้วก็มีการออม สร้างพลังให้สังคม

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

·       ท่านเห็นด้วยกับการเดินไปข้างหน้า

·       เครดิตยูเนี่ยนทำดีแล้ว ควรเป็นบทเรียนให้คนไทย

·       เด็กรุ่นใหม่ยังออมไม่เป็น

อาจารย์สุริยา มนตรีภักดิ์

·       ตลอดเวลา 40 ปี เครดิตยูเนี่ยนเกิดที่ศูนย์กลางเทวา ออมกัน รวมตัวเพื่อการออม

·       มีสมาชิก 1 ล้านคน ยังไม่เป็นที่พอใจ มีเงิน 1 หมื่นล้าน สมาชิกสมทบ 1300 แห่ง

·       ออมในหุ้นและเงินฝาก

·       ยังมีโอกาสอีกมากมาย ขยายการออมสู่ชุมชนให้เป็นร้อยละ 50 ของคนทั้งประเทศ

·       รวมตัวเพื่อออมให้เป็นหลังยิ่งใหญ่

·       ในขบวนการเรา จะมีหลายเครือข่าย (ช.ส.ค.)เป็นสมาชิกขบวนการเครดิตและการออมของเอเชีย

·       เราได้คิดวิธีการใหม่ๆในการออม แบ่งสมาชิกเป็น

·       แรกเกิด-12 ปี

·       13-19 ปี ดูแลให้มีแนวคิดในการออม

·       20-30 ปี ส่งเสริมออมเพื่อการศึกษา

·       ปีที่ผ่านมาได้ทดลองใช้ที่เพชรบุรี 10 สหกรณ์และให้ประชาสัมพันธ์ 1ปี สร้างเงินออมได้ 24 ล้าน ฐานการออมสู่ชุมชนขยายขึ้น

  • ช.ส.ค. จะนำโครงการออมไปสู่ประชาชน
  • ช.ส.ค.อยู่กับการออมอยู่แล้ว เราจึงมีเงินออมเป็นฐานพัฒนา แยกกันไม่ออก

คุณกิตติพงศ์ บุญยิ่ง

ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการออมของชาวบ้านพบว่า

·       ความจำเป็นของการออม

·       ใช้จ่ายประจำวัน เหตุฉุกเฉิน และการอยู่ร่วมในสังคม

·       ประกอบอาชีพ

·       การศึกษาของบุคคลในครัวเรือน

·       สร้างฐานะครอบครัว และใช้จ่ายยามชรา

·       ชำระหนี้

·       การออมนอกระบบ

·       เก็บเป็นทรัพย์สิน  ปัญหาคือ สภาพคล่องต่ำ จัดสรรไม่ลงตัว ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้

·       เก็บไว้ที่บ้าน  ปัญหาคือ ความเสี่ยงจากการโจรกรรม ญาติพี่น้องยืม เกิดการใช้จ่ายโดยไม่ได้

        วางแผนในสิ่งที่ไม่จำเป็น

·       เข้าร่วมกลุ่มการเงิน  ปัญหาคือ ข้อจำกัดด้านเงื่อนไขของกลุ่ม ความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ

·       เหตุผลสำคัญที่ไม่ฝากเงินกับธนาคาร

·       ปัญหาของบุคลากร มีบุคลากรไม่เพียงพอ ไม่เป็นมิตร ไม่ให้บริการที่เสมอภาค

·       ปัญหาของเงื่อนไขในการให้บริการ ที่ผูกโยงเงินออมกับบริการประเภทอื่น

·       ปัญหาด้านกายภาพ ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

·       รูปแบบการบริการที่ลูกค้าพอใจ

·       สามารถใช้บริการได้สะดวก รวดเร็ว

·       พนักงานมีความเป็นมิตร

·       มีความเสมอภาคในการให้บริการ

·       เงื่อนไขของบริการสอดคล้องกับความต้องการและปฏิบัติตามได้

·       กองทุนเงินออมสำเร็จได้อย่างไร

·       ความคาดหวังของบุคคลที่เกี่ยวข้อง : ผู้ออม และผู้ให้บริการ

·       วัตถุประสงค์และเป้าหมายชัดเจนเข้าใจตรงกัน

·       มีระบบบริหารจัดการที่ดี ประกอบด้วย บุคลากร ระบบงาน ความเชื่อมโยงในเชิงธุรกิจ สังคม และการทำงานร่วมกับภาคี

·       มีความต่อเนื่อง และติดตามประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ

 

คุณทำนอง ดาศรี

     ·       สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำวิจัย พบว่า

·       จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แต่มีเงินออมน้อยลง ควรมีกองทุนออมชราภาพ

·       ประเทศไทยมีการออมมากกว่าการลงทุนไม่มากนัก ถือว่าอันตราย

·       เงินสมทบจากภาครัฐจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรและแรงงานเข้าสู่ระบบการออม

·       การสื่อสารให้ทั่วถึงและเข้าใจเป็นปัจจัยสำคัญในความร่วมมือเข้าสู่ระบบการออมฯ

·       เกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีความสามารถในการออมและกู้เงินจะมีกิจกรรมทางการเงินกับ ธกส.

·       หลังเกษียณ ควรมีเงินเก็บ 50% ของเงินเดือนของเดือนสุดท้าย

สรุปสาระสำคัญ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง  ความสำคัญของการออมให้เป็นวาระแห่งชาติและแก้ไขปัญหาวิกฤติ โดย  หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล 

·       ชื่นชมงานของเครดิตยูเนี่ยนมาหลายปีแล้ว เพราะทำงานอย่างจริงจัง การอบรมวันนี้พัฒนาให้เป็นกำลังสำคัญ

·       มีกองทุน 4 หมื่นแห่งแบบนี้จับกันเป็นกลุ่มจังหวัดและอำเภอ

·       เครดิตยูเนี่ยนจัดผ่านทั้งประเทศรวมได้ดี มีระบบอบรมและบัญชีแนะแนวดี

·       อยากให้สหกรณ์นำสิ่งดีๆไปแนะนำให้กลุ่มอื่นๆทั่วประเทศ ทำให้ประเทศมั่นคงและช่วยให้ประเทศอยู่รอด

·       การออมช่วยให้คนมีวินัยทางการเงิน

·       การออมช่วยสร้างคนและชาติ

·       คนออมรู้จักค่าของเงิน

·       ถ้าสะสมเงินจนได้ก้อนโตแล้วซื้อสิ่งที่จำเป็นมันเกิดความภูมิใจที่ทำมาได้ตามน้ำพักน้ำแรงและรักมัน

·       ชีวิตมีความมั่นคงถ้าสะสม

·       คนเราอายุมากขึ้นก็ต้องหยุดทำงาน การออมทำให้สบายใจและมีชีวิตที่สบายในบั้นปลาย มีเงินรักษายามเจ็บป่วย

·       ถ้าถึงวันตาย ก็ยังมีสมบัติเหลือให้คนที่รักทำให้ตายแบบนอนตาหลับ

·       วินัยการเงินทำให้ชีวิตคนต่างกัน

·       ผลการออมต่อประเทศ

·       ประเทศจะพัฒนาได้ต้องมีทุน การลงทุนของรัฐต้องอาศัยภาษี แต่ประเทศจะโตได้ต้องมีการลงทุนจากภาคเอกชน โดยกู้ธนาคาร การออมรูปเงินฝากก็นำไปใช้ลงทุนเอกชน บางบริษัทก็ออกหุ้นกู้ซึ่งเป็นการออมเงิน แล้วเอกชนก็เอาเงินไปลงทุน

·       บางช่วงเศรษฐกิจโตเร็ว การออมในประเทศไม่เพียงพอต้องกู้ต่างประเทศมาเสริม ช่วงปี 2530-2540 ก่อนเกิดวิกฤติ กู้ง่าย นักธุรกิจจึงแห่กันกู้เร่งลงทุน ทุกอย่างขยายตัวเกินกำลังซื้อในประเทศ บางธุรกิจเช่นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งขายคนไทย ขายไม่ได้เพราะใช้เงินในประเทศหมดแล้วกู้ต่างประเทศเกิดฟองสบู่แตก

·       หลังปี 2540 บริษัทจึงออกหุ้นกู้นำเงินประชาชนมาใช้และใช้หนี้ต่างประเทศ

·       ในช่วงปี 2540-2550 กู้ชาติได้โดยเงินออมในประเทศ

·       ปี 2551 เกิดวิกฤติอีกจากต่างประเทศเช่นสหรัฐและยุโรปก็มาจากการลงทุนเกินกำลังออม สหรัฐใช้เงินเกินมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1983 มีแหล่งเงินมาจากประเทศต่างๆที่นำเงินไปซื้อตราสารหนี้สหรัฐหรือไปลงทุนในสหรัฐ จนสหรัฐเป็นหนี้ 10ล้านล้านดอลล่าร์

·       ประเทศไทยเก่งกว่าสหรัฐเพราะมีวัฒนธรรมการออมที่เข้มแข็งกว่า

·       ประเทศในเอเชียเน้นการออมก่อนใช้เงิน มาตรการสมัยม.ร.ว.ปรีดิยาธรทำให้บัตรเครดิตโดยน้อยลง

·       สหรัฐใช้เงินก่อนออม มีอัตราเงินออมก่อนวิกฤติเท่ากับ 0% นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐกระตุ้นให้คนใช้จ่ายเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อสหรัฐหาเงินจากโลกได้ง่ายแล้วนำไปล่อยสินเชื่อบุคคล คนก็ซื้อบ้านเพิ่ม บ้านราคาขึ้นเพาะการกระตุ้น คนก็ซื้อกู้เงินมาซื้อเพราะคิดว่าได้กำไร เกิดภาวะบ้านล้นตลาด ตั้งแต่ต้นปี 2549 ราคาบ้านตก หนี้ที่กู้มาใช้คืนไม่ได้ เป็นผลมาจากวัฒนธรรมออมก่อนใช้

·       ถ้าชาวอเมริกันหยุดใช้เงิน ก็มาจากการตกงานหรือหุ้นตก จึงหันมาประหยัด ทำให้ทุกอย่างหยุดรวมทั้งการนำเข้าสินค้า กระทบต่อการส่งออกของไทย ต้องลดการผลติและการจ้างงาน

·       การที่ไทยออมก่อนใช้ทำให้ไม่เกิดปัญหาเร็วแบสหรัฐและช่วยสร้างความสามารถในการรองรับปัญหา ไม่เป็นหนี้ต่างชาติและมีเงินสำรองพอและทำให้นักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่น

·       ถ้าสหรัฐและยุโรปแก้วิกฤติเสร็จ เงินก็จะไหลเข้าประเทศไทยก่อนประเทศอื่นๆเพราะฐานะดีกว่าสิงคโปร์และเกาหลี

·       รัฐบาลควรแก้ปัญหาโดยการออกพันธบัตรมากู้เงินคนไทยเพื่อมาสร้างงาน

·       คนตกงานสามารถกลับไปทำงานภาคเกษตรได้เพราะมีความสามารถในการรองรับ ก่อนหน้านี้ที่คนเหล่านี้มีงานทำเขาก็ส่งเงินกลับบ้าน

·       ภาคเกษตรไทยเป็นแบบเกษตรแบบผสมผสาน ทำให้มีกินมีใช้ มีรายได้ทุกวัน

·       ควรเน้นพัฒนาให้เป็นเกษตรแบบผสมผสานจะได้ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกอย่างเดียว

 

ภาพบรรยากาศ การทำ workshop ช่วงบ่ายวันที่ 2 มี.ค. 52

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

สรุปผลการทำ workshop วันที่ 3 มี.ค. 52

ผลการเสวนา กลยุทธ์ และแผนการส่งเสริมการออมของชมรมเครดิตยูเนี่ยน

 

กลุ่มที่ 1

1.      มีกลยุทธ์ โดยการเพิ่มสมาชิก  เป็นหลัก ในโรงเรียน วัด องค์กรชุมนุมต่างๆ

·       ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ

·       เข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชน

·       สร้างแรงจูงใจ เช่นลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

2.      เพิ่มจำนวนเงินออมให้มากขึ้น

·       กำหนดเป้าหมายในการออมให้ชัดเจน

·       เพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากของเยาวชนเป็นพิเศษ

·       ให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้ที่ออมสูงสุด 10 รางวัล ที่ออมอย่างสม่ำเสมอ

·       จัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกที่ออม เช่น ทุนการศึกษา และการรักษาเจ็บป่วย ฯลฯ

3.      การบรหารเงินออมให้มีประสิทธิภาพ

·       สร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิก

·       โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

 

 

 

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

กลุ่มที่ 2

แผนงาน/กลยุทธ์

* ประชุมกันในกลุ่ม แล้วกำหนดเป้าหมายในการออม เพื่อให้สมาชิกเพิ่มขึ้น 50 %

กลุ่มเป้าหมาย

โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม เก่า สมาชิกที่มีอยู่แล้วและใหม่คือกลุ่มนักเรียน ข้าราชการ

  • โดยจะเข้าไปที่โรงเรียน หรือตามส่วนงานราชการที่มีการประชุม
  • ต้องมีการประชาสัมพันธ์ โดยให้ทางชุมนุมเป็นพี่เลี้ยงให้
  • มีการเก็บเงิน ในกลุ่มที่เป็นข้าราชาการ จะหักเงิน ณ ที่จ่าย ถ้าเป็นเด็กนักเรียนจะไปรับเงินที่โรงเรียน

และกองทุนหมู่บ้าน ไปรับเงินในวันที่มีการประชุม

ต้องมีการประเมินผลการทำงาน

ระยะเวลา

  • วันที่ 31 ตุลาคม 52 จะประเมินผลโครงการ  หรือประเมินผล 3 เดือน

 วิธีการ

  • นัดประชุม กรรมการชมรม
  • จัดสรรงบประมาณ
เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

กลุ่มที่ 3

กลยุทธ์การออม

-                    พัฒนาสำนักงานพร้อมเทคโนโลยี  ให้มีรูปแบบที่ทันสมัย เป็นสากล  ให้สมาชิกมาติดต่อแล้วไม่อึดอัด มีเครื่องมือที่ทันสมัย

-                    การให้การศึกษา ส่งเสริมในเรื่องการออม  ให้กับสมาชิกทุกคน

-                    การสร้างรายได้เพิ่ม   เช่น บางกลุ่มมีโครงการร่วมทุนจากสมาชิก แล้วนำผลกำไรมาแบ่งกัน

-                    สร้างแรงจูงใจ  เช่น การให้รางวัลแก่สมาชิกที่มีเงินฝากมาก , มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสถาบันอื่น , การจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้าแก่เงินฝากระยะยาว

-                    ขยายวงสัมพันธ์ ให้กว้างมากขึ้น เพื่อเพิ่มคนเพิ่มทุน

-                    วันออมแห่งชาติ 

-                    วิธีการภายในของสหกรณ์ ให้สมาชิกเปิดบัญชีออมทรัพย์ทุกคน เพื่อโอนเงินปันผลเข้าบัญชีออมทรัพย์

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

กลุ่ม 4

ยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับการออมของสมาชิก

แบ่งเป็น 6 กลุ่ม

1.      การให้ความรู้

·       ให้รู้ประโยชน์การออม เมื่อสมาชิกมีความรู้ทำให้สามารถประชาสัมพันธ์ต่อได้

2.      การประชาสัมพันธ์ 

·       การสร้างแรงจูงใจ

·       ให้เห็นความมั่นคงขององค์กร

3.      ส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการประหยัด การสร้างอาชีพ

·       ส่งเสริมการรวมกลุ่ม เพื่อเพิ่มรายได้

4.      การออม

·       จัดวันรวมกลุ่มกันมากขึ้น เช่น วันออมแห่งชาติ  กิจกรรมวันผู้สูงอายุ กิจกรรมในโอกาสต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้มาพบเจอแล้วร่วมกันทำกิจกรรม

5.      สวัสดิการ

·       ยามเกิดทุกข์ภัย

·       ยามเดือดร้อน

6.      การขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มต่างๆ

·       โดยได้รับประโยชน์ร่วมกัน

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายทวี วิริยฑูรย์

ประธานชมรมเครดิตยูเนี่ยน นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล

1.      ผมได้อะไรมากมายหลายอย่างจากการสัมมนาในวันนี้ ถ้าต้องการระบุเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียว ผมถือว่าการระดมปัญญาของวิทยากรทั้งหมดชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การออมเป็นเรื่องสำคัญที่จะขับเคลื่อนขบวนการเครดิตยูเนี่ยน ไปสู่วาระแห่งชาติ เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้วิถีชีวิตของคนรากหญ้ามีความมั่นคง และจะช่วยขยายเงินออมของประเทศเพิ่มขึ้นถึงระดับที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศได้ ดีกว่าที่ผ่านมา แต่การขับเคลื่อนต้องทำอย่างเป็นขบวนการเป็นระบบด้วยความรู้ ความเข้าใจไปพร้อมๆกัน

2.      ผมสนใจจะทำเรื่องการวิจัยเพื่อสร้างการออมเป็นวาระแห่งชาติ ครับ

ด้วยความขอบคุณวิทยากรทุกท่าน

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

เรืออากาศโท นุกูล บำรุงกิจ CU ภาคกลางตอนบน จ.นครสวรรค์

ในวันนี้ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น. คุณคิดเรื่องการออม อย่างไร ได้อะไรในเรื่องการออมสร้างชาติ

กระผมได้รับความรู้ ในการสัมมนา เรื่องกองทุนเงินออม สร้างคน สร้างชาติ เป็นอย่างมาก ตั้งแต่ มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล ได้บรรยายให้พวกกระผมฟังถึงเรื่องเงินออม เช่น การประกันชีวิต, การเป็นสมาชิกถือหุ้นในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งนอกจากนี้ยังได้ถือเอา สก.1 , สก.2 และ สก. 5 ตามที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้ให้กับสมาชิกทุกๆท่าน ที่เป็นสมาชิกตั้งแต่ 10 ปี 20 ปี 25 ปี  และมากกว่า 25 ปี และเป็นสมาชิกที่ดีโดยไม่ขาดส่งเงินออมต่างๆ รวามการให้สวัสดิการแก่สมาชิกที่เจ็บป่วย รวมถึงการออมแต่เยาวชน และหรือนักเรียน ตามโรงเรียน ต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงสำนักงาน เพื่อที่จะให้เยาวชนเหล่านั้น ได้ออมโดยทำบัญชีครัวเรือน , ทำบัญชีส่วนตน จะเป็นวาระแห่งชาติในอนาคต รวมถึงวิทยากรต่างๆ ที่มีความรู้ ความสามารถในระดับชาติมาอธิบายให้ถึง เศรษฐกิจในปัจจุบัน และคาดการณ์ใรนอนาคต และในท้ายที่สุดกระผม ได้รับความรู้ workshop กับ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เป็นอย่างมาก เมื่อพวกกระผมได้ present เรื่องหัวข้อการออม เพื่อพัฒนาชาติในอนาคต

 

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายสกล สุรำวรรณ์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหนองสองห้องจำกัด

1.      วันนี้ ผมได้ประโยชน์มากที่สุด ได้รับความรู้อย่างมาก ได้รับความดีจากทุกๆ คนที่ได้มาประชุมวันนี้ ขอขอบคุณอาจารย์อย่างมาก ที่ได้มาให้ความรู้ ผมหวังว่าคราวหน้าจะได้มาอบรมอีก

2.      ผมเอาความรู้ที่ได้รับวันนี้ ไปทำประโยชน์ เรื่องเกี่ยวกับการออม จะนำไปประสานงานกับหน่วยงาน องค์กรของรัฐและเอกชน เพื่อจะสร้างเครือข่ายกับพันธมิตรสู่วาระการออมแห่งชาติต่อไป

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายจิรวิทย์ อรชร จากการเสวนาผู้นำเครดิตยูเนี่ยน เรื่อง “กองทุนเงินออม สร้างคน สร้างชาติ” ในวันนี้ นับว่าได้ประโยชน์มากมาย ทำให้เราได้ทราบ เรื่องเกี่ยวกับการออม อันจะเป็นผลต่อการสร้างชาติ ซึ่งพวกเราสามารถสร้างคุณนิสัยให้ทุกคนมีการออมในจิตสำนึกสร้างความมั่นคงให้กับตนเอง และรู้จักใช้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ย่อมทำให้เศรษฐกิจของชาติมีความเจริญขึ้นได้ ทั้งนี้ ในการดำเนินงานในลำดับต่อไปในอนาคต เพื่อให้การออมเป็นวาระแห่งชาติ - ควรให้การศึกษาแก่เยาวชน และประชาชน - สร้างแรงจูงใจในด้านต่างๆ - สร้างเครือข่ายทุกหน่วยงานและทุกองค์กรในการส่งเสริม - ภาครัฐสนับสนุนส่งเสริม

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นางอำไพ ปานรังสี

ชมรมเครดิตยูเนี่ยนภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล)

1.      ความรู้เกี่ยวกับการออม

2.      การประชาสัมพันธ์

รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายจุลภัทร รัตนกิจ

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนห้วยขานาง ทุ่งนา จำกัด ชมรมภาคกลางตอนบน

-          การประชาสัมพันธ์การสร้างค่านิยม และสร้างการเรียนรู้ และข้อมูลอื่นๆ เช่น ความจำเป็นของการออม 5 ประการ

-          รูปแบบการบริการที่ลูกค้าพอใน 4 ข้อ

-          ความรู้ แนวคิดการวิจัย

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายวิรัส คล่องดี

ชมรมเครดิตยูเนี่ยนภูพาน

ได้เรียนรู้ในเรื่องการประสานเครือข่ายการออม โดยมีหน่วยงานนอกองค์กรเป็นผู้ประสานงานมาช่วย

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นางยุวรี แสงเมือง ชมรมเครดิตยูเนี่ยน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์

เรื่องการประชาสัมพันธ์การสร้างค่านิยมและสร้างการเรียนรู้

เพราะสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเกาะคา จำกัด ซึ่งดิฉันเป็นประธานดำเนินการอยู่ ยังมีสมาชิกน้อยอยู่ จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้มากกว่านี้ ทำให้ชาวบ้านเกิดการออมมากขึ้น เป็นการสร้างฐานะของครอบครัว และไว้ใช้จ่ายในยามชรา

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายพีรศักดิ์ ขาวเผือก  ชมรมเครดิตยูเนี่ยน กรุงเทพฯ และปริมณฑล

-          ในความคิดเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าการนำการออมเข้าสู่สถานศึกษา เพื่อปลูกฝังการออมให้กบเยาวชน ตั้งแต่เริ่มต้น เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเพื่อผลักดันเข้าสูวาระแห่งชาติ อย่างมั่นคงต่อไป

-          และมีความเห็นว่าจะต้องเริ่มดำเนินการทันทีเลย

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายบุญส่ง ทองคุ้ม ชมรมสาขา เพชรบุรี

ต้องรณรงค์ให้สมาชิกมีความรู้ ความเข้าใจ มาฝาก มาออม ฝากสัจจะ เพื่อความมั่นคงในชีวิตของสมาชิก และความมั่นคงในสหกรณ์

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นางรัตนา เกิดรื่น ชมรมประจวบฯ ชุมพร ระนอง

ได้ประโยชน์ในเรื่องการออม ถ้าการออมเป็นวาระแห่งชาติ และประสบความสำเร็จ เรามองเห็นอนาคตของคนไทย ว่าต้องเจริญแน่นอน

จะช่วยประสาน และสร้างเครือข่ายให้สำเร็จ ได้รู้ว่า ขบวนการสหกรณ์ ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อยากมาร่วมงานกับเรา

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายสวัสดิ์ อินแถลง ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คุรุสภาอำเภอเมือง จ.เชียงใหม่

การเข้าร่วมประชุมสัมมนา ในวันนี้ สนใจหัวข้อเรื่อง กองทุนเงินออม สร้างคน สร้างชาติ เป็นหัวเรื่องที่มีพลังก่อให้เกิดความสนใจอยากเข้าร่วมเรียนรู้ ซึ่ง ได้ฟังวิทยากร และผู้ดำเนินรายการ ได้นำเสนอข้อมูล ข้อคิดเห็น ผมมองในความจำเป็น ต้องการผลักดันเป็น วาระการออมแห่งชาติ เพื่อได้มีส่วนแลกเปลี่ยนความรู้จากทุกคนแล้ว เห็นว่าถ้าเราเริ่มทำกันอย่างจริงจัง ในวันนี้ เป้าหมายความสำเร็จเป็นไปได้อย่างแน่นอน

ผมสนใจการเปลี่ยนแปลงของ โครงสร้างครอบครัวไทย ในเชิงของการเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ ได้เรียนรู้ชัดเจน ประเด็นการเปลี่ยนแปลง การเพิ่มขึ้นของครอบครัวเดียว คู่สมรสมีบุตรลดลง คนแต่งงานเป็นครอบครัวลดลง สังคมไทยก้าวสู่สังคมคนชรา ปัญหาคนชราในอนาคตเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นเห็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องสร้าง กองทุนเงินออม เพื่อสร้างคน สร้างชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในสถานที่ทุกคนคงไม่อยากเห็น คนชราที่ลำบาก ในอนาคต และถ้าไม่ทำอะไร เราอาจเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้น

งานที่คุ้มค่าจะต้องไปคิดและทำต่อ สานต่อความรู้ความคิดที่ได้ในวันนี้ คือ ทำอย่างไร เมื่ออายุครบ 60 ปี จะมีบำนาญทุกคน เป็นโครงการเสนอในสหกรณ์ ที่ดูแลอยู่

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายวุฒิชัย ศรีพระจันทร์   ที่ปรึกษากลุ่มบ้านจังโหลน อ.สะเดา จ.สงขลา

เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองโคราชพัฒนา

[email protected]

1.      ได้ความรู้ เรื่องการขยายเครือข่าย CU ในระดับพื้นที่ และการเชื่อมภาคี ทุกภาคส่วน ในจ.นครราชสีมา

2.      ขยายผลขบวนการออม เครือข่าย CU ในจังหวัด นครราชสีมา ให้ขยายผลมากขึ้น  โดยเฉพาะ เด็กและเยาวชน

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายนิคม หมื่นพินิจ เชียงใหม่

สิ่งที่ได้จากการสัมมนา คือ วิธีการ, กระบวนการ ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการออมกับเยาวชน และการสร้างพันธมิตร เครือข่าย เพื่อส่งเสริมและรณรงค์ การออมให้เป็นวาระแห่งชาติ

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

น.ส.เกษราวรรณ จันทร์ฉาย

สิ่งที่ได้จากเรื่องการออมให้เป็นวาระแห่งชาติ

1.      ต้องมีบุคคลที่เป็นสื่อกลาง ในการแปลงความคิด ให้เป็นแผนงานโครงการที่ปฏิบัติได้

2.      จุดประกายความคิด ในเรื่องเครดิตยูเนี่ยน ขาดคน หรือไม่

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นางศิริรัตน์ เทศราช ชมรมสหกรณ์ เครดิตยูเนี่ยนภาคตะวันออก จ.จันทบุรี

สิ่งที่ได้รับในวันนี้ คือ การที่จะต้องทำให้ประชาชนทุกจังหวัด ได้รับทราบและสามารถทำการออม ตามวาระแห่งชาติให้ได้ในโอกาสข้างหน้าต่อไป

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

น.ส.ศรินทิพย์ หามสุข    สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนวัดยางเขาย้อย

นโยบายวาระการออมแห่งชาติ

ประโยชน์ของการจัดทำโครงการ

-          บรรยาย แลกเปลี่ยน ให้ผู้เข้าร่วมเสวนามีความเข้าใจเรื่องการออม

-          ประชาสัมพันธ์โครงการออมให้เผยแพร่ไปทั่วประเทศ

-          เป็นแรงผลักดันวาระการออมให้เข้าสู่ระบบรัฐบาล

-          ได้รับความคิดเห็นจากหลายๆ มุมมองทำให้มีความคิดที่กว้างขึ้น

การออมเป็นรากฐานของความพอเพียง ถ้าพอเพียงก็ไม่มีหนี้สิน และทำให้ไม่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าทุกคนรู้จักรักการออม ประเทศชาติก็จะมั่นคง ใช้เงินออมของเราเองก่อนที่จะกู้เงินผู้อื่นมาใช้

ถ้าเราสามารถทำการออมให้เป็นวาระแห่งชาติได้ นั้น หมายถึงความมั่นคงของประเทศไทย ทุกอย่างจะประสบความสำเร็จไม่ได้ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน ถ้าทุกฝ่ายจับมือทำสัญญาร่วมกัน ทำอย่างตั้งใจจริง ทุกอย่างต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

ที่เราพยายามทำแผนการออมขึ้นมานั้น ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง ไม่ได้ทำเพื่อสหกรณ์ของเรา และไม่ได้ทำเพื่อเครดิตยูเนี่ยนของเรา แต่เราทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทำเพื่อประเทศชาติของเรา ถ้าการออมนั้น ได้ถูกบรรจุลงในวาระการออมแห่งชาติได้นั่นคือ รากฐานของความมั่นคง และพอเพียงของประเทศไทย จึงต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ผลักดันให้วาระแห่งชาตินี้ ประสบความสำเร็จอย่างโดยดี ถึงแม้วาระแห่งชาติในเรื่องของการออม จะไม่ประสบความสำเร็จไปทั่วประเทศ แต่ตัวของข้าพเจ้า ก็ยังจะยืนยัน เผยแพร่ และปลูกฝังการออม ให้เป็นประโยชน์ ต่อขบวนการของเราต่อไป

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายอินทรีย์ เสริมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน อำเภอศีขรภูมิ จำกัด จ.สุรินทร์

สิ่งที่ได้จากการสัมมนาวิชาการ กองทุนเงินออม สร้างคน สร้างชาติ

-          ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมจุดอ่อน จุดแข็ง และภาวะเศรษฐกิจ ของโลกโดยเฉพาะ ประเทศสหรัฐอเมริการ และยุโรป

-          ผลการออมที่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ

-          ประเด็นการออมจะทำอย่างไร ที่จะเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ

-          การออม จะออมอย่างไรในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้

-          ได้ความรู้จากการทำ workshop ทั้ง 5 กลุ่ม

สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดความสำเร็จ

จัดขบวนการให้มีการเรียนรู้ แก่ประชาชน เกี่ยวกับเรื่องขบวนการเครดิตยูเนี่ยน เพื่อส่งเสริมการออมอย่างกว้างขวาง

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายบุญเปลื้อง สู่สุข ชมรมเครดิตยูเนี่ยนลุ่มน้ำสงคราม

ได้มีโอกาส ได้รับความรู้ หลายเรื่องเช่น

-          การวิจัย เพื่อสร้างเป็นวาระแห่งชาติ

-          การออมและการสร้างเยาวชนของชาติ

-          ความสัมพันธ์ หรือสร้างเครือข่าย กับองค์กรต่างๆ เพื่อให้เป็นพันธมิตร

-          เรื่องการจัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ร่วมกัน กับเครดิตยูเนี่ยน

-          จะทำอย่างไร จะให้เครดิตยูเนี่ยน เป็นวาระแห่งชาติ

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายภาคภูมิ โคตรมณี     ชมรมเครดิตยูเนี่ยนขอนแก่น

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านไผ่จำกัด

1. ตัวเราได้อะไร ในวันนี้

รู้เรื่อง การออมได้ดีขึ้น  และพัฒนาตัวเองให้รู้การออมอย่าง เป็นระบบ มีบัญชีครัวเรือนประจำวัน ให้เป็นระบบสู่อนาคตที่ดีของชีวิตครอบครัว

2. สิ่งที่จะดำเนินงานต่อไป

- สู่สถาบันการเงินอื่นๆ

- พัฒนาระบบ CU ให้สมาชิกรู้จักการออมมากขึ้น

- สร้างเครือข่าย / พันธมิตร เพื่อการพัฒนาสู่วาระการออมแห่งชาติ

สร้างคน  สร้างชาติ

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายล้วน ไขสังเกต สหกรณ์หนองแวงบางไผ่ล้อม จำกัด ต.ขามป้อม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

ได้รับการใช้จ่ายอย่างประหยัด มีการวางแผน มีเหตุผลในการใช้จ่าย รู้จักการอดออม สะสมเงินไว้สำหรับใช้ยามจำเป็นในอนาคต และให้มีฐานะ มีความเป็นอยู่ที่ดี

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายประพนธ์ สันตโยภาส

1. ได้รับทราบว่า หน่วยงานระดับชาติ หลายแห่งให้ความสำคัญ ต่อการดำเนินกิจการ ช.ส.ค. และชาติไทยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ ในครั้งนี้ เพราะไทยเรามีเงินออมมากเพียงพอ

- ได้ทราบแนวทางการ ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิก เพิ่มความสำคัญต่อการออมเงิน

- การพัฒนาความคิด ต้องคิดออกนอกกรอบบ้าง

2. หลังจบการประชุม จะแนะนำให้เด็กและเยาวชนเริ่มต้นการออม โดยใช้สมการ รายรับ เงินออม = ค่าใช้จ่าย

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายพินิจ ทองอ่อน

ความรู้ที่ได้รับวันนี้

วิธีการขยายฐานสมาชิกและการออมโดยการสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กร ซึ่งจะสามารถนำไปดำเนินการในพื้นที่ โดยการติดต่อประสานงานกับองค์กรการเงินในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือในระดับชุมชน และร่วมมือกับธนาคาร หรือสหกรณ์อื่น เพื่อขยายการบริการและขยายธุรกิจของเครดิตยูเนี่ยน ให้เพิ่มมากขึ้น และมีหลากหลาย ทางเลือกสำหรับสมาชิก

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายชัชวาล ดุจเพ็ญ  ชมรมเครดิตยูเนี่ยน จ.สุรินทร์

การมองวาระแห่งชาติ เรื่องการออม ควรทำอะไร

1.      นำข้อดีของเครดิตยูเนี่ยน ประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนได้ทราบ และสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น ในสหกรณ์ของเรา

2. นำเรื่องนี้ เข้าสู่ระบบของโรงเรียน ในชุมชน ที่กลุ่มเครดิตตั้งอยู่เพื่อสร้างวาระการออมแห่งชาติในโรงเรียน

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายณัฐพงษ์ พานโคกสูง ชสค.สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ที่ดำเนินการอยู่ การออมทรัพย์ในกลุ่มโรงเรียน พร้อมด้วยหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน ระดับประถม จนถึงระดับปริญญาโท

สร้างความสัมพันธ์สถาบันการเงิน

- ประชาสัมพันธ์ กับสหกรณ์ฯ ทุกประเภท เพื่อร่วมดำเนินธุรกิจ Net Work  โดยช่วยเหลือประชาชนทุกด้าน ตามความต้องการของประชาชนของชาติ

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายอรรถสิทธิ์ สงสะนะ

สิ่งที่ได้รับ ควรมีพันธมิตรสถาบันการเงินเพื่อเครือข่ายที่มั่นคง ยั่งยืน ขอสนับสนุน วันออมแห่งชาติ

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายอรรถสิทธิ์ สงสะนะ

สิ่งที่ได้รับ ควรมีพันธมิตรสถาบันการเงินเพื่อเครือข่ายที่มั่นคง ยั่งยืน ขอสนับสนุน วันออมแห่งชาติ

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

มุกดา ศรีวรกุล ชมรมภูพาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ที่ได้และต้องการ

ต้องการ ความยั่งยืน และมั่นคง

ต้องพัฒนาไปสู่ ความมี , ความสามารถ , ความสุข และสังคมจะดี

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายประสัง รอดทะเล    จังโหลน สงขลา

ผมใส่วิธีคิดให้เดินไปข้างหน้าได้ ตั้งระบบกลุ่ม/ชุมชน และระบบประเทศ

อยากจะนำเรื่องความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เพื่อประโยชน์แก่เพื่อน / สมาชิก ประชาชนทั่วไป

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายพรพิรุณ เครือแก้ว

วาระการออมแห่งชาติ

1. การเชื่อมธุรกรรมระหว่าง เครดิตยูเนี่ยน กับสถาบันการเงินอี่น เพราะเมื่อมีเงินออมเพิ่มขึ้น จะต้องใช้องค์ความรู้ ในการบริหารเงินทุน ที่เพิ่มขึ้นนั้นมากขึ้น จึงต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างสถาบันการเงินอื่นๆ และ เครดิตยูเนี่ยน (องค์ความรู้ในด้านการบริหารเงินทุนที่เพิ่มจากการออมที่เพิ่มขึ้น)

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายณัฎฐพล ผ่องแผ้วฉาย

หลักสูตรเครดิตยูเนี่ยน สู่สถานศึกษา เพื่อฝึกนิสัยการออมให้กับเด็กและเยาวชน ตามรูปแบบและวิธีการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการออมตั้งแต่เด็ก เพื่อให้ติดเป็นนิสัยรักการออม

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

ชัยชนะ ปิ่นน้อย

1.      เรื่องการออมเพื่อชาติ ได้รับการเรียนรู้ว่าการเชื่อมโยง กับสถาบันการเงินมากขึ้น และทำอย่างไร ที่ใคร

2.      การออมนอกระบบคืออะไร

อุปสรรค ในการสร้างความเชื่อมั่นต่อองค์กรคืออะไร และจะต้องทำอย่างไร

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายสมบูรณ์ จันทร์ชัย

วาระการออมแห่งชาติ

การเชื่อมความสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจ (ธุรกรรม) ในขบวนการ เนื่องจากต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในเครดิตยูเนี่ยน ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับกับหน่วยงานหรือเครือข่าย ที่ร่วมมือกัน

สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ ต้องให้สัญญา หรือพันธะ ต่อองค์กรต่างๆ ให้เกิดความร่วมมือ ร่วมกันให้เกิดขึ้นให้ได้ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อขบวนการเครดิตยูเนี่ยน และต่อประเทศชาติ

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายทรงยศ ทองมาก  ชมรมเครดิตยูเนี่ยนภาคใต้

1.      ได้เห็นทางหลากหลายของการใช้เงิน และออมเงิน

ออมเงิน ธนาคาร

-          สหกรณ์อื่นๆ

-          สถาบันการเงินอื่น

-          ส่งเสริมการออม

-          ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน

2.      เรื่องการส่งเสริมการออมอย่างจริงจัง ทุกช่วงอายุ

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายสายัณห์ เขียวอินทร์

ได้ประโยชน์คือ สหกรณ์มีการออมมากขึ้น และส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยประหยัดอดออม เพื่อสร้างอนาคตในภายภาคหน้า ได้ประโยชน์จากการได้ร่วมทำงานกับหน่วยงานอื่น เช่น โรงเรียน หรือ สถานศึกษา หรือหน่วยงานอื่น

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายคำจันทร์ จันทน์จำปา

การออม เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของคนเรา แต่คนเราไม่ได้อาศัยหรืออยู่ร่วมกันในพื้นที่หรือแหล่งเดียวกัน ยังมีประชาชนที่อาศัยอยู่ห่างไกลออกไปในพื้นที่กันดาร ขาดโอกาสในการที่จะเข้าถึงสถาบันการเงิน ที่เขาจะออมอย่างมั่นใจ

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสถาบันการเงิน การบริหารจัดการ องค์กรตัวเอง ให้กับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลดังกล่าว สถาบันการเงินที่เหมาะที่สุดคือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

ผมตั้งใจอย่างยิ่งที่จะตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน ในพื้นที่ชนบทให้ได้เพื่อ ให้ผู้ด้อยโอกาสในชนบทดังกล่าวได้เข้าถึงสถาบันการเงินได้ออม ได้เป็นเจ้าของและบริหารจัดการเอง

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

กัลยา   กลุ่มเครดิตไทยจังโหลน

เรียนคณะกรรมการทุกคน

เนื่องด้วยดิฉันได้มาเข้าร่วมประชุมวันนี้ครั้งแรก ดีใจมากๆ และครั้งต่อไปคิดว่าจะมาเข้าประชุมอีก

วันนี้ได้รับการเรียนรู้ในด้านต่างๆ มากๆ แต่สิ่งที่ประทับใจ คือ ด้านการออมกับการสร้างเยาวชนค่ะ และจะนำไปอบรมให้แก่สมาชิกที่จังโหลนรับทราบต่อไป และเน้นกับสมาชิกให้รู้จักการออมมากยิ่งขึ้นค่ะ

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

อนุชิต มุสิกชัย  กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนไทย จังโหลน จ.สงขลา

สิ่งที่ได้รับในการเสวนาในวันนี้ คือ ได้รับแนวคิดในการนำความรู้เรื่องการออมเพื่อนำไปให้เยาวชนได้ศึกษา และ แนวทางในการจัดทำกระบวนการเผยแพร่ความรู้ในด้านการสร้างนิสัย การออม ตั้งแต่แรกเกิด และผลักดันการออมให้เป็นวาระแห่งชาติ

เยาวลักษณ์ กิจกังวาล

นายมนัส ดีคำปา จ.เชียงใหม่

การออมเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันของสมาชิกเครดิตยูเนี่ยน ทำให้สมาชิกเข้าใจถึงวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง ของการออมระดับชาติ เพราะว่า การออมโดยไม่มีจิตวิญญาณของการอยากจะออมโดยไม่ยั่งยืน ทำให้การออมของสมาชิกขาดหายและไม่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น การออมโดยมีจิตใจที่มีคุณธรรม มีวินัย จะทำให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท