KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๕๗. KM ผู้บริหารระบบสุขภาพ


 

          การจัด KM Workshop สำหรับผู้บริหารเป็นเรื่องท้าทาย   เราจะต้องเอาใจใส่การออกแบบกิจกรรมที่ตรงกับจริตของผู้บริหาร    ที่จะทำให้เกิดความร่วมมือ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดใจ และเปิดสมองซีกขวา

          วันที่ ๒๔ ก.พ. ๕๒ สคส. จัด KM Workshop ให้แก่ สช. และภาคี    เป็นเวทีผู้บริหารระบบสุขภาพ    ว่าจะนำเอาธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพไปใช้ประโยชน์อย่างไรในบริบทของผู้บริหารแต่ละท่าน   และจะทำให้เกิด synergy ของงานของผู้บริหารแต่ละท่าน แต่ละองค์กร เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพที่ดี  เกิดสุขภาวะที่ดีของคนไทย  โดยออกแรงน้อย  ใช้ทรัพยากรน้อย แต่ได้ผลมาก   และการดำเนินการเพื่อสุขภาวะนั้น เป็นการดำเนินการที่สนุก ให้ความสุข   ไม่ใช่กิจกรรมที่ก่อความเครียด ความขัดแย้ง หรือความทุกข์

          เราอยากใช้ KM เป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เจือความสุข   ไม่ใช่เจือความทุกข์   เราหวังสร้างสุขภาวะของสังคมไทยด้วยกระบวนการแห่งความสุข ไม่ใช่ด้วยกระบวนการแห่งความทุกข์   

         เราหวังให้ผู้บริหาร นำเอาธรรมนูญฯ ไปใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพ   และทำให้ระบบสุขภาพเป็นระบบแห่งการเรียนรู้ (Learning Systems)

          ผมตีความว่า เวที ลปรร. ๑ วันนี้ เป็นเวทีเรียนรู้วิธีสร้างพลังยกกำลังสาม    คือพลังของ KM   พลังของธรรมนูญฯ และพลังของระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (CAS – Complex Adaptive Systems)

          ข้อความข้างบนนั้น เป็นการตีความของผม   ซึ่งไม่รู้ว่าตรงกับเป้าหมายของท่านผู้บริหาร ๒๐ กว่าคนที่มาร่วมประชุมหรือเปล่า

          เราจึงเตรียมออกแบบ workshop โดยมีทั้งหมด ๖ ช่วง  เช้า ๓  บ่าย ๓    เริ่มด้วยการทำ BAR    ให้แต่ละท่านบอกว่า ตัวท่านต้องการอะไรจากเวที ลปรร. วันนี้   เพื่อเอาไปทำอะไรในงานของท่าน ในงานของหน่วยงานของท่าน   โดยที่วิทยากรหลักคือคุณอ้อม และผมเป็นกองหนุนตามเคย

          หลังจาก BAR เป็นรายการเสวนา “ระบบสุขภาพในมุมมองใหม่” โดยมี คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และ ศาสตราพิชาน ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ เป็นผู้นำเสวนา    ตามด้วยเวที ลปรร. “เป้าหมายระบบสุขภาพของประเทศ”    ทั้ง ๒ เวที เราจะเน้นการประชุมด้วยสมองซีกขวา    คือเน้นสร้างความแตกต่างหลากหลาย หามุมมองที่ต่าง หาเคล็ดลับในการดำเนินการที่ไม่ใช่ธรรมดาหรือใช้กันโดยทั่วไป  

          ตอนบ่ายเป็นวง ลปรร. SSS – Success Story Sharing เรื่องประสบการณ์การขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ    ตามด้วยวง ลปรร. “แนวทางขับเคลื่อนระบบสุขภาพในอนาคต”    และ AAR 

          กระบวนการทั้งหมดนั้น ดำเนินการอยู่ในบรรยากาศ Learning Atmosphere    หรือบรรยากาศ ลปรร.   เน้นการเสนอความเห็นจากใจ ไม่เน้นถูกผิด    เน้นการประชุมแบบ dialogue  ไม่ใช่ discussion   เน้นบรรยากาศแห่งการริเริ่มสร้างสรรค์  ไม่เน้นข้อตกลงหรือแนวทางที่ตายตัว    เป็นการประชุมที่เน้นสมองซีกขวามากกว่าสมองซีกซ้าย   หวังผลร่วมมือกันระหว่างองค์กรแบบ networking    ไม่ใช่แบบพันธสัญญา

          ข้างบนคือข้อเขียนก่อนการประชุม   ต่อไปนี้เป็นบันทึกหลังการประชุม    เป็นบันทึกแบบ AAR ของผม

• ทาง สช. บอกว่าเกินคาดที่มีผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ มาร่วมประชุมมาก   แต่เป็นธรรมชาติของผู้บริหารของไทยมีภารกิจยุ่งอยู่ตลอดเวลา   จึงมาร่วมได้เพียงครึ่งวันเกือบครึ่งหนึ่งของผู้มาร่วมประชุม
• ในเวลาที่จำกัด วิธีการเปิดใจ ละลายน้ำแข็ง (พฤติกรรม) ของคนระดับผู้บริหารเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง    ไม่สามารถใช้วิธีเล่นเกมได้   
• การประชุมนี้ออกแบบให้ใช้ KM เนียนอยู่ในกระบวนการ    การนำเสวนาโดยท่านอดีตรองนายกฯ ไพบูลย์  และ ศ. ไกรฤทธิ์ ช่วย “เปิดมุมมองใหญ่” ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม   ทำให้ชัดเจนว่าระบบสุขภาพบูรณาการอยู่กับระบบสังคมภาพใหญ่ของประเทศ
• ในเวลาที่จำกัด และข้อจำกัดอื่นๆ ของผู้บริหาร   เครื่องมือ KM ได้ช่วยให้เราสามารถ “อ่าน” ความรู้สึกของภาคีสุขภาพแต่ละภาคีได้ชัดเจน
• เราไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าแต่ละภาคีจะกลับไปทำอะไร    แต่ได้ข้อสรุปมากมายว่า สช. และ สวรส. ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ควรทำอะไร  ไม่ทำอะไร    
• เราได้ข้อสรุปในกลุ่มทีมจัดเวที ว่าเวทีผู้บริหารเช่นนี้ ผมควรทำหน้าที่วิทยากรหลักเอง
• เวที KM ที่จัดในวันนี้ ในสายตาของผม ประสบความสำเร็จสูงมากหากมองจากมุมของ สช.   คือได้ความเข้าใจลึกว่าจะเดินเรื่องการขับเคลื่อนระบบสุขภาพด้วยธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติอย่างไรบ้าง    แต่ประสบความสำเร็จปานกลางในการทำให้ภาคีบางภาคีเกิดความเอาจริงเอาจังในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนระบบสุขภาพจากมุมของเขา    คือเห็นได้ชัดเจนว่าภาคีที่มาร่วมมีความเอาจริงเอาจังต่างกัน

 

วิจารณ์ พานิช
๒๔ ก.พ. ๕๒


                
       

หมายเลขบันทึก: 245010เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2009 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ประโยชน์มากค่ะ เพราะกำลังจะไปทำ KM กับผู้บริหารค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท