กระบวนการคิด..จุดเปลี่ยนสู่ความพอเพียง


สร้างระบบคิด เข็มทิศชีวิตพอเพียง

 

                                             

                                                20090224181019_132

    หนังสือถอดบทเรียนเศรษฐกิจพอพียง เล่มที่ ๒ นี้ ซึ่งจัดทำโดย สรส.ด้วยการสนับสนุนของ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ...โรงเรียนโพนทองวิทยายน จ.ร้อยเอ็ด มีประสบการณ์ในการเน้นให้นักเรียนรู้จักคิด มีการจัดกระบวนการเสริมยุทธศาสตร์การคิดเข้าไปบูรณาการกับแผนการสอน เพื่อให้เด็กเกิดกระบวนการคิด เน้นหลักคิดเป็นตัวนำ แต่ไม่ใข่ละทิ้งการปฏิบัติที่โรงเรียน ได้มีกิจกรรมและเวทีให้นักเรียนได้แสดงผลงานออกมาเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น ธนาคารโรงเรียน สหกรณ์ร้านค้า การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำเกษตรพอเพียง และมีนวัตกรรมใหม่ๆที่โรงเรียนพัฒนาขึ้น เป็นความสำเร็จที่ทุกคนมีความภาคภูมิใจ คือ P.T Model. ....เราไปเยี่ยมดูกันหน่อยว่า..อัน โมเดล ชื่อหรูๆ..ดูดี..ที่ว่านั้น..คืออะไรหนอ ??....

       ผอ.วัฒนชัย ศาลารัตน์ ให้ความสำคัญกับระบบความคิดเป็นสำคัญว่า " คนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการกระทำ ก็ต่อเมื่อความคิดเปลี่ยน...คนจะเปลี่ยนความคิดได้ ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามา ที่สามารถหักล้างความเชื่อเดิมได้ "....

 

       ดังนั้น แนวทางในการบริหารโรงเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้แก่นักเรียน จะเน้นที่การสร้างระบบความคิดให้แก่คณะครูและนักเรียน เพราะเชื่อว่า ระบบความคิดจะติดตัวไปตลอดเวลา จึงต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆให้นักเรียนเสมอ ต้องเป็นนักอ่าน และคิดทำอะไรใหม่ๆเสมอ เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว...

 

        สำหรับกรอบการดำเนินงานที่เน้นสร้างระบบความคิดวิเคราะห์ให้แก่นักเรียน ได้มีการพัฒนา P.T Model ซึ่งมีความหมายเป็น 2 นัย คือ

 

        นัยแรก  P.T หมายถึง รร.โพนทองวิทยายน 

 

          นัยที่สอง P หมายถึง Process คือ กระบวนการทำงาน

 

                      T หมายถึง Transfer คือ การเปลี่ยนแปลง ถ่ายโอน

 

              ขยายความได้ว่า P.T. Model  คือ กรอบการดำเนินงาน  เพื่อสร้างระบบคิดให้เกิดแก่นักเรียน ผ่านรูปแบบการสอน หรือวิธีการสอนที่เน้นให้นักเรียนคิดเป็นระบบ ทำได้ และเกิดความกล้าในการแสดงออก ผ่านกระบวนการ ดังนี้

 

               * กิจกรรมการเรียนการสอนผ่านโครงงาน โดยให้นักเรียนเขียนแผนโครงงานก่อน เพื่อฝึกการคิดอย่างเป็นระบบ อย่างมีเหตุผล นำเสนอต่อครูที่ปรึกษา เพื่อกลั่นกรองซักถาม เพื่อฝึกการนำเสนอ ฝึกคิด และฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

 

               * กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  ซึ่งถือได้ว่า เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ เพราะการอ่านเป็นเก็บสะสมความรู้ เพื่อนำความรู้นั้นมาเป็นข้อมูลการตัดสินใจ เรียนรู้วิธีการต่างๆผ่านการอ่าน..สู่การวางแผน..เกิดความคิดเปลี่ยนวิถีชีวิตได้

 

               * กิจกรรมการเรียนการสอนเศรษฐกิจพอเพียง โดยที่โรงเรียนโพนทอง   มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า ทำให้เกิดแนวคิดใช้ป่าเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยคณะครูทั้ง ๘ สาระวิชา นำกระบวนการทำงานแบบ P.T.Model มาสู่การเรียนการสอน ให้นักเรียนเขียนโครงงานด้วยเครื่องมือช่วยคิดคือ  My mapping

 

               ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ แต่ละกลุ่มสาระวิชา ได้ผลิตโครงงานใหม่ๆหลายหลาก นอกห้องเรียน เช่น

 

               - กลุ่มการงานอาชีพ จะนำวัสดุต่างๆในป่า เช่น ใบไม้ เครือเถาวัลย์ เมล็ดพืชรูปทรงแปลกๆที่หล่นใต้ต้นไม้ประเภทต่างๆ มาประดิษฐ์เป็นของที่ระลึก

 

               - กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษจะเรียนรู้ชื่อต้นไม้เป็นภาษาอังกฤษ

 

               - กลุ่มสาระวิชาภาษาไทยจะแต่งกลอนบรรยายธรรมชาติรอบตัว

 

                                                      ฯลฯ

 

           จากกระบวนการส่งเสริมการเรียนการสอนในแนววิถีธรรมชาติพอเพียงตามที่กล่าว โรงเรียนได้รวบรวมเก็บหลักฐานในการดำเนินงาน และได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมดีเยี่ยม ระดับพื้นที่เขตการศึกษา เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่สิ่งที่โรงเรียนภาคภูมิใจมากกว่ารางวัล คือ การที่นักเรียนสามารถคิดองค์ความรู้ใหม่ๆที่กำลังเป็นที่ต้องการของสังคม ซึ่งเท่ากับว่า แนวทางการสร้างกระบวนความคิด เป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการเรียนการสอน...

 

           สิ่งที่ได้ปฏิบัติควบคู่กันไปเพื่อการพัฒนาผู้เรียน คือ  ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านหนังสือเกี่ยวกับหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการนำเสนอข้อคิด สาระจากการอ่าน หรือองค์ความรู้ใหม่ๆแก่คณะครู และนักเรียนทุกวันระหว่างหลังเคารพธงชาติ

 

           นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมเสริม โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนให้ผลัดกันมาเล่าเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงแนวคิด เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างยั่งยืน...

 

           ผลที่ได้รับจากการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงการเรียนการสอน

 

                   - นักเรียน มีความสุภาพอ่อนโยน มีสัมมาคารวะ และมีความคิดเชิงบริหารจัดการ กล้าคิด กล้าแสดงออก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการใส่ความรู้ ใส่ปัญญา ใส่สหวิทยาการ สรรพศาสตร์ การอบรมคุณธรรม และจากการปฏิบัติจริง มำให้เกิดการบ่มเพาะ การทำสม่ำเสมอเชิงกลยุทธ์ เพื่อฝึกจริยธรรมและความรับผิดชอบ

 

                  - ครู ได้รับการส่งเสริมให้ได้รับความรู้เพิ่มเติม และเลื่อนวิทยฐานะตามความรู้ความสามารถ เกิดความศรัทธาและเชื่อมั่นในตนเองและต่อองค์กร อันนำมาซึ่งความทุ่มเทในการทำงานด้วยใจอย่างแท้จริง

 

                  - ผู้ปกครอง เกิดความเชื่อถือในโรงเรียน หนุนนำให้ชุมชนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนอย่างเต็มที่

โปรดอ่านรายละเอียดได้ที่ :

http://www.scbfoundation.com/news_publish_detail.php?cat_id=6&nid=320

 

                                        ----------------------------     

 

 

หมายเลขบันทึก: 244447เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2009 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ

แวะมาเยี่ยม มาเรียนรู้ด้วย ครับ

ขอบคุณ อ.เพชรากรและครูอ้อยนะคะที่ตามมาอ่านและให้กำลังใจ... พี่กำลังจะเล่าเรื่องเด็กเศรษฐกิจพอเพียงอีกหลายเรื่องค่ะ..

                              nongnarts

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท