ป่าชุมชน:กระบวนการเรียนรู้ในการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมของสังคมไทย(2)


บทบาทของผู้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

  

                                                

                                         20090223152012_151

ในเรื่องเล่าป่าชุมชน ตอนที่ (2) นี้ดิฉันขอสรุปสาระสำคัญจากหนังสือชื่อ "ป่าชุมชน: กระบวนการเรียนรู้ในการจัดทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมของสังคมไทย "  ซึ่งเนื้อหาของตอนที่ 2 ครั้งนี้ เป็นผลจากการสัมมนาระดับชาติในชื่อเดียวกันกับหนังสือ ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ณ อาคารสารนิเทศ50ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.. เราจะได้ทราบกันว่า ท่ามกลางมิติในภาพรวมของความพยายามของประชาคมโลกที่จะต้านภัยโลกร้อนอย่างเข้มแข็ง ในส่วนของชุมชนไทยเรา ได้มีแนวคิดในการร่วมมือร่วมใจกันอย่างไรบ้าง...ดิฉันหวังว่าท่านใดที่กำลังทำ หรือคิดจะทำโครงการหรือกิจกรรมด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคงจะได้ประโยชน์จากข้อเท็จจริงและความเห็นเหล่านี้บ้าง...ปีนี้ ได้ยินมาว่า ภัยแล้งรุนแรงกำลังจะมาเยือนอีกแล้ว สมควรที่พวกเราจะต้องให้ความใส่ใจต่อปัญหา (ซ้ำซาก ) เหล่านี้ให้มากๆนะคะ....

1. การจัดการทรัพยากรร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขในสังคมไทย

 

    คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความเห็นว่า  การที่จะสามารถดำเนินชีวิต และร่วมกันจัดการทรัพยากรได้อย่างมั่นคงในสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนเช่นนี้ แนวคิด " เศรษฐกิจพอเพียง " จะเป็นทางออกหนึ่งในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน โดยมีแนวทางหลัก 3 แนวทาง คือ

 

    1. พัฒนาการเรียนรู้และการจัดการความรู้ร่วมกัน และขยายกว้างสู่สังคมกลุ่มต่างๆ

 

    2. พัฒนาเครือข่าย โดยการขับเคลื่อนเครือข่ายอย่างเป็นกระบวนการ เป็นระบบกว้างขวางและมีคุณภาพสูงขึ้น

 

    3. การพัฒนานโยบายสนับสนุนที่เหมาะสม สอดคล้องในระดับต่างๆ ทั้งในท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และระดับชาติ

 

      ปัจจุบัน พบว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนในท้องถิ่น ได้หันมาร่วมกันในการจัดการทรัพยากรนั้น เป็นผลกระทบมาจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรซึ่งได้มีการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการเข้าถึงทรัพยากร สำหรับฐานที่สำคัญในการจัดการทรัพยากร คือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในชุมชน และระบบฐานข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน ได้ก่อให้เกิดเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมคืนกลับสู่วิถีชีวิตดั้งเดิม

 

      อย่างไรก็ตาม กระแสการพัฒนาจากโลกภายนอกที่กำลังรุกล้ำชุมชน ส่งผลให้วิถีชีวิตในชุมชนมีลักษณะความเป็นเมืองมากยิ่งขึ้น การให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่เป็นแหล่งพึ่งพิงของคนในชุมชนเริ่มลดลง อีกทั้งนโยบายการจัดการทรัพยากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่แน่นอน หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งมุมมองเป้าหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความแตกต่างกัน

 

       สำหรับข้อเสนอแนะในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น คือ ชุมชนต้องมีการจัดการระบบฐานข้อมูลทรัพยากรในชุมชน เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงและเผยแพร่สู่สาธารณชน อีกทั้งพลังช่วบ้าน หรือชุมชนต้องต่อกระแสการพัฒนาที่เกิดขึ้น

 

        2. รูปแบบและบทเรียนบางอย่างในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน

 

            ในประเทศไทย รูปแบบการจัดการทรัพยากรร่วม มีหลายประเภท ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน เช่น

 

                 - การจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม

 

                 - โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างยั่งยืน

 

                 - โครงการจัดการอุทยานแห่งชาตินำร่องการจัดการพื้นที่แนวกันชน ป่าชุมชน

 

                 - โครงการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างมีส่วนร่วม

 

             โดยที่โครงการเหล่านี้ บางโครงการมักเป็นโครงการนำร่องที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากในและต่างประเทศ เพื่อศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสม ดังนั้น ลักษณะกลไกการจัดการจะยังคงมีอยู่ หรือจบสิ้นไปตามการสิ้นสุดของโครงการ แต่ยังมีคำถามที่สำคัญในเชิงรูปธรรมของความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไรหากไม่มีโครงการเหล่านี้แล้ว และความไม่ชัดเจนที่น่าห่วงใย เช่น

 

                 - การเชื่อมโยงโครงการไปสู่ระดับนโยบาย

 

                 - กฏหมายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรร่วมกัน

 

            นอกจากนั้น ปัญหาทรัพยากรท้องถิ่น ยังคงถูกคุกคามจากคนภายนอกชุมชน เช่น นายทุน การส่งเสริมและนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ เช่น sea food bank เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ทำให้องค์กรชุมชนต้องทำงานหนักและมีภาระหนักขึ้น ในการจัดการปัญหาต่างๆ โดยใช้ภูมิคุ้มกันภายในชุมชนท้องถิ่น เป็นสำคัญ

 

       3. แนวโน้ม ทิศทางการจัดการทรัพยากรร่วมกันท่ามกลางปัญหาภาวะโลกร้อน

 

           การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน ทั้งในรูปป่าแบบชุมชน ป่าครอบครัว ป่าริมน้ำ และป่าหัวไร่ปลายนา จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ลดผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนได้ระดับหนึ่ง เพราะพื้นที่ป่าผืนเล็กๆเหล่านี้ จะช่วยกักเก็บคาร์บอน นอกจากนี้ พื้นที่ป่าดังกล่าวที่เชื่อมโยงกับป่าผืนต่างๆแถบริมน้ำในภูมิทัศน์ อันจะเปรียบเสมือนเป็นสะพาน ที่จะเอื้ออำนวยต่อสัตว์และพืชต่างๆ ได้อพยพเคลื่อนย้ายจากถิ่นที่เคยดำรงชีพเดิมอย่างเป็นสุข แต่ถูกกระทบจากภัยโลกร้อน

 

           สำหรับบทบาทในแต่ละภาคส่วนของสังคม สมควรจะมีทิศทางในการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ เช่น

 

                 -  องค์กรชุมชน ควรมีบทบาทหน้าที่รวบรวมและจัดการองค์ความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ถ่ายทอดสู่ลูกหลาน สร้างผลงานให้เกิดการยอมรับจากคนภายนอก 

 

                 - องค์กรภาครัฐ ควรใช้ยุทธศาสตร์ " อยู่ดี มีสุข "  โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และองค์กรเครือข่ายสนับสนุน และสร้างโอกาสเข้าถึงกองทุนสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการเรียนรู้ของภาคส่วนต่างๆในสังคม

 

                 - องค์กรพัฒนาเอกชน ควรทำงานที่เน้นประเด็นเรื่องสิทธิบุคคล ชุมชนท้องถิ่น การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆสู่ชุมชน

 

                 - สถาบันวิชาการ ควรมีบทบาทในการสนับสนุนเทคนิค วิชาการ เพื่อยกระดับการจัดการในท้องถิ่น

 

                 - ภาคธุรกิจ ควรต้องดำเนินธุรกิจในกรอบความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามหลักการ CSR (Corporate Social Responsibility) เป็นแนวทางในการทำงานขององค์กร และขยายเป็นเครือข่าย ส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง และทำให้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมีความยั่งยืนด้วยหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.

 

                  ---------------------------------------------------------------

 

          หากสนใจรายละเอียดอีกมากมายในหนังสือนี้ โปรด click ไปที่ weblink ข้างล่างนี้นะคะ

 

                                                      www.ThaiCF.org

 

                                                           

 

      

 

หมายเลขบันทึก: 244198เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2009 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ คุณนาง นงนาท สนธิสุวรรณ แวะมาอ่านป่าชุมชน เสียดายครับป่าชุมชนตอนนี้เหลือน้อยแล้วครับ ชุมชนที่ผมอยู่ไม่มีป่า เป็นที่ปลุกมันสัมประหลังไม่มีต้นไม้ใหญ่

ขอบคุณค่ะ...ที่มีความเป็นห่วงใยป่าร่วมกัน..เด็กๆของเราเขาทำโครงการอนุรักษ์ป่าหลายแห่งค่ะ

                        nongnarts

การรักษาป่าไม้ทรัพยากรธรรมชาติ ในชุมชน ถ้าชุมชนได้ใช้ประโยชน์แล้ว ผมว่ามันจะให้เค้ารู้สึกหวงแหนเป็นเจ้าของในสิ่งที่เค้าได้ใช้เสมอ บางพื้นที่ที่เคยไปเจอมา บ้านนึงดูแลป่าเป็นหมื่นๆๆไร่ และทรัพยากรในพื้นที่ของเค้าก็ไม่ร่อยหรอลงเลย แถมยังเพิ่มพูนขึ้นมาอีก ต่างจากป่าของรัฐบางพื้นที่ มีแต่จะเสื่อมโทรมลง เพราะหวังผลทางเศรษฐกิจกัน การที่ให้ชาวบ้านหรือชุมชนในพื้นที่ดูแล คิดว่าเป็นหารดีที่สุดนะครับ...

ขอบคุณมากค่ะสำหรับความเห็นที่สร้างสรรนี้

                             nongnarts

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท