R2R หล่มเก่า ครึ่งเช้าวันที่ 19 ก.พ.52 (ปรับคลื่นบุคคลากรเข้าสู่กระบวนการ)


ปรับคลื่นบุคคลากรเข้าสู่กระบวนการ

R2R หล่มเก่า ครึ่งเช้าวันที่ 19 ก.พ.52

ปรับคลื่นบุคคลากรเข้าสู่กระบวนการ

ดร.กะปุ๋มและข้าพเจ้าไปออกกำลังกายรอบ ๆ รีสอร์ท โดยเลือกเส้นทางมุ่งสู่ด้านหน้ารีสอร์ท

จะมีการขึ้นเนินเขา บรรยากาศสวยงาม มีหมอกกระจายอยู่ตลอดแนวเขา แผ่ไอเย็นแต่ไม่ถึงกับเหน็บหนาว

พอไปถึงบริเวณบนเขาได้ยินเสียงเครื่องกระจายเสียงเป็นเสียงเทศน์ของพระ น่าฟังทีเดียว

ระหว่างทางออกกำลังกายมีสุนัขตัวหนึ่งวิ่งออกมาจากบ้านพัก เข้ามาหยอกล้อ ดร.กะปุ๋ม และข้าพเจ้าอย่างดีอกดีใจ

หลังจากนั้นก็เป็นไกด์นำทางเราทั้งคู่ไปเรื่อย ๆ หลังออกกำลังกาย เราทั้งคู่จึงไปทานอาหารเช้า

จากนั้นจึงไปเตรียมตัวเข้าสู่ห้องเรียน R2R

 

                วันนี้เป็นวันประชุมวันที่สองของ คปสอ.หล่มเก่า โดยมีสมาชิกเข้าร่วมประมาณ 30-40 ชีวิต

ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นผู้ปฏิบัติงานในการช่วยเหลือผู้ป่วย เป็นงานประจำทั้งสิ้น ในตอนแรกห้องประชุมมีเก้าอี้นวมสีเขียว

วางเรียงเป็นรูปตัวยู โดยมีพื้นที่ว่างตรงกลาง ดร.กะปุ๋มจึงแจ้งพนักงานโรงแรมว่า ช่วยปูผ้าตรงกลางให้หน่อย

ผู้ร่วมประชุมเริ่มทะยอยเข้าห้องประชุม จึงมีน้ำใจช่วยเหลือเจ้าหน้าที่โรงแรมปูผ้า หลังจากเสร็จเรียบร้อย ป้าต้อย

ก็นั่งลงที่ผ้าเป็นคนแรก คุณโป้งจึงเชิญชวนผู้ร่วมประชุม ท่านอื่นๆนั่งด้านล่าง หรือจะนอนก็ได้ตามสบาย

ดังนั้นทุกคนจึงนั่งพื้น ไม่นานป้าต้อยมีการยืดเส้นยืดสาย หลัง ๆ ป้าต้อยจึงเปลี่ยนที่นั่งมาตรงกลางด้านหน้า

เพื่อนำท่านอื่น ๆ ในการออกกำลังกาย แบบฤาษีดัดตนเพื่อคลายความเมื่อยล้า ระหว่างทำท่าต่าง ๆ

มีเสียงแซวมาว่า “ท่านี้แก้ขัดได้จริง ๆ เหรอ” ป้าต้อยตอบอย่างชาญฉลาดว่า “แก้ขัดได้ แต่ แก้ขัดสนไม่ได้ ฮ่า ๆ ๆ”

มีเสียงหัวเราะกระจายทั่วห้องประชุม หลังจากการนำออกกำลังกายของป้าต้อยหยุดลง

เสียงปรบมือ แห่งความขอบคุณและชื่นสมก็ดังขึ้น

              คุณโป้งจึงเดินมานัดแนะกับ ดร.กะปุ๋ม พิธีการจึงถูกเริ่มขึ้นโดยพิธีกรคือ คุณโป้ง กล่าวเกริ่นเกี่ยวกับหัวข้อที่มีการบรรยายในวันแรกคือ เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เล็กน้อย และกล่าว แนะนำ ดร.กะปุ๋ม หรือ ดร.นิภาพร  ลครวงศ์

หลังจากแนะนำวิทยากรการพูดคุยอย่างเป็นกันเองก็เริ่มขึ้นและเชิญชวนให้ทำกิจกรรมโดยการสอบถามอายุของผู้ร่วมประชุมว่าน้อยที่สุดเท่าไหร่ค่ะ มีเสียงตอบแบบขำ ๆ ว่า “18, 22, 26” พร้อมกับเสียงหัวเราะเก้อ ตามมา อายุมากที่สุดเท่าไหร่ค่ะ “55” แล้วพี่โจ้ ก็ถูกน้อง ๆ คะยั้นคะยอ ให้ออกมาด้านหน้า เพื่อเป็นการยืนยันอายุ อย่างสนุกสนานของผู้ร่วมประชุม

ในการวัดอายุชีวิต

กิจกรรมที่ 1 วัดอายุชีวิต มีอยู่ว่า

                ให้ก้มตัวลงแล้วให้พยายามเอาฝ่ามือแตะลงบนพื้น

                หลังจากคำอธิบายพร้อมการแสดงตัวอย่างของ ดร.กะปุ๋มจบลง ก็มีผู้ร่วมประชุมทำตาม บางท่านทำได้ บางท่านทำไม่ได้ ตามแต่ แต่ละคน มีเสียงหัวเราะเกิดขึ้นตลอดการทำกิจกรรม มีความน่าทึ่งเกิดขึ้นคือ มีผู้ร่วมประชุมท่านหนึ่ง ชื่อ พี่เปี๊ยก รูปร่างค่อนข้างท้วมสูงใหญ่ แต่สามารถใช้ฝ่ามือแตะพื้นได้ ดร.กะปุ๋มจึงเชิญชวนให้มาทำให้ดูด้านหน้าเป็นตัวอย่าง ท่ามกลางเสียงลุ้นของผู้เข้าร่วมประชุม สุดท้ายทำได้ จริง ๆ ทุกท่านปรบมือชื่นชม

ดร.กะปุ๋มเฉลยว่า

หากท่านใด           ฝ่ามือแตะพื้นได้                                  ==> อายุชีวิต          <   30 ปี

ปลายนิ้วแตะพื้น – ห่างพื้น 10 cm ==> อายุชีวิต           30-40 ปี

ห่างพื้นมากกว่า 10 cm                       ==> อายุชีวิต         > 40 ปี

กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมวัดศักยภาพสมอง

                ให้เอามือขวาตั้งศอกขึ้นชิดเอื้อมมือไปด้านหลังแบบคว่ำฝ่ามือ แล้วเอามือซ้ายสอดจากด้านล่างบริเวณเอวเอื้อมไปด้านหลังโดยแบฝ่ามือ แล้วพยายามเอามือขวาแตะกับมือซ้ายหรือจับกันให้ได้ แล้วให้ทำสลับข้างกัน

                หากมือสองข้างจับได้ แล้วแขนขวาอยู่ด้านบนแสดงว่า ==> สมองซีกขวาทำงานได้ดีกว่า

หากมือสองข้างจับได้แล้ว แขนซ้ายอยู่ด้านบนแสดงว่า ==> สมองซีกซ้ายทำงานได้ดีกว่า

หากจับได้ทั้งสองข้าง                                             แสดงว่า ==> สมองทำงานสมดุล

                สมองซีกขวา=> ทำงานด้านการ คำนวณ คิดเป็น เหตุผล

สมองซีกซ้าย=> ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์

โดยส่วนใหญ่จะจับได้ข้างขวา บางท่านจับไม่ได้ เพื่อนข้าง ๆ ช่วยขยับมือก็มี

จึงมีเสียงหัวเราะแซวอย่างครื้นเครง เสร็จจากกิจกรรม เฮฮาประสานการเคลื่อนไหว

วิทยากรจึงเชิญชวนผู้ร่วมประชุมนั่งลง กับพื้นตามสบาย

และบอกว่าวันนี้ตอนบ่ายให้ทุกท่านเอาหมอนมาด้วย มีเสียงฮือบ่งบอกถึงความพออกพอใจ

และถามว่า “เอาหมอนมาทำไมเหรอครับ”

ดร.กะปุ๋มตอบว่า “เอามานอนค่ะ ตอนบ่ายจะให้นอน”

แล้วท่านนั้นจึงพูดขึ้นว่า “นึกว่าให้เอามาถอย” ผู้ร่วมประชุมหัวเราะงอหาย

หลังจากนั้น ดร.กะปุ๋มจึงอธิบายว่าคลื่นสมองของคนเรามี 4 แบบ (alpha, beta, gamma, delta) ดังนั้นก่อนที่เราจะเข้าสู่การเรียนรู้ จึงควรปรับคลื่นสมองก่อนโดย

 

กิจกรรมที่ 3 การทำสมาธิปรับคลื่นสมอง

ให้แต่ละท่านนั่งตามสบาย ถ้าอยากให้นั่งได้นานก็ ขาขวาทับขาซ้าย

แล้วตามลมหายใจตัวเอง    หากมีสิ่งใดเกิดขึ้น ก็ให้รู้ แล้วกลับมาที่ลมหายใจ

ทำใจเบา ๆ

และขอให้งดใช้โทรศัพย์ตลอดระยะเวลา 15 นาที

แล้ว ดร.กะปุ่มก็ เปิดเพลง คลอ เพื่อ ปรับคลื่นสมอง ปิดไฟ

พอ 15 นาทีผ่านไป

"ให้ทุกท่านหายใจเข้าลึก ๆ หลายใจออกยาว ๆ

ค่อย ๆ ลืมตาแล้วยิ้มให้กับท่านแรกที่ท่านลืมตามองเห็น" เป็นคำพูดที่เอ่ยอย่างนิ่มนวลของ ดร.กะปุ๋มหลังจากที่ผู้ร่วมประชุมออกจากสมาธิ

ผู้ร่วมประชุมเริ่มมีแววตาเป็นประกาย มีความอ่อนโยนมากขึ้น หลายท่านเหยียดขา มีความรู้สึกมึน แล้วป้าต้อยจึงนำ กระดกปลายเท้า

  ดร.กะปุ๋มจึง“ขอให้ทุกท่านแนะนำตัวเองและงานที่ทำสั้น ๆ” ซึ่งโดยส่วนใหญ่ สมาชิกรู้จักกันเป็นการอย่างดี จากนั้นจึงสอบถามว่าหลังจากทำสมาธิแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

มีเสียงตอบแบบเบา ๆว่า “รู้สึกดี” “มึนขา” “เสียงเพลง สะดุด”   

ส่วนตัวข้าพเจ้าเอง “รู้สึกดี ภายในค่อนข้างนิ่ง และรู้สึกสดชื่นพร้อมเรียนรู้”

คล้ายกับหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยเป็นประโยค แต่ภาษากายค่อนข้างอ่อนโยน                                    

จากนั้นจึงพักเบรก

^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^

 

 

หลังพักเบรก

ดร.กะปุ๋ม ได้ พูดคุยเรื่อง หน้าที่หลัก และหน้าที่รอง

เหมือนกับ

 จมูกกับปาก มีหน้าที่ในการหายใจ

จมูก มีหน้าที่หลัก ในการหายใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่สะดวก

ก็สามารถใช้ปากหายใจเป็นหน้าที่รองได้

การอบรม ก็เหมือนกับ การหายใจทางจมูก

เรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องรอง เฉกเช่น การหายใจทางปาก

 

ดร.กะปุ๋ม ให้ผู้ร่วมประชุม ตอบคำถาม BAR

กิจกรรมที่ 4 BAR (Before Action Review)

1. เป้าหมายรวมของการประชุมคือ อะไร

2. เป้าหมายของตนคือ อะไร

3. ส่วนไหนของเป้าหมายภาพรวมที่คาดว่าอาจมีข้อจำกัด น่าจะเตรียมป้องกันอย่างไร

4. ส่วนไหนของเป้าหมายของตน ที่ไม่เป็นใจ ต้องการความช่วยเหลือ

หลังจากเสร็จคำถามสี่ข้อ

ให้ตอบคำถามนี้ค่ะ

 กิจกรรมที่ 5

-          ท่านรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ R2R

       -         R2R เข้ามาสัมพันธ์กับวิถีการทำงานของท่านอย่างไร

ตอนแรกให้ตอบสั้น ๆ หลังจากนั้น ให้เขียนบรรยาย

โดยท่านอธิบายว่า "เขียนบรรยายเหมือนเรียงความ หรือ เล่าเรื่องให้ฟัง แต่ใช้ ปากกา แทน ปาก จรดลงบนกระดาษแทน"

ขณะที่แต่ละท่านก้มหน้าก้มตาเขียน เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก

หลายท่านนอนราบกับพื้น เขียนอย่างสบาย ๆ

บางท่านนั่งพับเพียบแล้วก้มลงเขียน

หลายท่านเขียนอย่างจริงจังและตั้งใจ

กิจกรรมที่ 6 ดู VCD R2R

พอทุกท่านเขียนเสร็จแล้ว

VCD เกี่ยวกับ R2R ของ สวรส ก็ถูกเปิดขึ้นด้วยความพยายามของทีมผู้จัด

เพราะมีความขัดข้องของเทคโนโลยีเล็กน้อยที่

ไม่ค่อยรองรับ แต่ก็ผ่านอุปสรรคไปได้ด้วยดี

โดยความช่วยเหลือของคุณโป้ง

 

VCD เริ่มด้วยเรื่องของเสี่ยวเบาหวานของคุณ สิริมา

ได้รับการตอบรับดีมากมีเสียงฮือฮา สนุก สนานผสานความเข้าใจ

ในการปรับใช้สิ่งที่มีในพื้นที่หรือวิถีชีวิตกับงานประจำเข้าด้วยกัน

มีถ้อยคำที่ประทับไปในใจของข้าพเจ้าจาก VCD ว่า

“ไม่ว่าค่าน้ำตาล จะขึ้นหรือลง แต่ค่าความสุขของเราก็เพิ่มขึ้น”

เป็นคำพูดของผู้ป่วยเบาหวานท่านนี้ ทรงพลังและน่าทึ่งมาก เป็นความอิ่มเอมที่ได้ฟัง

 

อีกเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดูแลช่างเย็บผ้า ที่ต้องทำงานทั้งวัน

โดยใช้กระบวนการเชิงรุก เข้าไปวางระบอบป้องกัน โดยหมออนามัย

ไป ถ่ายทอดความรู้ และช่วยหาวิธีป้องกันสาเหตุที่ก่อภูมิแพ้ และโรคกระเพาะ

 

แต่ตอนท้าย ๆ VCD สะดุด ดร.กะปุ๋ม จึงสรุปคร่าว ๆ และให้แต่ละท่านเขียนตอบคำถามว่า

         ท่านรู้อะไรเพิ่มจาก VCD

หลังจากส่งแล้ว ดร.กะปุ๋ม จึง ให้ไปพักทานอาหารเที่ยงได้

^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^^

บทเรียนในภาคเช้าของ R2R หล่มเก่าเพียงเท่านี้

ด้วยความเป็นมือใหม่ในการเขียนบันทึก

หากผิดพลาดประการใด ขอ ท่านผู้อ่านโปรด ติ ชม เพื่อนำไป ปรับปรุงแก้ไข

ขอขอบคุณ ดร.กะปุ๋ม และทีมงาน หล่มเก่าทุกท่าน ที่เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้

เนื้อหาในส่วนถัดไป ข้าพเจ้าจะพยายาม ทะยอยเพิ่มเติม

จึงขอจบการบันทึกฉบับนี้ไว้ ณ ที่นี้ ^_^

หมายเลขบันทึก: 243785เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2009 04:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบกิจกรรมค่ะ อาจได้ขอมาต่อยอดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท