โครงการปฏิรูประบบการพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา


 

          ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ที่
http://gotoknow.org/blog/thaikm/5479
http://gotoknow.org/blog/thaikm/5538 
http://gotoknow.org/blog/thaikm/5600
http://gotoknow.org/blog/thaikm/5629
http://gotoknow.org/blog/thaikm/5674
http://gotoknow.org/blog/thaikm/5838
http://gotoknow.org/blog/thaikm/5899
http://gotoknow.org/blog/thaikm/5988
http://gotoknow.org/blog/thaikm/5990 
http://gotoknow.org/blog/thaikm/6125
http://gotoknow.org/blog/thaikm/6181

          นึกไม่ถึงว่าเวลาผ่านไปกว่า ๓ ปี ผมย้อนกลับมาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้อีก   ในลักษณะที่คงจะใกล้ชิดกว่าเดิม    เมื่อมีการเขียนโครงการขนาด Mega-Project ของแท้ (และดี) เสนอเข้า ครม. เพื่อใช้เงิน ๑๗,๔๓๔.๐๖ ล้านบาท สร้างบัณฑิตปริญญาเอก ๒๐,๐๐๐ คน ในเวลา ๑๕ ปี    รวมทั้งกิจกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกมาก
          จึงนำเอาความเห็นของผม ซึ่งเดิมให้แก่ที่ปรึกษา รมช. ศึกษาธิการ    แต่เวลานี้ได้มอบให้หลายท่านแล้ว เอามาเผยแพร่


ความเห็นต่อโครงการปฏิรูประบบการพัฒนาอาจารย์และบุคลากร
ในสถาบันอุดมศึกษา
ภายใต้กรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว ๑๕ ปี

วิจารณ์ พานิช


๑. มองที่เป้าหมายในภาพรวมเป็นโครงการที่ดี   การลงทุน ๑๗,๔๓๔.๐๖ ล้านบาท เพื่อเป้าหมายดังกล่าวในระยะเวลา ๑๐ ปี เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล


๒. สิ่งที่ควรเอาใจใส่คือวิธีการจัดการ   ให้การลงทุนนี้ก่อผล ๕ ต่อ แก่สังคมไทย   ได้แก่
          • สร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและการผลิตดุษฎีบัณฑิตให้แก่ “มหาวิทยาลัยวิจัย” ของประเทศ   โดยมีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ กับมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และ กับ “ภาคชีวิตจริง” (real sector) ของประเทศไทย   กล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้องจัดการให้โครงการนี้สร้าง self-sufficiency ของการผลิตบัณฑิตปริญญาเอก ในประเทศไทยให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐   โดยที่บัณฑิตต้องมีคุณภาพสูงได้มาตรฐานสากล   แต่มีความแตกต่างในความเป็นเลิศตามความต้องการของแต่ละกลุ่มสถาบัน
          • สร้างความเข้มแข็งให้แก่มหาวิทยาลัยสอน และมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น โดยการเพิ่มสัดส่วนอาจารย์ที่จบปริญญาเอก ที่ทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องของท้องถิ่น    และพร้อมที่จะกลับไปทำวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
          • สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบวิจัยของประเทศ โดยมีการแยกแยะโจทย์วิจัยที่เหมาะสมต่อสถาบันอุดมศึกษาแต่ละกลุ่ม
          • เป็นเครื่องมือเชื่อมโยงภาคอุดมศึกษา กับ ภาค “ชีวิตจริง” ของสังคมไทย
          • เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ทางวิชาการกับต่างประเทศในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน   เป็นความร่วมมือทางวิชาการ ไม่ใช่ช่วยเหลือ 


๓. ตัวบุคคลที่จะเป็นผู้บริหารโครงการนี้มีความสำคัญยิ่ง   ต้องมีบารมี มีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา มีความเข้าใจเรื่องการวิจัย วิชาการ การจำแนกกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา การจัดการที่ซับซ้อน  และรู้ว่าจะแสวงหาคำแนะนำจากใคร เพื่อให้ได้เป้าหมายคุณภาพที่ต้องการ    มีความสามารถด้านการจัดการ โดยต้องสามารถสร้างระบบการจัดการที่มีวิธีเอาชนะแรงดันให้ยอมรับวิธีการหรือบุคคลด้อยคุณภาพ 

 
๔. โครงสร้างการจัดการภายใต้ระบบราชการจะมีข้อจำกัด   ไม่สามารถทำให้เกิดการจัดการที่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพได้   โครงสร้างและวิธีการที่ดีสำหรับงานแบบนี้มีตัวอย่างที่โครงการ คปก. (โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก) ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สกว., ทบวงมหาวิทยาลัย และ สวทช.   น่าจะปรึกษาขอความเห็นเรื่องการจัดการจากผู้อำนวยการ คปก. ท่านแรก และท่านปัจจุบัน   คือ รศ. ดร. กำจัด มงคลกุล และ ศ. ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย


๕. ควรมีกลไกช่วยปกป้องการจัดการให้สามารถจัดการคุณภาพได้   ไม่ให้ถูกกระแสอำนาจหรือผลประโยชน์   ที่จะทำให้ในขั้นดำเนินการต้องยอมให้ด้อยคุณภาพ   เช่นควรมีคณะกรรมการอำนวยการ (Steering Committee) ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ เป็นที่น่าเชื่อถือ และตรงไปตรงมา


๖. ควร outsource หลายส่วนของโครงการออกไปให้หน่วยงานที่ทำเรื่องนั้นได้ผลดี อยู่แล้ว  


๗. ควรมีการประเมินผลการดำเนินการโครงการอย่างจริงจัง โดยบุคคลภายนอกที่น่าเชื่อถือ เป็นระยะๆ   สำหรับนำมาใช้ปรับปรุงวิธีการทำงานของโครงการ   โดยมีข้อกำหนดเป้าหมายการประเมินที่ชัดเจน   และเปิดเผยต่อสาธารณชน   คำถามในการประเมินที่สำคัญคือ การดำเนินการที่ผ่านมาจะได้ผลลัพธ์ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่   เน้นเป้าหมายเชิงคุณภาพ   ทำอย่างไรจึงจะได้ผลลัพธ์ดีขึ้น และก่อผลกระทบกว้างขวางยิ่งขึ้น 

 
๘. ควรจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินการโครงการนำร่อง ปี ๒๕๔๙ – ๒๕๕๑ เพื่อนำผลมาใช้ปรับปรุงการจัดการโครงการใหม่นี้   หน่วยงานที่ควรมอบหมายให้ประเมินคือ บวท. (บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)    เพราะมีประสบการณ์สูง เป็นที่น่าเชื่อถือ และตรงไปตรงมา   เป้าหมายที่สำคัญของการประเมินคือ เพื่อหาส่วนที่เป็นจุดแข็ง และส่วนที่เป็นจุดอ่อน ของโครงการนำร่อง    แล้วเสนอวิธีการจัดการไม่ให้เกิดผลตามจุดอ่อนอีกในโครงการนี้   คือไม่ทำผิดซ้ำ


๙. ควรมี website ของโครงการนี้โดยเฉพาะ   และเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ   เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเพื่อดึงดูดคนเก่งคนดีเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย


๑๐. ควรสร้างความชัดเจน ว่าคุณสมบัติที่เป็นจุดเน้นของอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาต่างกลุ่มแตกต่างกันอย่างไร   การฝึกอบรมในช่วงศึกษาปริญญาเอกของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างกลุ่มควรแตกต่างกันอย่างไร   และโจทย์วิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอกที่จะกลับไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลันต่างกลุ่มควรต่างกันอย่างไร


๑๑. ควรมีข้อกำหนดเพื่อป้องกัน inbreeding   ไม่ควรยอมให้อาจารย์เข้าเรียนหลักสูตรปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยของตน   และน่าจะกำหนดว่ามหาวิทยาลัยไม่ควรรับผู้จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเข้าเป็นอาจารย์ทันที ต้องให้ไปทำงานที่อื่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่นไม่น้อยกว่า ๕ ปี จึงจะรับเข้ามาเป็นอาจารย์ได้   ยกเว้นกรณีบุคคลที่มีความสามารถพิเศษจริงๆ  


๑๒. ควรตรวจสอบหลักสูตรปริญญาเอก   และโครงการควรยอมรับเฉพาะหลักสูตรที่มีมาตรฐานสูงจริงๆ เท่านั้น   หลักการคือ ไม่ควรยอมรับหลักสูตรปริญญาเอกแบบเน้นเพิ่มปริญญาแก่คนทำงาน   ควรยอมรับเฉพาะหลักสูตรที่เน้นวิจัย มีการเรียนเต็มเวลา และมีคณาจารย์ที่ทำงานวิจัยในสาขานั้นๆ เท่านั้น 

 

          ผมได้ให้ความเห็นในที่ประชุมหารือระหว่างท่านที่ปรึกษา รมช. ศึกษาธิการ คือคุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร กับท่านเลขาธิการ สกอ. ดร. สุเมธ แย้มนุ่น ว่า    นี่คือโครงการที่จะเป็นรูปธรรมของเครื่องมือปฏิรูปอุดมศึกษา    แต่ต้องมีการจัดการ และการกำกับดูแล ที่ถูกต้องเหมาะสม
 

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ก.พ. ๕๒

              
         
         
        

หมายเลขบันทึก: 243397เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2009 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท