คุยกันเรื่องโอกาสสร้างสรรค์ระบบการศึกษา


ทำให้เด็กไม่มีความสุขจากการเรียน และเรียนเพียงด้านเดียว คือเรียนวิชา ขาดการเรียนรู้ด้าน EQ, MQ, และ AQ มีแต่เรียนรู้ด้วย competitive mode ไม่มีจริตและทักษะในการเรียนรู้ใน collaborative mode

คุยกันเรื่องโอกาสสร้างสรรค์ระบบการศึกษา

 

พันโท นพ. กมล แสงทองศรีกมล ผู้แต่งหนังสือ พลิกเรื่องเรียนรู้สู่อัจฉริยะ  และ จัดจิตให้มีวินัย จัดใจให้อัจฉริยะ อ่าน บล็อก ของผม แล้วขอนัดมาคุยเรื่องระบบการศึกษา    นัดกันเช้าวันที่ ๑๗ ก.พ. ๕๒   โดยผมชวนคุณเปา ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลมาร่วม ลปรร. ด้วย  

 

อ. หมอกมลมีหลักฐานข้อสอบชั้น ป. ๒, ป. ๔, ป. ๕ และชั้นอื่นๆ ของโรงเรียนต่างๆ   ที่บอกอาการอย่างหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือ โรงเรียนต่างๆ เร่งการเรียนของเด็ก   เพื่อเอาใจพ่อแม่ ว่าโรงเรียนแข็งวิชาการ    ทำให้เด็กไทยเครียดจากการเรียน เพราะต้องเรียนแบบเกินกำลังสมอง    คือเรียนสิ่งที่สมองยังไม่พร้อมจะเรียน    เพราะสมองเด็กยังพัฒนาไม่ถึงระดับนั้น  

 

ทำให้เด็กไม่มีความสุขจากการเรียน   และเรียนเพียงด้านเดียว คือเรียนวิชา    ขาดการเรียนรู้ด้าน EQ, MQ, และ AQ   มีแต่เรียนรู้ด้วย competitive mode  ไม่มีจริตและทักษะในการเรียนรู้ใน collaborative mode

 

อ. หมอกมล เสนอให้ระบบการศึกษาจัดโรงเรียน New Track ที่จัดการเรียนรู้อย่างสมดุล  และตรงตามระดับของ child development   และอยากหาลู่ทางนำเสนอเข้าสู่การปฏิรูปการศึกษารอบ ๒   ผมจึงเอามาลงประกาศไว้    เผื่อมีคนในวงการปฏิรูปการศึกษาสนใจคุยกับ อ. หมอกมล เพื่อเอาความคิดของท่าน (ซึ่งผมคิดว่าดีมาก) ไปสู่การปฏิบัติในการปฏิรูปการศึกษาของเรา

 

เราคุยกันเรื่องความน่าสงสารของคนในระบบราชการและระบบการเมือง   ที่ดูเหมือนมีอำนาจ แต่จริงๆ แล้วเป็นผู้ถูกกักขังล้อมกรอบด้วยระบบราชการ   และถูกพันธนาการด้วย อำนาจ นั้นเอง   ทำให้ไม่สามารถคิดเรื่องระบบใหญ่ๆ ของบ้านเมืองได้

 

เราจึงตกลงกันว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลจะจัดเสวนา เรื่อง สาเหตุที่เด็กไทยเรียนอย่างไร้ความสุข และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตกต่ำ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่   โดยเชิญ นพ. กมล มาเป็นผู้นำเสวนา    เชิญท่านอดีตนายกฯ อานันท์ มากล่าวเปิด   และเชิญผู้จัดโรงเรียนทางเลือกในกลุ่มระพีเสวนาและกลุ่มอื่น นักการศึกษา และผู้ปกครองที่สนใจ    มาร่วมเสวนาหาทางออก 

 

จากสาระในการพูดคุย ผมได้โจทย์วิจัยระบบการศึกษา คือ

  • สภาพการเรียน และชีวิตของนักเรียนชั้น ... เป็นอย่างไร   มีการสอน/สอบ แบบเร่งการเรียนดาดดื่นเพียงใด   การเรียน/สอบ แบบเร่ง ก่อผลดี/ผลเสีย อย่างไรบ้าง   ผลสัมฤทธิ์ของการสอน/สอบ แบบเร่ง ดีหรือไม่ดีกว่าการสอน/สอบ แบบพอดีกับพัฒนาการเด็ก อย่างไรบ้าง
  • ผลการเรียนรู้ทุกด้านของนักเรียนในโรงเรียนทางเลือก (เช่นโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนไทยไท) เปรียบเทียบกับของนักเรียนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. โดยทั่วไป เป็นอย่างไรบ้าง  

 

อ. หมอกมลได้เขียนบันทึกเสนอ New Track สำหรับใช้คิดเรื่องการปฏิรูป การศึกษารอบ ๒ ไว้ที่ 1, 2, 3, 4   

ผมจะอ่านพิเคราะห์ให้ละเอียดอีกที   แล้วจึงหาทางสานต่อความคิดเห็นของท่าน

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.พ. ๕๒

 

                                 

หมายเลขบันทึก: 243235เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2009 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท