ชีวิตที่ให้อภัยไม่เป็น ย่อมหาความสุขได้ยาก


"ปัญญาที่สำคัญก็คือปัญญาในการรู้เท่าทันตนเอง"

"มนุษย์ไม่ได้มีแต่ความโกรธเกลียดเท่านั้น เรายังมีเมตตา กรุณา และความเข้าใจด้วย ความสามารถในการให้อภัยจึงอยู่ในใจของเราทุกคน จะว่าไปการให้อภัยเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการปกป้องตนเอง มิใช่ปกป้องจากศัตรูภายนอก แต่ปกป้องจากศัตรูภายใน ได้แก่ความโกรธ เกลียด และอาฆาตพยาบาทนั่นเอง หากความโกรธ เกลียด และอาฆาตพยาบาทคือมีดกรีดใจ การให้อภัยก็คือยาสมานใจนั่นเอง ใจที่ไร้ยาสมานย่อมมีแผลเรื้อรัง ชีวิตที่ให้อภัยไม่เป็น ย่อมหาความสุขได้ยาก"

ข้อความข้างบนผมคัดมาจากบทความของพระไพศาล วิสาโล เรื่อง ชำระใจให้หายแค้น ใน นสพ.มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ก.พ.๕๒ ในบทความนั้นมีข้อความหลายตอนที่จับใจผมมาก โดยเฉพาะข้อความที่ว่า ชีวิตที่ให้อภัยไม่เป็น ย่อมหาความสุขได้ยาก

อีกข้อความหนึ่ง "เราจะสุขหรือทุกข์มิใช่เพราะมีใครมาทำให้ หากอยู่ที่ใจของเราเอง ไม่มีใครทำลายศักดิ์ศรีของเราได้นอกจากตัวเราเอง ถึงที่สุดแล้วเราต้องเลือกว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ระหว่างการหล่อเลี้ยงความโกรธเกลียดเอาไว้ หรือการบ่มเพาะเมตตาและกรุณา ผู้คนเป็นอันมากเลือกอย่างแรกจึงจมปลักอยู่ในความทุกข์ ส่วนผู้มีปัญญาเลือกอย่างหลังจึงเป็นสุขอยู่เสมอ"

ข้อความ "เราจะสุขหรือทุกข์มิใช่เพราะมีใครมาทำให้ หากอยู่ที่ใจของเราเอง" ทำให้ผมนึกถึงพุทธวจนะในบทแรกของพระธรรมบท ที่ว่า มโนบุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ซึ่งท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก แปลไว้ในหนังสือพุทธวจนะในธรรมบท ว่า ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง ใจเป็นใหญ่ สรรพสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ

ด้วยเหตุนี้ หากเราพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจชั่ว ความทุกข์ก็เกิดกับเรา (เหมือนล้อเกวียนหมุนตามเท้าโค) หากเราพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจบริสุทธิ์ ความสุขก็เกิดขึ้นกับเรา (เหมือนเงาติดตามตน) 

ข้อความ "ผู้มีปัญญาเลือกอย่างหลังจึงเป็นสุขอยู่เสมอ" นั้นก็ทำให้นึกถึงอีกบทหนึ่ง คือบทที่ว่าด้วย "บัณฑิต" บทนั้นว่า

ชาวนาไขน้ำเข้านา

ช่างศรดัดลูกศร

ช้างไม้ถากไม้

บัณฑิตฝึกตนเอง

สรุปก็คือจะมีปัญญาก็ด้วยการฝึกตน

ปัญญาที่สำคัญก็คือปัญญาในการรู้เท่าทันตนเอง เมื่อเกิดความโกรธก็เห็นอารมณ์นั้นในตน รู้ว่ามันกัดกินใจเจ้าของเอง เป็นทุกข์ รู้จักให้อภัยแล้วก็จะพบกับความสุข อย่างที่พระไพศาลว่า

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๖ ก.พ. ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 242651เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2009 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อ่านแล้วประเทืองปัญญาดีจัง

อ่านบทความนี้ และอื่นๆ ของท่านไพศาลก็รู้สึกอ่อนโยน อิ่มเอิบใจ

ใช่การให้อภัยทำให้ใจอ่อนโยน เป็นการรักษาใจตนเองอย่างยิ่ง

-----------

นึกถึงหนังสือที่เพิ่งอ่านเมื่อวาน (เกิดเพราะกรรมหรือความซวย

ผู้เขียน(ทันตแพทย์สม สุจีรา)ท่านเขียนไว้ว่า

"นอกจากสติสัมปชัญญะแล้ว ความรู้สึกให้อภัยก็จะเป็นตัวตัดกรรมได้เหมือนกัน เมื่อเกิดความรู้สึกให้อภัย เวทนาเก่าๆที่เก็บไว้ในจิตไร้สำนึกจะหมดไป ไม่คิดโกรธอีกต่อไป กรรมก็จะหมดไปโดยอัตโนมัติ แต่ทั้งนี้เป็นการให้อภัยจากความรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่การให้อภัยจากความคิด เพราะความรู้สึกต้องตัดด้วยความรู้สึกเท่านั้น ไม่ใช่จากความคิด"

-----------

อื่ม! ดูเหมือนง่าย แต่เรื่องนี้ก็คงจะไม่สามารถกดปุ่มให้เกิดได้ หรือรอให้ใครมากดปุ่มอภัยให้ได้ ต้องเกิดในใจ ในระดับความรู้สึก ด้วยตัวเอง มิสามารถให้ใครมาสั่ง ให้เกิดการให้อภัยในหัวใจใครได้

เช่น มีพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเล่าเรื่องราวมากมายของการให้อภัยระหว่างคนป่วยใกล้ตาย และ ญาติให้ฟัง

บางคู่ คนป่วยไม่ยอมตาย รอคำให้อภัยจากอีกฝ่าย พอได้ยินคำให้อภัยเท่านั้นก็สิ้นลมอย่างสงบ

แต่สามีภรรยาบางคู่ มีเรื่องเจ็บปวดบาดหมางกัน จนจะตายจากกัน อีกฝ่ายก็ยังไม่สามารถจะเอ่ยปากให้อภัยอีกฝ่ายที่นอนป่วยใกล้สิ้นลม ได้ แม้คนรอบข้างจะโน้มน้าวสักปานใด เพราะใจเขายังไม่ให้อภัย

"ข่มเหงผู้อื่น  มีความทุกข์ ให้อภัยได้บุญ  ถามโหรเรื่องอะไร"

ชีวิตที่ให้อภัยไม่ได้ เป็นความทุกข์จริงแท้ แต่ก็ทำใจให้อภัยไม่ได้สักที

ให้ (อภัย) เขาแต่เราได้ ใครทำได้ก็ได้จริง ๆ ที่จริงเป็นการให้ตนเอง

การยึดติด  ความพยาบาท  อาฆาตแค้นคือหนทางแห่งความทุกข์  ชีวิตไม่มีความสุข  การให้อภัยคือความสบายใจ มีความสุข  จึงต้องมองข้ามไปและให้อภัยไม่นำมาคิด ข่มจิตนับ 1 2 3......แล้วจะดีขึ้น

                                    

มาหาอาหารทางปัญญาคะ ขอบคุณคะ

หญิงก็มีแง่คิดเล็กน้อยๆเช่นกันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท