แพ้ชนะนั้นสำคัญไฉน?


จะเเพ้ใครสักกี่ครั้งคงไม่เท่าแพ้ใจตัวเองชั่วชีวิต

             ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ล้วนมีความแตกต่างกัน ซึ่งจากความแตกต่างกันนี้เองที่ทำให้เกิดมีการแข่งขันกันขึ้นว่าสิ่งใดจะดีกว่าสิ่งใด เมื่อสิ่งใดดีกว่าก็เรียกว่าสิ่งนั้นชนะ ส่วนสิ่งที่ด้อยกว่าก็เรียกว่าแพ้

การแพ้หรือชนะนั้นถ้าเราไม่ไปยึดถือกับมันมันก็จะไม่มีความหมายอะไร แต่เมื่อเราไปยึดถือกับมันมันจึงเกิดมีความหมายขึ้นมาทันที ยิ่งเป็นการแข่งของมนุษย์ เช่นการแข่งกีฬาต่างๆก็จะยิ่งมีความหมายยิ่งขึ้นเพราะเราไปยึดถือกับมันมาก เพราะต่างฝ่ายก็อยากจะชนะ ไม่อยากแพ้

สิ่งที่ทำให้เกิดความยึดถือนั้นก็อยู่ที่การยกย่องให้เกียรติแก่ผู้ชนะ และการได้รับรางวัล คือเมื่อมีการแข่งขันก็จะต้องมีผู้แพ้และชนะ ผู้ชนะก็จะได้รับการยกย่องว่าเก่งกว่าผู้แพ้ หรือเหนือผู้แพ้ ซึ่งผู้ชนะก็จะเกิดความพึงพอใจในชัยชนะ ส่วนผู้แพ้ก็จะเกิดความเศร้าเสียใจในความพ่ายแพ้ ส่วนรางวัลก็เป็นสิ่งช่วยให้เกิดความสุขทางกายแก่ผู้ชนะ ผู้แพ้ก็จะไม่ได้รางวัลหรือได้รับน้อยกว่าผู้ชนะ คือสรุปว่าการยกย่องเป็นความสุขทางใจ ส่วนรางวัลเป็นความสุขทางกาย

ความสุขจากการเป็นผู้ชนะนั้นจะได้มาจากความทุกข์ของผู้แพ้ ถ้าการแข่งขันไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะก็จะไม่มีใครสุขและทุกข์ ความสุขของผู้ชนะจึงมาจากความทุกข์ของผู้แพ้ ถ้าเราจะพิจารณาให้ดีเราก็จะพบว่าความสุขนี้มันเป็นสิ่งสร้างปัญหา และเป็นความสุขที่น่ารังเกียจ เพราะมันจะทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้ขึ้นมาทันทีไม่มากก็น้อย ถึงแม้ปากจะบอกว่ามีน้ำใจนักกีฬาแต่จิตใจมันก็ยังเกิดความโกรธอาฆาตอยู่ลึกๆไม่มากก็น้อย และจะทำให้ผู้แพ้เกิดการจองเวรหรือคิดจะทำให้ผู้ชนะต้องพบกับความพ่ายแพ้อยู่เสมอ ผู้แพ้จึงนอนเป็นทุกข์เพราะคิดแต่จะเอาชัยชนะมาเป็นของตนบ้าง ถ้ามีความโกรธแค้นมากจนทนไม่ไหวก็อาจหาเรื่องทำร้ายผู้ชนะก็ได้เพื่อให้หาย แค้น หรือบางคนเมื่อตนเองพ่ายแพ้ก็เสียใจมากจนถึงขึ้นฆ่าตัวตายไปก็ยังเคยมี ซึ่งนี่คือผลเสียจากการมีผู้ชนะและแพ้

ผู้ที่ชนะจะมีความสุขและดีอกดีใจ แต่เป็นความสุขและความดีใจที่เกิดมาจากความสะใจที่เอาชนะหรือเหนือผู้แพ้ได้ ผู้ชนะที่ยินดีในชัยชนะของตนจึงเท่ากับเป็นการเหยียดหยามผู้แพ้อยู่ในตัว ผู้ชนะที่แสดงอาการดีอกดีใจอย่างยิ่งนั้นจึงดูเหมือนกับเป็นคนที่เย่อหยิ่งและดูถูกผู้แพ้อย่างยิ่ง ทั้งๆชัยชนะที่ได้มานั้นอาจจะเกิดมาจากความบังเอิญหรือจากความสามารถที่เหนือผู้แพ้เพียงเล็กน้อยก็ตาม อีกทั้งอาการนี้ยังเป็นการโอ้อวดว่าตนเองนั้นเก่งกาจอย่างยิ่งอีกด้วย โดยไม่สนใจว่าผู้แพ้จะเสียใจหรือมีความโกรธแค้นอย่างไร ผู้ชนะเช่นนี้จึงเหมือนกับทำสงครามทำร้ายจิตใจของผู้แพ้นั่นเอง ถ้าผู้ชนะจะมีจิตสำนึกและมีความรักต่อผู้แพ้อยู่บ้างเขาก็จะไม่แสดงอาการดีอกดีใจอย่างยิ่งเมื่อได้รับชัยชนะ

ในการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆเช่นฟุตบอลนั้นจะมีผู้มาเชียร์นักแข่งทั้งสองฝ่าย ซึ่งผู้เชียร์ก็เหมือนกับว่าตนได้ลงแข่งด้วย เพราะถ้าฝ่ายตนชนะก็จะมีความดีอกดีใจเหมือนผู้แข่งขันที่ชนะด้วย แต่ถ้าฝ่ายตนแพ้ก็จะมีความเสียใจเหมือนผู้แข่งที่แพ้นั้นด้วย ดังนั้นผู้เชียร์จึงมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับผู้แข่งที่ชนะและแพ้ คือฝ่ายชนะก็ดีอกดีใจอย่างน่าเกลียด ส่วนฝ่ายแพ้ก็เสียอกเสียใจอย่างน่าสงสาร จึงไม่ใช่สิ่งที่ดีงามเลยในการแข่งขันเพื่อหวังแต่ชัยชนะเช่นนี้

หมายเลขบันทึก: 242432เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2009 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • น้ำใจนักกีฬา แพ้และชนะ เป็นของคู่เกมส์
  • หากแต่ในชีวิตจริง หากมีทัศนคติเป็นบวก และ win win ด้วยกันก็ดีนะคะ
  • มีความสุขมากๆ ค่ะ

สวัสดีครับ  คุณBright Lily

แพ้และชนะเป็นแค่เกมส์  หากเกมส์เชื่อมความสัมพันธ์ได้ดี  ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหานะครับ

เช่นกันนะครับ

เมื่อมีคนชนะก็ย่อมต้องมีคนแพ้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของโลก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท