คู่มือการพัฒนาศักยภาพการวางแผนการเลือกอาชีพและศึกษาต่อ


บทนำ

                 บทนำ     

 

ความสำคัญและความจำเป็นของการกิจกรรมแนะแนวอาชีพและการศึกษาต่อ

(พัฒนาศักยภาพการวางแผนการเลือกอาชีพและศึกษาต่อ)

                การศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของคนในสังคม ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงเป็นกระบวนการและวิธีการที่มุ่งพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ  ด้วยวิธีการที่ให้ความสำคัญต่อผู้เรียนเป็นสำคัญตามที่ได้กล่าวไว้ใน  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545  ให้เน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งระบุในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญ กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

                 การแนะแนวอาชีพและการศึกษา เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง มีประสบการณ์ ทักษะในการทำความรู้จักตนเองในด้านความสามารถ ความถนัด ความสนใจและบุคลิกภาพ รู้จักข้อมูลอาชีพ และสามารถนำข้อมูลของตนเองและอาชีพมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการเรียน ชีวิตและอาชีพ ทำให้เกิดการตัดสินใจเลือกอาชีพอย่างมีเหตุผลเหมาะสมกับตนเอง เตรียมตัวพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความชำนาญในอาชีพที่ตรงกับเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ด้วยการเข้ารับการฝึกอบรมหรือศึกษาต่อในสถาบันที่จะพัฒนาให้เกิดความพร้อมในการประกอบอาชีพ  ด้วยกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงจำเป็นต้องมีการใช้นวัตกรรมมาเป็นหลักในการวางแผนจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญ เกิดทักษะความสามารถในการคิดเอง ทำเองและสามารถวางแนวทางในการแก้ไข และพัฒนาการวางแผนการเลือกอาชีพและการศึกษาของตนเองได้ด้วยตนเอง  และเป็นกระบวนการวางแผนการจัดการเรียนรู้ที่สามารถตรวจสอบพัฒนาการของผู้เรียนได้อย่างครบทุกวงจรที่เรียกว่า การจัดการเรียนรู้แบบย้อนกลับ  Backward Design  เป็นกระบวนการวางแผนการจัดการเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากการกำหนดหลักฐานร่องรอยของการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน และออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามการประเมินดังกล่าว  เพื่อสามารถตรวจสอบผลการเรียนรู้ของผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เป็นผลให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างสูงสุด คือสามารถรู้จักเข้าใจตนเอง อาชีพและการศึกษาต่อจนตัดสินใจเลือกอาชีพและศึกษาต่อได้อย่างมีเหตุผล เหมาะสมกับตนเอง สามารถพัฒนาตนพัฒนางานให้สร้างฐานะเศรษฐกิจให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติต่อไป

 

 

แนวคิดพื้นฐานในการจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพและการศึกษาต่อ

(พัฒนาศักยภาพการวางแผนการเลือกอาชีพและศึกษาต่อ)

                พัฒนาการเกี่ยวกับงานและอาชีพเป็นกระบวนการต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากความสนใจในอาชีพ ความถนัด ความสามารถของบุคคล สถานการณ์ที่บุคคลดำรงชีวิต การทำงานและความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อตนเอง สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุและประสบการณ์

                ในการเลือกอาชีพ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของแต่ละบุคคล ซึ่งมีความแตกต่างกันในด้านความต้องการ ความสามารถ ความถนัด ความสนใจ ค่านิยมและบุคลิกภาพ ทำให้บุคคลมีความเหมาะสมกับอาชีพแตกต่างกัน ฉะนั้นการพัฒนางานและอาชีพสามารถส่งเสริมให้บุคคลได้พัฒนาความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ ให้ได้รู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับลักษณะของตนเองและสิ่งแวดล้อม ให้มีความรู้ความเข้าใจในตนเองอย่างถ่องแท้ในทุกๆ ด้าน ประเมินตนเองว่าสิ่งใดเด่นหรือด้อย  ให้บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบด้าน ศึกษาความต้องการของตลาดแรงงาน เพิ่มพูนความรู้และมีเจตคติที่ดีต่อตนเองและงานอาชีพ มีความพึงพอใจและภาคภูมิใจที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ 

                จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพ ด้วยการวางแผนการเลือกศึกษาต่อที่ตรงกับเป้าหมายในชีวิต มีความเหมาะสมกับความสามารถ ศักยภาพ และความถนัด  เพื่อให้สามารถเรียนได้อย่างเต็มตามศักยภาพของผู้เรียน โดยเฉพาะในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้เรียนส่วนใหญ่ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย จำเป็นต้องมีการวางแผนการตัดสินใจที่ดี เพราะการตัดสินใจศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา มีผลกระทบต่ออนาคตของผู้เรียน และต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ และมีศักยภาพในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ

                การจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อการวางแผนการเลือกอาชีพและการศึกษาต่อ สามารถจัดในลักษณะของการบริการและการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์โดยยึดหลักประชาธิปไตย ในการให้สิทธิเสรีภาพ ในการเลือกและการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน มีการให้เกียรติ เคารพให้ศักดิ์ศรี และเห็นคุณค่ารวมทั้งยอมรับในศักยภาพของบุคคลในความสามารถที่จะพัฒนาตนเองและยึดหลักเมตตาธรรมที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเป็นบุคคลสำคัญในการกำหนดกิจกรรมแนะแนวตามความต้องการจำเป็นของผู้เรียน และใช้กระบวนการวางแผนพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ ที่ระบุกิจกรรมที่สามารถตรวจสอบผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ทุกขั้นตอน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รู้จักและเข้าใจตนเอง มีทักษะและประสบการณ์ในงานอาชีพ รู้จักข้อมูลอาชีพ สามารถพิจารณาคุณสมบัติส่วนตนที่สัมพันธ์กับงานอาชีพได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับตนเอง เห็นคุณค่าในการประกอบอาชีพ คิดสร้างสรรค์งานอาชีพใหม่ๆ สร้างค่านิยมที่ดีในการแประกอบอาชีพ เห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอาชีพและชีวิต  เปลี่ยนวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอาชีพชีวิตให้เป็นโอกาสที่ดี  มีคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบอาชีพ สามารถเตรียมตัวเองเข้าสู่งานอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการวางแผนการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อได้อย่างสอดคล้องกับอาชีพที่ตอบสนองเป้าหมายสูงสุดในชีวิตได้   ด้วยวิธีการออกแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อ พัฒนาศักยภาพการวางแผนการเลือกอาชีพและศึกษาต่อ ที่ใช้เทคนิค Backward Design  ตามขั้นตอนต่อไปนี้

           1.  กำหนดชื่อหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งเป็น core concept ที่มีคุณค่า เหมาะสมกับระดับการศึกษาต่อและตรงตามความต้องการของผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจนำไปใช้ในการวางแผนการเลือกอาชีพและการศึกษาต่อได้

           2.  กำหนด concept หลักที่มีความสอดคล้องส่งเสริมกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจตามหน่วยการเรียนรู้ที่กำหนด

           3.  กำหนด “ความเข้าใจที่คงทน จิตพิสัย คุณลักษณะที่ประสงค์และทักษะคร่อมวิชา”  ประจำหน่วยการเรียนรู้

           4.  กำหนดความรู้และทักษะเฉพาะ สำหรับแต่ละ concept หลัก ที่จะใช้เป็นสื่อในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจในแต่ละ concept หลัก

           5.  นำความรู้และทักษะเฉพาะไปเทียบกับมาตรฐานการศึกษาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ แล้วคัดลอกเฉพาะ key word ในมาตรฐานมาเขียนในหน่วยฯ

           6.  ออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อหาหลักฐานที่เป็นความเข้าใจของผู้เรียนตามเป้าหมายที่กำหนดในข้อ 3

           7.  นำการประเมินผลการเรียนรู้ในข้อ 6 มาจัดลำดับก่อนหลังที่จะจัดการเรียนรู้ ถ้าการประเมินใดมีลักษณะใกล้เคียงกัน สามารถนำไปออกแบบการเรียนรู้ด้วยกันได้ก็รวมกัน

8.  นำข้อมูลในข้อ 7 มาออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

           9.  นำข้อมูลในข้อ 8 และข้อ 6 มาวางแผนการจัดการเรียนรู้ กำหนดเวลาในการจัดกิจกรรมโดยนำข้อความ ความเข้าใจที่คงทนใส่ใน สาระสำคัญ ของแผนการจัดการเรียนรู้ และกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตาม ความรู้และทักษะเฉพาะ ที่กำหนดในหน่วยฯ องค์ประกอบอื่น ๆ ทำตามปกติ สำหรับการประเมินผลนำข้อมูลในข้อ 6 มาเขียน

           10.  แล้วนำแผนการจัดการเรียนรู้ให้เพื่อนครู 3 คนประเมินความถูกต้องเหมาะสมของแผน แล้วบันทึกผลหลังสอน ก่อนนำไปสอน

           11.ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมแนะแนว ควรตรวจสอบคุณภาพการสอนด้วยการนำคะแนน Pre/Post test หรือคะแนนจากการประเมินด้วยวิธีต่าง ๆ ตามที่ออกแบบไว้ มาวิเคราะห์

หมายเลขบันทึก: 242143เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2009 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กากจัดเลยกลับไปทำใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท