นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ ITBL (Information Technology-Based Learning)


การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้

ITBL 

    ITBL  (Information Technology-Based Learning) คือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้  สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน ฝึกทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา  การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ทุกเวลา และทุกสถานที่ การจัดการเรียนการสอน มีการฝึกทักษะการใช้ IT  การเรียนรู้ในปัจจุบันจะเป็นการเรียนรู้ตามสภาพจริงโดยเน้นที่กระบวนการการเรียนรู้ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารที่มีให้เกิดประโยชน์ มีการแสวงหาการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  ความรู้ที่ได้รับจะมีมากมายและต่อเนื่องกับการเรียนรู้ สังคมที่ไร้พรมแดน สังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร สังคมแห่งการแข่งขัน สังคมปัจจุบัน IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การนำเสนอ สารสนเทศเพื่อรวบรวม,จัดเก็บ , ประมวลผล

 

Information Technology-Based Learning

ระบบการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็ฐานู้สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา มีองค์ประกอบ ดังนี้

1) วิเคราะห์หลักสูตร

1.1 วิเคราะห์เนื้อหา เพื่อให้ทราบลำดับของเนื้อหา ความสอดคล้องหรือสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา จะเป็นแนวทางในการกำหนดจุดประสงค์ของรายวิชา กำหนดจุดประสงค์รายคาบเรียน การกำหนดสื่อการเรียนการสอน การเชื่อมโยงไปยังฐานความรู้ต่างๆ ที่สอดคล้องกับเนื้อหานั้นๆ และการสร้างแบบวัดต่างๆ ตาม
จุดประสงค์การเรียน

1.2 วิเคราะห์จุดประสงค์ เพื่อให้ทราบจุดประสงค์ของหลักสูตรและจุดประสงค์ของรายวิชา เพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล

2) กำหนดจุดประสงค์การเรียน เมื่อผู้สอนได้วิเคราะห์หลักสูตร วิเคราะห์เนื้อหา และเพื่อให้ผู้สอนใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนในแต่ละคาบ และช่วยให้ผู้เรียนทราบแนวทางในการเรียน จึงต้องกำหนดรายละเอียดดังนี้

2.1 กำหนดจุดประสงค์รายวิชา เป็นจุดประสงค์ของหลักสูตร หรือจุดประสงค์ปลายทางของรายวิชานั้นๆ
2.2 กำหนดจุดประสงค์รายคาบเรียน เป็นจุดประสงค์ในรายคาบเรียนหรือจุดประสงค์นำทางที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของหลักสูตร

3)เตรียมบุคลากรและทรัพยากรการเรียนรู้


3.1 เตรียมผู้เรียน ทั้งนี้ผู้เรียนต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศใน
ขั้นต้น เช่นการใช้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งรู้จักการใช้โปรแกรมเพื่อ
นำเสนอข้อมูลต่างๆ เป็นต้น

3.2 เตรียมผู้สอน ผู้สอนหรือผู้นำระบบไปใช้จะต้องมีทักษะและความสามารถในขั้นสูงเช่นการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสารกับผู้เรียน มีความสามารถในการพัฒนาฐานความรู้บนห้องเรียนเครือข่าย รวมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นอย่างดี
3.3 เตรียมแผนการสอนและแผนกิจกรรม โดยผู้สอนกำหนดรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียน ตามลำดับเนื้อหาที่ได้กำหนดไว้
3.4 เตรียมฐานความรู้ ทั้งนี้ฐานความรู้ผู้สอนจัดเตรียมไว้ ส่วนใหญ่เป็นฐานข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือผู้สอนอาจจัดเตรียมในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกใช้ได้ตามความสนใจ เช่น คอมแพคดิสก์ เทปบันทึกภาพ เอกสารหรือตำราต่างๆ เป็นต้น

4)จัดเครือข่ายการเรียนรู้ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 การเรียนที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนโดยตรง (Synchronous Learning)
  เป็นการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนตามปกติ โดยผู้สอนจัดกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และยึดหลักการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมแรงร่วมใจ เช่นการใช้เทคนิค Graffiti, Think-Pair-Share, Co-op Co-op, Group investigation, Small group brainstorm, Learning together เป็นต้น โดยผู้สอนได้เขียนไว้ในแผนการจัดกิจกรรมแต่ละสัปดาห์ มีรายละเอียดดังนี้
1. ขั้นนำ เป็นขั้นที่ผู้สอนดำเนินกิจกรรม เช่น จัดกลุ่มผู้เรียน แจ้งจุดประสงค์การเรียนในแต่ละคาบเรียน แจ้งวิธีการดำเนินการเรียนการสอน ดำเนินการทบทวนความรู้เดิมของผู้เรียน
วัดและประเมินผลการเรียนก่อนเรียน
2. ขั้นสอน ซึ่งขั้นการดำเนินการ 5 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 การนิยามและวิเคราะห์ปัญหา (Define and analysis the problem)
เป็นขั้นที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนทำความเข้าใจในประเด็นปัญหา คำถาม ข้ออ้างหรือข้อโต้แย้ง ผู้เรียนสามารถพิจารณาข้อมูลหรือสถานการณ์ที่ปรากฏได้อย่างชัดเจน สามารถระบุเกณฑ์เพื่อ ตัดสินคำตอบที่เป็นไปได้ สามารถระบุข้อมูลที่มีเหตุผลหรือน่าเชื่อถือได้ รวมทั้งสามารถระบุข้อมูลที่ไม่มีเหตุผลหรือไม่น่าเชื่อถือได้ ดังนั้นผู้สอนจะกำหนดประเด็นปัญหาต่างๆ หรือสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนศึกษา ค้นหาคำตอบตอบข้อสงสัย และทำความกระจ่างให้กับผู้เรียนในประเด็นปัญหานั้นและสังเกตการร่วมกิจกรรม ส่วนการนำเสนอบทเรียน กิจกรรมต่างๆ ใบงาน ตลอดจนใบความรู้ นั้นจะใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือและมีระบบผู้เชี่ยวชาญบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยเหลือผู้เรียนทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน
ขั้นที่ 2 ขั้นการวางแผนเพื่อแก้ปัญหา (Planning to solve the problem)
โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนสามารถกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาได้ โดยใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างสมเหตุสมผล สามารถกำหนดสมมติฐานและเลือกสมมติฐาน โดยอาศัยข้อมูลและข้อตกลงเบื้องต้น รวมทั้งสามารถพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งผู้สอนจะเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง อำนวยความสะดวกในด้านวัสดุ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำเสนอสาระสำคัญของความรู้ในเนื้อหาวิชา บนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จัดแหล่งเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ที่สอดคล้องกับบทเรียน และจัดระบบสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาให้พร้อมสำหรับผู้เรียน
ขั้นที่ 3 ขั้นการสืบเสาะหาและอภิปรายเพื่อหาคำตอบ (Searching and discussion)
มีจุดประสงค์ให้ผู้เรียนสามารถสังเกตและตัดสินข้อมูลที่ได้จากการสังเกตด้วยตนเอง หรือการตัดสินลงความโดยกระบวนการกลุ่มได้ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนหรือผู้เรียนกับผู้สอน และให้ผู้เรียนสามารถพิจารณาความเชื่อถือของแหล่งข้อมูลได้และสามารถตัดสินคุณค่าของข้อมูลได้ ซึ่ง
ผู้เรียนจะพิจารณาหรือค้นหาคำตอบจากฐานความรู้บนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ผู้สอนได้เสนอสาระสำคัญของความรู้ในเนื้อหาวิชาและเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ที่สอดคล้องกับบทเรียนไปยังแหล่งความรู้ต่างๆ รวมทั้งจัดระบบสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาไว้ให้กับผู้เรียน
ขั้นที่ 4 การเสนอคำตอบ (Presentation)
มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำเสนอข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาของกลุ่ม พัฒนาทักษะการสื่อสารของผู้เรียนโดยการแสดงปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ในรูปแบบต่างๆ ที่ผู้เรียนได้สร้างสรรค์ขึ้น รวมทั้งผู้เรียนแต่ละคนจะต้องสรุปสาระสำคัญจัดทำเป็นแฟ้มสะสมงานของตนเองได้ โดยผู้สอนจะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถนำเสนอผลงานนั้นๆ ได้ และสามารถจัดเก็บข้อมูลรายบุคคลได้ โดยการพัฒนาระบบฐานความรู้บนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ตามที่ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถและการสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล
ขั้นที่ 5 การประเมินการเรียน (Evaluation)
มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสรุปอ้างอิงโดยกระบวนการสรุปที่ใช้ คือ การนิรนัย การอุปนัย เพื่อนำไปสู่การตัดสินคุณค่าได้และสามารถตัดสินใจเพื่อนำไปปฏิบัติได้ ทั้งนี้ผู้สอนต้องเตรียมแบบวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับกิจกรรมต่างๆ ของผู้เรียน เช่นแบบบันทึกการสังเกต แบบประเมินโครงงาน แบบประเมินการร่วมกิจกรรมกลุ่ม แบบประเมินแฟ้มสะสมงาน แบบประเมินผลงาน เป็นต้น
3. ขั้นสรุปและประเมินผล ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปรายสรุปสาระสำคัญในบทเรียนและทำการประเมินผลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามแผนการสอนและแผนกิจกรรม

รูปแบบที่ 2 การเรียนที่ผู้เรียนไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนโดยตรง (Asynchronous Learning)
 
เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนทำโครงงานตามความสนใจของตนเอง ซึ่งสาระสำคัญต่างๆ จะสอดคล้องกับเรื่องที่เรียนตามหลักสูตร จุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์ผลงาน รู้จักการประยุกต์จากแนวคิด หลักการของทฤษฎี โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์ในการสืบเสาะหาความรู้ ใช้ในการสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การส่งโครงงานจะผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ดังนั้นผู้เรียนจะต้องจัดสรรเวลาเพื่อเข้าสู่ห้องเรียนเครือข่ายนอกเวลา ระบบการเรียนการสอนนี้ไม่ได้กำหนดเวลาหรือบังคับให้ผู้เรียนจะต้องเข้าเรียนนอกเวลาเป็นจำนวนเท่าใด แต่ขึ้นอยู่กับผู้เรียนเอง

5)ประเมินการเรียนการสอน ระบบการเรียนการสอนนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน โดยใช้แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในแต่ละรายวิชาและแบบวัดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีกำหนดเกณฑ์ในการประเมินคือคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะต้องไม่ต่ำว่าเกณฑ์ของรายวิชาที่กำหนดและมีค่าคะแนนจากแบบวัดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 จะถือว่ามีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศระดับดี

"การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ ITBL (Information Technology-Based Learning)". เข้าถึงข้อมูลได้จาก  http://www.guruonline.in.th/etraining/manual/itbl-1-1.htm เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2552

หมายเลขบันทึก: 240326เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2009 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท