การพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้


(Building the Learning Organization)

ความนำ

                ผู้บริหารในองค์การทั้งภาครัฐ และธุรกิจ กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์การของตนเอง สู่องค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization--LO) หลายองค์การ กล่าวถึงสิ่งนี้ทุก ๆ โอกาสในการประชุมผู้บริหาร จนเหมือนบทสวดมนต์ไหว้พระ โดยที่ยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังพูด กับสิ่งที่ผู้ฟังเข้าใจเป็นสิ่งเดียวกัน หรือไม่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันคือ คำว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีความหมายเป็นบวก พูดออกไปย่อมไม่เสียหาย ในขณะที่บางองค์การตั้งเป้าหมายระยะยาวว่าภายในกี่ปีจึงจะบรรลุความเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้

                แต่ละองค์การต่างมีวิธีการสู่องค์การแห่งการเรียนรู้เป็นของตนเอง เช่น ตั้งเป็นคณะทำงานศึกษาร่วมกัน ว่าองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ท่องออกไปก่อนหน้านั้น  คืออะไร จะก้าวไปสู่สิ่งนั้นได้อย่างไร บางองค์การจ้างบริษัทที่ปรึกษา หลายองค์กรนำเทคโนโลยีมาใช้ทำให้การจัดเก็บความรู้ การส่งต่อ และการแลกเปลี่ยนความรู้ภายในและระหว่างองค์กรพันธมิตรมีความ สะดวกยิ่งขึ้น โดยคาดหมายว่าวิธีการเหล่านี้จะทำให้ยกระดับองค์การสู่องค์การแห่งการเรียนรู้ได้

                องค์การแห่งการเรียนรู้ ถูกกล่าวถึงอย่างมากหลังจากที่หนังสือ The Fifth Discipline ของ Peter Senge ถูกตีพิมพ์เมื่อ 1990 และเป็นหนังสือที่มียอดขายสูงกว่า 1 ล้านเล่ม ในเวลาไม่นาน หนังสือดังกล่าวให้ความหมายขององค์การแห่งการเรียนรู้ว่า  เป็นที่ซึ่งบุคลากรมีการยกระดับความสามารถขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงาน เป็นที่ซึ่งความคิดใหม่และสร้างสรรค์ได้รับการเอาใจใส่  เป็นที่รวมของความมีอิสระ และเป็นที่ซึ่งบุคลากรได้มีการเรียนรู้มองเห็นภาพรวมไปพร้อม ๆ กัน (Senge, 1900, p. 3)

                Senge เสนอหลักการที่จะนำองค์การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ด้วยการขอให้สมาชิกในองค์การมีวินัย 5 ประการด้วย

                1. Personal Mastery คือการใฝ่เรียนรู้ให้เป็นเลิศในด้านการเรียนรู้ การลงมือปฏิบัติ และกระบวนการความคิด

                2. Mental Model คือ มีมุมมองที่เปิดกว้างพร้อมรับสิ่งใหม่ รวมถึงมีวุฒิภาวะที่พร้อมรับสถานะภาพ (Emotional Quotient--EQ)

                3. Shared Visionหมายถึงมีการประสานวิสัยทัศน์ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

                4. Team   Learning หมายถึง การทำงานเป็นทีมและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อช่วยเพิ่มพูนคุณค่าให้กับองค์การร่วมกัน

                5. System thinking หมายถึง การมีความคิดเชิงระบบ เห็นความสัมพันธ์ของปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับองค์การทั้งองค์รวม 

                ถ้าพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์จะเห็นว่า วินัย 5 ประการเป็นแนวคิด คำชี้แนะให้แต่ละบุคคลปฏิบัติ  คล้าย เป็นคำสอนของศาสนา หากสาวกมีใจศรัทธานำไปปฏิบัติ ก็จะเกิดการถักทอสิ่งดีๆ เข้าหากันจนทำให้สังคมนั้นเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้

                นักวิชาการและนักบริหารทรัพยากรบุคคลอีกไม่น้อยที่ใช้กรอบความคิดนี้ไปแปลงสู่การปฏิบัติ เช่นสร้างเป็นหลักสูตรฝึกอบรม โดยคาดหวังว่าจะสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีคุณลักษณะเช่นว่านี้ อีกหลายนักวิชาการมีการขยายกรอบความคิดดังกล่าวออกไปอย่างกว้างขวาง แต่แนวทางใด ภายใต้บริบทและข้อจำกัดใดที่จะทำขององค์การสู่การเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นประเด็นปัญหาที่น่าคบคิดอย่างยิ่ง

แนวความคิดว่าด้วยองค์การแห่งการเรียนรู้

 

ทำไมต้ององค์การแห่งการเรียนรู้

                ในศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้ทั่วทั้งองค์กรเป็นสิ่งที่หลักเลี่ยงไม่ได้ เพราะเกิดจากแรงกดดัน               ที่องค์การต้องแบกรับ หลัก ๆ  8 ประการ คือ (บดินทร์ วิจารณ์, 2548, หน้า 15)

                1. โลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดการมองโลกทั้งใบเป็นแหล่งวัตถุดิบ แรงงานการผลิต และตลาด แทบทุกธุรกิจได้รับผลกระทบหรือจำเป็นต้องก้าวไปสู่การทำธุรกรรมในระดับนานาชาติ จึงต้องยกระดับความสามารถเพื่อการแข่งขันในระดับโลก

                2. เทคโนโลยี ช่วยนำข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่เกิดขึ้นในทุกมุมโลกเข้าสู้องค์การ สุดแท้ว่าองค์การใดจะใช้เทคโนโลยีใดในการทำธุรกิจและเก็บเกี่ยวการเรียนรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อไป  การบริหารองค์การจึงเป็นการบริหารความรู้มากกว่าการบริหารแรงงานและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ

                3. การปรับเปลี่ยนโลกของการทำงาน หลายองค์การทำธุรกิจเฉพาะที่ตนเองมีความสามารถ (core competency) และเลือกเชื่อมโยง เพื่อใช้ความสามารถของคู่ค้า แทนที่จะทำเองทั้งหมด ธุรกิจปัจจุบันและอนาคตจึงมีลักษณะของ Knowledge Linking มากยิ่งขึ้น

                4. ลูกค้ามีอิทธิพลเพิ่มขึ้น ทำให้องค์กรต้องมีการแข่งขันที่จะสนองตอบความต้องการให้ได้ทุกความต้องการ  เช่นด้านราคา ด้านคุณภาพ ด้านความรวดเร็ว ด้านความพึงพอใจ ด้านนวัตกรรม และความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

                5. ความรู้และการเรียนรู้ กลายเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญขององค์การ ในการแข่งขันอย่างรุนแรง นวัตกรรมที่เกิดจากความรู้ของคนในองค์การ สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการที่เหนือกว่าคู่แข่ง และทำให้องค์การก้าวหน้าต่อไปได้ พลังสมอง (brain power) จึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

                6. ความคาดหวังของทรัพยากรบุคคลเปลี่ยนไป ในยุคสังคมแห่งการเรียนรู้บุคลากรที่ร่วมทำงานในองค์การ คาดหวังให้การทำงานเป็นการเรียนรู้ คาดหวังถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของความสำคัญในงาน ดังนั้นทุกคนจึงต้องการการเสริมแรงด้วยการเรียนรู้ให้กว้างขวางมากขึ้น

                7. การเคลื่อนย้ายของทรัพยากรบุคคลอย่างไม่จำกัด

นอกจากโลกาภิวัตน์จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายของทุนแล้ว การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีความแตกต่างหลากหลายให้ต้องมีปฏิบัติงานร่วมกัน ทำให้องค์การต้องพัฒนาความสามารถให้ปฏิบัติงานร่วมกันได้ทั้งในแง่ Soft Shill และ Hard Skill.

                8. การเป็นสังคมโกลาหล

กล่าวคือ เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น และส่งผลกระทบกับทุกองค์การได้อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เกิดความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้น  ทำให้ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

                แต่ละองค์การจะรับแรงกดดัน 8 ประการข้างต้น มากน้อยแตกต่างกันไป แต่น่าจะไม่มีองค์การใดปลอดจากแรงกดดันเหล่านี้ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมรองรับแรงกดดันดังกล่าวให้ได้จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

 

 

หมายเลขบันทึก: 240177เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2009 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งเข้ามาดูใน gotoknowได้ คิดถึงทุกคนเริ่มติดต่อแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท