2. เรื่องเล่าการบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ : humanized health (ต่อ)


ดูแลดุจญาติมิตร พร้อมดวงจิตบริการ

สืบเนื่องจากโครงการจากบันทึกที่ผ่านมา บันทึกนี้ 

จึงขอเล่าเรื่องสิ่งดีที่เกิดขึ้นระหว่างทำโครงการค่ะ

.......................................................................................................

สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น ระหว่างทำโครงการ

         

การเล่าเรื่องก่อให้เกิดการพูดคุยกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ สร้างความเข้าใจ ที่ดีในการทำงาน เจ้าหน้าที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เรื่องเล่าแต่ละเรื่อง เจ้าหน้าที่ช่วยกันทำ ช่วยกันเล่า ช่วยกันเขียนบันทึก  ทำให้มีการทำงานเป็นทีม

          การเขียนบันทึก การอ่านบันทึก ทำให้เห็นแง่คิด ทั้งดี ไม่ดี บางเรื่องอาจจะขำขัน  คลายเครียด  และช่วยให้มองย้อน ไปที่ตัวเอง เป็นประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต

จากปัญหาของผู้ป่วยที่เล่าให้กันฟัง ทำให้เกิดความคิด สร้าง สิ่งประดิษฐ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ในการทำกิจวัตรประจำวันที่ผู้ป่วยสามารถใช้ได้สะดวก

 

สรุปโครงการ

 

จากเรื่องเล่าที่เรา ครอบครัวออร์โธฯชาย 2 ทำมาตลอดเพียงแต่ขาดการบันทึกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น บัดนี้ได้บันทึกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มองเห็นอย่างชัดเจนว่าเราให้การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์เช่นไร  มีความเข้าถึง เข้าใจและใส่ใจ อย่างไร ซึ่งขอยกตัวอย่างจากเรื่องเล่า ตำนานคนสู้ชีวิตที่พวกเราพวกเราเข้าถึง เข้าใจและใส่ใจ ผู้ป่วย  เข้าถึง คือเข้าถึงว่าถ้ากลับไปอยู่บ้านผู้ป่วยต้องดูแลตนเอง และไม่มีใครจะมาป้อนอาหารให้ผู้ป่วยยามหิว เหมือนตอนอยู่โรงพยาบาลแน่นอน  เข้าใจ คือเข้าใจนิสัยของผู้ป่วยว่าไม่ชอบพึ่งพาใครแม้แต่พยาบาล พยายามจะช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุดและเร็วที่สุด  ใส่ใจผู้ป่วย โดยใส่ใจผู้ป่วยว่ามีปัญหาอย่างไรบ้างเมื่อได้ใส่อุปกรณ์ที่นักกิจกรรมบำบัดทำให้ ผลออกมาก็คือ เจ้าหน้าที่เราทำอุปกรณ์ในการสวมตอแขนผู้ป่วยทำให้สามารถกินอาหารได้เอง โดยผลิตจากวัสดุเหลือใช้คือขวดน้ำ ผูกติดกับช้อนทำให้สามารถกินข้าวเองได้ ถึงแม้นักกิจกรรมบำบัดได้ผลิตอุปกรณ์สวมตอแขนให้ผู้ป่วย  โดยสวยงามและเบากว่าโดยใช้แถบรัดเวลโค รัดตอ แขนผู้ป่วยแล้ว แต่จากความใส่ใจของพวกเราทำให้ทราบว่า การใช้อุปกรณ์ที่รัดแขนต้องมีคนช่วยใส่ให้ขณะที่อุปกรณ์ที่เราทำจากขวดน้ำผู้ป่วยสามารถใส่ได้เองและแน่นพอดี และตอแขนไม่โดนน้ำแกงและอาหาร ผู้ป่วยจึงเลือกที่จะใช้อุปกรณ์ที่เราทำให้ นักกายภาพบำบัด และแพทย์เห็นแล้วชื่นชม อาจารย์กายภาพบำบัดมาเห็นก็ขอรูปภาพไปให้นักศึกษาได้ดูไว้เป็นแบบอย่าง  สิ่งเหล่านี้คำชม หรือเสียงชื่นชมนั้นเปรียบเสมือนน้ำทิพย์หนึ่งหยดที่ชโลมใจให้เจ้าหน้าที่เราได้มีกำลังใจในการดูแลผู้ป่วยต่อไป แต่ที่ยิ่งใหญ่และมีกำลังใจมากกว่าคือคนไข้  คนสู้ชีวิต ของเรากลับไปด้วยรอยยิ้มและอุปกรณ์ที่เราประดิษฐ์ให้นั่นเอง   และพวกเราพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยรายต่อไปเข้าสู่ครอบครัวออร์โธฯ ชายสอง

 

ผู้ป่วยใน วอร์ด เรา เป็นผู้ป่วยอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่  จึงอยู่ในวัยรุ่น และวัยทำงาน มีความสนใจ ใคร่รู้ บางครั้ง บางเรื่อง รู้ดี ถูกต้อง แต่บางทีก็รู้มาผิด ๆ บ่อยครั้งก็แสดงอารมณ์หงุดหงิด  ( เพราะไปไหนมาไหน ทำอะไรไม่สะดวก จากการถูกจำกัดการเคลื่อนไหว )  ซึ่งเจ้าหน้าที่ออร์โธชาย 2 ถึงแม้จะยึดแนวทางการดูแลดุจญาติมิตร ตามสโลแกนของโรงพยาบาลก็ตามแต่บางครั้งความ เหน็ดเหนื่อยบังเกิด   ความท้อตามมา  ความเครียดถามหา ไม่อยากมองหน้าทุกคนที่เรียงหน้ามา                          แต่ตั้งแต่มีโครงการเล่าเรื่องสิ่งดีๆ ที่อยากร่วมแบ่งปัน ทำให้พวกเราหลายคน สามารถมีแง่มุมที่ดีในการดูแลผู้ป่วยในแต่ละราย  วิธีการเข้าถึง เข้าใจ  และใส่ใจผู้ป่วย  เอาเรื่องเล่ามานั่งอ่านพร้อมรอยยิ้ม และมองเห็นวิธีการมอง หรือมุมมองในการดูแลผู้ป่วยซึ่งแต่ละมุมเป็นมุมที่ดี ที่เราแต่ละคนมองซึ่งแตกต่างกันไปตามแบบและลักษณะเฉพาะของผู้ป่วย  และเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ของเราร่วมแบ่งปันกันและกันได้        ร่วมฝึกการมองโลกหรือผู้ป่วยในแง่ดี ซึ่งเป็นการมองผู้ป่วยแบบเข้าถึง เข้าใจ และใส่ใจผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างแท้จริง มีอารมณ์ขันร่วมกัน ในหน่วยงาน               ทำให้บรรยากาศในองค์กร  ครอบครัวออร์โธฯ ชาย 2 เป็นองค์กร ที่มีชีวิตชีวา อีกทั้งเป็นองค์กรที่ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ หรือ humanization health care อย่างแท้จริง

ติดตามตอนต่อไปนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 240058เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2009 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท