ผลจากการพัฒนาท้องถิ่นโดยยึดความเจริญด้านวัตถุเป็นตัวตั้ง


การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลง และดับไป เป็นความจริงที่หลีกหนีไม่พ้นในสรรพสิ่งต่างๆ แต่การดูแลคุณภาพชีวิตของคนก่อนที่จะดับไป มนุษย์สามารถกำหนดได้ไม่ใช่หรือ?

         สงกรานต์ปีนี้ผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่สระบุรีอีกครั้ง  เป็นการรวมญาติ ที่เป็นการยืนยันว่ายังมีชีวิตเหลืออยู่กันสักกี่คนในรอบปี เพื่อให้ลูกหลานได้รดน้ำดำหัวและถือโอกาสให้ศีลให้พร(อบรมกล่อมเกลาจิตใจลูกหลานกันทางอ้อม)  ซึ่งถือเป็นขนบประเพณี ที่เป็นจุดแข็งของเรา

        ปีนี้ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านที่เกิดขึ้นชัดเจนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว คือความเจริญทางวัตถุที่ได้รับจัดสรรงบประมาณผ่านมาทาง อบต. ถนนหนทาง เป็นปัจจัยการพัฒนาที่เห็นได้ชัดเหมือนตำบลอื่นๆ  แต่เมื่อได้พูดคุยกับเพื่อนเก่าๆที่ยังเหลือในหมู่บ้าน ต่างก็บ่นถึงความยากจน  ค่าครองชีพแพงขึ้น  ลูกหลานต่างอพยพย้ายถิ่นไปเป็นลูกจ้างโรงงานในตัวเมือง ปล่อยให้คนแก่อยู่กันตามลำพัง รอความหวังจากเศษเงินน้อยนิดที่ลูกหลานจะส่งมาให้ประทังชีวิต บางคนก็ไม่ได้ส่งเงินมาให้ แต่ส่งลูกที่พ่อแม่แตกแยกกันมาให้ปู่ย่า ตายายเลี้ยงแทน

        สภาพแวดล้อมเมื่อก่อนที่เราเคยได้เก็บของป่า ล่าสัตว์ มีผักผลไม้โดยธรรมชาติเก็บกินกันอย่างไม่อด ไม่มีหลงเหลือแล้ว  มีแต่ความแห้งแล้ง อากาศร้อน ภูเขาเตี้ยๆแต่เดิมก็กลายเป็นเขาหัวโล้น  หน้าตาเพื่อนเก่าๆดูแก่ไปจนแทบจำเค้าเดิมไม่ได้  ต่างอยู่กันอย่างหมดหวังในชีวิต บางคนก็ใช้เหล้า บุหรี่ หรือ การเล่นหวย เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้สนุกไปวันๆ

    ...เทือกเขานมนางที่อยู่ด้านหลังหมู่บ้าน รอคอยที่จะถูกระเบิดให้ย่อยสลายกลายเป็นหินที่มีค่าเพียงแค่ถมถนนเท่านั้น...

         เราเข้าใจว่าสรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไป  แต่เราก็สามารถเลือกสร้างสรรค์วิธีการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ใช่หรือ  แต่ถ้าวิธีคิดของคนที่มีอำนาจกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงยึดมั่นในการเปลี่ยนแปลงด้านวัตถุเป็นสรณะ  วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงก็คงล่มสลาย  เราคงจะไม่สามารถรื้อฟื้นธรรมชาติเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วให้กลับคืนมาได้  แต่เราก็สามารถพัฒนาสภาพที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น ไม่ให้เลวร้ายกว่านี้อีกได้ไม่ใช่หรือ   ผมจึงได้ให้กำลังใจเพื่อนๆ  และเสนอแนะให้พวกเขาหาวิธีการประสานกับ อบต.ร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และช่วยกันดูแลท้องถิ่นของตนให้ดีขึ้น โดยคำนึงถึงความเจิญด้านจิตใจเป็นตัวตั้งด้วย

       

หมายเลขบันทึก: 24005เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2006 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
     รู้สึกแบบเดียวกันเลยครับอาจารย์  บ้านเกิดผมก็เหมือนกัน  สมัยก่อนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข  ป่าไม้  สัตว์ป่า  ข้าวปลา อุดมสมบูรณ์มาก ไฟฟ้าไม่มี  ถนนไม่มี  จะเข้าตัวอำเภอต้องเดินเท้ากัน 8-9 กม. เดี๋ยวนี้ทุกอย่างพร้อมหมด ถนนลาดยาง  ไฟฟ้า  โทรศัพท์  ตลาดนัดเหมือนที่มีในกทม. ฯลฯ แต่ที่หายไปด้วยคือความสงบสุขและรอยยิ้มอย่างเยือกเย็นใจของผู้คน ทุกอย่างเป็นไปเพื่อเงินและวัตถุ  ไม่ผิดเลยที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยบอกว่า "คอยดูเถิด ยิ่งสว่างจะยิ่งมืด"
ที่บ้านเกิดนะคะ  ชอบมากเลย  บรรยากาศที่แห้งแล้ง
เดือนมีนา เมษา  ไม่มีน้ำหรอกค่ะ จะต้องไปเข็นน้ำ
เอาโอ่งใส่บนรถเข็น มารอคิวตักน้ำ  น้ำออกบ่อไม่ทัน
แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือ มิตรภาพที่ดีของชุมชน
ขณะนั่งรอน้ำ 
แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วค่ะ  มีน้ำปะปา สะดวกสบาย
แล้วความสัมพันธ์วัฒนธรรมเดิมๆ ค่อยๆ หายไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท