Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีเด็กชายชลชาติ แสนสุข : ไร้สัญชาติ แต่ไม่ไร้รัฐ และไม่ไร้โอกาสในการพิสูจน์สัญชาติลาว


กาวิพรจึงมีสถานะเป็นนักเรียนห้อง ๕ ในห้องเรียนเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติของคลินิกแม่อาย ทั้งนี้ เพราะว่าห้อง ๕ เป็นห้องที่เรียนบทเรียนว่าด้วยกฎหมายและนโยบายที่ใช้ในการจัดปัญหาสถานะและสิทธิของแรงงานต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย หรือที่มักเรียกกันย่อๆ ว่า “คนใน ท.ร.๓๘/๑”

          ความนำ

          กรณีศึกษาของเราเป็นเด็กชายอายุ ๘ ขวบ แต่นักเรียนของเราเป็นหญิงวัย ๒๙ ปี ที่ขยันขันแข็งมาเรียนกฎหมายและนโยบายโดยหวังที่จะขจัดปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติให้แก่ลูกชายน้อย ดังนั้น กรณีศึกษาของเราเป็นเด็กดังที่ UNICEF อยากให้เป็นเป้าหมายในการทำงานของเรา แต่นักเรียนของเรานั้น กลับเป็นมารดาของเด็ก และเราก็ทราบว่า กาวิพรซึ่งเป็นมารดาของชลชาติมิได้มาเรียนในห้องเรียนที่วัดท่าตอนเท่านั้น ยังมีการจัดห้องเรียนที่บ้านของกาวิพรอีกด้วย ยุง แสนสุข ซึ่งเป็นบิดาของชลชาติ ก็สนใจที่เรียนรู้กฎหมายและนโยบายจากภริยา คนเดียวที่ยังไม่เข้าใจกฎหมายเลย ก็คงได้แก่ชลชาติน้อยที่ยังห่วงเล่นสนุกกับเพื่อนๆ ในระแวดบ้าน ไม่เข้าใจว่า ตนเองนั้นไร้สัญชาติ ไม่กังวลว่า ตนเองถูกถือว่า เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทั้งที่เกิดในประเทศไทย เราจึงได้แต่สอนความรู้นิติศาสตร์ที่จำเป็นให้แก่กาวิพรซึ่งมาเข้าเรียนโดยไม่ขาด ทำการบ้านทุกชิ้นที่ครูสั่ง

          กาวิพรจึงมีสถานะเป็นนักเรียนห้อง ๕ ในห้องเรียนเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติของคลินิกแม่อาย ทั้งนี้ เพราะว่าห้อง ๕ เป็นห้องที่เรียนบทเรียนว่าด้วยกฎหมายและนโยบายที่ใช้ในการจัดปัญหาสถานะและสิทธิของแรงงานต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย หรือที่มักเรียกกันย่อๆ ว่า “คนใน ท.ร.๓๘/๑”   

จุดเกาะเกี่ยวระหว่างครอบครัวของชลชาติกับประเทศไทย

           ชลชาติ แสนสุขเป็นเด็กชายน้อยซึ่งเกิดจากนายยง แสนสุขกับนางกาวีพร วิไลวรรณ เขาเกิดเมื่อวันที่    มิถุนายน  พ.ศ.๒๕๔๕    โรงพยาบาล ปทุมธานี   ถนนปทุมลาดหลุมแก้ว    ตำบลบางปรอก  อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี  ดังนั้น รัฐไทยจึงกำหนดให้โรงพยาบาลปทุมธานีออกเอกสารตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยที่เรียกว่า “หนังสือรับรองการเกิด” หรือ “ท.ร.๑/๑ ตอนที่ ๓” ให้แก่ชลชาติ  และนอกจากนั้น เทศบาลท้องถิ่นปทุมธานีก็ได้ออก “สูติบัตร ประเภท ท.ร. ๓ ตอน ๑” เพื่อการรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์ตัวน้อยผู้นี้อีกด้วย ดังนั้น ชลชาติจึงมีสถานะเป็นราษฎรของรัฐไทยเพราะปรากฏมีชื่อในทะเบียนบุคคลของรัฐไทยในหมายเลขประจำตัว ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗

ในประเด็นที่ว่า ชลชาติมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยหรือไม่ ?

          คำตอบ ก็คือ ประเทศไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นที่เกิดของชลชาติ และรัฐนี้ก็ได้มีการกระทำเพื่อรับรองการเกิดให้แก่ชลชาติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระบวนการนี้เรียกในภาษากฎหมายระหว่างประเทศว่า “การจดทะเบียนการเกิด (Birth Registration)”

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐไทยไม่ยอมรับให้สัญชาติไทยแก่ชลชาติ เขาไม่มีสถานะเป็น “คนสัญชาติไทย” เพราะแม้เขาจะเกิดในประเทศไทย แต่เนื่องจากบิดาและมารดามีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาในลักษณะไม่ถาวร กล่าวคือ เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายคนเข้าเมือง

             นอกจากนั้น ชลชาติยังถูกกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองถือว่า เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งที่เกิดในประเทศไทย แม้กฎหมายสัญชาติใหม่จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชลชาติ แต่รัฐบาลไทยก็ยังไม่บรรลุที่จะทำกฎกระทรวงเพื่อกำหนด “ฐานะการอยู่” ของเด็กที่เกิดในไทย ดังเช่นชลชาติ

              แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นคนผิดกฎหมายคนเข้าเมืองนี้ ไม่ทำให้ชลชาติขาดไปซึ่งสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ เพราะรัฐไทยได้ยอมรับสิทธิมนุษยชนดังกล่าวไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

แล้วจะมีการผลักดันชลชาติและครอบครัวออกไปจากประเทศไทยได้หรือไม่ ?

          คำตอบก็คือ แม้บิดาและมารดาของชลชาติจะไม่มีสัญชาติไทยและเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่บุคคลทั้งสองก็มีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้ เพราะบุคคลทั้งสองแสดงตนเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่ยินยอมขึ้นทะเบียนแรงงานกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการของรัฐไทยมาตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๗  อันทำให้มีสิทธิมนุษยชนที่จำเป็น ๓ ประการใหญ่ กล่าวคือ   

         ในประการแรก เมื่อยุงและกาวิพรไปแสดงตนขึ้นทะเบียนแรงงานกับกระทรวงแรงงานฯ ไทย เขาทั้งสองก็จะมีสิทธิร้องขออนุญาตทำงานตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานคนต่างด้าว อันส่งผลต่อไปให้ได้รับการรับรองสิทธิในการทำมาหาเลี้ยงชีพในประเทศไทย และการรับรองสิทธิที่จะอาศัยในประเทศไทย

         ในประการที่สอง เมื่อยุงและกาวิพรได้รับอนุญาตให้เป็นคนทำงานถูกกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว  เขาทั้งสองก็จะได้รับการรับรองสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งผลในทางข้อเท็จจริง ก็คือ ครอบครัวของเขาทั้งสองตลอดจนชลชาติย่อมไม่อาจถูกผลักดันออกจากประเทศไทย

          ในประการที่สาม แม้ยังมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมาย  ยุงและกาวิพรตลอดจนชลชาติก็ได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ อันทำให้พวกเขาและบุตรได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติ (ท.ร.๓๘/๑) อันหมายความว่า พวกเขาได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนไทย ซึ่งพวกเขาไม่ไร้รัฐอีกต่อไป พวกเขาไร้เพียงสัญชาติ

      ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นความเกาะเกี่ยวระหว่างบุพการีของชลชาติและประเทศไทย แม้เป็นเพียงความสัมพันธ์ภายหลังการเกิด แต่ก็เป็นจุดเกาะเกี่ยวที่ชัดเจน พวกเขาเป็นราษฎรไทยประเทศที่มีสิทธิอาศัย แม้ว่าไม่มีสัญชาติไทย

        คำถามที่นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนถามรัฐบาลไทย ก็คือ เมื่อยุงและกาวิพรมีสิทธิอาศัย เพราะทำตามที่นโยบายแรงงานต่างด้าวกำหนดทุกประการ แล้วชลชาติล่ะ ? ถือว่า ชลชาติมีสิทธิอาศัยตามกฎหมายคนเข้าเมือง เฉกเช่นบุพการีหรือไม่ ?  ฟังว่า ชลชาติเป็นผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแรงงานตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ คณะรัฐมนตรีตอบคำถามนี้ว่า อย่างไรกัน ??

หมายเลขบันทึก: 239838เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2009 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์ครับ อันนี้เขียนเสร็จสมบูรณ์แล้วใช่มั้ยครับ???? (ในคาบเรียนอาจารย์บอกว่าต้องเขียนต่อ)

มีตอนต่อไปค่ะ

รอหน่อยนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

...

สบายดีนะคะ รักษาสุขภาพด้วยค่ะ เป็นกำลังใจในการงานค่ะ

สุขสันต์วันแห่งรัก มิตรภาพ อบอุ่นในครอบครัว และผองประชา ค่ะ

....

วันก่อนเจอภาพเก่าๆ ช่วงอยู่ในค่ายถ้ำหิน แม่ลามาหลวง และแม่สอด แล้วคิดถึงเลยค่ะ :)

ขอบคุณปูค่ะ

เอาภาพเก่าๆ มาดูกันซิคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท