บวชให้แม่ (ที่วัดพระราม ๙) ตอนที่ ๓ หัดท่องบทสวดมนต์


อานิสงส์จากการฝึกท่องบทสวดมนต์พื้นฐานและบทพาหุงนี้ได้มีหลายประการ ในขั้นแรก เวลาท่องผมรู้สึกสงบและมีสมาธิดีอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

หัดสวดมนต์ จากอิติปิโส ถึงพาหุงมหากา      

ตั้งแต่เล็กจนโต ผมไม่เคยท่องบทสวดมนต์มาก่อน อย่างที่บอกไว้แต่แรกว่าผมค่อนข้างห่างวัด  แต่เมื่อซ้อมท่องบทขออุปสมบทไปจนเกือบขึ้นใจได้แล้วนั้น ผมก็คิดว่าน่าจะฝึกท่องบทสวดมนต์พื้นฐานอื่นๆ ไว้ติดตัวบ้างก็น่าจะดี  เรื่องนี้คงได้อานิสงส์มาจากลูกด้วย เพราะลูกผมท่องบทสวดมนต์ได้หลายบท  ปกติตอนลูกสวดมนต์ก่อนนอน พอลูกท่องบทอะระหัง หรือนะโม ผมก็ได้แต่ฮึมฮัมๆ ตาม  ถ้าเป็นบท อิติปิโส ผมก็ปิดปากพนมมือแต้เฉยๆ  เลย

                ผมเริ่มจากฝึกท่องบทสวดมนต์พื้นฐาน คือ บทไหว้พระรัตนตรัย ที่ว่า

“อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ

“สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ

“สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ”

จากนั้นก็ตามด้วยบทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ซึ่งยาวขึ้นมาอีกหน่อย

“อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ...สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ”

“สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก...ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ”

“สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ...อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสาสาติ”

ตั้งใจท่องไม่กี่วันผมก็จำได้แม่น  (การท่องบทอิติปิโสนี้มีประโยชน์ต่อการบวชเรียนของผมอย่างมากในภายหลัง โดยเฉพาะการฝึกหัดนั่งสมาธิ)  เคล็ดลับคือผมได้หนังสือบทสวดมนต์ที่จัดพิมพ์แบบสี่สี ใช้ตัวอักษรสีแดงดึงดูดสายตาได้ดี แถมยังมีภาพการ์ตูนประกอบอีกต่างหาก ทำให้ช่วยให้ไม่เบื่อเวลาท่อง  ผมใช้จำบรรทัดทั้งบรรทัดเป็นภาพในหัว เวลาท่องก็นึกภาพไปด้วย (ใครสนใจลองหาดูนะครับ หนังสือชื่อพุทธฤทธิ์ พิชิตมาร ของสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง)

ส่วนบทนมัสการพระพุทธเจ้า หรือ นะโม ตัส สะ ภะคะวะโต... และบทไตรสรณคมน์ หรือ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ... นั้น อยู่ในบทสวดขอบรรพชาอุปสมบทอยู่แล้ว จึงไม่ต้องหัดเพิ่ม   

                เมื่อได้บทสวดมนต์พื้นฐานสี่บทสั้นๆ แล้วก็ชักย่ามใจ เพราะไม่ยากอย่างที่กลัวการท่องบทสวดมนต์มาแต่แรก  ผมเริ่มเล็งบทที่เรียกได้ว่ายากมาก (สำหรับผม) คือบทสวดพาหุงมหากา หรือชัยมงคลคาถา หรือคาถาพิชิตมาร  เป็นบทสวดที่เชื่อว่าผู้ที่หมั่นสวดทุกวันจะมีพลังใจเข้มแข็ง มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถต่อต้านกับมารหรือความชั่วร้ายไม่ให้มาทำอันตรายได้  โดยความหมายในบทสวดจะเล่าถึงเหตุการณ์และวิธีที่พระพุทธเจ้าเอาชนะมารต่างๆ

บทพาหุงมหากาเป็นบทสวดที่ยาวมาก เฉพาะพาหุง มี ๘ ท่อนบวกท่อนจบอีก ๑ ท่อน สวดพาหุงแล้วจะต่อด้วยบทมหาการุณิโกนาโถ ซึ่งประกอบด้วยอีก ๔ ท่อน ท่อนสุดท้ายคือท่อนของ สัพพะมังคะลัง ที่จบด้วยวรรค  สะทา โสตถี  ภะวันตุเต ซึ่งคิดว่าใครทำบุญฟังพระสวดก็ต้องเคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เพราะเป็นท่อนจบของการสวดแทบทุกครั้ง     

ในหนังสือบทสวดมนต์ที่มีตัวอักษรสีแดงช่วยการฝึกอ่านฝึกท่องพาหุงได้บ้าง แต่ด้วยความยาวมาก ผมจึงเลียนแบบความสำเร็จจากการท่องบทขอบรรพชาอุปสมบท คือไปหาซื้อซีดีบทสวดพาหุงมาฟัง ปรากฎว่าได้ผลดีขึ้น  แต่ผมก็ต้องใช้เวลาถึงกว่า ๓ อาทิตย์ จึงจะท่องได้หมด แม้จะยังไม่แม่นนัก ยังมีตะกุกตะกักบ้าง แต่ก็อดภูมิใจลึกๆ ไม่ได้ว่าตนเองสามารถท่องบทที่คิดว่ายากและท้าทายมากๆ ได้

อานิสงส์จากการฝึกท่องบทสวดมนต์พื้นฐานและบทพาหุงนี้ได้มีหลายประการ ในขั้นแรก เวลาท่องผมรู้สึกสงบและมีสมาธิดีอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน   เมื่อบวชแล้ว เวลาทำวัตรเช้าและวัตรเย็น ซึ่งต้องอ่านบทสวดมนต์ที่ไม่เคยอ่านมาก่อนเลย ผมรู้สึกว่าสามารถอ่านคำบาลีได้คล่องพอสมควร ไม่ค่อยติดขัดเหมือนพระใหม่รูปอื่นๆ   นอกจากนี้บางท่อนในบทพาหุงที่ผมท่องได้แล้ว ยังเป็นบทที่พระต้องใช้สวดให้ญาติโยมทุกวัน ทำให้ผมไม่ต้องมาหัดท่องใหม่ มีเวลาไปฝึกท่องบทสวดมนต์อื่นๆ เพิ่มขึ้น

ระหว่างบวช ผมเรียนถามพระอาจารย์ว่าเมื่อสึกแล้วถ้าไม่มีเวลาทำวัตรเช้าหรือวัตรเย็น จะทำอย่างไรได้บ้าง พระอาจารย์บอกว่าให้สวดบทอะระหัง บทนะโม (ถ้าพอมีเวลาก็แทรกตรงนี้ด้วยบทพุทธังสะระณังคัจฉามิ) บทอิติปิโส แล้วก็บทแผ่เมตตา ขอให้สวดทุกวัน  

จากที่เป็นคนไม่เคยสวดมนต์มาก่อนเลย ทุกวันนี้แม้จะสึกมาแล้ว ผมก็ยังสวดมนต์อยู่ไม่ได้ขาด  สวดมนต์แล้วสบายใจ ช่วยให้กลับมามีความสงบอีกครั้งหลังจากที่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายปั่นป่วนจากการทำงานในแต่ละวัน  

หมายเลขบันทึก: 239664เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2009 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ พี่ดำ

        ผมกลับกันคือท่องได้หลายบท เพราะตอนประถมต้องนำท่อง! แต่ไม่รู้ความหมายมากนัก แต่ชอบบท 'พาหุงฯ'

        เมื่อไม่นานมานี้มีอาจารย์ปรัชญาที่ มธ. ท่านหนึ่งคือ อ.จุฑาทิพย์ มอบหนังสือสวดมนต์ซึ่งมีทั้งคำแปลและที่มาของบทสวดมาให้ เริ่มๆ อ่านไปแล้วบ้าง

        แต่ด้วยจริตที่เป็น skeptic ทำให้ยังติดใจหลายต่อหลายเรื่อง คิดถึงรากวัฒนธรรมของอินโด-อารยันที่มีอิทธิพลต่อศาสนาพราหมณ์ พุทธ และเชน ทำให้สงสัย และสงสัย

        เอาไว้ไปที่สารคดีเมื่อไร จะแวะไปคุยด้วยครับ (ถ้าที่กอง บก. ไม่รำคาญซะก่อน 555)

แวะมาทักทายค่ะ

คุณความดีคุ้มครองค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สงสัย อ.ชิวท่องได้แต่เด็กเลยทำให้เรียนเก่งแบบนี้มังครับ

บทสวดมนต์แปลนั้นในตอนทำวัตรเช้าและวัตรเย็นก็ได้ท่องแบบนี้อยู่ทุกวันครับ

แล้วจะเขียนถึงในตอนต่อๆ ไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท