ติดตามคนดีศรีเมืองชลไปดูนก


คนดีศรีเมืองชล

     วันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา(๑ ก.พ. ๒๕๕๒) ครอบครัวเป็ดน้อยได้มีโอกาสดีติดสอยห้อยตามคนดีศรีเมืองชลของชนกลุ่มน้อย(ท่านอาจารย์สุชินแห่งชมรมสรรค์สร้างป่าสวยด้วยเยาวชนโรงเรียนชลราษฎรอำรุง)ไปดูนกที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระจังหวัดชลบุรีครับ  ที่ว่า"คนดีศรีเมืองชลของชนกลุ่มน้อย" ก็เพราะว่าผมรู้สึกว่าคนที่ทำงานด้านธรรมชาติและการอนุรักษ์นั้นเปรียบได้เหมือนชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาอยู่ตามแนวชายแดนครับ

ทางเดินจากหน้าศาลาสามตาลไปสำนักงานเขตห้ามล่าบางพระ

            เราออกจากบ้านตีห้าครึ่งแวะไปบ้านปู่ของเป็ดน้อยที่พัทยาเพื่อไปรับ Binocular ยี่ห้อ Olympus รุ่น DPS I ขนาด 8*40 (8 ก็คือกำลังขยายภาพของกล้อง ส่้วนเลข 40 ก็คือเสันผ่าศูนย์กลางในหน่วยมิลลิเมตรของเลนส์วัตถุครับ)  เจ็ดโมงกับอีกสี่สิบนาทีก็มาถึงที่เขตฯ   นัดกับครอบครัวเพื่อนๆของเป็ดน้อยไว้ประมาณสามครอบครัวแต่ก็มาได้เพียงครอบครัวเดียวเองครับ คงเป็นเพราะว่าเช้าเกินไปหน่อยเพื่อนๆคงจะตื่นไม่ทัน  แต่ก็เพราะมาดูนกมาศึกษาชีวิตของเขาที่เริ่มขึ้นแต่เช้าตรู่  ออกหากินพอสายๆแดดแรงก็หยุดพักเข้าร่ม  จะออกมาอีกทีก็บ่ายๆหน่อย  นี่ก็ทำให้ต้องนัดครอบครัวเพื่อนของลูกๆเช้าไปหน่อย 

            อ.ชินและลูกศิษย์กำลังช่วยกันผัดมาม่ากะทะโตให้เด็กๆที่ท่านว่าเป็นเด็กเมืองใช้ชีวิตแบบคุณหนูหน่อยๆ   อาจารย์บอกให้เด็กๆนำข้าวสารมาช่วยกันหุงหากินเลี้ยงกันไปแบบง่ายๆ แต่น้องๆก็พาซื่อเล่นเอาแต่ข้าวสารมาจริงๆ    "เราให้พวกพี่ๆแวะซื้อกับข้าวมา  ทำๆเลี้ยงกันไปแบบลูกๆหลานๆ"  เสียงบอกเล่าจากป๋าชินของเด็กๆ     เด็กๆส่วนใหญ่จะเรียกอาจารย์ว่า "ป๋า" ผมคิดว่าคำนี้น่ารัก ฟังจากน้ำเสียงของพวกเขาและการที่คนที่ถูกเรียกว่าป๋าก็ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า "ป๋า" ด้วยเช่นกัน 

           เด็กๆอีกยี่สิบกว่าคนก็กำลังเดินดูนก บางคนแบกสโคป(Telescope) สะพายกล้องสองตา(Binocular) ในมือของสาวๆหนุ่มๆบางคนมี Bird Guide (คู่มือดูนก) เล่มภาษาอังกฤษ "A Guide to The Bird of Thailand" โดยคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลบรรพบุรุษของชนกลุ่มน้อย และ Mr.Philip D. Round   เด็กพากันชี้ชวนดูนกในห้องเรียนธรรมชาติที่ไม่มีกำแพงมาล้อมกรอบ อากาศดีโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ได้เดินออกกำลังกายพร้อมๆกันไปกับการเรียน ใครสนใจห้องเรียนกว้างๆแบบนี้บ้างไหมครับ?

ภาพหน้าปกหนังสือ A Guide to The Bird of Thailand จากเวปไซต์ทัวร์ทโมนของคุณปริญญา ผดุงถิ่น

ศาลาสามตาล

บ้านแสงจันทร์

สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ

   หลังจากช้าวเช้าพี่สิบบาทรุ่นพี่ของเด็กๆ เริ่มกิจกรรมให้พวกเขาได้วาดรูปนกที่พบเจอในยามเช้า  แอบๆมองดูน้องๆวาดกันได้สวยดีทีเดียวเชียว  ป๋าชินบอกว่าน้องๆต้องกลับไปเรียนพิเศษ หลายๆคนยังติดใจอยากที่จะอยู่ดูนกต่อก็มีเหมือนกัน  ห้องเรียนธรรมชาติกว้างๆ นกสื่อการสอนมีชีวิตที่งดงามทั้งรูปร่าง แง่มุมการดำรงชีวิต เอาตัวรอด นกยังเป็นครูให้เด็กอีกด้วย ป๋าชินและนายสิบบาทเพียง ทำหน้าที่เปิดประตูให้ ส่วนนักเรียนและรุ่นน้องมีหน้าที่แสวงหา สังเกต สรุปผล

   ส่วนผมเองนั้นก็แอบๆมีความหวังในใจว่า "พวกเขาคงได้อะไรดีๆจากห้องเรียนนี้ไปไม่มากก็น้อยละครับ"

เอ้า..ช่วยกันเก็บคนละไม้คนละมือ :)



ช่วยเอากระเป๋ากล้องของป๋าขึ้นรถที

   ขอลองสวมกล้องเข้ากับ ๓๐๐ เอพีโอของป๋าดูหน่อย   ขัดๆเขินๆใช้ไม่ค่อยเป็นแต่ก็ชอบด้วยความที่อยากจะลองถ่ายรูปนกมานานแต่ไม่มีตังค์ซื้อเลนส์เทเล   ลองถ่ายมั่วๆไปเรื่อย

ทางปาล์มก็เหอะขอลองหน่ิอยนะ



หมายเลขบันทึก: 239239เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2009 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ตามมาดูนกค่ะ แม้ยังไม่เห็นนก แค่เข้ามาในเขตุฯ ก็ดูร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ สงบ สงสัยจะมีนกมากนะคะ

ดีจังได้ไปกันทั้งครอบครัว

สวัสดีครับพี่นุช

ขอบพระคุณครับที่แวะมาเยี่ยมบ้านคนอยากเขียน

เมื่อวานนี้ไปรับรูปของอ.ปัณยาที่ใส่กรอบเรียบร้อย

ไปอวดคนนั้นคนนี้ แวะไปโฆษณาทริปกล้วยไม้น้ำ

ให้ครอบครัวเพื่อนๆของเป็ดน้อยฟัง(หาแนวร่วมเพิ่มน่ะครับ)

ได้มาแนวร่วมมาหนึ่งครอบครัว(แสดงว่ายังขายไม่เก่งเท่าไหร่ครับ)

แวะบ้านแม่ยายโม้เรื่องไปเที่ยวบ้านอ.ปัณยาให้ฟังเสียพักใหญ่

กลับมาถึงบ้านก็ดึกแล้วก็เลยได้ทำได้แค่โหลดรูปเก็บในเครื่อง

ย่อรูปไว้โพสท์ได้หกเจ็ดรูปก็นั่งจิ้มดีดโพสท์ใน G2K ที่เขตฯตอนนี้

โพระดกร้องระงมไปหมด อ.ชินเล่าให้ฟังว่าเขากำลังจับคู่กันครับผม

สวัสดีค่ะ

•หนูรีแวะมาเยี่ยมและมาขอบคุณที่ช่วยค้นข้อมูลเพิ่มเติมให้ ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ

•บล็อกนี้ภาพสวยดีนะค่ะ

•ขอบคุณค่ะขอให้มีความสุขมากๆๆ

  • ขอบคุณคุณหนูรีมากครับที่แวะมาเยี่ยมบ้านเป็ดน้อย
  • ชอบถ่ายรูป แม้ว่า องค์ประกอบภาพจะไม่ได้เรื่อง วัดแสงไม่แม่น แต่ถ่ายไว้ก่อนแล้วค่อยมาทำแล็บด้วยโฟโตชอบอีกทีครับ
  • จริงๆแล้วเรื่องข้อมูลนี่ผมก็อยากทราบเหมือนกันเลยลองหาดูครับ
  • ขอบพระคุณอีกครั้งครับ แล้วแวะมาเยี่ยมบ่อยๆนะครับ
  • แวะมาเยี่ยมค่ะ
  • สนใจเรื่องดูนกค่ะ กำลังหัดดู
  • เดือนนี้จะไปเรียนดูนกที่เขาใหญ่ค่ะ
  • สำหรับเรื่องที่ประท้วงมาเรื่องภาพในบล็อก กำลังจัดเตรียมค่ะ
  • ใส่ภาพประกอบเสร็จเมื่อไหร่จะแจ้งให้ทราบโดยด่วน
  • ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยม
  • ผมก็เพิ่งจะเริ่มดูเช่นกันแต่ก็เจ้ากี้เจ้าการอยากชวนชาวบ้านให้มาดูบ้างครับ
  • ปีนี้กลุ่มรักษ์ผีเสื้อชมรมนักนิยมธรรมชาติจะไปเดินศึกษาผีเสื้อในเขตป่ามรดกโลกดงพญาเย็นทั้ง ๕ ผืน หวังว่าคงจะไำด้พบกันนะครับ
  • ในการอบรมนักนิยมธรรมชาติของชมรมนักนิยมธรรมชาติเมื่อปีที่ผ่านมา(รุ่นที่ ๑๘)  ผมชอบเรื่องการสื่อความหมายธรรมชาติมากที่สุดเลยครับแม้ว่าจะทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไรก็ตาม  บ้านเรายังขาดการสื่อความหมายธรรมชาติอีกมากทำให้การท่องเที่ยวไปในธรรมชาติมีการทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  บางคนไปเที่ยวธรรมชาติแต่ไม่รู้ถึงความงาม ความหมายของธรรมชาติเลยคิดเพียงจะไปเปลี่ยนบรรยากาศดื่มกินเท่านั้น ดังนั้นเรื่องที่คุณจินตมาศนำเสนอจึงถูกใจและเพิ่มความรู้ให้ผมอีกหลายแง่มุมทีเดียว  ทีแรกก็ไม่ค่อยอยากจะอ่าน แหมก็มันมีแต่ตัวหนังสือนี่นะ    ทำรูปประกอบหน่อยนะครับผมว่ามันเชิญชวนให้คนอ่านมากขึ้น  ผมอยากให้เรื่องราวดีๆในการท่องเที่ยวกระจายไปสู่หลายๆกลุ่มผู้คน
  • นานๆทีจะเห็นเรื่องในหมวดของสิ่งแวดล้อมที่ G2K เข้ากับหัวข้อและโดนใจผมครับ
  • ขอบพระคุณครับแล้วจะรอชมภาพสวยๆนะครับผม
  • คุณจินตมาศครับ ผมสะดุดกับคำว่า Environmental care code มีรูปตัวอย่างให้ชมบ้างไหมครับ
  • โห มีดูผีเสื้อด้วย อยากร่วมกิจกรรมด้วยจัง
  • อ้อ มาแจ้งว่าใส่รูปให้แล้วค่ะ
  • คิดว่าบ้านเราก็คงมีการเรียนการสอนเรื่องการสื่อความหมายแต่อาจไม่เข้าถึงคนนำไปใช้ หรือประเภทคนเรียนไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้เรียน
  • มาเรียนครั้งนี้ทำให้เรียนรู้อะไรอีกเยอะ และรักธรรมชาติบ้านเรามากขึ้น อยากเรียนรู้มากขึ้นและอยากแลกเปลี่ยนก้บผู้อื่นด้วย
  • สำหรับ Environmental care code เป็นข้อกำหนดของการรักษาสิ่งแวดล้อมของนิวซีแลนด์ในการเข้าไปท่องเที่ยว เช่นรักษาพืชและสัตว์พื้นเมือง ไม่สระผมหรือใช้สารเคมีในแม่น้ำลำธาร ไม่ทิ้งขยะ คำนึงถึงผู้อื่น เคารพวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการย้ำเตือนคนไปเที่ยวก่อนเข้าไปเที่ยวอีกครั้ง
  • ตามไปชมแล้วรูปสวยเชียวครับ ผมชอบเจ้านกพิราบครับสีสวยดี 
  • อยากร่วมกิจกรรมกับกลุ่มรักษ์ผีเสื้อชมรมนักนิยมธรรมชาติยินดีต้อนรับครับผม ทางกลุ่มมีเวปไซต์ที่มีโดเมนเนมว่า www.savebutterfly.com ครับ
  • ที่ปรึกษาคือคุณเกรียงไกร  สุววรณภักดิ์ซึ่งพี่เค้ามีงานเขียนบลอคอยู่ที่โอเคเนชั่น http://www.oknation.net/blog/nakriang ด้วยครับ พี่เกรียงเขียนคู่มือเกี่ยวการดูกับผีเสื้อและแมลงไว้หลายเล่มเลยครับ เช่น หนังสือ ผีเสื้อ(คู่มือดูผีเสื้อในประเทศไทย)

  • ที่ อช.ปางสีดา เราก็มีสมาชิกอีกท่านคืออาจารย์สินธุยศ จันทรสาขา หรือชื่อในงวการของท่านก็คือหนานกะเบ้อครับ  อ.สินจะทำกิจกรรมกับกลุ่มปางสีดาโดยในช่วงเดือนมิถุนายนที่ปางสีดาจะมีงาน เทศกาลผีเสื้อปางสีดา   อ.สินจะรับหน้าที่เป็นวิทยากรในวันสุดสัปดาห์ของเดือนมิถุนายน  อาจารย์จะพาเดินชมผีเสื้อตามจุดต่างๆ  ท่านจะคอยบอกเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของผีเสื้อต่างๆโดยเฉพาะพวกที่มีชื่อ อยู่ในเทพนิยายกรีกนี่น่าสนใจมากครับ
  • การ สื่อความหมายธรรมชาติในประเทศไทยนี่ใช่ว่าจะไม่มีการนำไปใช้นะครับ ทางชมรมนักนิยมธรรมชาติใช้อยู่ครับ เราได้รับการถ่ายทอดจากครูใหญ่ของชมรมพี่ต้อยห้วยกุ่ม-คุณสุรชัย ท้วมสมบูรณ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ซึ่งเป็นต้นแบบของสำนักอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกหลายแห่งครับ  ป๋าชินแห่งชมรมสรรค์สร้างป่าสวยนี่ก็ถือได้ว่าได้รับการถ่ายทอดจากพี่ต้อย ซึ่งท่านก็ยังทำงานด้านนี้อยู่ที่เมืองชลอย่างเข้มแข็ง
  • ขอบคุณมากค่ะสำหรับข้อมูลดีดี
  • ขอคำแนะนำเรื่องกล้องส่องดูนก กับกล้องถ่ายรูปนกด้วยค่ะ
  • ตอนนี้ก็เริ่มหัดดูนกข้างบ้านไปก่อน ชักเริ่มสนุกแล้วค่ะ เมื่อวานเจอนกอีแพรดแถบอกดำ นกแซงแซว นกกางเขนบ้าน แถมด้วยนกขมิ้น ซึ่งเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกแถวนี้ ผี้เสื้อก็เริ่มมีมากแต่ยังไม่รู้จักชื่อ
  • ยินดีที่ได้รู้จักและหวังว่าจะได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยค่ะ
  • สวัสดีครับ ดีใจครับที่มีเพื่อนแวะมาเยี่ยมบ้านอีกครั้ง
  • ผมเองก็เพิ่งจะเริ่มหัดดูนกและผีเสื้อเช่นกันครับ กล้องดูนกไม่ทราบว่าสนใจกล้องสองตาหรือว่าสโคปครับ  ที่ผมใช้อยู่เป็นกล้องสองตามีสองตัวครับ  ตัวแรกเป็นยี่ห้อสวารอฟสกีรุ่น SLC. New 8*30 ส่วนตัวที่สองเป็นของ Olympus DPS I 8*40 ครับ ตัวแรกจะใช้เองไม่ค่อยให้่ใครยืมบ่อยนัก  ตัวที่สองนี่ซื้อเพราะว่าครอบครัวของเพื่อนลูกไปดูนกเลยต้องหาสำรองไว้ครับ 
  • กล้องสองตามี ๒ ประเภทตามลักษณะของปริซึมครับ
  1. Porro Prism เลนส์ชิ้นหน้าจะใหญ่กว่าเลนส์ใกล้ตา ระหว่างเลนส์ทั้งสองชุดมีปริซึมเป็นตัวหักเหแสง ทำให้ภาพกว้าง สว่าง และลำตัวกล้องสั้น  รูปร่างอาจจะเทอะทะไปบ้างแต่ราคาไม่แพงมากครับ  หมายเหตุ กล้อง Olympus DPS I ตัวนี้ไม่มีการ fill Nitrogen เพื่อกันชื้นนะครับ
  2. Roof Prism แบบนี้จะมีขนาดที่เล็กกะทัดรัดกว่าแบบแรก เนื่องจากใช้ปริซึมคู่หนึ่งต้งชิดกันย่นระยะหักเหแสง แต่ต้องใช้ความละเอียดปราณีตกว่าแบบแรกในการประกอบทำให้กล้ิองมีราคาสูงกว่า

ขอบคุณรูปกล้องสองตาจากเวปไซต์ทัวร์ทโมน และข้อมูลกล้องสองตาดัดแปลงจากหนังสือ "สนุกกับนก" โดยคุณรุ่งโรจน์ จุกมงคล พิมพ์โดยสนพ.สารคดี

  ความแตกต่างของกล้องยังอยู่ที่

  • ชนิดของเลนส์ และการเคลือบหน้าเลนส์ (Coating) มีผลต่อการดูนกในตอนเช้าตรู่และใกล้พลบค่ำที่มีแสงน้อย และความคลาดสีของวัตถุ
  • ชนิดของปริซึมที่ที่ใช้มีทั้งแบบ BaK-4 และ BaK-7
  • ระยะโฟกัสใกล้ บางครั้งเราเจอผีเสื้อใกล้ๆประมาณหนึ่งเมตรหากกล้องของเรามีระยะโฟกัสใกล้มากกว่าก็จะต้องถอยออกมากล้องทั้งสองตัวของผม Nearest focus ประมาณ 4 ม.ครับ
  • การ fill  Nitrogen ในตัวกล้องช่วยเรื่องกันการเป็น fog หน้าเลนส์เวลาอากาศชื้น การมียางโอริงกันน้ำ ความชื้น

   ไบนอคนั้นพกสะดวก ไล่สายตาตามนกที่เคลื่อนไหวได้ โครงสร้างแข็งแรง ส่วนสโคปนั้นราคาค่อนข้างแพงใช้เพื่อแยกรายละเอียดของนกที่สังเกตยากๆเช่นเหยี่ยวหรืออินทรี  หรือดูนกทุ่งนกน้ำนกชายเลนที่อยู่ห่างออกไปมากๆ  และยังต่อเข้ากับกล้องถ่ายภาพด้วยadapter ได้อีกกลายเป็น Digiscope

   ผมเองอยากได้สโคปไว้ให้เด็กๆได้ดูนก เพราะเด็กค่อนข้างจะลำบากในการจับไบนอคในการดูนกและการหาตำแหน่งของนก         ทีแรกอยากจะได้ของ Kenko แต่หาของยากตอนนี้เลยอยากได้ของ Nikon รุ่น Fieldscope 60 mm ED แทนครับ

   น้าเกรียง คุณเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์(www.oknation.net/blog/nakriang) แนะนำไว้น่าสนใจดังนี้ครับ

  1. ความจริงจังที่จะใช้งาน นานดูที หรือว่าจะใช้นานๆหลายปี
  2. งบประมาณที่ตั้งไว้
  3. กำลังขยายของกล้อง เช่น 8*30 เลข ๘ คือกำลังขยายของกล้อง ส่วน ๓๐ คือ Diameter ของเลนส์ชิ้นหน้าเป็นมิิลลิเมตร น้าเกรียงบอกว่ามือใหม่ไม่ควรจะใช้เกิน ๘ เท่าเพราะอาจจะเมากล้องได้ และหากหน้าเลนส์มากกว่า ๓๒ มม.แล้วจะทำให้เมื่อล้าจากน้ำหนักกล้องได้

ลองเลือกดูนะครับ ตัวของ Olympus EXWP I 8*42 ก็ใสดีนะครับเคยเห็นที่ Bigcamera ที่ระยองอยู่ที่ 4900 บาท ส่วน DPS I ก็ 2000 บาทครับ

     กล้องถ่ายนกนั้นถ้่าเป็นพวก DSLR นั้นเลนส์แพงมากครับ ทางยาวโฟกัสต่ำสุดที่เค้าใช้กันก็ ตั้งแต่ ๓๐๐ มม.แต่ก็ต้องอยู่ใกล้นกมากๆประมาณ ๔ ถึงไม่เกิน ๗ เมตรมั้งครับเห็นน้าเกรียงบอก แถมยังต้องนั่งรออยู่ในบังไพร ผมเองก็เคยยืมเลนส์ของอ.ชินใช้แค่ครั้งเดียวเอง  ไม่กล้าหามาใช้เหมือนกันเพราะกลัวเป็ดน้อยจะกินแกลบเอา  ไหนจะต้องหาขาตั้งกล้องอีกเลนส์พวกนี้หนักครับ  เคยมีคนใช้กล้องพวก compact ของ Olympus ที่มีกำลังขยายประมาณ ๒๐ เท่า เขาก็ว่าใช้ได้ดี แต่ผมไม่เคยลอง ราคากล้องคอมแพคพวกนี้ก็เอาเรื่องอยู่ประมาณเกือบๆสองหมื่น

  • คู่มือดูผีเสื้อโทรสั่งน้าเกรียงก็ได้นี่ครับ ประมาณ ๕๕๐ รวมค่าส่งแล้ว  ช่วยน้าแกระบายสต็อคก็ดีครับhttp://www.oknation.net/blog/nakriang/2007/11/12/entry-1
  • สวัสดีครับ หวังว่าคงจะมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมกันนะครับ

 

แวะมาเรียนรู้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

15-17 มกราคม 2553 เราจะพาเด็กๆมาดูนกที่นี่กันอีกสักรอบนึงครับ

ชวนครอบครัวไว้สามสี่ครอบครัว แอบหวังเล็กๆในใจว่าจะมีสักกี่ครอบครัวที่จะมาดูนกร่วมกับเรานะ 

สวัสดีค่ะ 14ปีผ่านไปแล้วไวมากเลยค่ะ ทางนี้คือเหล่าเด็กน้อยที่เรียกป๋าๆ เดินผ่านไปมาอยู่ในภาพค่ะ

เด็กน้อยในภาพตอนนี้อายุสามสิบกว่ากันแล้วค่ะ

วันหนึ่งเกิดคิดถึงป๋าและพี่ๆขึ้นมา จำได้ว่าเคยมีบลอคอยู่ เลยลองเซิจดู ไม่คิดว่าจะเจอแต่พอเจอแล้วดีใจมากเลยค่ะ

เมื่อเราโตแล้ว เหมือนความสุขจะหายากขึ้นนะคะ และพอได้อ่านบลอคนี้แล้วเหมือนได้ย้อนวันวานกลับไป ในวันที่เรามีความสุขแบบเรียบง่ายได้อีกครั้งเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท