การเมืองเรื่องสุนทรียะ ของ รองสิแยร์ ๔


ประชาธิปไตย/การเมือง

รองสิแยร์เห็นว่าการเมือง(the politics)ก็คือเรื่องของการตั้งคำถามต่อการแบ่งแยกการรับรู้ที่มีอยู่เดิมในสังคม ด้วยภาษาใหม่และการแบ่งแยกการรับรู้ชุดใหม่ โดยเฉพาะการแบ่งแยกการรับรู้ในเรื่องความเท่าเทียม การเมืองที่เกิดขึ้นบนฐานของการพูดคุยในปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยให้อิสระและระลึกถึงและเคารพในความเท่าเทียมที่ตน และผู้อื่นมี ด้วยการพร้อมที่จะฟังและพูดผ่านการแบ่งแยกการรับรู้ของกันและกันจึงเป็นสังคมการเมืองที่มีความเป็นการเมือง(the political) ซึ่งสำหรับรองสิแยร์แล้วสังคมการเมืองที่มีความเป็นการเมืองนั้นเป็นไปได้เฉพาะในสังคมการเมืองประชาธิปไตย แต่ก่อนอื่นรองสิแยร์เองก็ชี้ให้เห็นว่าสังคมการเมือง ประชาธิปไตย ดังที่พูดถึง/คิดถึงกันอยู่นั้นมีปัญหาเช่นกันดังกล่าวข้างต้นว่าในประชาธิปไตยของโลกสมัยใหม่นั้นก็คือเรื่องฉันทามติ(consensus)เป็นวิธีการของสังคมการเมืองประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ใช้ในการกีดกันความเห็นที่แตกต่างออกไป ผ่านภาพของการทำให้เห็นว่าฉันทามตินั้นเป็นเป็นความเห็นสาธารณะ

สำหรับสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยสมัยใหม่ นั้นหากกล่าวให้ชัดเจนก็ต้องเรียกว่าแนวคิด เสรีประชาธิปไตย หรือก็คือความคิดทางการเมืองการปกครองประชาธิปไตยที่ผนวกเข้ากับฐานคิดแบบเสรีนิยม และรัฐ-ชาติ(nation-state) ที่อำนาจอธิปไตย(sovereignty)มีที่มาจากประชาชนที่มีความคิดแบบมีเหตุมีผล(rationality)เพียงพอที่จะยอมรับกฎเกณฑ์ในการปกครองที่เห็นว่าสมเหตุสมผล(justification) ขณะเดียวกัน ประชาชน ก็ยังถูกพูดถึง/คิดถึงในระดับ ปัจเจกบุคคล(individual)” ที่แตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะในเรื่องความต้องการ(needs)ที่ไม่เท่ากัน ประชาชนจึงสามารถถูกตอบสนองด้วยการ แบ่งแยกให้มีทางเลือกต่างๆมากมาย โดยที่ต่างคนก็ต่างคิด/ถูกทำให้คิดว่ามีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกอย่างอิสระ, เท่าเทียม และเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลดความขัดแย้งในสังคมการเมืองไปในตัว ในขณะเดียวกันรัฐเองก็ต้องมีความ เป็นกลาง ที่จะจัดสรรทางเลือกของความต้องการให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม และรัฐต้องไม่มี ตื้นลึกหนาบาง กับปัจเจกชนคนใดหรือกลุ่มใดเป็นพิเศษ ปัญหาที่ตามมาคือหากเมื่อประชาชนสามารถพูดถึง/คิดถึงในระดับปัจเจกชนที่แตกต่างหลากหลายแล้ว รัฐจะตอบสนองให้ครอบคลุม ปัจเจกบุคคล ได้อย่างไร[1] สิ่งที่ถูกคิดขึ้นมาตอบโจทย์นี้ก็คือฉันทามติ(consensus)นั่นเอง

  ดังกล่าวมาแล้วว่าสิ่งที่ประชาธิปไตยหวาดกลัวที่สุดก็คือการที่อำนาจการตัดสินใจในการสาธารณะตกไปอยู่ในมือของคนเพียงคนเดียวหรือสมาชิกของสังคมการเมืองกลุ่มเล็กๆเพียงกลุ่ม เดียว ฉันทามติคือหลักการที่รัฐต้องตอบสนองความต้องการของแต่ละประชาชน/ปัจเจกบุคคลในส่วนที่ต้องการเหมือนๆกัน ฉันทามติจึงเกิดขึ้นพร้อมๆกับเสรีประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันคำถามที่ตามมาคือ ฉันทามตินั้นเป็น ประชาธิปไตย ในลักษณะใด/ตรงไหน จะแน่ใจได้อย่างไรว่าฉันทามติไม่ใช่การแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ของเผด็จการเสียงข้างมาก ความเงียบ(การไม่แสดงออกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับฉันทามติ)จะถูกรัฐนับรวมในรูปแบบใด ฯลฯ และกระทั่งรัฐเป็นกลางจริงหรือไม่[2] และต่างๆเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่รองสิแยร์ตั้งคำถามด้วยเช่นกัน

สำหรับรองสิแยร์แล้วฉันทามติคือตัวอย่างที่ดีของการไม่มีการเมือง เพราะฉันทามตินั้นในที่สุดแล้วก็อาจเป็นการการบอกว่าความเห็นใดถูกนับรวม(inclusion) และความเห็นใดที่ถูกคัดออก(exclusion) การนับที่เกิดขึ้นจากการทำฉันทามติ แม้จะด้วยการใช้ความเท่าเทียมเป็นตัวตั้ง แต่ทว่าความเท่าเทียมนั้นก็พูดถึง/คิดถึงอย่างตัดขาดออกจากความแตกต่างหลากหลายของสมาชิกในสังคมการเมืองในสภาพเป็นจริง และการกันความเห็นออกไปนี้ก็คือการสร้าง ส่วนที่ไม่ถูกนับรวม ขึ้นในสังคม เป็นการสร้างอะไรบางอย่างให้เป็นเหมือนเขตแดนที่กางกั้นไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองเข้ามาแสดงตัวในพื้นที่ทางการเมือง และกระบวนการเช่นนี้ก็เป็นกระบวนการทำงานของตรรกะของการตรวจตรา/ตำรวจแบบหนึ่ง ประชาธิปไตยที่เอาฉันทามติเป็นตัวกำหนดการเป็นไปในการบริหารจัดการจึงเป็นประชาธิปไตยที่รองสิแยร์ไม่ถวิลหา เนื่องด้วยรองสิแยร์เห็นว่าเป็นเพียงกระบวนการจัดการแบบศาสตร์ของการจัดการทุกสิ่งทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียว(science of the whole) รองสิแยร์เรียกประชาธิปไตยที่ปฏิเสธการไม่นับรวมส่วนใดส่วนหนึ่งแม้ส่วนเดียวในสังคมการเมืองภายใต้วาทกรรมอย่างฉันทามติว่า หลังประชาธิปไตย(postdemocracy)”ที่ทุกๆความเห็น, ทุกๆอัตลักษณ์ต้องได้รับความสนใจ[3]

          สังคมการเมืองที่รองสิแยร์เรียกว่าหลังประชาธิปไตยนี้ จึงเป็นพื้นที่ที่สามารถเกิดความเป็นการเมืองขึ้นได้ เพราะเมื่อทุกภาคส่วนของสังคมการเมืองถูกพูดถึง/คิดถึงอย่างเท่าเทียมกันอย่างเป็นอัตวิสัย การพูดคุยถกถียงอย่างไม่ลงรอยกันจะสามารถสรรสร้าง ประชาธิปไตย ให้กับชีวิตทางการเมืองของสมาชิกของสังคมการเมืองได้ ในกรณีเช่นนี้รองสิแยร์จึงกล่าวว่าในสังคมการเมืองที่มีความเป็นการเมืองเท่านั้นจึงจะเป็นสังคมประชาธิปไตย อย่างที่ควรจะเป็น การเมืองจึงดำรงไปกับประชาธิปไตย และประชาธิปไตยก็จะมีไม่ได้หากไม่มีการเมือง สังคมการเมืองเช่นนี้จึงอาจเรียกได้สั้นๆว่าคือ ประชาธิปไตย/การเมือง

มีต่อ http://gotoknow.org/blog/iammean/237911

[1] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, บทวิพากษ์ปรัชญา/ตรรกะของระบอบเสรีประชาธิปไตย,

[2] Anthony Arblaster, ibid, p. 86 – 90.

[3] Jacques Rancière, ibid, p. 102 - 106, 115 - 116.

หมายเลขบันทึก: 237909เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท