เล็งลดภาษีนิติบุคคล 20 มี.ค.เริ่มแจก อสม.


ประชุม กรอ.หวานหยด

ประชุม กรอ.หวานหยด "มาร์ค" รับปากทุกข้อเสนอเอกชน เล็งลดภาษีนิติบุคคลในระยะกลาง-ยาว กองทุน5 หมื่นล้านอีก 2 สัปดาห์ชัดเจน "สศค." เอาใจรัฐเต็มสูบ แนะให้กู้ฟื้นเศรษฐกิจ คาดปี  53  หนี้ต่อจีดีพี 42%อ้างประเทศต่าง ๆ มีหนี้ 60% ญี่ปุ่น 120% ยังไม่มีอะไร  "นายกฯ" ว้ากนักวิชาการ ไม่มีทางเข้าไอเอ็มเอฟแน่ เตรียมกดปุ่มแจก 600 บาท ให้ อสม. 20 มีนาคมนี้

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2552 โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยภายหลังการประชุมได้กล่าวว่า ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งมีหลายข้อเสนอที่ได้ทำไปแล้ว ส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมเรื่องภาษีและการท่องเที่ยว ก็จะหาช่องทางกระตุ้นเพิ่มมากขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปดูว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน "มีการพูดกันมากคือเรื่องแรงงานในโครงการป้องกันไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง กับการอบรมให้ตรงจุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำงานคู่ขนานกันต่อเนื่อง และความห่วงใยเรื่องแรงงานสัมพันธ์"

นายกฯ ยังได้ตอบโต้นักวิชาการที่วิจารณ์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอาจพาชาติกลับเข้าสู่ยุคไอเอ็มเอฟรอบ 2 ว่า ไม่มี ดูอย่างละเอียดรอบคอบอยู่แล้ว การนำเงินคืนสู่กระเป๋าไม่ได้ใช้ทุนสำรองที่มีอยู่ ส่วนข่าวที่บอกว่ารัฐบาลเป็นหนี้สาธารณะนั้นไม่เป็นความจริง   ตัวเลขที่ออกมาได้คิดก่อนที่จะกำหนดจำนวนเงินของงบกลางปี   บวกกับโครงการการแทรกแซง  อย่างเรื่องพืชผลทางการเกษตรก็ได้ดูตัวเลขก่อนแล้ว  เนื่องจากต้องไม่ทำให้เกิดความเสี่ยง ฉะนั้นเรื่องเป็นหนี้ไอเอ็มเอฟจะไม่เป็นปัญหาแน่นอน

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีมติแจกข้าวสารบรรจุถุงให้ผู้ประกันตนว่ายังไม่ได้สอบถามผู้เกี่ยวข้องเข้าใจว่ามีคณะกรรมการที่จะพิจารณา แต่จะสอบถามรายละเอียดอีกครั้งว่าเอาเงินมาจากไหน ดำเนินการอย่างไรนายพุทธิพงษ์   ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุม กรอ. ว่า นายกฯ เห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จึงเห็นชอบให้ประชุม กรอ.เป็นประจำทุก  2-3  สัปดาห์ต่อเดือน ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องเร่งด่วนหลายเรื่อง อาทิ 1.การสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและความโปร่งใส ซึ่งให้ภาคเอกชนรับไปประมวลประเด็นปัญหา และนำเสนอต่อ กรอ.ต่อไป  2.มาตรการเสริมสร้างสภาพคล่องได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา ทั้งเรื่องการเร่งรัดการคืนภาษี และกองทุนดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟต์โลน)ที่เอกชนเสนอให้ตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาท โดยไม่เกิน 2 สัปดาห์น่าจะชัดเจน  3.มาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงาน ระยะสั้นได้มอบให้กระทรวงแรงงาน ส่วนระยะปานกลางและระยะยาวได้มอบหมายให้เอกชนหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน และเสนอ กรอ.ต่อไปส่วนข้อเสนอการเพิ่มค่าหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา กระทรวงการคลังจะรับไปพิจารณา และนายกฯ ยังได้รับปากว่าจะพิจารณาเรื่องลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่เป็นมาตรการระยะกลางและยาว  โดยมอบให้กระทรวงการคลังเช่นกันนายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังรับหลักการให้พิจารณาสลับหรือเลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ ให้เป็นวันหยุดต่อเนื่องกับวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมอบให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณารายละเอียด นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการพัฒนาโลจิสติกส์ ซึ่งนายกฯ จะเป็นประธาน  2.คณะกรรมการ กรอ.ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยให้กระทรวง มหาดไทยหารือกับภาคเอกชน เพื่อกำหนดโครงสร้างและรูปแบบการทำงานร่วมกัน 3.คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) และ  4.คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เอกชนพอใจว่ารัฐบาลออกมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็ว โดยข้อเสนอ กรอ.ครั้งนี้ 80% ของข้อเสนอทั้งหมดเป็นมาตรการที่ ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้ว รอเพียงกระบวนการบังคับใช้นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่เอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ 1.การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นรูปธรรม 2.การสร้างสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจเพิ่มเติม   เพราะมาตรการภาษีที่อนุมัติไปแล้วยังไม่เพียงพอ  และ 3.มาตรการดูแลการเลิกจ้าง ที่ต้องการให้มีการตั้งศูนย์เบ็ดเสร็จในระดับจังหวัดเพื่อดูแลแก้ปัญหาแรงงานนายสันติ   วิลาสศักดานนท์  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอเอกชนทั้งหมด โดยการลดภาษีนิติบุคคลนั้น นายกฯ ระบุว่าเป็นนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว แต่จะเป็นระยะกลางและยาว ส่วนการสร้างความเชื่อมั่นก็จะจัดโรดโชว์ในต่างประเทศนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ผลการหารือใน กรอ.ถือว่าน่าพึงพอใจ เนื่องจากรับข้อเสนอเอกชนทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างภาษีนิติบุคคลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้วิเคราะห์ถึงมาตรการของรัฐบาลว่า จะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจไทยซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2552 นี้ สามารถขยายตัวได้มากกว่ากรณีฐานที่คาดไว้ที่ 1% ต่อปี เพราะมาตรการจะช่วยกระตุ้นการบริโภค และมีการลงทุนภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ก็มีผลกระทบต่อฐานะการคลังในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค โฆษก สศค. กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เครื่องมือหนึ่งในการระดมเม็ดเงินคือการกู้เงินจากต่างประเทศซึ่งปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่สัดส่วน 36% โดยมติ ครม.เคยกำหนดเพดานไว้ที่สัดส่วน  50%  โดยหากรวมทุกมาตรการที่รัฐบาลออกมา คาดว่าในปี 2553 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ในสัดส่วน 42% "สัดส่วนนี้สาธารณะต่อจีดีพีสามารถสูงขึ้นได้ถึง 60% ต่อจีดีพี ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้กัน นอกจากนี้ไทยก็เคยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงถึง 60% มาแล้ว" นายเอกนิติกล่าวเขาระบุว่า  เพดานหนี้สาธารณะที่  50% เป็นเพียงมติ ครม.สมัยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อวิกฤติต้มยำกุ้งปี  2540  ซึ่งหนี้สาธารณะบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ก็สูงถึง 120% ต่อจีดีพี ญี่ปุ่นก็ไม่เจอวิกฤติ ซึ่งมติ  ครม.สามารถยืดหยุ่นได้มากกว่าพระราชบัญญัติงบประมาณ ที่กำหนดสัดส่วนของการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ไม่เกิน 20% ซึ่งถือเป็นเรื่องของวินัยทางการเงินนายเอกนิติกล่าวต่อว่า ปัจจุบันจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เพราะเศรษฐกิจเหมือนเครื่องบินที่กำลังจะโหม่งโลก แล้วจะปล่อยให้เป็นหรือ ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสกู้หนี้เพื่อนำหนี้นั้นมากระตุ้นเศรษฐกิจ แม้หนี้จะสูงขึ้นจริง แต่ถ้าสามารถทำให้จีดีพีสูงขึ้นตาม ก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน สุดท้ายก็จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงได้ในที่สุดโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า  ในระยะถัดไปจะเริ่มเห็นมาตรการกึ่งการคลัง คือบทบาทของสถาบันการเงินของรัฐในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และภายในปีนี้ยังจะมีมาตรการระยะกลางและยาวมาอย่างต่อเนื่องนายเอกชัย  นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School กล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลจะผลักดันจีดีพีเติบโตอย่างมากที่สุด 2.28% ไม่ถึง 2.5-3% เพราะมาตรการภาษีเห็นผลน้อยกว่ามาตรกระตุ้นการบริโภคส่วนมาตรการถัดไปที่รัฐต้องนำมาใช้คือการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ แต่ควรเป็นการลงทุนในลักษณะซอยย่อยโครงการเพื่อลดเม็ดเงินด้านนายสุกิจ อุดมศิริกุล  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวเช่นกันว่า มาตรการต่าง ๆ จะผลักดันให้จีพีดีมีการเติบโตเพียง 0.6% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ หรือประมาณ  0-2% แต่หากรัฐบาลไม่กระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนเพิ่ม ก็จะทำให้ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปทาง 0% มีเพิ่มขึ้น และประเมินว่ารัฐบาลต้องใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 4-5  แสนล้านบาท  เพื่อผลักดันจีดีพีให้เติบโตถึง 2.5-3%ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังปาฐกถาที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "ประเทศไทยกับการพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์" ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรอบ 2 ดีกว่ารอบแรก เพราะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น และส่งผลดีไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  แต่ยากที่จะบอกว่ามาตรการที่รัฐบาลนำออกมาใช้นั้นเพียงพอหรือไม่ ซึ่งก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย  "รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการปัญหาการจ้างงานมากกว่านี้   เพราะเชื่อว่าจะมีผลกระทบมาก  ซึ่งการจัดสรรงบแค่ 7,100 ล้านบาท จากงบประมาณกลางปีกว่า 115,000  ล้านบาทนั้นคงไม่พอ  น่าจะได้รับการจัดสรรถึง  50% ของงบกลางปีทั้งหมด "ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว และว่า ส่วนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้น  น่าจะเน้นไปที่ประชาชนมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพราะภาวะการส่งออกลดลง ไม่จำเป็นต้องปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการมากนักวันเดียวกันที่โรงแรมมิราเคิล  นายวิทยา  แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศ 300 คน เพื่อเตรียมความพร้อมยกระดับ อสม.นายวิทยาได้กล่าวว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ในปี 2552 เพื่อเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ใช่เงินเดือน และเป็นขวัญกำลังใจ  ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่   จำนวนกว่า 830,000 คนทั่วประเทศ โดยให้คนละ 600 บาทต่อเดือน โดยงบประมาณดังกล่าวจะจ่ายให้เดือน เม.ย.-ก.ย.2552  และหลังจากนั้นรัฐบาลจะจัดหางบก้อนใหม่มาให้เป็นค่าตอบแทนในปีต่อไปนายวิทยากล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 19-21  มี.ค.นี้ กระทรวงจะจัดงานครบรอบ 90 ปี ที่อิมแพ็ค  เมืองทองธานี และในวันที่ 20 มี.ค. ยังเป็นวัน อสม.แห่งชาติ และเป็นวันครบรอบ 30 ปีของ อสม. ซึ่งได้เชิญนายอภิสิทธิ์มาเป็นประธานเปิดงาน และทำการกดปุ่มเริ่มจ่ายค่าตอบแทนให้กับ อสม.ทั่วประเทศด้าน นายไพทูรย์  บุญอารักษ์ ประธานชมรม อสม. กล่าวว่า จากการพูดคุยกับแกนนำ อสม.ทั่วประเทศไม่อยากให้โอนเงินผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจากขั้นตอนการเบิกจ่ายยุ่งยาก จึงขอเสนอให้โอนเงินผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  (สสจ.)  แต่ขอเรียนว่า แม้ไม่มีค่าตอบแทน อสม.ทุกคนก็ทำงานอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเงินมาให้ก็อยากให้ไปถึงมือผู้ปฏิบัติงานจริง โดยคนที่ทำงานเท่านั้นสมควรที่จะได้รับเงิน  ต่อไปใครที่เข้าไปทำงานในหมู่บ้านต่างๆ  คงจะต้องให้ชาวบ้านเซ็นชื่อกำกับว่าได้ปฏิบัติงานจริง ๆ เพื่อเป็นหลักฐานในการรับเงิน

ไทยโพสต์ 22 มกราคม 2552

หมายเลขบันทึก: 236656เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท