ของเก่ากับของใหม่ในเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 3) ชื่อวงกับเรื่องราวที่นำเสนอไปกันคนละทาง


อย่าทำไปเพราะความต้องการที่จะทำเพียงเท่านั้น แล้วเยาวชนที่เสียสละเวลามาให้กับงานตรงนี้ เขาจะได้อะไรติดตัวไป

ของเก่ากับของใหม่

ในเพลงพื้นบ้าน

(ตอนที่ 3) ชื่อวงกับเรื่องที่นำเสนอ

ไปกันคนละทาง

ชำเลือง มณีวงษ์ (รายงาน)

           ก่อนที่ผมจะเล่าเรื่องราว  ของเก่ากับของใหม่ในเพลงพื้นบ้าน  ตอนที่ 3  ชื่อวงเรื่องที่นำเสนอไปกันคนละทาง วันนี้ตรงกับวันที่ 20 มกราคม 2552 เป็นวันที่ 3 ของงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี กำหนดให้มีงาน 15 วัน 15 คืน คือ ไปสิ้นสุดงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ผมได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ร้านของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ตลอดงาน และอยู่ใกล้ ๆ กับเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดสุพรรณบุรี เวทีนี้ เป็นเวทีแห่งการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (น่าจะเน้นของไทย ๆ แต่กลับมิได้เป็นเช่นนั้นเสียเลยทีเดียว)

         

           (บรรยากาศ ในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ยามค่ำคืน  วันที่ 18 มกราคม 2552  เวลาค่ำ)

         

         เมื่อผมพอมีเวลาก็เลยเดินไปชมการแสดงของนักเรียนบ้าง การแสดงบนเวทีศิลปวัฒนธรรมปีนี้ รายการแสดงในแต่ละชุด ได้รับการคัดสรรมาจากคณะกรรมการแล้ว บรรยากาศด้านหน้าเวที มีผู้ชมเข้าไปนั่งชมให้กำลังใจนักแสดงพอสมควร (น้อย) ยิ่งในคืนที่ผ่านมา รายการแสดงรายการหนึ่ง กำหนดว่าเวลาแสดงเริ่มตั้งแต่ 21.15 -24.00 น. ผมเดินไปดูตอน 22.45 น.ไม่มีการแสดงแล้วน่าเสียดายในหลายๆ อย่างที่ต้องสูญเสียไป

สำหรับในคืนวันนี้ วันที่ 20 มกราคม 2552 ตั้งแต่เวลา 20.30-24.00 น. เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ทำการแสดงอยู่ที่ ลานตากข้าว มาลีพันธุ์ข้าว บ้านหนองแดง อยู่ติดกับถนน 4 เลนส์ ใกล้ที่ทำการ อบต.ไร่รถ  อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี คุณสุมาลี สอดสี (ผู้ติดต่องาน)

(ภาพล่าง) การแสดงในงานปิดทองหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ อำเภอเมือง สุพรรณบุรี)

 

ชื่อคณะขึ้นป้ายแขวนไว้หน้าเวทีว่า นาฏดนตรีหรือลิเก เรื่องที่นำเสนอก็คงจะเป็นการแสดงนาฏศิลป์กึ่งพื้นบ้าน ผูกเป็นเรื่องราวให้ผู้ชมติดตามตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนจบมีทั้งความสนุกสนาน ประทับใจในหลากรส  ในบางบทบางตอน ท่านผู้ชมก็ได้รับความสุข สมใจที่ได้ติดตามชมการแสดง เก็บเอาภาพที่ได้เห็นติดตาไปคิดยามหลับนอน ชวนให้ฝันถึงการแสดงที่ถูกใจไปอีกนาน

ชื่อคณะขึ้นป้ายเอาไว้ว่า ลำตัดคณะสายเลือดสุพรรณฯ เรื่องราวที่นำเสนอก็น่าที่จะเริ่มต้นด้วยการแสดงร้องเกริ่นหน้ากลอง (รำมะนา) ไปจนเล่นเป็นเรื่อง ลำตัดเป็นการแสดงที่มาจากมุสลิม ทางภาคใต้ของประเทศไทย หรือมาจากมาลายู นิยมร้องกันหลายภาษา 10-12 ภาษา ต่อมามีการดัดแปลงเป็นร้องเร็ว ใช้คำร้อง 8 คำ ร้องโขยก มีการให้จังหวะตีคลอไปด้วย ลำตัดเป็นการแสดงพื้นบ้านที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน

ชื่อวงแจ้งให้ทราบว่าเป็นการแสดงเพลงอีแซว คณะเพลงอีแซว วงเพลงอีแซว รูปแบบเรื่องราวที่แสดงก็น่าที่จะเป็นการนำเสนอในแนวทางของเพลงอีแซว หรืออาจจะมีเพลงพื้นบ้านปะปนผสมผสานเข้าไปบ้างก็น่าที่จะยอมรับได้ แต่มิใช่นำเสนอเพลงอีแซว แต่กลับนำเอาการละเล่นอื่นมาแสดงจนกลบภาพของศิลปะพื้นบ้านประเภทเพลงอีแซวจนแทบจะมองไม่เห็นเอกลักษณ์

 

การแสดงเพลงพื้นบ้านของเก่า เขาจะเล่นเพลงใดเพลงหนึ่งกันล้วน ๆ ถ้าเป็นวงเพลงอีแซวก็เล่นเพลงอีแซวตั้งแต่ต้นจนจบการแสดง และที่สำคัญในยุคก่อน ๆ ของเก่าเขาไม่แยกคนดูคนเล่นเพลง ใครมีความสามารถก็เข้าไปร้องหรือเดินเข้าวงไปร่วมร้องร่วมแสดงได้ พอเหนื่อยก็ออกไปนั่งพัก หายเหนื่อยก็เข้าไปเล่นต่อจนสว่างคาตา

เมื่อศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านปรับเปลี่ยนมาเป็นมหรสพ มีผู้จ้างวานหาไปแสดงในงานต่าง ๆ จึงมีการนำเอาการละเล่นอื่นเข้าไปผสมผสาน เพื่อให้ผู้ชมได้รับอรรถรสจากการแสดงที่ไม่น่าเบื่อหน่าย คณะการแสดงลำตัด เล่นกลอนลำตัดเกือบทั้งหมดตลอดเวลาการแสดงแต่ก็มีการสอดแทรก เพลงฉ่อย เพลงขอทานเข้าไปในตอนที่มีเงื่อนไขเหมาะสม เป็นการเสริมให้การแสดงหลักดูโดดเด่น

 

ส่วนของใหม่ ในวันนี้ เปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งชื่อวง เนื้อหาที่นำมาแสดง เช่น

- ป้ายงานบ่งบอกว่า เป็นการแสดงลำตัด แต่เนื้อหาที่นำเสนอจริง ๆ เป็นการแสดงลำตัดเพียง 10 นาที เพลงฉ่อย 10 นาที เพลงอีแซว 10 นาที เพลงลูกทุ่ง (ร้องเล่น 5-7 นาที) เมื่อการแสดงจบลง ผมเลยไม่เข้าใจว่า ทำไมใช้ชื่อชุดการแสดงว่า ลำตัด น่าที่จะหาชื่อ ที่เป็นองค์รวมให้ดูเหมาะสมกับหัวข้อมากกว่า

- ป้ายที่ฉากหลังเวทีการแสดงบอกว่า เป็นการแสดงวัฒนธรรมของเยาวชน เพลงอีแซว แต่คณะเพลงบางวง นำเสนอเพลงอีแซวในช่วงต้น ๆ เล็กน้อยต่อจากนั้นเปลี่ยนไปเป็นร้องเพลงลูกทุ่งเต้นกันอย่างสนุกสนานโดยไม่มีการเชื่อมต่อเรื่องราวให้ดูไปด้วยกันได้ แถมบางวงมีการนำเอาละเล่นหลายอย่าง เข้ามาแทรกเอาไว้อีกด้วย

- ป้ายชื่องานบอกว่า เป็นเวทีการแสดงเพลงอีแซว แต่การนำเสนอผลงานกลับเป็นการผสมผสานเพลงพื้นบ้านหลาย ๆ อย่าง จนลืมเอกลักษณ์ของงานที่ผู้จัดตั้งใจนำเสนอศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของจังหวัดสุพรรณบุรี (เล่นไปตามที่ใจอยากจะเล่น)

(ภาพที่หน้าเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรม งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ วันที่ 18 มกราคม 2552)

(ภาพที่หน้าเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรม งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ วันที่ 19 มกราคม 2552)

แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อที่จะทำให้ศิลปะการแสดงของท้องถิ่นเรา ยังคงรักษารูปแบบ ความเข้มข้นและเนื้อหาใจความในการแสดงเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไปได้ ความเป็นจริงหากเรามีจุดยืนที่เด็ดเดี่ยว พยามที่จะค้นหาตนเองให้พบได้ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากการลอกเลียนแบบวงเพลงที่เราศรัทธา ต่อจากนั้นก็คิดหาวิถีทางเพื่อแยกออกไปค้นหาจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นต้นว่า

- มีความสามารถในการแสดงได้อย่างต่อเนื่องและน่าติดตามเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง

- สามารถโชว์เสียงร้องที่สดใจและนุ่มนวล ใช้ภาษาไทยได้อย่างชัดถ้อยชัดคำน่าฟัง

- ผู้แสดงมีคุณภาพที่ดูโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจริง ๆ ที่ต้องติดตามชม

- สามารถแสดงออกหรือกระทำในสิ่งที่คณะการแสดงวงอื่น ๆ ทำไม่ได้

  (เต้น, ด้นสด, ท่าทางตลก, ร้องเพลงได้หลายแนว, เลียนแบบ เลียนเสียงคนดัง)

- ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบนเวทีการแสดงอย่างคาดไม่ถึง

 

ผมยอมรับว่าศิลปะการแสดงในแต่ละท้องถิ่น ยังเป็นที่ต้องการของสังคมในท้องถิ่นนั้น ๆ เพียงแต่ว่า จะทำอย่างไรให้รูปแบบของการแสดงเข้าไปอยู่ในหัวใจผู้ชม สนองความต้องการของสังคมให้ได้ตรงประเด็นจริง ๆ มิใช่ทำไปเพราะความต้องการที่จะทำเพียงเท่านั้น แล้วเยาวชนที่เสียสละเวลามาให้กับงานตรงนี้ เขาจะได้อะไรติดตัวไป

 

 

นายชำเลือง มณีวงษ์  ศิลปินดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ (พุ่มพนมมาลา) ปี 2547

หมายเลขบันทึก: 236293เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2009 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ตามมาอ่าน

แวะมาทักทายอ.ชำเลืองค่ะ

สบายดีนะคะ

(^__^)

ขอขอบคุณ คนไม่มีราก

สบายดี ครับ อาจารย์ ผมยังไปร่วมกิจกรรมการแสดงกับเด็ก ๆ อยู่ทุก ๆ งาน ในช่วงนี้มีงานแสดงติดต่อกัน 9 คืน และเป็นการบันทึกเทปโทรทัศน์ดาวเทียมด้วย ที่ งานปิดทองฝังลูกนิมิต วัดสระพังกร่าง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 23-31 มกราคม 2552 ครับ

เป็นกำลังให้นะคะ

รักคุณพ่อที่สุดเลยค่ะ

ขอชื่มชมและ สนับสนุน การอนุรักษ์ศิลปะความงดงามของวัฒนธรรม ศิลปะพื้นบ้านให้คงอยู่ค่ะ

แวะมาทักทาย

มีความสุข มีกำลังใจดีๆเสมอๆนะคะ

Prattana

  • ได้รับกำลังใจจากหนูแล้ว มีความสุขขึ้นเป็นกอง
  • พ่อก็รักลูกทั้ง 2 คน ที่สุดของชีวิตเช่นกัน
  • ขอให้มีควาสุขกับการทำงานในหน้าที่ของเรายิ่งขึ้นต่อไป

คุณ สายธาร

  • ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจ คนทำงานสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญา
  • ยังมีกำลังและใจยังสู้ ทำต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ครับ
  • ศิลปะพื้นบ้าน แสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้ดีทีสุดแขนงหนึ่ง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท