แจกเพลินเล็งล้วงงบ 53


"มาร์ค" ได้โอกาสสปีคอิงลิชอีกแล้ว

มาร์ค" ได้โอกาสสปีคอิงลิชอีกแล้ว แจงมาตรการฟื้นฟูต่อหน้านักลงทุนต่างชาติกว่า 650 นาย ฟุ้งไฟแลบทำงานเพื่อคนทุกภาคส่วน แพลมมีแผนระลอกสองไว้รองรับ หากไตรมาส 3-4 เศรษฐกิจยังลูกผีลูกคน ทั้งกู้เงินต่างประเทศนำเงินงบประมาณปี 53 มาใช้ก่อนกำหนด ให้คลังเล็งหาแหล่งเงิน ปัดยังไม่กำหนดตัวเลขแสนล้าน "เอกชน" เชียร์ให้ทำบ่อย ๆ นัด 27 ม.ค. โม้อีกรอบกับ "อุปทูต-กรอ."

ในช่วงวันจันทร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในช่วงกลางวันได้มีนัดหมายร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนักลงทุน พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน  "นายกรัฐมนตรีพบนักลงทุน"   ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 650 คนเข้าร่วม  โดยก่อนหน้านั้นนายเคียวจิ  โคมาจิ  เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้นำนายมิชิตากะ นากาโตมิ ประธานกรรมการองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร)  และนายฟูกุจิโร  ยามาเบะ  ประธานหอการค้าญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ พร้อมคณะเข้าเยี่ยมคารวะ ซึ่งนายกฯ ได้ยืนยันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยแบบเร่งด่วนและระยะยาว รวมถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้ชื่นชมนโยบาย แต่ก็ได้ฝากเรื่องปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีปัญหาจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจด้วย

หลังจากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้ปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ "เราชนะสิ่งท้าทายได้อย่างไร" ต่อหน้านักลงทุนเป็นภาษาอังกฤษตอนหนึ่งว่า รัฐบาลยังยึดแนวทางให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีรัฐบาลให้ความมั่นใจที่จะทำให้เศรษฐกิจในระยะกลางและยาวยังขยายตัวต่อไป รวมทั้งการเร่งออกมาตรการให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เพราะมีแผนกู้เงินเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป "ขอให้นักลงทุนมั่นใจในความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาล เพราะหลังเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 11 ม.ค. รัฐบาลก็มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งประเทศเดินมาไกลแล้ว รวมทั้งรัฐบาลใช้วิธีสมานฉันท์ ไม่แบ่งกลุ่ม แบ่งพวก ไม่เลือกว่าคนคนนั้นใส่เสื้อสีใด รัฐบาลจะทำงานให้กับทุกคน ไม่ว่าจะสนับสนุนรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม" นายอภิสิทธิ์ให้ความมั่นใจกับนักลงทุน

นายกฯ กล่าวต่อว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นต้องการให้ประชาชนมีกำลังซื้อ และยังมีแผน 2 ในไตรมาส 3 และ 4 หากเศรษฐกิจเกิดปัญหา โดยอาจนำงบประมาณประจำปี 2553 มาใช้ก่อน หรืออาจกู้เงินจากนอกประเทศ แต่ยังคงมีความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้ เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น เพราะให้ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาล

นายอภิสิทธิ์ได้ยืนยันกับนักลงทุนชาวต่างชาติในแถบเอเชีย เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น จีน และประเทศตะวันตก เช่น อเมริกา และยุโรป ว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจดำเนินนโยบายด้านพลังงานทางเลือก ด้านอุตสาหกรรมและการบริการ การท่องเที่ยวแรงงาน รวมไปถึงการส่งออก ในขณะที่โครงการเมกะโปรเจ็กต์ยังคงเดินหน้าต่อไปในระยะกลางและยาว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้พบทูตทั้ง 93 ประเทศเพื่อชี้แจงแนวทางของรัฐบาลแล้ว และต่อไปจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเวิร์ด อีโคโนมิค ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ในขณะที่เดือน ก.พ.ก็จะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น โดยในช่วง  2-3 เดือนนี้แนวทางประเทศจะชัดเจน ความไม่แน่นอนจะลบไปหมดแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงถาม-ตอบ นักลงทุนจากอินเดียและญี่ปุ่นให้ความสนใจเกี่ยวกับการลดภาษีเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการลงทุน รวมถึงการเลิกจ้างแรงงาน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวตอบว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีจะจัดระบบภาษีที่สามารถแข่งขันได้  ขณะเดียวกันก็จะพิจารณาเรื่องภาษีการถือครองที่ดินและภาษีน้ำมัน โดยได้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปพิจารณาแล้ว และให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาหาช่องทางช่วยเหลือแล้ว  ส่วนการลดภาวการณ์เลิกจ้างแรงงานนั้น ได้ให้กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมดูแลอย่างใกล้ชิด

ต่อมานายอภิสิทธิ์ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังการปาฐกถาว่า ความเชื่อมั่นคงไม่ใช่ทำเพียงวันเดียวแล้วจบ ต้องเดินสายทำความเข้าใจทุกฝ่าย และทำงานไปเรื่อย ๆ  ส่วนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแผน 2 นั้นเป็นการเตรียมไว้ เพราะไม่มีใครทราบว่า ไตรมาสที่ 3 และ 4 สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ส่วนเงินกู้นอกประเทศจะใช้เท่าไรนั้นมันถูกจำกัดโดยสัดส่วนหนี้ที่เหมาะสม และเราต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ถ้าเป็นการกู้หนี้จากต่างประเทศ โดยกระทรวงการคลังจะดูแหล่งเงินทุนที่จะมาเสริมได้ในคราวจำเป็น นายกรัฐมนตรียังได้ปฏิเสธข่าวที่ว่าอาจกู้เงินถึง 100,000 ล้านบาทว่า ยังไม่มีการพูดชัดเจนถึงขนาดนั้น เวลานี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาอยู่ "คนไทยส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศยุติความขัดแย้ง และผมได้ตอบคำถามนักลงทุนถึงเรื่องความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองว่าต้องมีตลอดไป แต่ต้องขีดวง จำกัดวงไม่ให้ไปกระทบกระเทือนจนกระทั่งธุรกิจเสียหาย  ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ มันสำคัญกว่า

เรื่องอายุของรัฐบาล ผมคิดว่าถ้าเราสามารถทำระบบให้อยู่ตรงนี้ได้  คิดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเดินไปได้" นายอภิสิทธิ์กล่าวตอบเรื่องความมั่นใจเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลจะอยู่ถึงปีหน้าอย่างแน่นอน

เมื่อถามกรณีนักลงทุนญี่ปุ่นสอบถามเรื่องให้ชาวต่างชาติมีสิทธิในการถือครองที่ดิน 99 ปี  นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การสร้างความแน่นอนในการบังคับใช้ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สร้างความกังวล หรือเป็นปัญหาของนักลงทุน โดยไม่มั่นใจว่าไทยบังคับใช้กฎหมายอย่างไรในการถือครองที่ดิน เช่น คอนโดมิเนียม โดยมีการเรียกร้องหลายอย่าง  ซึ่งไม่สามารถตอบสนองได้หมด แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ มีกติกาที่ชัดเจนแน่นอน ไม่ให้เกิดช่องโหว่ เป็นช่องว่างการทุจริต "ยังไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ เป็นข้อเรียกร้องที่ทราบมานานแล้ว แต่ดูจากหลายกรณีแล้ว นักธุรกิจจำนวนมากเห็นว่าจำนวนปีอาจไม่สำคัญว่าเวลาเขียนกฎหมายแล้วปฏิบัติเป็นอย่างไร เพราะเจอปัญหาอยู่เรื่อย ๆ" นายอภิสิทธิ์กล่าวตอบเรื่องจะมีการแก้กฎหมายหรือไม่

ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการจัดเวทีนี้ว่า นายกฯ ควรออกมาให้ข้อมูลนักลงทุนบ่อยครั้งขึ้น เพราะได้ผลทางจิตใจ แม้ไม่เห็นผลในการลงทุนทันที แต่จะเห็นในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ไป หรือหลังจากนายกฯ เดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนที่มาฟังวันนี้  เป็นนักลงทุนไทยและต่างชาติอย่างละครึ่ง และส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยมากที่สุด "ในวันที่  27  ม.ค.นี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็จะจัดเวทีในลักษณะคล้ายกันให้นายกฯ  ได้แถลงแนวทางและนโยบาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจะมีทูตและนักลงทุนต่างชาติเข้ารับฟังด้วย" นายสันติกล่าวและว่า งบกระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อว่าในอนาคตจะมีเพิ่มเติมอีก แต่ควรช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วย

นายประมนต์  สุธีวงศ์  ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการเอกชนที่ต้องการรับฟังข้อมูลโดยตรง และการลงทุนก็เริ่มเห็นบ้างแล้ว หากมีนโยบายต่อเนื่อง ความมั่นใจก็จะกลับมาโดยเร็ว ซึ่งเอกชนก็เตรียมจัดเวทีให้นายกฯ ได้พบปะกับอุปทูตในวันที่ 27 ม.ค.

นาย Nandor  G.von  der  Luehe  ประธานหอการค้าต่างประเทศ  ประจำประเทศไทย กล่าวว่า  ข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงจะช่วยสร้างความมั่นใจในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนที่เคยลงทุนในไทย ส่วนนักลงทุนรายใหม่เห็นว่ารัฐบาลยังจะต้องทำงานมากขึ้นเพื่อให้เกิดการลงทุน

ในขณะที่นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกฯ เห็นชอบให้มีการตั้งทีมให้ข้อมูลเชิงลึกในด้านต่าง ๆ มาช่วยงานทีมงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ข้อมูลรอบด้าน โดยเฉพาะในโครงการของรัฐบาล ซึ่งเริ่มแรกจะเป็นทีมงานเศรษฐกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  (สศค.) มาช่วย และหากมีปัญหาด้านอื่น ๆ ก็อาจมีการตั้งทีมในลักษณะเดียวกันด้วย ทั้งในส่วนของความมั่นคงและต่างประเทศ

นายปณิธานกล่าวอีกว่า นายกฯ พร้อมทั้งนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกมนตรี ยังเห็นชอบแต่งตั้งทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจเพิ่มเติม  ประกอบด้วย  ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล จาก  สศช.  นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค โฆษก สศค. นายกอร์ปศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนและดูแลฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายปรเมธี วิมลศิริ ที่ปรึกษานโยบายและแผน สศช. เป็นทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ป้อนข้อมูลในเชิงลึก

เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล "ทีมที่ปรึกษาจะเข้ามาถ่ายทอดและป้อนข้อมูลทางเศรษฐกิจ ผ่านแนวคิดที่ได้มีการพูดคุยกับท่านนายกฯ และท่านรองกอร์ปศักดิ์ ว่าแต่ละนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลดำเนินการไปเป็นอย่างไร"

ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นประธานกล่าวการเปิดอบรมสัมมนาโครงการเสริมสร้างศักยภาพและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของผู้นำท้องที่ กับประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โซนพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกได้กล่าวถึงการขึ้นค่าครองชีพกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่า ได้ขอขึ้นค่าครองชีพให้แล้ว 100% เพราะรัฐบาลเห็นความสำคัญกับผู้นำท้องถิ่น และจะเร่งเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

นายประพันธ์  นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นวิธีการหาเสียงล่วงหน้าว่า ถ้าดูตามข้อกฎหมายไม่มีมาตราไหนห้ามไว้ แต่อาจมีการห้ามปรามในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งออกมาบังคับใช้เท่านั้น  ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายในลักษณะให้คำมั่นและทรัพย์สินที่เป็นพิเศษเพื่อจูงใจนั้น ต้องดูว่าหลังจากที่รัฐบาลเข้ามาบริหารจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือไม่สำเร็จ  ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมือง และเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านและองค์กรทางเมืองต้องตรวจสอบ

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวในเรื่องแจกเงิน 2,000 บาทให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทว่า รัฐบาลเข้ามาก็เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งประมาณการกันว่าจะมีคนตกงานประมาณ 2 ล้านคน และคงจะแก้ไขปัญหาทันทีทันใดไม่ได้ จึงต้องเลี้ยงระบบไปก่อน ด้วยการอัดฉีดเงินให้คนมีอำนาจซื้อ ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาชั่วคราวเท่านั้น จึงต้องรีบทำของจริง คือ ส่งเสริมให้คนมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่

น.ส.อุสรา  วิไลพิชญ์  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ว่า จะขยายตัวติดลบจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะด้านการส่งออก คาดว่าจะติดลบอย่างน้อย 5% และบางเดือนมีโอกาสหดตัวเป็นตัวเลขสองหลัก และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 5,600  ดอลลาร์ หรือ 1.8% ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ และในปี 2553 คาดว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็น 5,800 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งยังเสี่ยงเผชิญภาวะเงินฝืดชั่วคราว จากอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องอย่างน้อย  4 เดือน และจะติดลบลงลึกในช่วงไตรมาส 2จึงอาจเห็นทางการใช้นโยบายเพื่อให้เกิดการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อได้ในบางช่วง

น.ส.อุสรากล่าวอีกว่า อัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีโอกาสต่ำกว่าระดับ 1.00% ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี  2540  ซึ่งอยู่ที่ 1.25% เพื่อสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน  (กนง.) จะประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ก.พ.นี้อย่างน้อย 0.50% และจะลดลงอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ "เศรษฐกิจไทยจะกระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังแบบกระท่อนกระแท่น  ก่อนจะชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 4 เมื่อนโยบายการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจ 115,000  ล้านบาทเห็นผล  โดยเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบอย่างเร็วสุดในเดือน  มี.ค.นี้เป็นต้นไป ทำให้เฉลี่ยทั้งปีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 1.3%  ลดลงจากปี  2551 ซึ่งคาดว่าโตที่ 3.8%" น.ส.อุสรากล่าว  "การที่รัฐบาลไม่ได้กังวลเรื่องการว่างงานเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง สิ่งที่รัฐบาลบอกอาจจะเป็นการมองโลกในแง่ดีมากเกินไปที่พยายามกระตุ้นการบริโภคประชาชนแต่จริง ๆ แล้วภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงเป็นเรื่องจะถูกกระทบมากที่สุด และมีผลในวงกว้าง ดังนั้น ต้องเร่งให้ความสำคัญ

เรื่องนี้ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะมีปัญหาหนัก  โดยเฉพาะการเลิกจ้าง ดังนั้น นอกจากสินเชื่อแล้ว ต้องมีมาตรการจูงใจอื่น ๆ มากขึ้นอีก" น.ส.อุสรากล่าว

วันเดียวกัน ศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบคโพลล์ ได้เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่องพฤติกรรมการติดตามข่าวสารของคนมีเงินชนรุ่นใหม่  (นิวเจน)  กับการวางแผนชีวิตและการเงินในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยุควิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ : กรณีศึกษาตัวอย่างผู้มีรายได้ 75,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป อายุระหว่าง 30-49 ปี จำนวน 447 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551 ถึง 18 มกราคม 2552

โดยนายนภดล กรรณิกา  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ระบุผลสำรวจว่า  ส่วนใหญ่  67.6% มีการจัดสรรรายได้ไว้บางส่วนเพื่อการออมและการลงทุน ในขณะที่ 17.7%  จัดสรรรายได้บางส่วนไว้เพื่อการออมเพียงอย่างเดียว และ 6.3% มีการจัดสรรรายได้ไว้เพื่อการลงทุนเพียงอย่างเดียว และ 8.4% ใช้จ่ายโดยไม่มีเงินเดือนเหลือเก็บออม และเมื่อสอบถามถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อต้องการตัดสินใจใช้เงิน พบว่า ส่วนใหญ่ 80.8% จะเห็นความจำเป็นและประโยชน์ก่อนจึงตัดสินใจใช้เงิน ในขณะที่ 9.7% จะรอให้ราคาลดลงแล้วตัดสินใจ  6.6%  จะตัดสินใจทันทีที่ต้องการ และ 2.9% จะเปรียบเทียบราคาก่อน และขึ้นอยู่กับความพร้อม เป็นต้น

เมื่อสอบถามถึงสัดส่วนของรายรับและรายจ่ายในแต่ละเดือน ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ 70.8% ระบุมีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ ในขณะที่ 16.3% ระบุรายจ่ายเท่ากับรายรับ และ 12.9% รายจ่ายมากกว่ารายรับ  สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่ 65.5% ระบุว่า สถานการณ์การเมืองภายในประเทศเป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้กังวลต่อฐานะทางการเงินระดับมากถึงมากที่สุด  รองลงมาคือ 64.6% ระบุเป็นสภาวะเศรษฐกิจโลก 39.9% ระบุเป็นราคาสินค้า 37.8% ระบุหน้าที่การงานไม่แน่นอน 37.2% ระบุราคาน้ำมัน  นอกจากนี้  กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่ง หรือ 53.4%ยังระบุระยะเวลาของเงินสดที่เก็บสำรองไว้จะหมดไป  ในระยะเวลาไม่เกิน  1  ปี  หากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดฝันขึ้นเช่น ตกงาน เจ็บป่วย คนในครอบครัวเสียชีวิต เป็นต้น ในขณะที่ 42.5% ระบุมากกว่า 1 ปีขึ้นไปที่เงินเก็บสำรองไว้จะหมดไป และ 4.1% ระบุยังไม่มีเงินเก็บสำรองไว้

ผลสำรวจพบว่า  คนรุ่นใหม่ที่มีรายได้สูงเหล่านี้เกินครึ่ง หรือ 52.5% สนใจต่อรูปแบบการวางแผนทางการเงินด้วยการออมเงินฝากกับธนาคาร  45.5%  วางแผนทางการเงินเพื่อการศึกษาของบุตร 41.3%  วางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ 34.0% วางแผนการเงินในรูปแบบประกันชีวิต 29.9%  วางแผนเพื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่ 23.1% สนใจลงทุนผ่านกองทุนรวม  21.6% สนใจซื้อทองคำ เพชร และสังหาริมทรัพย์อื่นๆ  แต่ส่วนใหญ่ หรือ 65.1 กลับสนใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์น้อยถึงน้อยที่สุด และ 56.5% เช่นกันที่สนใจซื้อพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด

สำหรับรายได้ต่อเดือนที่คาดหวังหลังเกษียณอายุการทำงานนั้น  พบว่า  47.9% หวังจะมีรายได้ต่อเดือนหลังการเกษียณมากกว่า  50,000  บาทขึ้นไป  ในขณะที่  44.5% หวังรายได้ต่อเดือน  ระหว่าง 10,001-50,000 บาทต่อเดือน มีเพียง 7.6% ที่คาดหวังไว้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน

ไทยโพสต์ 20 ธันวาคม 2552

คำสำคัญ (Tags): #ฟื้นฟู
หมายเลขบันทึก: 236240เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2009 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท