ของเก่ากับของใหม่ในเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 1) ใส่อะไรกันเข้าไปจนงง


ช่วยกันประคับประคองให้ศิลปะการแสดงของแต่ละท้องถิ่นยังคงยืนหยัดอยู่ได้ อย่างสง่าสมความภาคภูมิ

ของเก่ากับของใหม่

ในเพลงพื้นบ้าน

(ตอนที่ 1) ใส่อะไรกันเข้าไปจนงง

ชำเลือง มณีวงษ์ (รายงาน)

 

          ก่อนที่ผมจะเล่าเรื่องราว ของเก่ากับของใหม่ในเพลงพื้นบ้าน ใส่อะไรกันเข้าไปจนงง วันนี้ตรงกับวันที่ 18 มกราคม 2552 เป็นวันแรกของงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี กำหนดให้มีงาน 15 วัน 15 คืน คือ ไปสิ้นสุดงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 นับได้ว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดสุพรรณบุรี และเป็นงานในระดับประเทศอีกงานหนึ่งที่น่าไปสัมผัสเก็บเกี่ยวความรู้ ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้าที่พระองค์ท่านได้ทรงสร้างมหาวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่เอาไว้ เพื่อรักษาแผ่นดินไทยให้รุ่นลูกหลานได้อยู่อย่างสุขสบาย

          ในช่วงกลางเดือนมกราคม ไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาเทศกาลตรุษจีน มีงานบุญเข้ามาหลายสถานที่โดยเฉพาะงานปิดทองลูกนิมิต เฉพาะในช่วงวันที่ 23,24 – 31 มกราคม 2552 หรือเลยไปจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2522 ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีมีงานปิดทองฝังลูกนิมิต ที่ ท่านไม่ควรพลาดในการไปร่วมทำบุญสร้างกุศล

          วันที่ 23-31 มกราคม 2552  วัดสระพังกร่าง ตำบลศรีสำราญ อำเภอสองพี่น้อง  จังหวัดสุพรรณบุรี จุดเด่น ปิดทองลูกนิมิต 108 ลูก มีมหรสพพื้นบ้านครบครัน

         วันที่ 24 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2552  ตำบลศรีสำราญ  อำเภอสองพี่น้อง  จังหวัดสุพรรณบุรี จุดเด่นมีมหรสพดัง ๆ มากมาย

          วันที่ 23-31 มกราคม 2552 วัดโคกโพธิ์  อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

จุดเด่น การคมนาคมสะดวกมาก  วัดอยู่ติดถนน 4 เลนส์

วันที่ 23-31 มกราคม 2552 วัดอุทุมราราม (วัดไผ่แขก) หมู่ 5  ต.ดอนโพธิ์ทอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี จุดเด่นวัดอยู่ติถนนรอบเมืองและถนนสายอู่ยา-ดอนเจดีย์ 4 เลนส์

ผมได้นำเอางานบุญมาแจ้งให้ทราบเพียง 4 วัด เท่าที่มองเห็นป้ายประชาสัมพันธ์งานปิดทองลูกนิมิตอยู่ตามเส้นทางที่ขับรถยนต์ผ่าน โดยเฉพาะที่วัดสระพังกร่าง ตำบลศรีสำราญ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดที่เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ นำชาวคณะ 16-19 คนไปทำหน้าที่ร่วมงานบุญและเผยแพร่ผลงานการแสดงเพลงพื้นบ้าน ตั้งแต่วันที่ 23-31 มกราคม 2552 รวม 9 คืน พบกันที่ด้านข้างพระอุโบสถ ฝั่งทิศตะวันตก

สำหรับท่านที่ติดตามชมผลงานเพลงพื้นบ้านของวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ในขณะนี้ติดตามชมได้ทุกวัน (4 วันต่อเนื่องกัน) ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวีช่อง เท็นทีวี.

วันที่ 17-20 มกราคม 2552 เวลา 12.00 -13.00 น. ทางโทรทัศน์ดาวเทียมช่อง 10 TV

วันที่ 17-20 มกราคม 2552 เวลา 18.00-19.00 น.  ทางโทรทัศน์ดาวเทียมช่อง 10 TV

วันที่ 17-20 มกราคม 2552 เวลา 00.00-01.00 น.  ทางโทรทัศน์ดาวเทียมช่อง 10 TV  

             

และออกอากาศซ้ำที่ช่องโชว์ (SHOW) รายการส่งเสริม-อนุรักษ์มรดกไทย การแสดงเพลงพื้นบ้าน (เพลงอีแซว เพลงฉ่อย และลำตัด รวม 4 ตอน ตอนละ 1 ชั่วโมง) และติดตามชมที่เวทีการแสดงสดใกล้บ้านตลอดทั้งเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552

ของเก่ากับของใหม่ในเพลงพื้นบ้าน คนรุ่นหลัง ๆ ไม่ทันได้ดูการแสดงแบบดั้งเดิมเพราะเกิดไม่ทันในยุคที่ครูเพลงผู้โด่งดังได้สร้างสรรค์ผลงานเอาไว้ เมื่อได้มาเห็นก็เป็นนักแสดงรุ่นหลัง ๆ เสียแล้ว แถมยังไม่ได้ตั้งใจเรียนรู้จากภาพการแสดงสด ๆ ที่เห็น จึงเกิดการผสมผสานอะไรต่อมิอะไรลงไปในการแสดงที่บางครั้งมีเพียง 20-30 นาทีแต่เป็นการสอดไส้เข้าไปมากว่าเนื้อแท้ที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างเช่น

 - แสดงเพลงอีแซวเพียง 20 นาที มีเพลงร้องไหว้ครูและเพลงลาด้วย ความจริงเวลามันน้อยจนเกินกว่าที่จะต้องนำเสนอส่วนนี้(นอกจากภาคบังคับ) ครูเพลงรุ่นเก่าจริง ๆ สอนผมว่า ที่ต้องมีเพลงร้องไหว้ครู เพราะเป็นงานหา แสดงนานกว่า 3 ชั่วโมง และมีการแต่งตัวเป็นนักแสดงจึงคิดระเบียบในการไหว้ครูขึ้นมา หากมิใช่งานหา ไม่ต้องมีร้องไหว้ครูก็ได้ เพราะเวลาทำการแสดงมีน้อยก็ตัดในส่วนนี้ไป

- ร้องเกริ่นขึ้นต้นโดยนำเอาการร้องเกริ่นยาวและเกริ่นสั้นมาร้องต่อกันไป แล้วจึงตามด้วยเนื้อร้อง ซึ่งแต่เดิมไม่เคยพบ ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ในเพลงอีแซว เขาจะร้องเกริ่นกัน 3 แบบ คือ

  1. ร้องเกริ่นยาว “เอ่อ เฮ้อ เออ... เอ่อ เอิ้ง เง้อ... เอ่อ เอิ๊ง เงย... ฮือ...”

  2. ร้องเกริ่นปานกลาง (ตัดทอน)  “เอ่อ เอิ๊ง เงย... ฮือ...”

  3. ร้องเกริ่นสั้น เพียงคำว่า “เอ๊ย...” แล้วตามด้วยเนื้อร้องไปเลย

แต่ในวันที่ผมนั่งดูบนเวทีการแสดงวาไรตี้โชว์ วันที่ 5 มกราคม 2552 ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยมี ในรูปแบบของการร้องเพลงอีแซว คือ ร้องเกริ่นแบบนำเอาทั้ง 2 อย่าง มาเกริ่นต่อกัน คือ “เอ่อ เฮ้อ เออ... เอ่อ เอิ้ง เง้อ... เอ่อ เอิ๊ง เงย... ฮือ..." แล้วต่อด้วย  "เอ๊ย...

- นักเพลงเก่า ๆ ที่มือแน่ ๆ เขาไม่มีร้องเกริ่นขึ้นต้นเพลงกันเลย ครูเพลงของผมบอกมาว่า ที่ต้องร้องเกริ่นขึ้นต้นเพื่อการโชว์เสียงดี ๆ เรียกร้องความสนใจให้ผู้ฟังได้ยินจะได้เดินตามเสียงร้องมาดู แต่นี่ที่ไหนได้ วันนี้นักแสดงบางคนเสียงพอใช้ได้ กลับยืนร้องเกริ่นโชว์เสียงร้องที่พอใช้ได้กันเสียทุกคนที่ร้อง เรียกว่า ร้องเกริ่นกันจนน่ารำคาน

- เพลงประ หมายถึงการร้องปะทะคารมกันของทั้งสองฝ่าย ชายกับหญิง เพลงประของวงเพลงอีแซว หรือเรียกว่าเพลงปะทะ มีหลายแบบ ได้แก่ แบบเพลงรัก     (การเกี้ยว พาราสี) แบบเพลงประลอง (การทดสอบฝีปาก ทดสอบภูมิรู้) แบบร้องต่อว่าด่าทอ (โกรธแค้นทะเลาะกัน) และแบบเพลงเรื่อง (ดำเนินเรื่องราวตามเรื่อง เหตุการณ์ปัจจุบัน นิทาน นิยาย หรือวรรณกรรม) แต่จุดเด่นของเพลงประคือจะต้องจับจุดที่เป็นเงื่อนไขได้เด่นชัด เป็นการถาม-ตอบ เป็นการแก้ปม หรือย้อนกลับด้วยคำที่คมชัด เจ็บลึก ฝังใจ สะเทือนในอารมณ์ แต่มาวันนี้ เพลงปะทะกลายเป็นการแสดงละครเป็นเรื่องซึ่งผมดูแล้วน่าจะใช้คำว่าเล่นเป็นเรื่อง หรือเล่นเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่าที่จะเรียกว่า เพลงประ

- บทเพลงเก่า ๆ ที่เขียนขึ้นมาเป็นเวลา 50-60 ปี เหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคนั้น และเหมาะสมกับผู้แสดงที่สูงวัย เมื่อมีผู้นำเอาบทร้องที่นักแสดงรุ่นครูเขาเล่นกัน นำเอามาให้รุ่นเยาวชนเล่นบ้าง ดูแล้วไม่ลงตัว ไม่เข้ากันไปกันไม่ได้ แต่ก็มีให้เห็นอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะคำร้องที่เป็นเงือนไข หรือปมแบบ 2 แง่ 2 ง่าม มีคำหยาบคาย คำผวนกลับที่ไม่รื่นหู ซึ่งเขาผูกปมเอาไว้ให้อีกฝ่ายหนึ่งร้องแก้ ผู้ส่งเงือนไขไปให้ กับผู้รับเงื่อนไข ที่จะต้องร้องแก้ให้หลุด จะต้องมีความเหมาะสมกับเงื่อนงำนั้น ๆ มิใช่นำเอาความเป็นผู้ใหญ่ มาให้เด็ก ๆ ร้อง (เป็นวัยที่ยังไม่สมควรที่จะรับรู้ในเรื่องอย่างนั้นได้)

ยังมีสิ่งที่ผมเก็บตกเอาไว้อีกหลายประเด็นซึ่งจะได้นำเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้ที่รักศิลปะการแสดงอย่างแท้จริง ได้ร่วมกันวิเคราะห์ในความเหมาะสม ความเป็นจริง และที่สำคัญคือ เพื่อประคับประคองให้ศิลปะการแสดงของแต่ละท้องถิ่นยังคงยืนหยัดอยู่ได้ อย่างสง่าสมความภาคภูมิ

(ภาพการแสดงเพลงอีแซว ในงานประจำปี ปิดทองหลวงพ่อมุ่ยที่วัดดอนไร่ อ.สามชุก)

 

ก่อนที่จะจบบทความในตอนนี้ ผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่านพระครูสิทธิปัญญากร  ท่านเจ้าอาวาสวัดดอนไร่  ตำบลหนองสะเดา  อำเภอสามชุก  จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ได้ให้ความเมตตาวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯไปทำการแสดงในงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อมุ่ย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 งานมีปีละ 5 คืน ประชาชนไปร่วมงานบุญเป็นจำนวนมาก ทางวัดได้จัดให้มีมหรสพแบบพื้นบ้านหลายอย่าง ได้แก่ ลิเก ภาพยนตร์ รำวง หนังตะลุง เพลงอีแซว ตะกร้อลอดบ่วง วงดนตรีสากล นับได้ว่า เป็นงานที่คนสุพรรณส่วนหนึ่งให้ความสนใจไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก แต่อากาศก็หนาวมากจริง ๆ  ในปีนี้ นักแสดงยืนสั่นกันตั้งแต่ 20.00 – 24.00 น. เด็ก ๆ ทุกคนยังประทับใจในการต้อนรับของคณะกรรมการ และความเมตตาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเจ้าอาวาสวัดดอนไร่โดยมิรู้ลืม

(นายชำเลือง มณีวงษ์ ร่วมแสดงเพลงพื้นบ้านบนเวทีที่วัดดอนไร่ สามชุก 12 ม.ค.2552) 

นายชำเลือง มณีวงษ์  ศิลปินดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ (พุ่มพนมมาลา) ปี 2547

หมายเลขบันทึก: 235911เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2009 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • บันทึกของอาจารย์ ยอดเยี่ยม เหมาะสมกับเป็นแหล่งเรียนรู้เลยนะคะ  ดีใจกับเด็กรุ่นหลังจะได้ค้นคว้า ข้อมูลที่ดีมาใช้เรียนค่ะ

อาจารย์สบายดีนะคะ

สวัสดี ครับ ครูอ้อย

  • ผมได้นำเอาประสบการณ์ตรงที่ได้พบเห็นและได้สัมผัสมาแล้ว และเปรียบเทียบกันกับสิ่งที่ผมได้เคยฝึกปฏิบัติมา เพื่อให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลง
  • ขอบคุณครูอ้อยที่เข้ามาเยี่ยมชม ให้กำลังใจ ผมก็อยากให้สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ถ่ายทอดไปสู่เยาวชนที่สนใจเพลงพื้นบ้านจริง ๆ
  • สบายดี ครับ ช่วงนี้มีงานแสดงต่อเนื่องกันยาวหน่อย (ยังสู้ไหว)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท