คดี Microsoft


การกีดกันการแข่งขันทางการค้า

บริษัท Microsoft ถูกกล่าวหาว่าทำการกีดกันการแข่งขันทางการค้าตามมาตรา 1 และผูกขาดหรือพยายามผูกขาดตามมาตรา 2 ของ Sherman Act เนื่องจากบริษัท Microsoft มีอำนาจเหนือตลาดซอฟแวร์ระบบปฏิบัติการ (operating system) Windows ซึ่งใช้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเกือบทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาด Web browser เนื่องจาก Navigator Internet Web browser (Navigator)  ของบริษัท Netscape Communications Corp. (Netscape) ได้รับความนิยมมากกว่า ในปี 1994 บริษัท Netscape มีส่วนแบ่งตลาด 80%  

 

บริษัท Microsoft จึงสนใจที่จะรวม Navigator กับระบบปฏิบัติการ Windows โดยยื่นข้อเสนอรวมสองระบบนี้เข้าด้วยกันต่อบริษัท  Netscape แต่บริษัท  Netscape ไม่ยอมรับข้อเสนอ

 

ด้วยเหตุนี้ บริษัท Microsoft จึงพัฒนา Web browse ของตนเองเรียกว่า Explorer แล้วรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่ง Windows โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จากนั้นก็ทำการขู่บริษัท Apple ว่าจะไม่ขายซอฟแวร์ Microsoft Office ให้  เว้นแต่จะยอมใช้ Explorer เป็น Web browser ของคอมพิวเตอร์ที่ Apple ผลิต  และบริษัท Microsoft ยังบังคับบริษัท AOL ให้แสดงไอคอน Explorer บนพื้นที่ Desktop ของ Windows แทนที่ไอคอน Navigator  

 

นอกจากนี้ บริษัท Microsoft ตกลงขายระบบปฏิบัติการ Windows ให้บริษัท Compag ในราคาถูกเพื่อแลกกับการแสดงไอคอน Explorer ในคอมพิวเตอร์ของ Compag ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อบริษัท Intel ได้พัฒนาเทคโนโลยีโดยกำหนดมาตรฐานซอฟแวร์แข่งขันกับ Windows บริษัท Microsoft ก็ขู่ว่าจะไม่สนับสนุนคอมพิวเตอร์ของ Intel ซึ่งทำให้บริษัท Intel จำต้องเลิกพัฒนาเทคโนโลยีใหม่

 

การกระทำทั้งหมดของบริษัท Microsoft ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ Navigator ที่เคยมีมากกว่า 80% เมื่อต้นปี 1996 ลดลงเหลือประมาณ 50% ในปลายปี 1997 และหลังจากนั้น Explorer ก็มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมากกว่า Navigator

 

ในคดีนี้ ศาลไม่ได้พิจารณาว่าการมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าคู่แข่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินว่าบริษัท Microsoft ฝ่าฝืนกฎหมาย  แต่เป็นเพราะพฤติกรรมทางการตลาดหรือกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัท Microsoft ที่ทำให้เกิดการกีดกัน ขัดขวางไม่ให้คู่แข่งเข้ามาในตลาด หรือกำจัดคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด เนื่องจากระบบปฏิบัติการ Windows ของบริษัท Microsoft มีส่วนแบ่งในตลาดมากกว่า 80% ดังนั้น ผู้บริโภคจึงถูกมัดมือชกให้ต้องรับเอาโปรแกรม Explorer ด้วย และเป็นเหตุให้บริษัท Netscape ได้รับผลกระทบจากส่วนแบ่งตลาดน้อยลง และกำไรลดลงอย่างมาก จนอาจจะต้องออกจากตลาดบราวเซอร์ในที่สุด

 

แม้ว่าบริษัท Microsoft จะอ้างว่าการรวมโปรแกรม Explorer และ Windows เข้าด้วยกันเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่าเพราะให้ฟรีไม่ได้คิดราคาเพิ่ม  แต่ศาลโดยผู้พิพากษาโทมัส  ก็เห็นว่าการกระทำของบริษัท Microsoft เป็นการผูกโปรแกรมสองระบบเข้าด้วยกัน อันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะทำให้การประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในตลาดบราวเซอร์ลดน้อยลง คู่แข่งรายย่อยไม่เห็นทางที่จะเข้ามาในตลาดเพื่อการแข่งขันได้ โดยหากบริษัท Microsoft ไม่รวมสองระบบเข้าด้วยกัน ผู้บริโภคย่อมมีโอกาสเลือกว่าจะใช้โปรแกรมบราวเซอร์ของผู้ผลิตรายใดตามความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งานหรือคุณภาพ 

        สรุปผลการตัดสินในคดีนี้ เป็นดังนี้

1.     บริษัท Microsoft มีพฤติกรรมเบียดเบียนหรือทำลายคู่แข่งและต่อต้านการแข่งขันเพื่อรักษาการผูกขาดระบบปฏิบัติการ Windows อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 2

2.     บริษัท Microsoft พยายามผูกขาดตลาดซอฟแวร์อินเตอร์เน็ตเวบบนบราว์เซอร์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 2

3.     บริษัท Microsoft ขายควบ Explorerและระบบปฏิบัติการ Windows เป็นความผิดในลักษณะการขายพ่วง (tying arrangement) อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1

 

คดี Microsoft ถือว่าเป็นประสบการณ์อันแสนเจ็บปวด เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกฎหมายการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งให้ความคุ้มครองไม่มากนักในการเข้ามาแทรกแซงหรือกีดกันการแข่งขันในกลุ่มบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่  อีกทั้งไม่มีความพร้อมที่จะหันไปขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ  ความด้อยประสิทธิภาพในระบบนี้เองก่อให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก

 

กล่าวคือหากไม่มีกฎหมายแข่งขันทางการค้าเข้ามาคุ้มครองช่วยเหลือ บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ต่างก็มุ่งหมายที่จะเข้ามามีอำนาจเหนือตลาดภายในประเทศที่กำลังพัฒนา คิดค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ควรจะเป็นมากนัก ตลาดที่มีลักษณะการผูกขาดจะหยุดยั้งนวตกรรม หรือการคิดค้นใหม่ ๆ เพราะมีการรวมอำนาจของบริษัทที่ผูกขาดทางการค้าเอาไว้ ทำให้กลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับบริษัทรายเล็กที่ประสงค์จะท้าทายบริษัทผู้ผูกขาดเหล่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทที่ผูกขาดทางการค้าเองก็อาจไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองอีกต่อไป    เพราะไม่มีการคุกคามหรือแข่งขันจากบริษัทคู่แข่งรายใหม่ ๆ ในตลาด    

คำสำคัญ (Tags): #tying arrangement
หมายเลขบันทึก: 235028เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2009 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สวัสดีครับ
  • ให้ความรู้ทางกฎมายของต่างประเทศดี
  • ขอให้มีความสุขทุกวันครับ

 

ขอบพระคุณมากค่ะ ขอให้ท่านทั้งสองมีความสุขทุกวันเช่นกันค่ะ

แล้วกรณีของการขายเหล้า พ่วงเบียร์ พ่วงน้ำ

จะคล้ายๆ กันกับกรณีนี้หรือเปล่าครับ น่าคิด

หากอยู่ที่อเมริกาคงโดนฟ้องกระเจิงแน่...ใช่ไหมครับ

  • เป็นคำถามที่ดีมากค่ะ ขอตอบว่าหากไม่ทำให้คู่แข่งสูญเสียส่วนแบ่งตลาดหรือส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการตลาดโดยเสรีแล้ว ก็จะไม่ผิดกฎหมายค่ะ ในกรณีที่ขาย เหล้าพ่วงเบียร์ หรือขายแมคโดนัลด์ แถมโค๊ก อะไรทำนองนี้ ถือว่าเป็นการส่งเสริมทางการขายตามปกติค่ะ
  • จริงๆ ปัญหาความทับซ้อนของกฎหมายแข่งขันทางการค้ากับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา อเมริกา  ยุโรปและญี่ปุ่นไปไกลถึงขั้นออกกฎหมายมาแก้ปัญหากันแล้ว แต่ของประเทศไทยเรา กฎหมายแข่งขันทางการค้ายังไม่แข็งแรงค่ะ เป็นที่เข้าใจกันดีในวงการที่เกี่ยวข้อง
  • ขอบคุณค่ะที่จุุดประเด็นที่น่าสนใจ

มาทักทาย และขอบคุณที่ไปอ่านเรื่องอินเดียครับ

ยินดีที่ได้รู้เพื่อนสมาชิกเพิ่มอีกคน

  • ขอบพระคุณคุณฤทธิชัย P ที่แวะมาเยือนนานแล้ว
  • ศิลาขออภัยอย่างสูงค่ะ ที่นาน ๆ ทีจะเปิดดูบันทึกเกี่ยวกับกฎหมายเก่า ๆ เพราะนึกไปเองว่าจะไม่มีกัลยาณมิตรท่านใดแวะมาเขียนเม้นท์ไว้  กฎหมายเป็นเรื่องหนัก ๆ ค่ะ... ศิลาจงใจเขียนเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อให้ศึกษากันตามอัธยาศัย
  • นึกว่าจะโล่ง ๆ เสียแล้ว มาแวะดูอีกที ตกใจหมดเลย
  • จะแวะมาเยี่ยมเยียนเร็ว ๆ นี้ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท