การประเมินหลากแบบต่อมหาวิทยาลัย


 

          ประชุมสภามหาวิทยาลัยทีไร ผมได้เรียนรู้จากท่านนายกสภาฯ มากมายทุกครั้ง    วันที่ ๒๐ ธ.ค. ๕๑ ในการประชุมสภา มวล. ผมก็ได้เรียนรู้จากท่านนายกสภ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน มากมาย   โดยเฉพาะเรื่องการประเมิน

          มีวาระ “รายงานการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๑”   นำเสนอโดยประธานคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ถือว่าเป็นคณะกรรมการที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายภารกิจ  
          ผมได้เรียนรู้จากท่านนายกสภาฯ ว่า การประเมินนี้เป็นการประเมินเพื่อให้ทราบว่า ที่สภามหาวิทยาลัย (ในฐานะตัวแทนเจ้าของ) มอบหมายให้มหาวิทยาลัยไปดำเนินการในปีที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการเกิดผลตามที่มอบหมายหรือไม่    เป็นการประเมินที่มุ่งไปที่ CEO หรืออธิการบดีเป็นหลัก   และจะใช้ผลการประเมินนี้ประกอบการพิจารณาความดีความชอบ  ของอธิการบดี    ผมขอเรียกว่า เป็นการประเมินของ “เจ้าของ”

          ในการประชุมเดียวกัน ยังนำเสนอเอกสารรายงานการประเมินอีก ๒ ชุด คือ รายงานประจำปีเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา มวล. ปีการศึกษา ๒๕๕๐ (๑ มิ.ย. ๒๕๕๐ – ๓๑ พ.ค. ๒๕๕๑) จัดทำโดยส่วนส่งเสริมวิชาการ มวล. (ต.ค. ๒๕๕๑)   กับ รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบันและระดับสำนักวิชา ปีการศึกษา ๒๕๕๐ (๑ มิ.ย. ๒๕๕๐ – ๓๑ พ.ค. ๒๕๕๑)  จัดทำโดยคณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน  

 

          ผมเกิดคำถามมากมายจากการเข้าประชุม และอ่านเอกสารทั้ง ๓ ชุดนี้

๑. “เจ้าของ” ควรได้รับรายงานเฉพาะผลการดำเนินการของมหาวิทยาลัยฯ ตามแผนที่กำหนดไว้    หรือควรจะได้รับรู้สภาพของ “ระบบ” อุดมศึกษาทั้งหมด และรู้ว่ามหาวิทยาลัยของตนอยู่ตรงไหนใน “ระบบนิเวศ” อุดมศึกษาไทย   มหาวิทยาลัยของตนควรพัฒนาจุดแข็งตรงไหน เพื่อจะ “อยู่ได้ อยู่ดี” ในระบบนิเวศนี้   คำถามนี้ นำไปสู่คำถามที่ ๒


๒. กรรมการสภาฯ ในฐานะตัวแทนเจ้าของ ควรมีความรู้เกี่ยวกับระบบใหญ่ของอุดมศึกษาอย่างไรบ้าง   เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ “แทนเจ้าของ” ได้อย่างแท้จริงในการกำหนดภารกิจที่เป็นจุดเน้นของมหาวิทยาลัยของตน


๓. ผลการประเมินที่นำมาเสนอในวันนี้มี ๓ ประเมิน   ยังมีอีก ๓ ประเมิน ที่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะต้องมีการประเมิน คือ ของ กพร., ของ สมศ., และของ สตง.   ผมมีคำถามว่ามีส่วนของการประเมินที่ซ้ำซ้อนไม่ จำเป็นตรงไหนบ้าง    มีทางไหมที่หน่วยงานทำรับผิดชอบการประเมิน ได้แก่ สกอ., สมศ., กพร., สตง. จะประชุมปรึกษาหารือเพื่อบูรณาการการประเมินหลายประเมินเข้าด้วยกัน หรือทำให้เกิด synergy กัน   ลดภาระและเพิ่มคุณประโยชน์ของการประเมิน    สิ่งที่ผมกังวลคือ มี “การประเมินเพื่อประเมิน” อยู่มากแค่ไหน   เราอยากได้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” ทั้งเพื่อพัฒนาสถาบัน และพัฒนาระบบ (อุดมศึกษา, การจัดการ)


๔. มหาวิทยาลัยที่มีระบบประเมินภายในเข้มแข็ง และผลประกอบการดีมาก น่าจะได้รับการพิจารณาจัดกลุ่มพิเศษที่ไม่ต้องมีการประเมิน สมศ. ลงลึก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและแรงงานในการประเมินและเตรียมการรับการประเมิน   คิดอย่างนี้ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่


๕. “ประเมินเท่าที่จำเป็น” และประเมินเข้มข้นต่างกันตามประวัติผลงานของแต่ละสถาบัน   คิดอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่


๖. การประเมินแบบไหน ที่มีผลต่อการพัฒนากิจกรรมหลักของสถาบันมาก   ควรปรับปรุงให้มีผลมากขึ้น ได้อย่างไร

 

วิจารณ์ พานิช
๒๑ ธ.ค. ๕๑

 

หมายเลขบันทึก: 234978เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2009 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คำถามที่น่าสนใจ..

"มีทางบ้างไหมที่หน่วยงานปฏิบัติ ซึ่งรับผิดชอบด้านการประเมิน ได้แก่ สกอ., สมศ., กพร., สตง. จะประชุมปรึกษาหารือเพื่อบูรณาการการประเมินหลายประเมินเข้าด้วยกัน หรือทำให้เกิด synergy (สนธิพลัง) เข้าด้วยกัน"

มีทางเป็นไปได้ แต่ต้องปรับ/เปลี่ยนวิธีคิด-->ปรับ/เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ซึ่งต่างคน(ต่างหน่วยงาน) ต่างทำ..ให้มีการประสานพลังแนวราบกันให้มากขึ้น 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท