เรื่องที่ผมไม่เชื่อ


อย่าเพิ่งด่วนสรุป

ผมได้ไปอ่านข้อเขียนชาวบอกท่านหนึ่งขอถ่ายทอดข้อมูลมาไว้ตรงนี้นะครับ

โอกาสทองของชีวิตของใครบางคน  อาจจะเป็นช่วงจังหวะชีวิตที่ทำอะไรก็สมปรารถนา ได้รับความสำเร็จตามที่ได้ตั้งใจไว้ หรืออย่างน้อยคงเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขและราบรื่น

 แต่ว่าโอกาสทองของชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่แม่ต้อยได้มีโอกาสได้พูดคุยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา  เป็นโอกาสทองของชีวิตที่เกิดจากเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤติของชีวิต วิกฤติขนาดคิดฆ่าตัวตายมาแล้ว ชีวิตของเธอพลิกผันจากผู้ที่พ่ายแพ้ มาเป็นผู้ที่เติมเต็มให้กับคนอื่นๆ อย่างงดงามและภาคภูมิ

ต้องขอเล่าก่อนว่าที่ทำงานของแม่ต้อยนั้นจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านคุณภาพและการสร้างเสริมสุขภาพกับต่างประเทศ  ดังนั้นแม่ต้อยและทีมจึงพยายามที่จะเข้าไปเรียนรู้งานที่โรงพยาบาลในหลายๆแห่ง เพื่อศึกษาและเรียนรู้วิธีการทำงาน และวิธีคิดของแต่ละแห่งซึ่งมีความแตกต่างกัน มีจุดดีจุดแข็งต่างกันออกไป เพื่อสามารถเลือกประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่มาศึกษาดูงานได้อย่างตรงประเด็น

แม่ต้อยและทีม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศคานาดาได้เดินทางไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล อุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียนรู้แนวคิดการสร้างสุขภาพแบบยั่งยืนของที่นั่น ได้พบผู้อำนวยการโรงพยาบาล ที่ขยันขันแข็ง สุภาพ ยิ้มใจดี ชื่อหมอ อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร และหมอทานทิพย์ ซึ่งเป็นภรรยา ได้แนะนำ แนวคิด กิจกรรมต่างๆที่ได้ ทำมาให้ฟังด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมสุข ซึ่งแม่ต้อยคิดว่าทั้งสองท่านมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนจากเดิม มีอะไรให้ไปหาหมอ” เป็น “ การสร้างสุขภาพ ให้ชาวบ้านแก้ปัญหาของตัวเองได้พึ่งพาตนเองได้จนกลายเป็นพลังแผ่นดิน

ในตอนบ่าย แม่ต้อยได้มีโอกาสไปพุดคุยกับชาวบ้านคนหนึ่งที่เคยเกิดความทุกขภาวะ ทั้งด้าน กาย ใจ สังคม ไม่มีปัญญาที่จะดุแลหรือแก้ไขสุขภาพของตนเอง เธอเรียกตัวเองว่า “ แม่นิด”

แม่นิดนั้นเดิมก็เหมือนเกษตรกรทั่วๆไปที่มีหนี้สินจากการกู้เงินจากธนาคาร สามี ดื่มเหล้า เล่นการพนัน ตัวเองก็มีโรคประจำตัวต้องไปหาหมอบ่อยๆ เอาหนักเข้าถูกยึดบ้านไม่มีบ้านจะอยู่เป็นหนี้ธนาคาร ๘๐๐๐๐ บาท โชคร้ายที่สามีก็ต้องเข้าคุกอีกต่างหาก ไม่มีหนทางใดก็ไปรับจ้างทำงานได้วันละ ๓๐ บาทอาศัยเลี้ยงลูกไปวันๆ  ทางแก้ไขปัญหาของตัวเองไม่มีเลย จนครั้งหนึ่งคิดที่จะแขวนคอตาย พอดีลูกที่มีอายุเพียง สามเดือนตื่นนอนมาเสียก่อนจึงได้สติ

ในตอนนี้นี่เองที่ทางโรงพยาบาลได้เข้ามาเพื่อค้นหาปัญหาสุขภาพในหมู่บ้าน คุณหมออภิสิทธิ์ได้แนะนำให้ลองปลูกผักสวนครัว เช่นพริก กล้วย  หรือผักอื่นๆในบริเวณบ้านซึ่งมีพื้นที่พอสมควร แต่เธอและสามีไม่เข้าใจ ว่าทำไม หมอถึงจะมาแนะนำให้มาปลุกพริก ปลุกมะเขือ ทำไมไม่ไปรักษาคนไข้ ว่างงานหรือเปล่า จึงไม่สนใจและไม่ทำตาม จนกระทั่งครั้งที่สองและที่สามด้วยความรำคาญผสมกับความเกรงใจ จึงลองเอาต้นกล้วย ผักสวนครัวสองสามอย่างมามาปลูก พอให้เห็น คิดในตอนนั้นว่าหากต้นไม้พวกนี้ตาย จะรีบปิดป้ายประกาศว่า “ ห้ามทีมรพ .เข้ามาเยี่ยม”

       แม่นิดเล่าว่าหมอเข้ามาหาทุกเดือน เพื่อดูว่ามีความก้าวหน้าหรือไม่  สามีก็จะหนีทุกครั้งเพราะว่ามาแนะนำให้เลิกเหล้า เลิกการพนัน ไม่ชอบใจ และยังบอกอีกว่า ปลูกพริก ปลูกมะเขือจะเอามาใช้หนี้ได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้

แต่ว่าเมื่ออาทิตย์แรกผ่านไป สิ่งไม่เคยคิดฝันก็เกิดขึ้น ผักสวนครัวที่ปลูกเพียงแค่แก้รำคาญจากคำแนะนำ งอกงาม เธอจึงไปขอมูลวัวจากเพื่อนบ้านมาเป็นปุ๋ย อีก ๖ เดือนต่อมาผักสวนครัว กลายเป็นผลผลิตที่สามารถเอามาเป็นอาหารประจำวันได้ ขายกล้วยน้ำว้าได้วันละ๑๐๐ บาทได้นำเงินจำนวนนี้มาซื้อกับข้าวให้ลูก ที่เหลือเก็บใส่กระปุกออมสินไว้ได้อีก วันแล้ววันเล่า แม่นิดเก็บรายได้ที่ได้จากการขายผลผลิตที่ละเล็กละน้อย จนวันหนึ่งกระปุกออมสินลูกหมูตัวนั้นก็แน่นเต็มไปด้วยเหรียญกษาปณ์ เธอทุบออกมาและพบว่าได้เงินจำนวนถึง ๓๗๐๐ บาท เธอห่อเงินจำนวนนี้ไว้ เมื่อสามีกลับมาบ้านได้เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง  สามีฟังแล้วก็นั่งอึ้ง แล้วพูดว่า นี่ทำแค่ไร่เดียวยังมีเงินเก็บได้มากเท่านี้ เราลองทำสักสองไร่เป็นอย่างไร

สองสามีภรรยามีความหวังในชีวิต มีแสงสว่างที่มองเห็นข้างหน้า มีกำลังใจเกิดสติปัญญาในการดำรงชีวิต เริ่มขยายการปลุกพืชผักเพิ่มเป็นสองไร่ เก็บเงินได้ในปีต่อมา ๑๒,๐๐๐ บาท และอีกหนึ่งปีถัดไปได้เพิ่มเป็น ๑๖,๗๐๐ บาท ทุกบาททุกสตางค์เธอได้ฝากธนาคารแบบประจำ

       คุณหมอเข้ามาเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ คราวนี้ได้แนะนำให้เธอและสามีปลูกไม้ยืนต้น ผสมผสานกับพืชล้มลุก เพราะว่าไม่ยืนต้นมีราคาและราคาสูงขึ้นทุกปี ให้ความชุมชื้น กิ่งก้านนำมาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงได้ เป็นบำนาญชีวิต เพราะยิ่งโตยิ่งมีราคา

 แม่นิดสามารถใช้หนี้ ธนาคารได้หมดตั้งแต่ปี๒๕๔๖ รวมทั้งสามี เลิกได้ทั้งเหล้า และบุหรี่ ปัจจุบันเธอขุดสระขนาดใหญ่เพื่อ เลี้ยงปลาจำนวน สองบ่อ มีสวนไม้ยืนต้น และมีสวนผักสวนครัวรอบบริเวณบ้าน  เธอและสามีทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำชาวบ้าน เป็นที่เรียนรู้ของชุมชนในการสร้างความเข้มแข็ง และการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตได้อย่างงดงาม

สุดท้ายที่แม่ต้อยได้รับฟังจากเธอคือ “ ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าทำไม คุณหมอมาแนะนำให้ปลูกพริก ปลุกมะเขือ และทำให้เรามีสุขภาพดีขึ้นได้อย่างไร เพราะถ้าเราไม่มีกิน เรามีหนี้ เราก็ไม่มีความสุข เกิดความทุกข์ทั้งกายและใจ  เมื่อเกิดความทุกข์ เราก็ไปหาหมอบ่อยๆ

แม่ต้อย ยังจำภาพที่เธอเล่าเรื่องราวให้แม่ต้อยฟังข้างบ่อเลี้ยงปลา ที่มีปลากระโดดแย่งกันฮุบเศษอาหารที่แม่ต้อยโปรยให้อย่างมีความสุข   แม่ต้อยสังเกตเห็นสายตาของความสุขฉายแสงเจิดจ้า  และสัมผัสความภาคภูมิใจที่เธอสามารถพลิกวิกฤติของเธอเป็นโอกาสทองของชีวิต   และยังจำได้ที่แม่ต้อยเดินตามเธอเข้าไปเก็บพืชผักทุกชนิดในบริเวณไร่ที่ร่มรื่นเราเดินไปชื่นชมแปลง  ผักกาด แตงกว่า ผักคะน้า ผักชี มะละกอที่ออกลูกสวยงามดกเต็มต้น  บวบ โหระพา เก็บผักสดๆจนเต็มกระจาด เธอห่อผักทั้งหมดในใบตองแล้วบอกว่าฝากให้แม่ต้อยเอาไปทำกับข้าวที่กรุงเทพฯ แม่ต้อยรู้สึกว่า นี่เป็นของฝากที่ล้ำค่า เป็นของฝากที่ไม่ใช่เพียงของฝากเท่านั้น  แต่สิ่งนั้นทำให้แม่ต้อยได้ลองสร้างโอกาสให้กับตัวเอง

 

หากใครได้มีโอกาสไปแวะเยี่ยมเยียนแม่ต้อยที่บ้านในวันนี้ ก็จะได้เห็น ว่าบริเวณส่วนหนึ่งของบ้านจะมีเริ่มมี  กอตะไคร้ ต้นมะกรูด ต้นชะอม ต้นมะรุม กอผักหวาน เถาฟักทอง ชะพลู ต้นข่า ขิง พริกขี้หนู มีแปลง ผักชี และผักบุ้ง อีกสองแปลง อาจจะไม่มีมากมาย และไม่งอกงามเหมือนของแม่นิด แต่ก็เป็นสิ่งที่แม่ต้อยภาคภูมิใจ เดี๋ยวนี้หลายๆอย่างไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหน อยากได้อะไร เดินไปที่สวนก็พอเก็บใช้ในบ้านได้

“โอกาสทอง ใครๆ ก็ทำได้ ......ถ้าหากอยากจะทำ”

เมื่อได้อ่านก็เกิดความคิดขึ้นมาหลายอย่างตามประสาที่อยากเขียนจะแสดงความคิดเห็นในเม้นท์ถัดไปนะครับ

หมายเลขบันทึก: 234916เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2009 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ได้อ่านแล้วก็ชื่นชมเป็นเรื่องเล่าที่เล่าเรื่องได้ดีมากอ่านแล้วเพลิน

ผมอ่านจบกลับมีความคิดเป็นอย่างอื่น

ผมเองก็เคยทำงานด้านการเกษตรมาก่อน

เคยขุดดินปลูกผักทำพืชไร่พืชสวนมาก่อน

มันไม่เป็นไปตามที่แม่นิดจะเล่าครับ

แม่นิดน่าจะโม้นะครับแม่ต้อยก็เลยเชื่อแค่ไปฟังอย่างฉาบฉวย

ข้อมูลจำเพาะในกรณีนี้

"แม่นิดนั้นเดิมก็เหมือนเกษตรกรทั่วๆไปที่มีหนี้สินจากการกู้เงินจากธนาคาร สามี ดื่มเหล้า เล่นการพนัน ตัวเองก็มีโรคประจำตัวต้องไปหาหมอบ่อยๆ เอาหนักเข้าถูกยึดบ้านไม่มีบ้านจะอยู่เป็นหนี้ธนาคาร ๘๐๐๐๐ บาท โชคร้ายที่สามีก็ต้องเข้าคุกอีกต่างหาก ไม่มีหนทางใดก็ไปรับจ้างทำงานได้วันละ ๓๐ บาทอาศัยเลี้ยงลูกไปวันๆ ทางแก้ไขปัญหาของตัวเองไม่มีเลย จนครั้งหนึ่งคิดที่จะแขวนคอตาย พอดีลูกที่มีอายุเพียง สามเดือนตื่นนอนมาเสียก่อนจึงได้สติ"

คิดง่ายๆรายๆได้วันละ 30 บาท แค่กินในครอบครัวก็ไม่พอแล้ว ไหนดอกเบี้ยธนาคารที่พอกพูน ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน แค่วันละ 30 บาท จะดื่มเหล้าเล่นการพนันได้อย่างไร

อนึ่งการทำสวนจะต้องใช้เวลาและคลุกคลีกับมันจึงได้ผล แค่ไปรับจ้างจะเอาเวลาที่ไหนมาดูแล การปลูกต้นไม้ต้องดูแลจึงจะได้ผล เอาเวลาที่ไหนไปรดน้ำ เพราะรายได้แค่วันละ 30 บาท ไม่มีเครื่องสูบน้ำแน่ แค่รดน้ำพรวนดินถากหญ้าเวลาก็หมดแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปรับจ้าง การทำเกษตรต้องอาศัยเวลา ไม่ใช่ว่าปลูกวันนี้อีกอาทิตย์ได้เก็บเกี่ยว

และเป็นอาชีพไม่แน่ไม่นอน ขึ้นกับดินฟ้าอากาศ การแพร่ระบาดของโรคและแมลง

เช่นการปลูกพริก จะปลูกได้เพียงครั้งเดียวในพื้นที่เดิม ปลูกครั้งต่อไปจะมีการระบาดของโรคพริกทำให้ใบหงิกงอ ต้นแคระแกร็น เพราะการระบาดของเพลี้ยแป้งและราน้ำค้าง จะต้องฉีดยาได้ผล ยาฆ่าแมลงขวดละ 500 - 800 บาท ยาฆ่าเชื้อราขวดละพันกว่าบาทขึ้นไปครับ หนี้สิน 8 หมื่นบาท เอาที่ไหนมาใช้คืนครับ

การปลูกพืชผักสองไร่ถือเป็นงานหนักครับ ไหนสามีติดคุก คนเดียวทำไม่ไหวครับ แม้จะไม่ไปรับจ้างเขา พืชผัก พริกต้องรดนำทุกวันครับ เอาแรงที่ไหนมาหาบน้ำไปรด ผมทำสวมาก่อนผมรู้ดีครับ แค่สองไร่ก็แค่สลับเก็บเกี่ยวเก็บกินในครอบครัว พอเก็บเกี่ยวเสร็จก็ต้องพลิกดินตากแดด เอาแรงที่ไหนไปขุดดินครับ พอปลูกแล้วก็ขาดตอนการเก็บเกี่ยว ต้องรอเวลาหลายเดือนเพื่อเก็บเกี่ยวผลใหม่ มองแล้วไม่มีทางเลยสำหรับคนที่มีหนี้แปดหมื่นบาท

สำหรับคนที่เป็นนายแพทย์เอง เป็นการทำงานผิดหน้าที่ครับ

ในโรงพยาบาลชุมชนฯ มีแพทย์เพียง 1-3 ท่านเท่านั้น หนึ่งในสามท่านก็ต้องเป็นผู้อำนวยการ รพ.เอาเวลาไปตรวจไข้ดีกว่าครับ งานเกษตรไม่ใช้หน้าที่ของท่าน กษตรอำเภอก็มีครับ

โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งมีแพทย์แค่ 2 คน ทำหน้าที่เป็น ผอ. ก็คนหนึ่งไปแล้ว

ไม่มีแพทย์เฉพาะทางแน่นอน ส่วนใหญ่ก็เป็นแพทย์ฝึกหัดที่เพิ่งจบใหม่ ประสบการณ์ก็ไม่มี แพทย์จึงควรใส่ใจงานของตนให้ดีเสียก่อน ป้องกันการรักษาที่เป็น malpractice ของแพทย์ที่เกิดขึ้นเสมอๆดีกว่า ชีวิตคนไข้สำคัญกว่านะครับ

สวัสดีครับ

แวะมาอ่านคะ..คนเรามีโอกาสทองที่ต่างกันนะคะ..อยู่ที่บริบทของคนคนนั้นค่ะ

  • สิ่งที่นำมาบันทึกให้อ่าน เป็นเรื่องดี ก่อให้เกิดกำลังใจแก่หลายฝ่ายหลายคนนะคะ
  • ส่วนข้อคอมเม้นท์ของเจ้าของบันทึกเป็นการแสดงความคิดเห็น
  • ครูวรางค์ภรณ์เป็นครู ทุกวันนี้ทำงานอื่นที่คนนอกอาจจะมองว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของครูเลย เช่น ตรวจฉี่ให้แก่นักเรียน / ตรวจสุขภาพ / คัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง / บันทึกน้ำหนัก ส่วนสูงของนักเรียน ส่งให้เจ้าหน้าที่อนามัย / ไปเยี่ยมบ้าน / ตามเด็กในร้านเกม  อย่างนี้เป็นต้น
  • แต่ถ้าเรานำผลที่ได้มาแยกแยะวิเคราะห์ดู ก็จะรู้ว่างานต่าง ๆ เหล่านั้นเกี่ยวพันกันเป็นวงวัฎจักร
  • ต่างกับงานของหมอตรงที่ บ้านเมืองเรายังมีคุณหมอในอัตราส่วนกับประชาชนที่ต่ำกว่าควรจะเป็น
  • น้องชายจึงเห็นว่าคุณหมอน่าจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนที่โรงพยาบาลให้ดีที่สุด
  • แต่คุณหมออาจจะคิดว่าการปลูกฝังสุขนิสัยที่ดีให้แก่ประชาชน จะทำให้คนไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้น้อยลง ถือเป็นคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะคะ
  • สุขสันต์ทุกวันทุกคืนนะคะ

มันเป็นการคิดแบบองค์รวมครับ หมอทำถูกแล้ว มันเกี่ยวข้องไปทั้งทุกภาคส่วน

ธรรมะเรียก อิทิปัจจัตตา ครับ

เห็นด้วยค่ะ ว่าคุณหมอทำถูก จริง ๆ บทบาทของหมอทุกวันนี้ไม่ใช่เป็นการรอให้คนไข้ป่วยจึงค่อยรักษา บทบาทใหม่ปัจจุบันคือการป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ การที่คุณหมให้แม่นิดปลูกพืชผักรับประทานเอง เป็นการดูแลสุขภาพไปในตัว ได้บริโภคผักปลอดสาร การได้ออกแรงปลูก รดน้ำ พรวนดิน ก็เป็นการออกกำลังกายส่งเสริมสุขภาพอีกทาง และอืน ๆ ถ้ามีอาหารพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง สุขภาพใจก็ดีขึ้น เขาเรียกว่า สุขภาวะที่ดีค่ะ ขอสนับสนุนและขอชื่นชมคุณหมอที่เสียสละให้กับคนไข้นะคะ น่าจะเป็นบทบาทใหม่ของคุณหมอยุคใหม่ที่ควรยกย่องและนำไปเป็นเยี่ยงอย่าง

1. ขอบคุณคุณ add ที่มีความเข้าใจในบริบทของแต่ละคน เป็นการย้ำว่าแต่ละคนต้องรู้หน้าที่ของตนเอง ดังนั้นการปลูกต้นไม้ไม่ใช่หน้าที่แพทย์ แพทย์เอาเวลาไปทำงานหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดก็แล้วกันครับ

ตอบ 3. คุณครู วรางค์ภรณ์ เนื่องจากอวน

  • เป็นการ ลปรร. รับฟังครับ แต่ต้องแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายได้นะครับ
  • ครับเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว
  • คุณครูวรางค์เป็นครู การที่ไปตรวจฉี่นักเรียน แสดงว่มีคนอื่นที่เกี่ยวข้องมาขอความร่วมมือตรวจฉี่ใช่ไหมครับ ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆครูวรางค์จะไปตรวจฉี่ใครทุกคนก็ได้ ดังนั้นกรณีแพทย์มีไหมครับที่เกษตรจังหวัดมาขอร้องให้แพทย์ไปช่วยแนะนำคนไข้ไปปลูกผัก 
  • ทุกอย่างเกี่ยวข้องกันทั้งนั้นครับไม่ใช่ไปแย่งหน้าที่กันทำ
  • อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรก็คือตัวเลขที่เป็นวาทกรรมที่แพทย์มักอ้างเสมอๆ ความจริงแล้วแพทย์ไปแออัดที่เมืองหลวงครับ ที่จำต้องไปก็เพียงไปใช้ทุนครับ พอครบเวลาก็หนีครับ
  • ใช่แล้วครับ แพทย์เมื่อปฎิบัติครบเทอมแล้วควรจะอยู่ต่อ แพทย์เฉพาะทางก็ควรมาอยู่ รพ.ชุมชน ไม่ใช่เห็นแก่เงิน ควรเป็นผู้เสียสละ
  • การเสริมสร้างสุขภาพที่ดีมีเจ้าหน้าที่ รพ. อีกมากมายสามารถทำได้ ทำใกล้ตัวก่อน ทำเป็นกลุ่ม พยาบาลก็ช่วยได้มาก ลานกว้างของ รพ. ก็ให้คนมาออกกำลังกายได้ ได้กลุ่มใหญ่ด้วย การดูแลรักษาโรคเรื้อรัง แพทย์ก็สามารถทำตรงนี้ได้ดีเสียก่อน ไม่ใช่ไปยุ่งเรื่องการปลูกต้นไม้
  • ครับแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ขอบคุณมากๆครับ
  • นับถือคุณครูมากๆครับ

อ่านแล้วเพลินเลยค่ะ

ครูอ้อย เกษียณ  จะไปใช้ชีวิต พอเพียงแบบนี้ค่ะ

เรียนเชิญมาเป็นกำลังใจ ร่วมสนุกกับเราที่ โหวตได้แล้วค่ะ..ภาพคู่ประทับใจ

  • มาเยี่ยมครับคุณวรรัตน์
  • ขอบคุณที่ให้เกียรติเข้าไปทักทายที่อาศรมของผมครับ
  • ขอบคุณ และขอเป็นกำลังใจให้ครับ

 

ขอบคุณ "นายก้ามกุ้ง" ครับ ที่แวะมาให้กำลังใจ

สวัสดีค่ะ

แวะมาทักทายค่ะ

ขอบคุณเรื่องเล่าดี ๆ ค่ะ

(^___^)

  • สวัสดีครับ
  • แวะมาเยี่ยม
  • ประทับใจกับเรื่องเล่า สะท้อนคุณค่าของความพอเพียง
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายค่ะ พร้อมกับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "โอกาสทอง ใครๆ ก็ทำได้ ......ถ้าหากอยากจะทำ” สนับสนุนกับความคิดดี ๆ ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

คุณวรรักษ์ครับ

ขอบคุณที่เขียนเรื่องนี้ให้อ่าน สรุปข้อคิดชีวิตก็คือ "ความหวังยังไม่สิ้น" เพิ่งรู้ว่าทางหมอก็มีกระบวนการส่งเสริมเรื่องคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะด้านการเกษตร เป็นตัวอย่างที่ดีมากครับ

คิดถึงปัญหาการฆ่าตัวตายครั้งใด ก็ทำให้ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา เพราะเสียดายชีวิตหนึ่งที่สูญเสียไป ผมมองอย่างเข้าใจว่า ผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นคนดีที่ยอมแพ้ชีวิต เนื่องจากไม่เข้มแข็งพอ เป็นคนมีหิริโอตัปปะ มากกว่าคนที่มีชีวิตอยู่แต่ทำตัวไร้ค่า แถมยังสร้างปัญหาให้สังคมอีกด้วย ขอให้มีความสุขนะครับ

อาจารย์เก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท