เก็บตกความรู้ : จริยธรรม, ความรู้ลึก, และประสบการณ์ที่ต่อเนื่องในงานวิจัย


จริยธรรมในการทำวิจัย มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าข้อมูลจากการวิจัย

         เย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา ลมฟ้าลมฝนพัดพาโอกาสดีๆมาให้เราได้มีโอกาสเข้าพบนักมานุษยวิทยาอาวุโสที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศไทย หลังจากที่เคยพบอาจารย์ในเวทีประชุมต่างๆหลายครั้ง เห็นว่าอาจารย์เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเมตตาและรอบรู้โดยเฉพาะเรื่องสังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์  ก็เลยได้นัดอาจารย์คุยกัน ซึ่งอาจารย์ก็ให้ความกรุณานักมานุษยวิทยารุ่นเยาว์อย่างเรา และให้ความเป็นกันเองให้เราไปคุยที่บ้านของอาจารย์ที่เชียงใหม่

เนื้อหาสาระและประเด็นที่คุยกันมีหลายเรื่อง ดังนี้

-        อาจารย์ได้รับเชิญจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค ไปคอมเมนต์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับอะไรสักเรื่องเราก็จำไม่ได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งอาจารย์ก็เชื้อเชิญให้เราเข้าร่วมการประชุมด้วย แต่เรารู้สึกจะติดธุระในวันเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามอาจารย์ก็ปรารภกับเราเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนั้นว่า อาจารย์มีคำถามสำคัญต่อผู้วิจัยว่า ในเมื่อเงื่อนไขสำคัญของงานก็คือการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของชาวบ้าน แต่เหตุใด ผู้วิจัยจึงใช้การปกปิดสถานภาพของตนเองในการเข้าถึงข้อมูล ถึงแม้ผู้วิจัยจะอ้างว่าเป็นการปกปิดในระยะแรก แล้วเปิดเผยในระยะต่อมาก็เหอะ การที่ผู้วิจัยอธิบายว่า เป็นการลองภูมิหรือเช็คความจริงใจของชาวบ้านก่อนนั้น ตามความเห็นของอาจารย์ดูแล้วไม่เหมาะสม เป็นการแสดงว่านักวิจัยไม่จริงใจกับชาวบ้าน แม้จะได้ข้อมูลมา แต่ในแง่จริยธรรมแล้วติดลบ อันนี้ไม่งาม เราก็เห็นด้วย

-        อาจารย์รับเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาพัฒนาสังคมคนหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ถามว่าเรารู้จักชื่อคนๆนี้ไหม เราก็ว่าไม่รู้ แต่อาจจะเคยเห็นหน้า เพราะถือเป็นรุ่นน้องสาขาเดียวกัน อาจารย์ว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปลี่ยนระบบการสอบวิทยานิพนธ์แล้ว โดยให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และกรรมการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตำแหน่งละ 1 คน  และมีอาจารย์พิเศษจากนอกสถาบันทำหน้าที่ช่วยการอ่านแก่นักศึกษาอีกหนึ่งคน นักศึกษาคนนี้ทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับป่าชุมชนของชาวบ้านในเขตจังหวัดลำพูน อาจารย์เห็นว่าเขียนได้ดี แต่จะมีข้อวิจารณ์จากอาจารย์สุริยาว่า เท่าที่อาจารย์ทราบมา พื้นที่ที่นักศึกษาไปทำวิจัยอยู่นั้น ชาวบ้านอาศัยการเก็บของป่าจากพื้นที่ที่เรียกว่า แพะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตทหาร แต่ชาวบ้านยังสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในการเก็บของป่าได้อยู่ อันนี้นักศึกษาก็เขียนไว้ แต่เขียนไม่มาก ทั้งที่มันเป็นพื้นที่ของหน้าหมู่หรือพื้นที่ที่สะท้อนระบบกรรมสิทธิ์ส่วนร่วมที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน แต่นักศึกษากลับกล่าวถึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม อาจารย์ก็คิดว่าผู้ตัดสินหลักว่าจะให้นักศึกษาสอบผ่านหรือไม่ จะปรับแก้อย่างไรนั้นคืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ แต่ที่เราทึ่งคือ อาจารย์มีความละเอียดมาก และรู้จักพื้นที่ดี ถ้าพบนักศึกษาเขียนผิดไปจากความเป็นจริงหรือตกหล่นอย่างไร ก็สามารถให้คอมเมนต์ได้

-        อาจารย์ถามถึงอายุและเป้าหมายในการทำงานต่อไปภายหน้าของเรา ซึ่งเราก็เปรยกับอาจารย์ถึงเรื่องการเรียนต่อไว้ด้วย อาจารย์ว่าเรายังไม่ต้องรีบ เพราะอายุยังน้อย ให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆก่อน เรื่องแหล่งสนับสนุนนั้น ไม่ต้องกังวล สำคัญคือเราต้องตั้งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้จะเป็นเครดิตติดตัวและแหล่งทุน โดยเฉพาะจากต่างประเทศ เท่าที่อาจารย์รู้จักมักให้ความสนใจกับคนที่ทำงานจริงจังอย่างต่อเนื่อง มากกว่าคนที่มี ใบผ่านทาง

-        สิ่งที่เราเรียนรู้จากอาจารย์วันนี้

จริยธรรมในการทำวิจัย มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าข้อมูลจากการวิจัย

จะให้คำวิจารณ์ได้ ควรต้องรู้ลึกในเรื่องนั้นจริงๆ

แหล่งทุนจากต่างประเทศจำนวนมากให้ความสนใจประสบการณ์ในการทำงานที่ต่อเนื่องของนักวิจัยมากกว่าใบประกาศความรู้ที่นักวิจัยได้รับจากสถาบันการศึกษา

และที่นอกเหนือไปจากการพูดคุย ก็คือท่าทีเอื้ออาทรและเป็นกันเองระหว่างคนที่สนใจการวิจัยและพัฒนาสังคมด้วยกัน อันเป็นอีก ชุดความรู้ ที่อาจารย์ไม่ได้สอนกันตรงๆ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23438เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท