ด้วยความยากจนอันสุขยิ่ง…


 

เกือบสองปีแล้วสินะที่เรามีชีวิตอยู่อย่างแร้งแค้นและ “ยากจน” หากเปรียบด้วยค่านิยมของ “สังคม...”

การมีชีวิตอยู่ที่นี่ พระเราไม่อนุญาติให้ถือสตางค์ ไม่ให้มีสตางค์ หรือแม้กระทั่งจับต้องสตางค์

 

เรามักพูดกันอยู่เสมอในเวลาที่เราจะมีคนมาเก็บเงินค่าสินค้า วัสดุก่อสร้าง ว่าเราสตางค์มีอยู่แค่ “บาตรเดียว”

บาตรใบนี้เป็นบาตรที่โยมพ่อกับโยมแม่ยกถวายให้เมื่อครั้งตั้งแต่บวช แล้วเราก็ใช้บาตรใบนี้เลี้ยงชีวีมาได้ตั้งสองปีกว่า

บาตรพร้อมกับผ้าจีวรทั้งสามผืนที่ใคร ๆ มักรู้จักในนาม “ไตรจีวร”
เป็นสิ่งที่ต้องอยู่ข้างกายเราเสมอในทุก ๆ ครั้งเมื่อยามตื่น

ชีวิตสองปีนี้เลี้ยงกายอยู่ได้เพียงบาตรหนึ่ง
ชีวิตสองปีนี้อบอุ่นอยู่ได้ภายใต้ผ้าสามผืน
ชีวิตสองปีนี้เรามีซอกเล็ก ๆ ภายในห้องคลังสงฆ์ไว้เอนกายเมื่อครั้นเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน
ชีวิตสองปีนี้เรามีสังฆทานคือเภสัชที่ใช้รักษาเมื่อคราเจ็บป่วย

ตอนเช้า ๆ เราก็ต้องเดินเท้าเปล่าออกไปเที่ยวบิณฑบาต
อยู่ในนี้เราก็ใส่รองเท้าบ้าง ไม่ใส่บ้าง
รองเท้านี้ก็สีเดียวกัน สีเหลือง ๆ ยี่ห้อดาวเทียมบ้าง ช้างดาวบ้าง แต่ที่ถูกใจเรามากที่สุดคือ “หลอดไฟ...”

รองเท้ายี่ห้อหลอดไฟนี้ทนนะ เพราะเป็นรองเท้าสุดฮิตในคราวธุดงค์
ด้วยคุณสมบัติของพื้นที่ทนทานและประกอบกับมีน้ำหนักเบา ใส่เดินขึ้นเขาหลาย ๆ ลูกได้อย่างสบาย ๆ
พื้นทนมาก แต่ด้วยที่เป็นรองเท้า “หูคีบ” ตอนใส่เดินธุดงค์นี่เล่นเราหมดแรงที่จะคีบเลย

ชีวิตที่ไม่มีอะไรนี้ ความไม่มีอะไรทำให้เราเบาและสบาย
ความเบานั้นที่แน่ ๆ ย่อมไม่หนัก
ไปไหนมาไหนคล่องตัว ไม่ต้องห่วงว่าไม่มีสตางค์พรุ่งนี้จะมีอะไรกินไหม เพราะใคร ๆ แถว ๆ นี้ก็มักพูดกันว่า “ไม่ต้องห่วงฉัน...”

มีบาตรหนึ่งก็สบาย ๆ
ทั้งออกเที่ยวบิณฑบาต ทั้งใช้ตักอาหาร ทั้งใช้เป็นภาชนะคือแทนจานข้าวเวลานำอาหารเข้าสู่ร่างกาย
บาตรเดียวเบาสบาย ใช้เสร็จเช็ดล้างง่ายสบายจริง

ด้วยความที่ไม่มีอะไร ไม่มีสตางค์ ไม่มีทรัพย์สิน ความไม่มีอะไรแบบนี้ใคร ๆ เขามักเรียกว่า “ยากจน” แต่ความยากจนของเรานี้แบบนี้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง
เป็นความสุขที่ได้จากความเบา สบาย โล่งอก โล่งใจ
เป็นความสุขที่ได้จากความพอใจ พอใจในสิ่งที่ตนมี
ความสุขที่ได้รับนี้จึงนับได้ว่าเป็น “ความจนอันเป็นสุข...”


คำสำคัญ (Tags): #ความพอใจ
หมายเลขบันทึก: 234003เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2009 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มีความคิดอยากบวช สักพักแล้ว

อ่านเรื่องนี้ แล้ว ยิ่งอยากบวช

แต่ท่านเคยสอนว่า เป็นพระอยู่ที่ใจ

ใช่

อยู่ไหนก็บวชได้

ถูกต้อง ๆ การจะเป็นพระนั้น "อยู่ที่ใจ" เพราะพระนั้นแปลว่า "ผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร"

สำหรับคนที่โกนผม และห่มผ้าเหลืองนั้น ในเบื้องต้นเรียกว่า "สมมติสงฆ์" คนที่จะเป็นพระแท้นั้นจะได้แก่บุคคล 4 จำพวก แบ่งออกเป็น 8 บุคคล

อันปุถุชนทั่วไปนั้นสามารถเป็นอริยบุคคลได้ถึง 3 จำพวกหรือ 6 บุคคล

หากวันนี้ท่านยังต้องมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอยู่ก็ขอให้พากเพียรสร้างสมบารมีจนถึงอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่งให้ได้

โดยให้ตั้งความหวังไว้ว่า ชาตินี้ถ้าไม่ได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ถือว่าขาดทุน เกิดมานั้นเสียชาติที่ได้อ้ตภาพมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา...

1. พระโสดาบัน คืออะไร?? เคยอยากรู้ ไปหาอ่านตามหนังสือบ้างก็ยัง งง

2. เมื่อใดที่จะถึงจุดที่ว่าเป็นพระโสดาบัน ?คงไม่มีใครมาสแตมป์ หรือหน่วยงานใดมาออกตรารับรอง คงเป็นตัวเองดูตัวเอง แต่ว่าจะดู factor อะไรถึงรู้ว่าเป็น ล่ะท่าน

3. และดังนั้นคนธรรมดาไม่ได้เป็นพระก็เป็นได้ทุกระดับเลยหรือไร (ใช่ว่าต้องบวช) หรือว่าบวชแล้วก็ใช่ว่าจะถึงระดับต่างๆที่ว่า?

รบกวนท่าน?

1. คุณสมบัติของพระโสดาบัน ถ้าว่าไปตามหลักการ มีดังนี้

ใน สังยุตตนิกาย มหาวรรค ปฐมสารีปุตตสูตร แสดงว่า สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร กับท่านพระอานนท์ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี

ท่านพระอานนท์ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อน ท่านพระสารีบุตร เพราะเหตุที่ประกอบด้วยธรรมเท่าไหร่?

หมู่สัตว์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงจะพยากรณ์ว่า เป็นพระโสดาบัน ท่านพระสารีบุตร ตอบว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เพราะเหตุที่ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ คือ

๑. ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า

๒. ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระธรรม

๓. ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์

๔. ประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว เพราะเหตุที่ประกอบด้วยธรรม

๔ ประการนี้แล หมู่สัตว์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงพยากรณ์ว่า เป็นพระโสดาบัน

อธิบายว่า บุคคลผู้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จะเป็นผู้มีศรัทธามั่นคง ไม่หวั่นไหวคลอนแคลนในพระรัตนตรัย ที่เรียกว่า อจลศรัทธา อันสำเร็จด้วยอำนาจอริยมรรค ท่านเชื่อโดยแน่นอนว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบด้วย พระพุทธคุณ ๙ ประการมีอยู่จริง พระธรรมอันเป็นธรรมนำสัตว์ ออกจากสังสารวัฎฎ์ โดยแน่นอน

 

 โสดาบัน แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสธรรม ผู้แรกถึงกระแสธรรม (คืออริยมรรค)

โสดาบัน เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทแรกใน ๔ ประเภท คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์

ผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วด้วยการละ สังโยชน์ เบื้องต่ำ ๓ ประการได้คือ

  • สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่นเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตนของเรา
  • วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เช่นสังสัยในข้อปฏิบัติของตนว่าถูกต้องหรือไม่ สงสัยในพระรัตนตรัยหรือในอริยสัจ ๔ ว่ามีจริงหรือไม่
  • สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือยึดมั่นว่าความศักดิ์สิทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างนั้นอย่างนี้ ข้อนี้ขยายความได้ว่ารักษาศีลแต่เพียงทางกาย ทางวาจา แต่ใจยังไม่เป็นศีล หรืออย่างน้อยก็ยังไม่เป็นศีลตลอดเวลา

ความเป็นพระโสดาบันนี้ก็เช่นเดียวกับความเป็นพระอริยบุคคลประเภทอื่นๆ ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศบรรพชิต(นักบวช) เท่านั้น แม้ คฤหัสถ์ คือชายหรือหญิงผู้ครองเรือน ก็สามารถเป็นพระโสดาบันได้ เช่น ในสมัยพุทธกาลคฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันที่มีชื่อเสียงก็มีจำนวนมากได้แก่ นางวิสาขามหาอุบาสิกา อนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น การเข้าถึงกระแสธรรมของพระโสดาบันนั้น เป็นการยกระดับจิตใจของท่านอย่างถาวร ทำให้ท่านไม่สามารถกลับมาเป็นปุถุชนได้อีก เป็นผู้ที่จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ (เช่น นรก หรือ เดียรฉาน) ทั้งยังเป็นผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน

อ้างอิง พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเดโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุดคำวัด วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548

ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99".

2. เมื่อใดที่จะถึงจุดที่ว่าเป็นพระโสดาบัน ?คงไม่มีใครมาสแตมป์ หรือหน่วยงานใดมาออกตรารับรอง คงเป็นตัวเองดูตัวเอง แต่ว่าจะดู factor อะไรถึงรู้ว่าเป็น ล่ะท่าน

วิสัชนา...

เมื่อทำได้ ถึงได้ รู้แจ้งได้ตามข้อ 1 เมื่อนั้นก็ถึง "โสดาบัน"

คำถามต่อมาก็คือ เมื่อไหร่จะถึง แล้วจะรู้ว่าถึงได้อย่างไร

ตอบได้ว่า... เมื่อถึงแล้วก็รู้เอง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็น "ปัตจัตตัง" คือ ย่อมรู้ได้ด้วยตัวของตัวเอง

โดยจะถึงเมื่อไหร่นั้นกำหนดไม่ได้ ตั้งความหวังไว้ไม่ได้ว่าจะให้ถึงวันนี้ เวลานี้ เมื่อใดที่บารมีถึงพร้อม เมื่อนั้นห้ามไว้ไม่ให้ถึงก็ต้องถึง

มีใครแสตมป์ไหม...?

มีสิ... ผู้ใดที่บรรลุธรรมในขั้นที่เหนือกว่าคือ สกิทาคามี อนาคามี และโดยเฉพาะอรหันต์ผล ย่อมมองเห็นและรู้ว่าใครถึงหรือไม่ถึงโสดาบัน

และก็มีการแสตมป์กันด้วย แต่ส่วนใหญ่ผู้แสตมป์และผู้ที่ถูกแสตมป์ ถ้าเป็นผู้ที่บรรลุธรรมอย่างเที่ยงแท้ ย่อมไม่ "เปิดเผยตนด้วยตนเอง" เพราะนั้นก็เป็นหนึ่งในคุณธรรมที่บรรลุ

คนที่ยืนอยู่บนยอดเขาย่อมมองเห็นว่าใครนั้นเดินอยู่จุดใดในระหว่างเส้นทางการขึ้นเขานั้น

การที่ผู้ที่รู้หรือจะบอกหรือแสตมป์ได้นั้นสามารถทำหรือรู้ได้ด้วยเหตุ 2 ประการคือ

หนึ่ง รู้ได้ด้วยด้วย "ญาณ"

สอง รู้ได้ด้วยการสนทนาธรรม

คุณธรรมอันบุคคลรู้แจ้งด้วยตนของตนเองแล้ว "วัดได้" ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งรู้จริง หรือรู้แจ้ง

ในเบื้องต้นเหมือนกับอาจารย์สอนหนังสือเด็ก เมื่อเราบวกเลขเป็นแล้ว เราก็ย่อมรู้ว่าเด็กคนไหนยังบวกเลขไม่เป็น

แต่ถ้าหากเรายังบวกเลขไม่เป็น ก็ไม่รู้ และไม่ควรไปทำนายว่าใครถึงธรรมขั้นไหน

พระพุทธองค์จึงทรงบอกว่าไว้ "อย่าประมาทคุณธรรมของพระหนุ่มนะ"

รวมถึงอย่าประมาทว่า "งูตัวเล็ก"

อย่าประมาทไฟแม้เป็นเพียงกองเล็ก และอย่าประมาทในยุวกษัตริย์

ด้วยเหตุนี้เอง เรานั้นมิควรประมาทในคุณธรรมของผู้ใดเลย

หากแม้นเรายังไม่มีคุณธรรมหรือญาณจักษุที่จะมองเห็นซึ่งคุณธรรมของผู้นั้น

3. และดังนั้นคนธรรมดาไม่ได้เป็นพระก็เป็นได้ทุกระดับเลยหรือไร (ใช่ว่าต้องบวช) หรือว่าบวชแล้วก็ใช่ว่าจะถึงระดับต่างๆที่ว่า?

คนธรรมดานั้น สามารถบรรลุธรรมได้ทั้งทุกระดับ ดังเช่นมีบุคคลมากมายในสมัยครั้งพุทธกาลเมื่อฟังธรรมแล้ว ก็บรรลุธรรมได้ถึงขั้นระดับอรหัตผล

แต่ทว่า... หากใครบรรลุธรรมถึงระดับ "อรหัตผล" ดำรงตนอยู่ได้ในเพศฆราวาสไม่เกิน 7 วัน คือ ถ้าบรรลุอรหันต์แล้วไม่บวชก็ย่อมจะต้อง "ตาย" หรือลาละสังขารไปภายใน 7 วัน แต่ถ้าบรรลุแล้วบวชก็จะยังดำรงจิตให้อยู่ในอัตภาพร่างกายนี้อยู่ได้ จนกว่าจะปลงอายุสังขาร เรื่องนี้ก็มีอยู่ใน "คาถาธรรมบท" บางคนบรรลุธรรมแล้วก็ตายเลย ดังเช่นมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง บรรลุธรรมแล้วก็ถูกวัวขวิดตายโดยทันที เป็นต้น

ส่วนการบวชโดยทั่วไปนั้น เป็นเพียงสมมติตนขึ้นให้เป็น "สมมติสงฆ์"

ยังไม่เป็น "พระสงฆ์" ที่แท้ ถ้าจะเป็นสงฆ์แท้นั้น ก็ต้องประพฤติ ปฏิบัติตนให้บรรลุธรรมถึงขั้นพระโสดาบันเสียก่อน จึงจะได้เป็นพระ เป็นสงฆ์

คน "บวชกาย" นั้น เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก เป็นอุบาย เป็นเครื่องหมาย ให้ได้ประพฤติ ปฏิบัติ ง่ายขึ้น ถูกทางขึ้น

แต่ถ้าหากบวชแล้ว ตั้งตนอยู่ในศีลแล้ว ละเมิดสิกขาบัญญัติแห่ง "ปราชิก 4" ก็เท่ากับเป็นการตัดทางแห่งสวรรค์ มรรค ผล พระนิพพานได้ แม้แต่จะลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสแล้วก็มิสามารถปฏิบัติให้บรรลุธรรมในขั้นใด ๆ ได้ หรือแม้แต่เพียง "สวรรค์" อันเป็นสุขคติภพก็ยังมิได้...

เป็นฆราวาสก็บรรลุธรรมได้ทั้ง 4 ขั้น

เป็นสมมติสงฆ์ก็บรรลุรรมได้ทั้ง 4 ขั้น

การบวชกายนั้นก็สำคัญ เป็นเครื่องมือ เป็นเรื่องภายนอกที่จะช่วยให้ลุถึงเรื่องภายในให้เร็วขึ้น

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ "การบวชใจ"

เพราะการบวชกายแล้วนั้นถือว่ได้ "สละเพศ"

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญผู้ที่สละเพศเพื่ออกบวช แต่ท่านก็ทรงตรัสว่า อย่าเพียงสละแต่เพียงเพศเท่านั้น แต่ขอให้สละข้าศึกที่เป็นศัตรูต่อเพศนั้นด้วย

ข้าศึกษาในที่นี้ศัตรูทางใจ

การเป็นพระนั้นอยู่ที่จิตที่ใจ

ดังนั้นขอให้ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย "นิพพาน" ไซร้ไม่ไกลพลัน

แต่ตั้งแต่ตอนเขียนเรียนถามจรดมือจะพิมพ์ ก็ได้เห็นตัวเองบางอย่างติดๆ

รู้สึกอยากรู้ ก็เห็นว่าอยาก

อยากถามอยากรุ้คำตอบ ก็เห็นว่าจิตกำลังสงสัย

--------------

กราบขอบพระคุณอีกครั้ง สำหรับความรู้นี้

อื่ม !

ผู้ใดที่บรรลุธรรมในขั้นที่เหนือกว่า ย่อมมองเห็น

เหมือนเด็กนักเรียนที่โตกว่าย่อมน่าพอมองออกว่าเด็กที่อายุน้อยกว่านี้อยู่ระดับใด ชั้นใด

แต่เด็กที่ชั้นน้อยกว่าเช่นประถม ย่อมไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ท่านนี้คนนี้เรียน ปตรี หรือ ปโท

ไม่ว่าจะจากการสนทนา หรือว่าฯลฯ

จริง และจะมีประโยชน์อันใดเล่า สำหรับผู้ที่บรรลุธรรมอย่างเที่ยงแท้ ในการไป"เปิดเผยตนด้วยตนเอง" หรือ มัวไปรับรองคนอื่น

นอกเสียจากท่านนั้นจะสอนเรา ชี้เราให้เห็นทางสว่างสำหรับการปฎิบัติต่อไป

สำหรับเราคงจะไม่มีประโยชน์อันใดในการมัวแต่สงสัยว่าใครบรรลุขั้นใด เอาเวลาไปหมั่นพากเพียรเรียนรู้กายใจดีกว่า

อย่าไปถามเลยว่านิพพานนั้นอยู่ที่ไหน เมื่อถึงแล้วจักรู้เอง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท