หนึ่งปีมหาวิทยาลัยในกำกับฯชุดใหม่ : เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง


 

     ในเวลาประมาณหนึ่งปีของการมีมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐฯ ชุดใหม่    คือ มหิดล  บูรพา  ทักษิณ  มจน.  และจุฬาฯ  ได้ดำเนินการเพื่อวางรากฐานการพัฒนาระยะยาวอย่างไรบ้าง

     บทความที่เขียนโดย ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ในปี ๒๕๔๕ ที่เล่าการเปลี่ยนแปลงใน มจธ. ตั้งแต่ออกนอกระบบราชการในปี ๒๕๔๑ น่าจะช่วยกระตุ้นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ ชุดใหม่ได้บ้าง    ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเรื่องหลักๆ เพื่อใช้โอกาสของความคล่องตัว สร้างความเข้มแข็งระยะยาวของมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง    อ่านบทความนี้ได้ที่นี่ 

     ผมมองว่า การที่ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยของรัฐที่อยู่นอกระบบราชการถึง ๑๓ แห่ง (มทส., มวล., มฟล., มหาจุฬาฯ, มหามกุฎฯ, มจธ., มม., มบ., มทษ., มจน., มจล., จุฬาฯ, มช. ) จากจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งประเทศกว่า ๒๐๐ แห่ง    ถือเป็น “สินทรัพย์ทางปัญญา” ที่มีค่ายิ่ง    เราจะต้องช่วยกันเพิ่มคุณค่าและคุณประโยชน์ของสถาบันเหล่านี้ต่อสังคมไทย ให้คุ้มกับความคล่องตัวยืดหยุ่นของระบบที่ได้สร้างขึ้นโดย พรบ. ใหม่  

     ผมอยากรู้พัฒนาการของมหาวิทยาลัยในกำกับฯ ชุดใหม่นี้    แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหาข้อมูลได้ที่ไหน    จึงนำมาบันทึกตั้งคำถามไว้ ณ ที่นี้  

     ผม “ฟันธง” ว่า สิ่งที่สังคมไทยได้รับจาก “ขบวนการมหาวิทยาลัยของรัฐนอกระบบราชการ” ในช่วงเวลาสั้นๆ ๑ ปีที่ผ่านมา ก็คือ

๑. เกิดความไว้วางใจ/เข้าใจ ในสังคมวงกว้าง ว่าการที่มหาวิทยาลัยของรัฐออกไปอยู่นอกระบบราชการนั้น   ไม่ใช่เป็นการ privatize มหาวิทยาลัยของรัฐ   คือไม่ได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน    ไม่ได้ทำงานเพื่อหวังผลกำไร   การเปลี่ยนแปลงไปอยู่นอกระบบราชการก็เพื่อความคล่องตัวในการกระทำภารกิจทางวิชาการให้แก่บ้านเมืองเป็นหลักใหญ่   ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวมหาวิทยาลัยเองเป็นหลักใหญ่    และไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของบุคลากรของมหาวิทยาลัยเป็นหลักใหญ่


๒. เกิดความไว้วางใจภายในมหาวิทยาลัยนั้นๆ เอง   ว่าการออกนอกระบบราชการไม่ได้ทำให้ผู้บริหารมีอำนาจล้นพ้น และใช้อำนาจนั้นรังแกบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้ตามสบาย 

     ผมขอเชิญชวนให้ท่านที่อยู่ในมหาวิทยาลัยที่เพิ่งออกนอกระบบราชการ ๗ แห่ง หรือใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยเหล่านั้น นำเอาประสบการณ์หรือข้อสรุปของท่าน มาเล่าใน Gotoknow บ้าง ว่าในเวลา ๑ ปีที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง  เพื่อประโยชน์ ต่อการเรียนรู้เชิงระบบ ของระบบอุดมศึกษาไทย

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ธ.ค. ๕๑

              
                 

หมายเลขบันทึก: 232664เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2008 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท