ฮอโลแกรม: ลักษณะเด่นที่ธนบัตรปลอมไม่มี


ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้คำแนะนำสำหรับตรวจสอบความแตกต่างระหว่างธนบัตรฉบับจริงและฉบับปลอมทั้งการส่องดูลายน้ำ การสัมผัสความนูนของตัวอักษร การพลิกธนบัตรไปมาเพื่อดูการเปลี่ยนสีที่แถบโลหะและตัวเลข และ การใช้อุปกรณ์เสริมอย่างแว่นขยายและหลอดแบล๊กไลท์เข้ามาช่วย (รายละเอียดเพิ่มเติมหาอ่านได้จาก http://www.bot.or.th/Thai/Banknotes/Pages/howtocheck.aspx) สำหรับคนที่ไม่มีอุปกรณ์เสริมและไม่มีเวลาที่จะหาซื้ออุปกรณ์เสริมมาช่วย ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการพลิกธนบัตรไปมาแล้วสังเกตการณ์เปลี่ยนสีและมิติของฮอโลแกรม (Hologram) ที่อยู่ทางด้านซ้ายของธนบัตร ในบางครั้งจะเรียก "ฮอโลแกรม" บนธนบัตรว่า "แถบโลหะ" เพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น

            สำหรับธนบัตรฉบับจริง การพลิกธนบัตรไปมา จะเห็นแถบโลหะทางซ้ายของธนบัตรมีสีเปลี่ยนไปหลากหลายสี ทั้งยังมีมิติของภาพบนแถบโลหะเกิดขึ้น ในขณะที่ธนบัตรฉบับปลอมที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ทั่วไปตามโรงพิมพ์หรือใช้เครื่องพิมพ์สีไม่ว่าจะเป็นระบบอิงค์เจ๊ตหรือระบบเลเซอร์ ภาพบนแถบโลหะ (แถบสีที่คล้ายโลหะ) จะไม่สามารถเปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนมิติเมื่อพลิกธนบัตรไปมาได้

ตัวอย่างการเปลี่ยนสีไปมาของแถบโลหะบนธนบัตรจริงเมื่อพลิกธนบัตรจริงไปมา

  

 

แถบโลหะ (แถบสีคล้ายโลหะ) บนธนบัตรปลอมจะไม่สามารถเปลี่ยนสีหรือมิติระหว่างพลิกธนบัตรไปมาได้

  

              

การสังเกตที่ฮอโลแกรม (แถบโลหะ) ช่วยยืนยันได้อย่างไร

            กระบวนการผลิตฮอโลแกรมต้องอาศัยหลักการแทรกสอดกันของแสงเลเซอร์ กระบวนการทางเคมี และ ระบบการพิมพ์ที่ต้องใช้ความร้อนและแรงดันที่เหมาะสม เพื่อสร้างรูปและมิติต่างๆ ให้เกิดขึ้นตามความต้องการโดยไม่ต้องใช้น้ำหมึก ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับระบบหรือเครื่องพิมพ์ที่ใช้อยู่ทั่วไป

            การแทรกสอดกันของแสงในขั้นตอนของการผลิตฮอโลแกรมจะทำให้เกิดร่องที่มีขนาดไมโครเมตร (เล็กกว่าเส้นผมของคนเรา) เกิดขึ้นมากมาย และเมื่อแสงตกกระทบลงบนร่องขนาดเล็กเหล่านี้จะทำให้แสงเลี้ยวเบนออกมามีสีหรือมิติที่เปลี่ยนไปเมื่อเราพลิกฮอโลแกรม ดังนั้นฮอโลแกรมบนธนบัตรฉบับจริงจึงเปลี่ยนสีและมิติเมื่อพลิกไปมา ในขณะธนบัตรฉบับปลอมที่พิมพ์โดยใช้หมึกจะไม่สามารถทำให้แสงเลี้ยวเบนได้ สีและมิติจึงไม่เปลี่ยนเมื่อพลิกไปมา ภาพขยายขนาด 1000 เท่า ของแถบโลหะ ช่วยยืนยันได้ว่าฮอโลแกรมบนธนบัตรจริงมีร่องขนาดเล็กอยู่มากมายและไม่มีน้ำหมึกหรือผงหมึกอยู่เลย ในขณะที่ธนบัตรฉบับปลอมที่พิมพ์ด้วยวิธีการปกติจะมีน้ำหมึกปรากฏอย่างชัดเจน

ภาพขยาย 1000 เท่าบริเวณแถบโลหะของธนบัตรจริงฉบับ 1000 บาท จะไม่มีรอยน้ำหมึกอยู่ แต่จะเห็นร่องรอยขนาดหนึ่งในล้านเมตรที่ทำให้แสงเลี้ยวเบนออกมาเป็นสีรุ้งและมีมิติ ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นด้วยระบบการพิมพ์ที่ใช้อยู่ทั่วไป

 

ภาพขยาย 1000 เท่าบริเวณแถบโลหะ (แถบสีคล้ายโลหะ) ของธนบัตรปลอม จะปรากฏรอยน้ำหมึกอย่างชัดเจน จึงไม่สามารถทำให้แสงเลี้ยวเบน แล้วเปลี่ยนสีหรือมิติเมื่อพลิกธนบัตรไปมาได้

 

 

หมายเลขบันทึก: 232481เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2008 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท