ชีวิตที่ดีกับตัวชี้วัดเชิงพุทธ


การอยู่กับปัจจุบัน เข้าใจสิ่งที่กำลังเป็นไปอย่างเป็นกลาง และทำชีวิต ณ ปัจจุบันขณะให้ดี ให้มีคุณค่านั่นเองที่เป็นความหมายของ “ชีวิตที่ดี”

วันนี้ตื่นมาแต่เช้า เข้าส้วมอยู่ดีๆก็เกิดความคิดหลายอย่างขึ้นมาพรั่งพรูในช่วง ที่อาบน้ำ และล้างจานที่ทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อคืน เมื่อเสร็จจึงคิดว่าน่าจะเขียนเก็บเอาไว้ เผื่อเป้นประโยชน์ในอนาคต

ความคิดทั้งหมดนี้เริ่มจากที่ใจย้อนนึกไปถึง thesis ตอนป.ตรี ที่เราได้ใช้ทฤษฎีของ Neo-Austrian Economics เกี่ยวกับเรื่อง rationality ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องเป้าหมายของ economic agent ว่า ต้องการจะทำกำไรสูงสุด ได้อรรถประโยชน์สูงสุด หรืออะไร… จู่ๆความคิดนึงก็เกิดขึ้นมา

…จริงๆแล้วทุกๆคนอยากมี “ชีวิตที่ดี” นั่นเอง…

หากเราเป็นพวกสัมพัทธนิยม (Relativist) เราย่อมมองว่า การนิยามชีวิตที่ดีนั้นขึ้นกับคนแต่ละคน ไม่มีชีวิตที่ดีที่เป็นสากล อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นตรงกันอย่างหนึ่งในโลกปัจจุบันก็คือ ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่มี “ความสุข” ถ้าโยงเจาะให้ชัดมาทางเศรษฐศาสตร์อีกหน่อยก็คือ ชีวิตที่เราสามารถมีอรรถประโยชน์สูงสุดเท่าที่เราจะมีได้ (อันนี้จะเข้าพวก อรรถประโยชน์นิยม Utilitarianism) ซึ่งองค์ประกอบของอรรถประโยชน์ (Utility Function) ของแต่ละคนก็ย่อมมีความแตกต่างกัน

บังเอิญที่คนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในปัจจุบัน คิดกันไปว่า การที่จะมีความสุขที่สุดนั้นคือการที่สามารถซื้อสินค้าและบริการได้ตามที่ ต้องการ (ซึ่งสินค้าบริการที่จะทำให้เรามีความสุขจะเป็นอะไรบ้างน้ันก็ขึ้นอยู่กับ แต่ละคน) และการจะทำได้เช่นนั้น ก็คือจะต้องมี “เงิน” จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะได้ซื้อสินค้าและบริการตามที่ต้องการ ในขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจก็ต้องสามารถผลิตสินค้าบริการเป็นจำนวนมากพอเพื่อตอบสนองความ ต้องการเหล่านี้ด้วย ระบบเศรษฐกิจที่ผลิตสินค้าและบริการได้มาก หรือเพื่อให้วัดง่ายก็คือ ผลิตสินค้าบริการเป็นมูลค่าสูงๆ ย่อมถือเป็นเป็ฯระบบเศรษฐกิจที่ดีและนำไปสู่ชีวิตที่ดีของผู้คนด้วย ซึ่งวิธีคิดลักษณะนี้นำไปสู่การสร้างตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาค เพื่อใช้วัดถึงความกินดีอยู่ดี หรือชีวิตที่ดีของผู้คนในประเทศนั้นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Products) และ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products) ทั้งที่วัดในด้านการผลิดตและการบริโภค เป็นต้น

ความต้องการ “เงิน” ให้มากที่สุดที่เป็นไปได้นำมาซึ่งปัญหาต่างๆตามมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาด้านศีลธรรม และการทุจริตคอรัปชั่น เนื่องจากคนพยายามทุกวิถีทาง จนกระทั่งก้าวข้ามขอบเขตทางศีลธรรมเข้าไปสู่ด้านมืดของจิตใจ เมื่อนั้นก็คือ การขโมย ทั้งเพื่อเอาของที่ขโมยไปขายเอาเงิน หรือเอามาใช้เองตามที่ต้องการ, การโกหกหลอกลวง และอาจเลยไปถึงการทำร้ายและฆ่าเอาชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือสิ่งที่ ต้องการ

การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการเป็นจำนวน มาก ก็ส่งผลกระทบในทางลบมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะผลกระทบในทางสิ่งแวดล้อม และทางสังคม ในทางสิ่งแวดล้อมก็คือ การผลิตสินค้าและบริการเป็นจำนวนมาก (และมักจะวางแผนและกำกับการผลิตได้ไม่ดีพอ) มักนำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก และทรัพยากรหลายอย่างก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้ หรือผลิตขึ้นทดแทนได้ การผลิตดังกล่าวยังนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องมลภาวะทางอากาศ ทางน้ำ ทางเสียง ฯลฯ​ ผลกระทบดังกล่าว ส่งผลต่อระบบธรรมชาติในภาพรวม ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศน์วิทยา ไปจนถึงเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกด้วย ในเชิงสังคมก็คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม และถิ่นที่อยู่อาศัยของผู้คนอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาความแออัดและปัญหาสังคมต่างๆในเมืองการค้าและอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ในขณะที่ชนบทเองก็เผชิญกับปัญหาการทิ้งถิ่นฐานของกำลังแรงงาน ทิ้งคนแก่ และเด็กไว้เบื้องหลัง

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนักสังคมศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์และนักพัฒนาต่างตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี และพยายามพัฒนาคอนเซปอื่นๆขึ้นมา เช่น คอนเซป Capabilities และ Freedom ของ Amartya Sen เป็นต้น และพัฒนาตัวชี้วัดอื่น เช่น Green GDP , Gross National Happiness (GNH) หรือ Human Development Index (HDI) เป็นต้น มาเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นและหวังว่ารัฐบาลต่างๆจะให้ความสำคัญกับเรื่อ งอื่นๆเช่นเรื่อง สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เป็นต้น นอกเหนือจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างเดียว

จากที่อธิบายมาข้างต้น ผมมองว่า มุมมองดังกล่าวเป็นการมอง “ชีวิตที่ดี” ในฐานะที่เป็นปลายทางแต่อย่างเดียว เป็นการสะท้อนวิถีคิดแบบ  teleology ในโลกตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดของอริสโตเติล ที่มองว่าทุกๆอย่างมีเป้าประสงค์ มีปลายทาง มีดุลยภาพ ที่จะต้องไปให้ถึงไม่มีการกล่าวถึงระหว่างทางเลยว่า การจะไปถึงจุดนั้น แบบที่เรียกว่าเป็น “ชีวิตที่ดี” นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อหลงลืมวิธีการไปถึงปลายทางแล้ว ไม่คิดให้ดีแล้ว กว่าจะถึงปลายทางย่อมนำมาซึ่งบาดแผล และความเจ็บปวดมากมาย จนบางครั้งเมื่อถึงปลายทางแล้วเราอาจจะต้องคำถามว่าเราเจ็บปวดกันมาขนาดนี้ นี่มันคุ้มค่าหรือไม่

คำถามอาจจะไม่ใช่เพียงแค่ มันมีหนทางอื่นไปสู่เป้าหมายที่มีผลกระทบภายนอกน้อยกว่านี้หรือไม่ แต่อาจจะรวมไปถึงว่าเรากำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้องหรือไม่ด้วย คำถามในเรื่องเป้าหมายนี้ย่อมนำพวกเราย้อนกลับไปสู่คำถามเชิงปรัชญาเกี่ยว กับว่า ชีวิตที่ดีคืออะไร?

ในที่นี่ขอให้ความเห็นจากมุมมองทางศาสนาพุทธเท่าที่ผมมีอยู่ในขณะนี้…

แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดของพุทธบริษัท ก็คือการบรรลุซึ่ง “นิพพาน” อย่างไรก็ดี แต่ละคนย่อมใช้เวลาต่างกันในการบรรลุถึงนิพพานอาจจะตั้งแต่ 7 วันไปจนถึงหลายอสงไขย ฉะนั้นถ้าเราไม่ได้พูดถึงเหล่าผู้ที่ต้องการบรรลุนิพพานอย่างจริงจัง แต่พูดถึงผู้คนธรรมดาสามัญทั้งที่เป็นพุทธและไม่ใช่พุทธก็ตาม ชีวิตก็คือการเดินทางดีๆนี่เอง เพราะชีวิตดำเนินต่อไปทุกๆวัน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีสุขและมีทุกข์สลับกันไป ตามธรรมดาของโลก ไม่มีวันที่ที่จะไปหยุดอยู่ในแดนสุขาวดี ที่เวลาหยุดนิ่งและมีความสุขเป็นนิรันดร์

ฉะนั้นในทางพุทธ การอยู่กับปัจจุบัน เข้าใจสิ่งที่กำลังเป็นไปอย่างเป็นกลาง และทำชีวิต ณ ปัจจุบันขณะให้ดี ให้มีคุณค่านั่นเองที่เป็นความหมายของ “ชีวิตที่ดี”

พระพุทธเจ้าได้ให้แนวทางของการใช้ชีวิตที่ดีและมีคุณค่า ณ ปัจจุบันเอาไว้ในหลักธรรมที่ชื่อว่า มรรค 8 หรือ ทางอันประเสริฐ ที่มีองค์ประกอบอยู่ 8 อย่างนั่นเอง องค์ประกอบทั้ง 8 ประกอบด้วย

  1. สัมมาทิฎฐิ คือ การเห็นชอบ (Right view, Right understanding) คือ มีมุมมองต่อโลกที่ถูกต้อง เข้าใจธรรมชาติตามที่เป็นจริง เห็นสิ่งต่างๆว่าเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย มีการเปลี่ยนแปลง มีการสูญสลายไปแน่นอน และไม่ควรไปยึดติดกับมันมาก แยกแยะได้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งดีหรือเป็นเหตุนำไปสู่สิ่งที่ดี สิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นเหตุนำไปสู่สิ่งที่ไม่ดี สามารถแก้ปัญหาได้ คือ รู้อริยสัจจ์ 4 (รู้ปัญหา ระบุและแก้ที่เหตุ สามารถหาและรู้ทางออกจากปัญหา รู้วิธีการไปถึงทางออก)
  2. สัมมสังกัปปะ คือ การคิดชอบ (Right thought) คือ การคิดที่เป็นไปในทางเสียสละ,​ การคิดที่มีเมตตา ปลอดจากความพยาบาท, การคิดที่ปลอดจากการเบียดเบียน ไม่มุ่งทำร้ายกัน มีความกรุณา (กุศลวิตก)
  3. สัมมาวาจา คือ วาจาชอบ (Right Speech) คือ การไม่พูดเท็จ (มุสาวาท) ไม่พูดส่อเสียจ (ปิสุณวาจา) ไม่พูดคำหยาบมุ่งร้ายกัน (ผรุสวาจา) และ ไม่พูดจาเพ้อเจ้อไร้สาระ (สัมผัปปลาละ) (ดูวจีสุจริต)
  4. สัมมากัมมันตะ คือ กายสุจริต (Right Action) คือ การงดเว้นและประพฤติตรงข้าม กับ การเบียดเบียนและเอาชีวิตทั้งตนเอง ผู้อื่นและสัตว์อื่น (ปาณาติบาต) , การเอาของที่เขาไม่ได้ให้ (อทินนาทาน) , และการประพฤติผิดในกามหรือละเมิดทางเพศกับผู้ที่มีผู้คุ้มครองรักษา เช่น หญิงที่ยังอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ หรือพี่ เป็นต้น (กาเมสุมิจฉาจาร) (ดูกายสุจริต)
  5. สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ (Right Livelihood) คือ การเว้นมิจฉาชีพ และการประกอบอาชีพอื่นๆที่โน้มนำให้คนผิดศีล 5
  6. สัมมาวายามะ คือ พยายามชอบ (Right Effort) คือ การพยายามที่จะยับยั้งมิให้ตนทำสิ่งไม่ดี ลดและกำจัดสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นแล้ว พยายามทำความดีให้มาก และรักษาความดีที่มีอยู่แล้ว (ดูปธาน 4)
  7. สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ (Right Mindfulness) คือ หมั่นมีสติระลึกรู้ถึงกาย ความรู้สึก ความคิดและสภาพจิตใจ และธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง (ดู สติปัฎฐาน 4)
  8. สัมมาสมาธิ คือ ตั้งจิตมั่นชอบ (Right Concentration)

ที่เรียกว่า ทางอันประเสริฐที่มี 8 องค์ประกอบก็เพราะ การจะดำเนินชีวิตให้สมบูรณ์นั้นมิใช่เพียงทำมรรคข้อใดข้อหนึ่งให้สมบูรณ์ เท่านั้น แต่ต้องทำทั้ง 8 ข้อให้เกิดขึ้น จึงจะเป็นชีวิตที่ประเสริฐได้ ดังคำเปรียบที่ ท่านพระพรหมคุณาภรณ์กล่าวเอาไว้ในหนังสือ พุทธธรรมว่า เปรียบเสมือน เชือกหนึ่งเส้นที่มีเชือกเส้นเล็กแปดเส้นมัดรวมกัน นั่นเอง

เหตุที่ผมกล่าวถึง มรรค 8 ก็เพราะว่า ผมคิดว่า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันนั้น เป็นเพียงการประเมินผลของการพัฒนาเท่านั้น ดูว่าเราใกล้จะถึงแดนสุขาวดีหรือยัง ใกล้จะถึงดินแดนที่ทุกคนมีความสุขหรือยัง เป็นการประเมินที่ “สังคม” แต่เรามิได้มีการประเมินเท่าใดนักว่า คนในสังคมนั้นกำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่ประเสริฐที่ดีหรือไม่ ในปัจจุบันขณะ ผู้คนกำลังดำเนินชีวิตอย่างไร

ในขณะนี้มันยังไม่ชัดกับผมมากนัก แต่ผมคิดว่า เราควรจะมีพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อให้เห็นสภาพการเดินทางและการใช้ชีวิตของคนใน ปัจจุบัน บนฐานของหลักธรรม มรรค 8 นี้ ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่า หากเราชี้วัดได้ว่า คนในสังคมปัจจุบันนั้นเดินอยู่บน มรรค 8 หรือไม่ เราจะสามารถหามาตรการเพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมดำเนินชีวิตตามมรรค 8 ได้ง่ายขึ้น

จากที่เห็นทั้ง 8 ข้อข้างต้น ผมเองพอจะเริ่มเห็นลางๆว่าน่าจะมี ตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนมรรคแต่ละข้อได้บ้าง ในส่วนที่ของ สัมมากัมมันตะ (กายสุจริต) และ สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)นั้น พอจะมีตัวชี้วัดที่ตรงไปตรงมาอยู่ เช่น อัตราการเกิดขึ้นของอาชญากรรม, สัดส่วนของอาชีพ เป็นต้น แต่ในมรรคข้ออื่นๆนั้นก็พอจะสามารถจินตนาการได้ว่า ตัวชี้วัดจะเป็นอะไรได้บ้าง แต่ก็จำเป็นจะต้องมีการทำการบ้านมากกว่านี้ ในเชิงของการศึกษาความเป็นไปได้ของการหาฐานข้อมูล การคำนวน และการแปลงค่าต่างๆให้ออกมาเป็นตัวชี้วัดที่ดูได้ง่าย และสามารถประเมินผลของตัวชี้วัดเหล่านี้ได้

ผมเชื่อว่า หากคนดำเนินชีวิตตามหลักธรรม มรรค 8 ที่ว่านี้ ย่อมทำให้ผลที่แสดงจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสังคมที่มีอยู่ ที่กำลังชีวัดสังคมไทยนั้น มีค่าสูงขึ้นตามไปด้วย และคนไทยก็น่าจะมีชีวิตที่ดีจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 232069เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2008 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • การอยู่กับปัจจุบัน เข้าใจสิ่งที่กำลังเป็นไปอย่างเป็นกลาง และทำชีวิต ณ ปัจจุบันขณะให้ดี ให้มีคุณค่านั่นเองที่เป็นความหมายของ “ชีวิตที่ดี”
  • การอยู่กับปัจจุบันมันไม่ง่ายเลยค่ะเพราะต้องฝึกปฏิบัติ"สติ"มากๆ
  • อยากให้อาจารย์ช่วยแนะด้วยค่ะ

โอ้ว ผมคิดว่าอาจจะต้องไปที่วัดนะครับ ผมไม่น่าจะอยู่ในฐานะที่จะแนะนำได้หรอกครับ คงต้องเป็นพระภิกษุจะเหมาะสมกว่าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท