หยุดความต้องการทางเพศได้อย่างไร


   อันว่า ความต้องการทางเพศ ดูเหมือนจะเป็นปัญหามาตั้งแต่สมัยโบราณ และดูเหมือนว่า หลายครอบครัวต้องแยกทางกันเพราะความต้องการทางเพศที่ไม่สมหวังนี่เอง ตลอดถึงความต้องการทางเพศที่มากเกินไปจนต้องออกไปแสวงหาภายนอกครอบครัว

   เมื่อพิจารณาจากบัญญัติ ๑๐ ประการ ข้อ ๗ "อย่าล่วงประเวณีลูกมียเขา" เข้าใจว่า บัญญัติข้อนี้มีเบื้องหลังร่องรอยประวัติศาสตร์ นั่นหมายความว่า การที่มีบัญญัติข้อนี้ก็เพราะสมัยที่โมเสสและชาวยิวเดินทางแสวงหา/ไปสู่ดินแดนที่พระเจ้าประทานมาให้นั้น มีการล่วงละเมิดลูกเมียเขา จนกลายเป็นปัญหาในกลุ่มผู้แสวงหา เมื่อปัญหาเกิดก็ต้องการทางแก้ไขปัญหา บัญญัติข้อนี้จึงถูกประกาศออกไปและเป็นกฎบัตรสำหรับการแก้ปัญหาภายในกลุ่ม การยึดถือปฏิบัติเพื่อการไม่ละเมิดลูกเมียเขา (ลูกตนด้วย) จึงเกิด และถือเป็นกฎหมายเฉพาะกลุ่มไปก่อนที่จะขยายออกสู่วงกว้าง

   หากพิจารณาเบญจศีล ข้อ ๓ "งดเว้นจากการประพฤติในกาม" และเนื้อความตอนท้ายที่พูดถึงผลดีของศีลคือ คนจะไปสู่ทางชีวิตที่ดีได้ (สุคติ) ก็เพราะศีล คนจะสมบูรณ์พร้อมด้วยโภคสมบัติได้ก็เพราะศีล คนจะถึงความสุขสงบเย็นได้ก็เพราะศีล....ดังนั้นจงชำระศีลให้บริสุทธิ์กันเถิด, ศีลข้อที่ ๓ ก็คือส่วนหนึ่งของทางไปสู่ผลดีที่ว่านี้ จากข้อนี้ก็สันนิษฐานเช่นเดียวกันว่า เรื่องการบำบัดความต้องการทางเพศเพื่อหยุดความต้องการนั้น จะบำบัดอย่างไรก็ได้...ไม่ได้เลย

   การที่มีเนติธรรมนี้ ก็เพื่อความสงบเรียบร้อย ความสามัคคี การปฏิบัติที่เสมอเหมือนกัน โดยไม่ละเมิดชีวิต ทรัพย์สินของกันและกัน

  อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาเนื้อหาทางจิตวิทยา โดยเฉพาะแนวคิดความต้องการของ มาสโลว์ ขั้นที่ ๑ ความต้องการทางด้านร่างกาย นอกจากปัจจัยพื้นฐานทั่วไปของการมีชีวิตอย่าง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้นแล้ว ความต้องการทางเพศก็อยู่ในส่วนของร่างกายด้วย ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดความต้องการภายในใจ การแสวงหา และการบำบัด

  พุทธศาสนามองว่า ความรู้สึกทั้งที่เป็นความต้องการ ไม่ต้องการ และบอกไม่ได้ว่าต้องการหรือไม่ต้องการนั้น เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบกันระหว่าง ๒ สิ่งคือ ตากับรูปที่เห็น, หูกับเสียงที่ได้ยิน, จมูกกับกลิ่นที่รับ, ลิ้นกับรสชาดของอาหาร, กายกับการสัมผัส, ใจและความรู้สึกภายใน

  ดังนั้น ความต้องการทางเพศในมุมมองพุทธศาสนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการกระทบกันของ ๒ สิ่ง คือ สารกับตัวรับสาร ส่งต่อเป็นความรู้สึก เมื่อความรู้สึกต้องการมาก ก็ให้เกิดความรุ่มร้อน กระวนกระวาย ต้องการจะสมหวังในสิ่งที่เข้าใจว่าจะช่วยบำบัดได้ คนจำนวนหนึ่งจะหาวิธีการเพื่อการบำบัดนั้น แต่การบำบัดโรคความต้องการทางเพศนั้น ไม่ได้หายเป็นปกติ เพราะคนยังต้องดู ได้ยิน กิน ดม จับต้องและมีความรู้สึก

  อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความต้องการทางเพศ เราจะหยุดความต้องการทางเพศอย่างไร วิธีการขืนใจเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน ไม่ใช่วิธีการที่สังคมมนุษย์ให้การยอมรับว่าถูกต้อง การบำบัดความต้องการทางเพศโดยการไปแสวงหาแหล่งบำบัดในสถานเริงรม ก็ไม่ใช่สิ่งที่คนทั้งหมดเห็นว่าถูกต้อง แล้วเราจะหยุดมันได้อย่างไร

  ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นการให้สัมภาษณ์จากผู้หญิงที่มีความต้องการทางเพศ เธอบอกว่า เมื่อเราต้องการทางเพศ แต่ไม่สามารถบำบัดได้โดยคู่ครอง วิธีการอย่างหนึ่งคือ "การทำงาน"

  การทำงาน มีผลต่อการหยุดความต้องการทางเพศอย่างไร การทำงานคือการเปลี่ยนความคิดจากการคิดเรื่องเพศ เป็นการคิดเรื่องทำงาน ดังนั้น ความคิดเพื่อการบำบัดความต้องการทางเพศจึงค่อยๆ เลือนออกไปจากความรู้สึก อย่างนี้เรียกว่า ใจชนะใจ

  อีกทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ อย่าไปอ่าน ดู รับรู้ คิด เกี่ยวกับสิ่งที่จะทำให้เกิดความต้องการทางเพศ เช่นเวป หนังสือ เรื่องเล่า การสัมผัสจับต้อง ฯลฯ หรือหากเผลอเข้าไปรู้ รับรู้ จับต้อง ก็ควรพิจารณาเห็นในอีกทางเลือกหนึ่ง เช่น ผิวหนังที่สัมผัสนี้ มันไม่ได้สวยงาม นิ่มนวล อย่างที่เห็น วันหนึ่งก็กระด้าง เกรอะกรัง ผิวหนังที่ห่อหุ้มนี้ เป็นเพียงเครื่องห่อหุ้มของไม่สะอาด เช่น เลือด หนอง เนื้อที่กำซาบเลือด, เพศตรงข้ามที่เห็นอยู่หน้าหนังสือ/เวป เมื่อชำแหละหนังออก ลอกเนื้อออก ก็คือร่างกระดูก ฯลฯ ไม่ใช่น่าอภิรมย์แต่ประการใด

  ในอาศรม ๔ ของฮินดูวัยช่วงชั้นที่ ๑ พรหมจารีย์ มีหลักจริยธรรมให้มุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติครูบาอาจารย์ผู้ให้ความรู้ ประสิทธิ์ประสาทวิชา (ไม่ใช่ขายความรู้/วิชา) ปฏิบัติพ่อแม่ผู้ให้ชีวิต ตลอดถึงไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพศตรงข้าม โดยเฉพาะผู้ชาย ไม่ให้แม้แต่น้ำอสุจิเคลื่อนจากที่ ตลอดถึงการคิดเรื่องเพศ นี่คือ พรหมจารีย์ ที่แปลว่า ประพฤติสิ่งอันประเสริฐ โดยกำหนดที่วัย ๑๑,๑๒ จนถึงอายุ ๒๕ ปี เป็นวัยแห่งการศึกษาเรียนรู้วิชาเพื่อการนำไปประกอบอาชีพก่อนเข้าสู่วัยคฤหัสถ์ หรือครองเรือน มีเหย้ามีเรือน

  นักศึกษาบางคนเอ่ยขึ้นว่า "โอ้โห กว่าจะอายุ ๒๕ ปี ก็ตายกันพอดี" นี่คือความคิดของคนสมัยนี้ สิ่งที่กล่าวข้างต้นนั้น น่าจะไม่มีในคำอธิบายในรายวิชาใดๆ ของหลักสูตรการศึกษาไทยในปัจจุบัน หากจะมีการสอนก็จะมีว่า "จะมีวิธีการป้องกันอย่างไรจากโรคทางเพศ" หรือ "จะมีวิธีการป้องกันอย่างไรที่จะไม่เกิดปัญหาทางเพศในภายหลัง (ลูก)" พร้อมกับยื่นถุงยางอนามัยให้ แต่ถุงยางอนามัยก็มักจะถูกปฏิเสธสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเครื่องขัดขวางการสัมผัส ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่กับการท้องก่อนเข้าสู่พิธีแต่งงาน เราจะพบว่า นักเรียน/นักศึกษาบางคน ต้องหยุดการเรียนไว้ชั่วคราวเพื่อไปคลอดลูกก่อนมาเรียนต่อจนกว่าจะจบ และบางคน แต่งงานแล้วแต่งงานอีก หรือแต่งงานแล้วครั้งเดียว ก็ยังไม่มีลูก ทั้งที่อยากจะมีลูกไว้เพื่อเหตุผลบางอย่าง  เข้าใจว่า คำตอบว่า การแต่งงานก่อนแล้วจึงมีเพศสัมพันธ์น่าจะไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับคนสมัยใหม่

   ตกลง จะหยุดความต้องการทางเพศได้หรือไม่หนอนี่....และ....แล้วจะหยุดไปทำไม

 

 

หมายเลขบันทึก: 229836เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2008 05:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เมื่อก่อนก็คิดเดี๋ยวนี้ไม่คิดแล้วครับ
  • คิดแต่เรื่องเรียนก่อนเพราะเรื่องเรียนมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่เรื่องนี้มันก็แฝงตัวลึกๆนะครับ
  • ไม่มีทางจะสลัดมันออกได้ครับ
  • เพราะมนุษย์มีกิเลสทุกคนครับ
  • สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ

สบายดีนะค่ะ

อิ อิ อิ

สวัสดีค่ะ

* มาส่งความสุขปีใหม่ค่ะ

สวัสดีครับ คนพลัดถิ่น~ต้นตอ-natachoei(หน้าตาเฉย)

  • การเรียนคือชีวิตครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ my sister

  • โปรดไปรักษาคนเจ็บด้วยครับ ฮาฮา

สวัสดีครับ คุณครูพรรณา

  • ขอให้มีความสุขเช่นกันครับ

 

ขอบคุณครับ

  • ความต้องการทางเพศเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ในโลกเกิดมาก็เพื่อสืบพันธ์
  • เห็นด้วยเลยครับว่าหยุดไม่ได้หรอก เพราะความต้องการทางเพศเกิดเมื่อมีเหตุ เหตุที่ทำให้เกิดความต้องการทางเพศเกิดจากการกระตุ้นทางผัสสะ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตปกติ ทำได้เพียงแค่มีสติรู้เท่าทันและก็ลดสิ่งที่ควรลด ก็ช่วยทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้ (ประสบการณ์ตรงเลยครับ 55)
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท