เมตตาศาสตร์ (Meta of Metta Science)


 

เมตตาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและยิ่งใหญ่ที่ใคร ๆ จำเป็นต้องรู้ ต้องศึกษา ต้องมี เพื่อให้เมตตานี้แก่กันและกัน

ในสังคมที่อุดมไปด้วยการศึกษานี้ เต็มไปด้วยศาสตร์ (Science) ที่มีพื้นฐาน ท่ามกลาง และจุดหมายที่เรียน ที่รู้ ที่ศึกษาเพื่อการ “เอา (Take)” แต่เมตตาศาสตร์นี้เป็นศาสตร์แห่งการ “ให้ (Give)”

เมื่อชีวิตเดินตามเส้นทางแห่งสมการ “การเอา” ทำให้สังคมนี้สับสน วุ่นวาย ยุ่งเหยิง เพื่อต่างคนก็ต่างแย่ง ต่างชิง
เริ่มตั้งแต่แย่งชิงการศึกษา แย่งชิงเก้าอี้เพื่อเข้าไปหาความรู้

แข่งกัน แย่งกัน เพื่อได้เข้าไปเรียน เข้าไปศึกษา เพื่อหวังที่จะได้มาซึ่งความเจริญ ความก้าวหน้าซึ่งจักตอบแทนกลับมาด้วยเกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน อีกเงินตรา

แต่เมตตานั้น เป็นศาสตร์ เป็นวิชา เป็นความรู้ เป็นปัญญาที่ว่าด้วยพื้น ว่าด้วยฐานของ “ชีวิต”

ชีวิตที่มีเมตตาเป็นพื้นเป็นฐานนั้น ชีวิตทั้งของตนและบุคคลรอบข้างย่อมมีความสุข เพราะต่างคนก็ต่างเป็นผู้ให้ รอยยิ้มของคนทั้งหลายย่อมจักเบ่งบานในหัวใจ ชีวิต สังคม และโลกนี้ย่อมสดใสด้วย “เมตตา

เมตตาจึงเป็นศาสตร์แห่งความสุขซึ่งเป็น “สุขแท้...”

ศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นศึกษาศาสตร์ สังคมศาตร์ ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ศาสตร์อะไรต่อศาสตร์อะไรไม่ว่าจะรู้สักเท่าไหร่ก็ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอ เนื่องด้วยจำกัดด้วยกาลเวลาหนึ่ง จำกัดด้วยทรัพยากรอีกหนึ่ง จึงทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวายศึกษาหาความรู้ตามศาสตร์เหล่านั้นอย่างไม่รู้จบ

แต่ศาสตร์แห่งเมตตาที่ว่าด้วย “เมตตาศาสตร์” นี้ มีจุดจบ มีจุดอิ่ม
เมื่อผู้รู้ ผู้ศึกษา ผู้มีเมตตา จักอิ่มด้วยปัญญาจากการ “ให้”

การให้ที่มีรากฐานจากความเมตตานี้ เป็นการให้ที่นำมาซึ่งสุข อันเป็น “สุขแท้” สุขแท้จากความ "สงบ" และเป็นความสงบอย่าง "พอเพียง"

เมตตาศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการให้ “ให้ซึ่งกันและกัน”

เบื้องต้น... เริ่มตั้งแต่ให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นด้วยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หรือว่าจะเป็นเงินตรา
ในท่ามกลางนั้น... เมตตาศาสตร์ สอนเราให้เป็นผู้ให้ในการ ให้โอกาส ให้อภัย ให้ความเข้าใจ
อีกทั้งในเบื้องปลาย... จักสอนเราให้รู้จักการให้อย่างถูกต้องอันเหนือกว่าการให้อย่างถูกใจ คือ การ “ให้ปัญญา” ปัญญาอันตั้งมั่น แน่วแน่ มั่นคง ไม่หวั่นไหว ในความดี ความเสียสละ

ปัญญาที่จักไม่ง่อนแง่น คลอนแคลนใน “โลกธรรม” อันมี สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ และเสื่อมยศ
โดยเฉพาะปัญญาอันเป็นสัมมาทิฏฐิในการรู้จัก “ชีวิต” รู้จักความเกิด การตั้งอยู่และความดับไปแห่งทุกข์ รู้จักความสิ้นสุดแห่งความเป็นตัว เป็นตน

ชีวิตทั้งหลายหากศึกษา “เมตตาศาสตร์ (Meta of Metta Science) เพื่อให้รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มี “เมตตา” ซึ่งกันและกันในทุกลมหายใจแล้ว ชีวิตทั้งหลายจักพบความสุขอันเป็นความสุขแท้ที่เรียกว่า “ความสงบ...”

หมายเลขบันทึก: 225758เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2008 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบข้อมูลนี้มากคะ ขณะนี้กำลังศึกษาธรรมะอยู่คะ ตั้งใจทำดี คิดดี และพูดดี

จะหาโอกาสติดตามผลงานตลอดนะคะ

เมตตา - ยิ่งให้ จะยิ่งได้ โดยไม่ต้องพยายามเลย

ชอบเรื่องนี้เช่นกัน

ขอยกบทความท่านติช นัท ฮันห์

"เมื่อจิตของเธอได้รับการปลดปล่อย หัวใจของเธอก็จะเปี่ยมล้นด้วยเมตตา เมตตาต่อตนเอง ที่ต้องผ่านความทุกข์มาอย่างเหลือคณานับ ด้วยเหตุที่ยังติดอยู่ในม่านแห่งความเห็นผิด (มิจฉาทิฎฐิ) ความเกลียด ความรู้ไม่แจ้ง และความโกรธ จงมีเมตตาต่อผู้อื่นเถิด เพราะเขาเหล่านั้นเป็นเพื่อนทุกข์ แลไม่เห็นทาง ยังถูกจำขังด้วยความเห็นผิด ด้วยความเกลียด ความรู้ไม่แจ้ง และยังคงสร้างความทุกข์ต่อตนเองและต่อผู้อื่นอย่างไม่หยุดหย่อน นี้คือการมองตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยสายตาแห่งความรัก ความเมตตา จงมองดูสรรพชีวิต ด้วยสายตาแห่งความรัก ความเมตตา"

  • ความรัก ความเมตตา
  • ความรักที่เกิดจากความใคร่ ก็ให้ผลอย่างหนึ่ง
  • ควารักที่เกิดจากความเมตตา ก็ให้ผลเป็นอีกอย่างหนึ่ง
  • รักความหลากยิ่งแล้ว    นัยหมาย
    รักส่วนของหญิงชาย    ใคร่เคล้า
    รักตัวนั่นกล้วตาย         รักใหญ่ หลวงนา
    รักเพื่อนญาติเราเจ้า     ใฝ่เฝ้า คนึงหา

    รักปิตามาตุเจ้า            รักสัจจ์
    รักชาติศาสน์กษัตริย์     แซ่ซ้อง
    รักใดไตร่ตรองชัด        หัดใส่ ใจนา
    รักยิ่งรักเมตต์คล้อง      พี่น้องโลกัย

  • กราบ 3 หนขอรับ

ชนทั้งหลายต่างต้องการได้รับซึ่ง "ความเมตตา" แต่ทำไมหนาจึงนิยามความเมตตาออกมาเป็น "ความรัก..."

เมื่อชนทั้งหลายต้องการความเมตตาแต่เข้าใจ มอบให้ และเรียกร้องกลับมาเป็นความรัก ตนเองนี้ สังคมนี้ โลกใบนี้จึงวุ่นวายด้วยการเรียกร้องเพื่อครอบครอง เป็นเจ้าของ จับจอง เพื่อครอง "ความรักนั้น..."

หากโลกนี้อุดมไปด้วยความเมตตา โลกนี้จักมีศานติสุข

ความเมตตานำพามาซึ่ง "การให้"

การให้นั้นมีคุณค่าล้นเหลือมากกว่า "การรับ"

เมื่อชนทั้งหลายมีแต่ให้มากกว่าการรับ สังคมนี้ โลกนี้ ก็จะดำรงและคงอยู่ได้

เมตตาคือการให้

โลกที่อุดมด้วยการให้ คือโลกแห่งความเมตตา

เมื่อโลกนี้มีเมตตา โลกนี้ ชนทั้งหลายเหล่านี้จักมีได้ อยู่ได้

อย่างที่องค์พระศาสดากล่าวไว้อย่างชัดแจ้งว่า "เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท