ประวัตินายแพทย์ ขุนวิวรณ์สุขวิทยา




สืบเนื่องจากบันทึก » ก.ข.ค. สวรรค์ประชารักษ์ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสงค์ เกียรติบำเพ็ญ 

ขุนวิวรณ์สุขวิทยา เดิมชื่อ ห่วง โลหะวณิชย์ เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2443 ที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร บิดาชื่อ นายฮุ้น พาณิชย์ มารดาชื่อนางเคลือบ มีอาชีพเป็นชาวนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน

        การศึกษาเบื้องต้นท่านเข้าโรงเรียนวัดสุนทรสถิตย์ ณ บ้านเกิด จากนั้นเข้าเรียนในโรงเรียนอมราบำรุงรักษ์ในอำเภอเมืองสมุทรสาคร จนจบหลักสูตรประถม แล้วเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพมหานคร ท่านเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วเข้าเรียนแพทย์ในศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต พ.ศ. 2466 เมื่อทำงานแล้วเข้าเรียนนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้รับปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2482

        ชีวิตการทำงาน เมื่อท่านศึกษาจนจบแพทย์ศาสตร์แล้ว ก็ได้รับราชการที่กรมสาธารณสุขตอลดมา เป็นแพทย์หลวงประจำท้องที่จังหวัดตาก ใน พ.ศ. 2469-2471 หลังจากนั้นก็ย้ายมาเป็นแพทย์สุขาภิบาลเมืองนครสวรรค์ และแพทย์เทศบาลเมืองนครสวรรค์ ใน พ.ศ. 2471-2480 ย้ายไปเป็นนายแพทย์โท ประจำสุขศาลากาฬสินธุ์ใน พ.ศ. 2481-2482 แล้วย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ จนลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2489

        ระหว่างรับราชการ ขุนวิวรณ์สุขวิทยาได้ทำประโยชน์ด้านสาธารณสุขเป็นอันมาก เช่น การป้องกันโรคอหิวาต์ กาฬโรค สร้างโรงพยาบาลสุขาภิบาล เมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งต่อมาโอนเป็นโรงพยาบาลนครสวรรค์สังกัดกรมการแพทย์ และต่อมาได้สร้างโรงพยาบาลใหม่เสร็จเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2512 ได้รับพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า “โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์”

        ตลอดชีวิตของท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมตลอดมา นอกจากบริจาคเงินช่วยเหลือทางการแพทย์และโรงพยาบาลแล้ว ท่านได้มอบเงินบำรุงการศึกษาและทุนการศึกษาแก่โรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งโรงเรียนที่บ้านเกิด โรงเรียนที่ท่านเรียนและโรงเรียนในจังหวัดนครสวรรค์มากมายหลายโรงเรียน นอกจากนี้ ท่านยังเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการให้ได้ที่ดินเชิงเขากบก่อสร้างสถานศึกษาในปัจจุบันคือ โรงเรียนนครสวรรค์ โรงเรียนเขากบ (วิวรณ์สุขวิทยา) และวิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์ นับว่าท่านมีคุณูปการต่อการศึกษาของจังหวัดนครสวรรค์เป็นอย่างยิ่ง

        นอกจากด้านการแพทย์ซึ่งเป็นภารกิจหลักของท่าน ในด้านการเมืองท่านก็มีบทบาทเป็นอันมาก ทั้งการเมืองส่วนท้องถิ่นและระดับชาติ หลังจากลาออกจากราชการแล้ว ใน พ.ศ. 2489 ท่านได้รับเลือกเป็นเทศมนตรี 2 สมัย เป็นประธานสภาจังหวัดติดต่อกัน 14 ปี ท่านได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 สมัย เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองสมัยนับว่าเป็นเกียรติอย่างสูง ตำแหน่งหลังสุดคือประธานสภาเทศบาลเมืองนครสวรรค์

        ในด้านสังคมท่านมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น เป็นประธานงานกรรมการเจ้าพ่อ – เจ้าแม่ปากน้ำโพ นายกก่อตั้งสโมสรโรตารี่นครสวรรค์ นายกพุทธสมาคมนครสวรรค์ นายกสมาคมต่อต้านโรคมะเร็งจังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น

        ขุนวิวรณ์สุขวิทยาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “โลหะวณิชย์” และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้รองอำมาตย์โทห่วง โลหะวณิชย์ เป็น “ขุนวิวรณ์สุขวิทยา” ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทยและทวีติยาภรณ์ช้างเผือก

        ระหว่างที่ท่านไปเยือนสหรัฐอเมริกา 2 ครั้งคือ พ.ศ. 2495 และ 2501 ท่านได้รับกุญแจเมืองรวม 4 เมือง คือ นิวออร์ลีนส์ (รัฐหลุยเซียนา) เอลปาโซ (รัฐเท็กซัส) ซานฟรานซิสโก (รัฐแคลิฟอร์เนีย) และโฮโนลูลู (รัฐฮาวาย) นับเป็นชาวนครสวรรค์คนแรกที่ได้รับเกียรติอย่างสูงจากสหรัฐอเมริกา

        ขุนวิวรณ์สุขวิทยาได้สมรสกับนางสาวฉวี เปเรย์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2475 ไม่มีบุตรด้วยกัน ทั้งสองครองคู่อยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยาตัวอย่างจนกระทั่งทุกวันนี้ ท่านอายุถึงขณะนี้ (วันที่ 26 กันยายน 2541) 98 ปี 3 เดือน 6 วัน แม้ท่านจะชราภาพไปไหนไม่ค่อยได้แล้ว ท่านก็ยังมีความสุขในบั้นปลายแห่งชีวิต แวดล้อมด้วยผู้ที่เคารพนับถือ

ที่มา

บทที่ 6 บุคคลสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์-ขุนวิวรณ์สุขวิทยา. [cited 2008 Npvember 24]. Available from:  http://www.nsru.ac.th/culture/nwculture/lesson6/lesson614.html

หมายเลขบันทึก: 225245เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2008 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะกวิน

***แม้จะเป็นเด็กที่วิ่งเล่นอยู่ในค่ายจิรประวัติ รู้จักปากนำโพเฉพาะในตลาดแต่ไปเติบโตที่อื่น เลยไม่เคยรู้จักท่าน ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ กิติยา เตชะวรรณวุฒิ แสดงว่าเป็นลูกทหาร ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมครับ

สัวสดีค่ะ คุณกวิน

ดิฉันก็คนปากน้ำโพนะคะ เลยแวะมาทักทายค่ะ

ขอบคุณที่ให้ความรู้เกี่ยวกับท่านขุนวิวรณ์ค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ จุไรรัตน์ ธูปบูชา คนที่ทำงานเพื่อมวลชน ย่อมมีผู้คนยกย่องสรรเสริญ นะครับ ขอบคุณที่แวะมาศึกษาประวัติ ปูชนียบุคคล ครับ

คนดี(คนไทย)มักจะถูกลืมไปทุกที

เป็นคนมหาชัย อยู่ครั้งสุดท้ายที่ จ.นครสวรรค์

สร้างความดีไว้ จนเป็นคนสร้างชื่อเสียงให้กับคน จ.นครสวรรค์

น่านับถือ ความดีของท่าน .....

(ชีวิตของข้าราชการการ....อยู่ที่ไหนๆ จักต้องทำความดีไว้)

ขอบพระคุณท่านขุนวิวรณ์สุขวิทยา ที่สร้างโรงเรียนดีๆ ทำให้ผมมีวันนี้ครับ เขากบ สุดยอด

ผมก็รู้จักท่านเช่นกัน

ปีใหม่ทุกๆปี ขุนวิวรณ์ จะจัดงานปีใหม่ที่บ้านท่าน และให้เด็กๆไปร่วมงาน พร้อมจับฉลากรางวัลต่างๆ บ้านเราอยู่ใกล้ๆไปร่วมงานทุกปีค่ะ

ปีใหม่ทุกๆปี ขุนวิวรณ์ จะจัดงานปีใหม่ที่บ้านท่าน และให้เด็กๆไปร่วมงาน พร้อมจับฉลากรางวัลต่างๆ บ้านเราอยู่ใกล้ๆไปร่วมงานทุกปีค่ะ

จะเข้ามาอ่านประวัติท่านขุน แต่ว๊าวในว๊าว ที่มาจากบันทึกของ ปู่หมอ (หมอประสงค์)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท