คลื่นบ้ากระแทกโหด


ผลงานนักวิจัยไทยได้ขึ้นปกวารสาร Nature

เมื่อสมัยผมอยู่ ม.6 ที่บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โครงการ พสวท. ได้ให้นักเรียนในโครงการฯ ไปเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย มีเพื่อนผมคนหนึ่งกำลังจะเสนอผลงานเรื่องที่มีชื่อโหดๆ เก๋ๆ ตามที่สมัยนั้นมักเอาชื่อแปลกๆ แบบนี้ไปตั้งชื่อภาพยนตร์ และทำให้ผมจำชื่อโครงงานนั้นได้ติดใจจนถึงทุกวันนี้ โครงงานนั้นชื่อ "Tsunami คลื่นบ้า กระแทกโหด" เสียดายก็แต่ว่า เธอเอาทุกอย่างมาเข้าค่ายหมด ยกเว้นอย่างเดียวก็คือ เอกสารที่ต้องใช้เสนอผลงาน ครับ

คนไทยรู้จัก Tsunami ดี โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ในปี 2547 ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และเราก็ได้เรียนรู้จากมันโดยพยายามพัฒนาระบบเตือนภัยให้ตื่นตัวตลอดเวลา

วันนี้ มีผลงานวิจัยของไทยที่เกี่ยวข้องกับ Tsunami ครั้งนั้น ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับที่ 455 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2551 และยังได้รับการคัดเลือกรูปจากผลงานวิจัยไปขึ้นเป็นหน้าปกด้วย

ผู้วิจัยหลัก (first and corresponding author) คือ ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานวิจัยมีเนื้อหากล่าวถึงการเกิด Tsunami ครั้งใหญ่ๆ ในอดีต โดยล่าสุดก่อนปี 2547 เคยเกิดมาแล้วเมื่อประมาณ 600-700 ปีก่อน โดยคาดการณ์จากการศึกษาตะกอนที่สะสมบริเวณป่าโกงกาง (ตามรูป) และการหาอายุด้วยคาร์บอน

ดร.เครือวัลย์ และทีม เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้มีการแข่งขันสูง เพราะมีหลายทีมจากต่างประเทศเข้ามาทำงานวิจัยแบบเดียวกัน แต่โอกาสของงานวิจัยนี้อยู่ที่ว่า ทีมวิจัยไทยพบจุดที่เหมาะสมสำหรับการขุดหาตะกอนได้ก่อน นอกจากนี้ แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก จุฬาฯ เพียงเล็กน้อย แต่ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างเต็มที่ ส่วนทุนต่างๆ นั้นได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากแหล่งทุนภายนอก และเมื่อได้ตัวอย่างแล้ว ได้มีโอกาสทำงานกับชาวต่างชาติที่เป็นมือหนึ่งในสาขานี้ งานวิจัยจึงประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น

ทีมวิจัยทิ้งท้ายว่า ถ้าเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาครั้งใหญ่ๆ อย่างเช่น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เกิดเป็นรอบๆ Tsunami ก็ควรมีพฤติกรรมแบบเดียวกัน สำหรับ Tsunami ที่ 600 ปีก่อน ก็ควรมี Tsunami ที่ 1,200 ปี และ 1,800 ปีก่อนด้วย ซึ่งจะได้ดำเนินการขุดหาแหล่งตะกอนต่อไป

งานวิจัยนี้ยังได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างชาติ ได้แก่ BBC, Reuter, VOA, CBC นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงของนักวิจัยไทยครับ ขอปรบมือแสดงความยินดีจากใจจริง 

อ่านเนื้อข่าว BBC ได้จาก http://news.bbc.co.uk/2/hi/science/nature/7697482.stm

หมายเลขบันทึก: 224515เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2008 16:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์ ครูอ้อยจะติดตามอ่านจากลิงค์ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท