อนุศาสนาจารย์ทางการศึกษา


ยกครูเป็นอนุศาสนาจารย์ให้การอบรมสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรม

 

 

          สังคมไทยกำลังประสบปัญหาความเสื่อมโทรมด้านคุณธรรมจริยธรรมในเด็กและเยาวชน    ซึ่งอาจสร้างวิกฤติให้แก่สังคมไทยได้ในอนาคต จากรายงานภาวะสังคมไตรมาส ๑ ปี ๒๕๕๐ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่ามีเด็กและเยาวชนกระทำผิดเพิ่มขึ้นจาก ๑๑,๐๔๕  คดี ในไตรมาสแรกปี ๒๕๔๙  เป็น ๑๑,๗๕๕  คดี          ในไตรมาสแรกปี ๒๕๕๐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๔  ผลการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ ของสถาบัน       รามจิตติ พบว่ามีวัยรุ่นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปดื่มแอลกอฮอล์จำนวน ๔  ล้านคน หรือร้อยละ ๓๘.๓๓ ของประชากร ซึ่ง  เยาวชนที่เข้าอยู่ในสถานพินิจ มีถึงร้อยละ ๓๔.๘  ที่กระทำผิดขณะมึนเมา


          
ความอ่อนด้อยด้านคุณธรรมจริยธรรมในเด็กและเยาวชนนั้น เป็นสัญญาณอันตรายที่เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจ โดยเฉพาะครูควรเข้ามีส่วนวางรากฐานคุณธรรมในเด็กและเยาวชน


       
  การวิจัยเรื่อง รูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม เมื่อปี ๒๕๔๙  โดยคณะผู้วิจัยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ซึ่งได้การสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นแนวทางที่ครูผู้สอนสามารถพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียนได้ ดังนี้


          
พัฒนารูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียน

           เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านอายุ ระดับสติปัญญา ความสามารถในการเรียนรู้ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ สภาพพื้นฐานครอบครัว ปัญหาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน ฯลฯ ครูผู้สอนจึงควรคิดหารูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับผู้เรียน


      
เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจผู้เรียนแต่ละคน นำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อจัดการสอนได้อย่างเฉพาะเจาะจงและสอดคล้องกับสภาพผู้เรียน หลักจากนั้นให้เลือกใช้รูปแบบการสอนให้เหมาะสมตามพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย เช่น ผู้เรียนในวัยเด็กเล็กเน้นการสอนโดยใช้   ตัวแบบหรือการให้รางวัล ผู้เรียนระดับมัธยมเน้นการสอนที่ใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ในส่วนผู้เรียนที่มีปัญหาคุณธรรมจริยธรรมหนักกว่าผู้เรียนคนอื่น ควรเพิ่มการให้คำปรึกษาและติดตามผลถึงบ้าน นอกเหนือจากการสอนในห้องเรียน เป็นต้น

           ที่สำคัญควรจัดการเรียนการสอนที่นำผู้เรียนเข้าไปปฏิบัติจริง แต่อยู่ภายใต้ความเหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน เช่น นำผู้เรียนเข้าไปทำประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมผ่านงานศพคนในชุมชน การช่วยเหลือผู้ป่วย อ่านหนังสือให้คนตาบอด ดูแลผู้สูงอายุ จัดค่ายอาสา ฯลฯ ทำให้ผู้เรียนรับรู้สภาพปัญหาและความต้องการของสังคม และมีส่วนช่วยขัดเกลาจิตใจผู้เรียนให้อ่อนโยน มีเมตตา

 

           สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในรายวิชาและกิจกรรม
          
ครูควรสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในทุกวิชา เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจว่าคุณธรรมจริยธรรมไม่ได้แยกส่วนจากศาสตร์ด้านอื่น เริ่มจากการวิเคราะห์ในแต่ละรายวิชาว่าสามารถสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในเรื่องใดบ้าง และแม้จะเป็นรายวิชาเดียวกันก็ควรสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมให้แตกต่างตามแต่ละช่วงชั้น หลังจากนั้นให้กำหนดแผนการสอน และกระจายความรับผิดชอบให้แก่ครูในแต่ละวิชา/ในแต่ละช่วงชั้น เพื่อจัดการสอนคุณธรรมจริยธรรมอย่างต่อเนื่องและไม่ซ้ำซ้อน

           นอกจากนี้ ยังสามารถปรับกิจกรรมที่สถานศึกษามีอยู่มาหลักคุณธรรมจริยธรรมเป็นแกน เช่น กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ฯลฯ โดยพัฒนาต่อยอดกิจกรรมเหล่านี้ ให้มีส่วนพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างน่าสนใจ มีความร่วมสมัยสอดคล้องตามสภาพปัญหาและบริบทของชุมชนและสังคม

 

           จัดสรรทรัพยากรจากชุมชนมาใช้ร่วมกับสถานศึกษา
          
เนื่องจากสถานศึกษาอาจมีทรัพยากรไม่เพียงพอ ครูควรแสวงหาความร่วมมือกับชุมชน เพื่อนำทรัพยากรจากชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มต้นจากวิเคราะห์ว่าในสถานศึกษาขาดแคลนทรัพยากรใด และต้องการทรัพยากรใดเพิ่มเติม จากนั้นวิเคราะห์ว่าชุมชนมีสิ่งใดสามารถนำมาใช้ในการสอนได้ อาทิ ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มผู้ปกครองที่มีความรู้ ผู้นำศาสนา รวมถึงโครงการที่ชุมชนจัดขึ้น เช่น โครงการสำนึกรักบ้านเกิด โครงการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ฯลฯ เพื่อนำผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรม หรือนำมาใช้ในการเรียนการสอน

           ปรับเปลี่ยนระบบประเมินผลการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการปรับปรุงรูปแบบการสอน

คุณธรรมจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง ครูผู้สอนควรประเมินประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอนคุณธรรมจริยธรรมว่าผลที่ได้รับเป็นไปตามเป้าหมายที่หรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับทรัพยากรที่ใช้    ในกระบวนการจัดการสอน อาทิ ทรัพยากรในรูปของเวลา ต้นทุนค่าสื่อการสอนหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ปริมาณบุคลากรที่ใช้ ฯลฯ


              
อย่างไรก็ตาม การที่ครูผู้สอนจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ผู้เรียนได้นั้น ต้องเกิดจากการสนับสนุนของผู้บริหารสถานศึกษา ที่ต้องการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กับงานด้านวิชาการ ผู้บริหารจึงควรเป็นผู้ที่มีทักษะด้านบริหารจัดการ มีความสามารถในการสร้างเครือข่าย เพื่อจัดสรรทรัพยากรมาสนับสนุนการจัดการสอนและระดมทรัพยากรจากชุมชน องค์กรศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ-เอกชน มหาวิทยาลัย ฯลฯ และที่สำคัญ ต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรม


             ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กล่าวไว้ว่า สังคมใด ๆ จะยั่งยืนถาวรได้นั้น  ต้องเป็นสังคมที่คนในสังคมมีคุณธรรมจริยธรรม เพราะคุณธรรมจริยธรรมเป็นเหมือนเสาต้นใหญ่   ที่แข็งแรงคอยค้ำจุนสังคมไว้ หากขาดเสาต้นนี้ไปสังคมนั้นย่อมพังทลายในที่สุด ซึ่งครูผู้สอนนับเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนค้ำจุนสังคม ผ่านการปลูกฝังผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรมเป็นพื้นฐาน ในการดำรงชีวิตคุณธรรมจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง          

อนุศาสนาจารย์ กับบทบาทในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม

         พระธรรมกิตติวงศ์ ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภา กล่าวว่า อนุศาสนาจารย์ ได้แก่อาจารย์ผู้ทำหน้าที่อนุศาสน์ คือแนะนำ ชี้แจง สั่งสอนทางธรรม

         อนุศาสนาจารย์ ใช้เรียกอาจารย์ผู้อบรมศีลธรรมของหน่วยข้าราชการ เช่น ของกองทัพสั่งสอนศีลธรรมแก่ข้าราชการทุกระดับชั้นในหน่วยงานนั้นตลอดถึงเจ้าหน้าที่ พลทหาร หรือนักโทษ ในหน่วยงานนั้น

         อนุศาสนาจารย์ เป็นข้าราชการพิเศษ มีคุณสมบัติพิเศษ คือมีภูมิจริยาและภูมิปัญญาทางธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เช่น เป็นเปรียญ ๙  ประโยคหรือจบปริญญาสาขาวิชาพระพุทธศาสนา

 

          เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอนุศาสนาจารย์ จึงใคร่ขอนำเสนอประวัติความเป็นมาของอนุศาสนาจารย์ พอสังเขป  ดังนี้

 

ประวัติความเป็นมา

 

อนุศาสนาจารย์ เป็นคำเรียกชื่อนายทหารผู้ปฏิบัติงานด้านศาสนาในกองทัพ ตามพระราชานุมัติของ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖  พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานกำเนิด กิจการอนุศาสนาจารย์ขึ้นในกองทัพไทย เมื่อ วันที่ ๒๙  มิถุนายน ปีพุทธศักราช ๒๔๖๑  โดยทรงตระ หนักถึงความ จำเป็นทีต้องมีอนุศาสนาจารย์ ติดตามกองทหาร อาสาไปช่วยราชสัมพันธมิตรในงานพระราชสงคราม ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่ปลุกใจทหาร เป็นที่พึ่งทางใจและนำปฏิบัติศาสนกิจแก่ทหาร ตามพระราชปรารภ

ความตอนหนึ่งว่า

“ ……ทหารที่ออกจากบ้านเมืองไปคราวนี้ ต้องอยู่ถิ่นไกล ไม่ได้พบเห็นพระเหมือนอยู่ในบ้านเมืองตน จิตใจจะเหินห่างจากธรรม ถึงยามคึกคะนองก็จะฮึกเหิมเกินไป ถึงคราวทุกข์ร้อนก็อาดูรระส่ำระสาย ไม่มีใครคอยช่วยปลดเปลื้องบรรเทาให้ ถ้ามีอนุศาสนาจารย์ออกไปจะได้คอยพร่ำสอน และปลอบโยนปลดเปลื้องในยามทุกข์ โดยมีอำมาตย์ตรี พระธรรมนิเทศทวยหาญ      ( อยู่ อุดมศิลป์ ) เป็นปฐมอนุศาสนาจารย์


           กิจการ อนุศาสนาจารย์ กองทัพอากาศมีเคียงคู่กันมาโดยตลอด ถือกำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยมีคำสั่งทหาร ที่ ๙๘/๕๘๑๐ ลงวันที่ ๖  กรกฎาคม ๒๔๘๑ เรื่อง คำสั่งย้ายขุนเวียรวีรธรรม (เวียร  พูลสวัสดิ์ ) จากกรมยุทธศึกษาทหารบก มารับราชการในกองทัพอากาศ จึงนับเป็นอนุศาสนาจารย์ ทอ . คนแรก ต่อมากิจการด้านอนุศาสนาจารย์ได้มีวิวัฒนาการเจริญมาโดยลำดับ  นับแต่มีฐานะ เป็นกรมอากาศยานจวบจนปัจจุบัน

            กิจการ ด้านอนุศาสนาจารย์ เป็นหน่วยงานระดับกองขึ้นอยู่กับกรมยุทธศึกษาทหารอากาศมีภารกิจโดยรวม คือ       ทำหน้าที่อบรมศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม ตลอดจนนำปฏิบัติด้านศาสนกิจและพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นที่ปรึกษาสวัสดิภาพทางใจ ให้กับกำลังพลและครอบครัวชาวกองทัพอากาศ และบุคคลทั่วไป โดยผู้ทำหน้าที่ อนุศาสนาจารย์ ต้องมีคุณสมบัติคือ เคยบวชเรียน ในพระพุทธศาสนา จบการศึกษาเปรียญธรรม ประโยคและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี     จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในกรณีที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะต้องเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า ๕ ประโยค หรือสูงกว่า ทั้งนี้ต้องเป็นบุคคลผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ดีงาม อยู่ในศีลในธรรม

หมายเลขบันทึก: 222674เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2008 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ประหยัด ขันติธรรมบวร

ผมขอข้อมูลเพื่อทำการอบรมสั่งสอนพนักงานได้หรือไม่ครับผมเคยเเป็นพระธรรมฑูต อยู่ 7 ปี ออกมาทำงานบริษัทต่างชาติใช้วิธีการสอนหลักธรรมมาตลอดปัจจุบันนี้16 ปีแล้วอบรมพนักงานก่อนเริ่มงานทุกวันมีประโยชน์มากใคร่ขอคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ต่อคนหมู่มากและได้กุศลแรง ผมอยู่บริษัทมิซูบิชิ จังหวัดระยองนิคมมาบตาพุดผาแดงอบรมพนักงานทุกวัน และรายงานส่งแรงงานทุก 3 เดือนขอความอนุเคราะห์ส่งเสริมการสอนได้หรือไม่ครับ ขอขอบคุณล่วงหน้า

ประหยัด ขันติธรรมบวร

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยแส่งแวดล้อม จป.วิชาชีพ

หน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่น 21 มีความรู้ทางธรรมนักธรรมเอกและพระอภิธรรมจากวัดมหาธาตุเพชรบุรี และจิตตภาวันวิทยาลัย

ประหยัด ขันติธรรมบวร

ขอข้อมูลเพื่อเผยแผ่

ขอขอบคุณที่ไม่แสดงว่า มี หรือไม่มีน้ำใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท