“ฉันจะอยู่ข้างแม่” ณ สุสานหลวงตลอดกาล


พระสรีรางคารของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ในวันพุธที่ 19 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ริ้วขบวนที่ 6 จะเชิญพระสรีรางคารของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มุ่งหน้าสู่สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ณ ที่นั้นเอง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะได้ประทับอยู่เคียงข้างกับ พระราชชนกนาถ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ พระชนนี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไปตลอดกาลเหมือนดังที่พระองค์เคยมีพระดำริว่า “ฉันจะอยู่ข้างแม่”
       

       เกรียงไกร วิศวามิตร์ ข้าราชการบำนาญอาวุโสของสำนักพระราชวัง เล่าถึงราชประเพณีโบราณการพระราชทานเพลิงพระศพและการบรรจุพระอัฐิ พระราชสรีรางคาร และพระสรีรางคารว่า ตามราชประเพณีการพระราชทานเพลิงพระศพ และพระราชพิธีการเก็บพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) นั้นเริ่มครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระเทพสุดาวดี (สา) ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินี สิ้นพระชนม์ จึงทรงโปรดฯ ให้เริ่มมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เก็บพระอัฐิและพระสรีรางคาร จนกลายเป็นพระราชประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
       
       “ตามราชประเพณีโบราณนั้นหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ในวันรุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จมาทรงเก็บพระอัฐิลงพระโกศด้วยพระองค์เอง โดยจะทรงเก็บพระอัฐิอย่างละชิ้นจนครบพระสรีระ สำหรับพระอัฐิของพระมหากษัตริย์นั้น ตามราชประเพณีจะอัญเชิญพระโกศไปประดิษฐาน 2 แห่งคือ พระโกศที่หนึ่งประดิษฐานที่ “หอเก็บพระอัฐิ” ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และพระโกศที่สองอัญเชิญไปประดิษฐานยัง “วัดประจำพระองค์” ที่ทรงสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่
       
       ส่วนพระอัฐิที่เหลือก็จะให้พระราชโอรส พระราชธิดา และพระประยูรญาติที่ใกล้ชิดเก็บไว้บูชา จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะทำการแปรสภาพพระอัฐิให้เป็นพระราชสรีรางคาร พระสรีรางคาร เพื่อนำไปบรรจุไว้ยังวัดประจำพระองค์ เหมือนดังในวันที่ 19 พ.ย.นี้ ที่พสกนิการชาวไทยทั้งประเทศจะมีโอกาสได้เห็นพระราชพิธีเชิญพระสรีรางคารของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จากพระศรีรัตเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปบรรจุไว้ยังสุสานหลวง วัดราชบพิธฯ”
เกรียงไกรอธิบาย
       
       พระสุสานหลวง ณ วัดราชบพิธฯ
       
       ราชประเพณีการเก็บพระอัฐินั้น มามีเพิ่มเติมในรัชสมัยของ ร.5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระปิยะมหาราชของปวงชนชาวไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “สุสานหลวง” ขึ้นในวัดราชบพิธฯ ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิด คือ พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และพระราชโอรส พระราชธิดา ได้อยู่ร่วมกัน หลังจากที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ในทั่วไปจะเป็นการสร้างอนุสาวรีย์ของพระมเหสี หรือเจ้าจอมมารดา เพื่อให้ลูกได้อยู่กับแม่ หรืออย่างน้อยในบ้านของแม่ เว้นแต่ในกรณีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ก่อนพระมารดา ก็สร้างอนุสาวรีย์ของพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นไปก่อน
       
       สุสานหลวงแห่งนี้ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของวัดติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม แต่เดิมมีอาณาบริเวณกว้าง 4 ไร่กว่า ต่อมาในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองทางผู้สำเร็จราชการและทางกทม.ได้ตัดถนนอัษฎางค์ซึ่งกินพื้นที่สุสานหลวงไปบางส่วน จนปัจจุบันสุสานหลวงเหลือพื้นที่เพียง 2 ไร่ครึ่งเท่านั้น
       
       ท่านเจ้าคุณพระครูธรรมวรเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้เล่าถึงภาพรวมของสุสานหลวงว่า ภายในสุสานหลวงมีอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างไว้บ้าง และที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างขึ้นเองบ้าง ล้วนเป็นอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคาร พระอังคาร พระอัฐิ ของพระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชโอรส พระราชธิดา พระนัดดา และพระปนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นสุสานหลวงอนุสรณ์สถานสำหรับ “จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์”
       
       โดยตามความเชื่อแล้วหลังจากพิธีเผาศพของผู้ตาย จะมีการนำอัฐิธาตุไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ หรือสถูป และต่อมาก็พัฒนาไปสู่การบรรจุอัฐิหรืออังคารไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป หรือตามช่องกำแพงแก้ว ซึ่งแม้แต่พระบรมราชสรีรางคารของพระมหากษัตริย์ก็มีการอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พุทธบัลลังก์แห่งพระพุทธปฏิมาพระประธานด้วยการบรรจุอัฐิหรืออังคารไว้ตามสถานที่ดังกล่าว จะเป็นการกระทำให้บรรดาลูกหลานในวงศ์ตระกูลใช้เป็นสถานที่เคารพบูชา
       
       “ส่วนลักษณะของสถาปัตยกรรมภายในสุสานหลวงเป็นแบบพระเจดีย์บ้าง พระปรางค์ บ้างก็เป็นพระวิหารแบบไทย แบบศิลปะปรางค์ลพบุรี และแบบโกธิค ซึ่งรวมอนุสาวรีย์ที่อยู่ในสุสานหลวงมีทั้งหมด 34 พระเจดีย์”
       
       แต่เจดีย์ที่เด่นเป็นสง่าในบริเวณสุสานหลวงนั้น ท่านเจ้าคุณอธิบายว่า คือ อนุเสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเป็นพระเจดีย์สีทอง 4 องค์ ที่ตั้งเรียงกันจากทางทิศเหนือ ด้านถนนราชบพิธฯไปทิศใต้ซึ่งประกอบไปด้วย
       
       อนุสรณ์สถาน “สุนันทานุเสาวรีย์” เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ พระราชธิดา
       
       อนุสรณ์สถาน “รังษีวัฒนา” เป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคารสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า, เจ้าฟ้าวไลอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ยังไม่มีพระนาม) พระราชธิดาองค์ที่ 88 และพระราชสรีรางคารแห่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
       
       อนุสรณ์สถาน “เสาวภาประดิษฐาน” เป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคารพระราชโอรสและพระราชธิดา ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
       
       อนุสรณ์สถาน “สุขุมาลนฤมิตร์” เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5, สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต และพระประยูรญาติแห่งราชสกุล บริพัตร
       
       สำหรับพระสรีรางคารของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้นทรงเป็นพระธิดาใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ต้นราชสกุล “มหิดล” พระราชโอรสลำดับที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ 7 ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ดังนั้นในพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ จึงมีการเชิญไปประดิษฐาน ณ สุสานหลวงของราชสกุล “มหิดล” ณ อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา เพื่อประทับเคียงข้างพระบรมราชชนก และสมเด็จพระราชชนนี
       
       ขัตติยนารี “ผู้เปี่ยมเมตตา”
       
       อีกสถานที่หนึ่งที่สำคัญในวัดราชบพิธฯคือที่ฐานพระประธานพระพทุธอังคีรสในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของ รัชกาลที่ 1 - 5 อีกทั้งยังเป็นที่บรรจุพระสรีรางคารของรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ดังนั้นในทุกปีจะมีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลปีละ 3 ครั้ง
       
       ซึ่งทุกปีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ครั้งที่ทรงมีพระชนชีพอยู่นั้นพระองค์จะเสด็จมาที่วัดแห่งนี้ปีละ 2 ครั้ง คือ วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในวันที่ 20 กันยายน และจะเสด็จมาอีกครั้งในวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเพื่อมาบำเพ็ญพระกุศลถวายเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
       
       ด้วยน้ำพระทัยและพระเมตตาอันเปี่ยมล้นที่มีต่อพระประยูรญาติ ทุกครั้งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ เสด็จมายังวัดแห่งนี้ก็จะเสด็จไปยังพระสุสานด้วย เพื่อบำเพ็ญพระกุศลถวายแด่พระประยูรญาติของพระองค์ที่ล่วงลับไปแล้ว
       
       ท่านเจ้าคุณพระธรรมวรเมธี เล่าให้ฟังว่าเดิมทีสุสานแห่งนี้เสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก แต่ก่อนหน้าที่สมเด็จย่าจะสิ้นพระชนม์ 3 ปีสมเด็จพระพี่นางฯ เสด็จมาที่สุสานหลวงแห่งนี้ พระองค์ทรงมีรับสั่งให้บูรณะสุสานให้สะอาดขึ้น โดยพระองค์ทรงรับเป็นองค์ประธานในการดูแล และทรงทำกองทุน “จุฬาลงกรณ์สันตติวงศ์” เพื่อหาเงินรายได้มาบูรณะสุสานให้เป็นระเบียบขึ้น
       
       “หลังจากที่สมเด็จกรมหลวงท่านบูรณะสุสานแห่งนี้ให้ดูสะอาดตาแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังเข้ามาดูแลสุสานแห่งนี้อาทิตย์ละ 3 วัน และทางวัดก็ได้เปิดสุสานแห่งนี้ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาประวัติความเป็นมาของสุสาน เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้กับคนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงพระสถาปัตยกรรมต่างในสุสาน”
       
       ท่านเจ้าคุณเล่าต่อว่า หลังจากที่มีพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จย่าฯ ไว้ที่พระสุสานเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เสด็จมาที่สุสานแห่งนี้อีกครั้งและทรงมีพระดำริกับท่านเจ้าคุณว่า “ฉันจะอยู่ข้างแม่”
       
       อนุสรณ์สถาน “รังษีวัฒนา” ที่ประทับตลอดกาล
       
       จากพระดำริ “ฉันจะอยู่ข้างแม่” ด้วยเหตุนี้เองทางสำนักพระราชวัง วัดราชบพิธฯ และ กรมโยธา จึงร่วมกันซ่อมแซมอนุสรณ์สถาน “รังษีวัฒนา” และตกแต่งพื้นที่บริเวณสุสานเพื่อไว้คอยรับงานพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคารในวันที่ 19 พ.ย.ที่จะถึงนี้
       
       “ตอนนี้ทางวัดกำลังทาสีกำแพงของวัดเพื่อเป็นเส้นทางเสด็จของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่จะเสด็จมาบำเพ็ญพระกุศลในโบสถ์ ส่วนที่พระสุสานขณะนี้ทางกรมโยธา และ สำนักพระราชวังได้ร่วมกันทาสีที่เจดีย์ และในปีนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุมากขึ้น จึงได้มีการติดตั้งลิฟต์ยกบริเวณด้านข้าง อนุสรณ์สถาน “รังษีวัฒนา” เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จขึ้นไปยังพลับพลาที่ประทับ และได้เจาะเป็นช่องสำหรับประดิษฐานพระสรีรางคารไว้ด้านข้างของพระชนนี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ท่านเจ้าคุณอธิบาย
       
       จากนี้ไปดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ จะได้ทรงพักผ่อนและประทับอยู่เคียงข้างสมเด็จย่าอย่างอบอุ่นตามพระราชประสงค์ของพระองค์ และยามใดที่ประชาชนคนไทยคิดถึงพระองค์ก็สามารถไปสักการะได้ที่ “สุสานหลวง” วัดราชบพิธฯ ทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 – 18.00 น.
       
       *********************
       
       วัดที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคารของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
       

       รัชกาลที่ 1 ประดิษฐาน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
       รัชกาลที่ 2 ประดิษฐาน วัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร
       รัชกาลที่ 3 ประดิษฐาน วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร
       รัชกาลที่ 4 ประดิษฐาน วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
       รัชกาลที่ 5 ประดิษฐาน วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร
       รัชกาลที่ 6 ประดิษฐาน ไว้ที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่วัดพระปฐมเจดีย์
       รัชกาลที่ 7 ประดิษฐาน ไว้ที่วัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม
       รัชกาลที่ 8 ประดิษฐาน วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรวิหาร

       
       *******************
       
       เรื่อง-ปาณี ชีวาภาคย์ และศศิวิมล แถวเพชร
ที่มา: http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000134271

หมายเลขบันทึก: 222589เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2008 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท