โจทย์วิจัยสำหรับ นศ. ป. เอก


วันที่ ๒๑ ต.ค. ๕๑ ผมไปร่วมประชุม สัมมนาป่าชุมชน ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ครึ่งวัน   ผมไปด้วยหลายเป้าหมาย    เป้าหมายหนึ่งคือไปดูว่ามีโจทย์วิจัย   หรือบทเรียนว่าด้วยการทำงานวิชาการเชิงนโยบายหรือเชิงเทคนิคว่าด้วยป่าชุมชนอย่างไรบ้าง    และผมก็ได้หลายคำตอบ   เป็นคำตอบที่ผมไม่รู้ว่าถูกหรือผิด   และจะได้นำมา ลปรร. ต่อไป

 

เมื่อกลับมาบ้าน ผมก็เอาเอกสารที่ ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนฯ แจก    เอามาศึกษา    ติดใจเอกสารชื่อ ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนของไทย กลับนโยบายป่าไม้หรือพายเรือในอ่าง   โดย เบรนเนอร์ และคณะ  โปรแกรมเศรษฐกิจ-สังคมของการใช้ป่าในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน  บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยไฟร์บวก  ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี    จัดแปลและพิมพ์เผยแพร่โดย แผนงานสนับสนุนการดำเนินงานด้านป่าชุมชนในประเทศไทย  ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชน แห่งภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มกราคม ๒๕๔๓

 

ผมติดใจคำนำของ ดร. สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนฯ    ที่ระบุว่าหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากงานวิจัยของ นศ. ป. เอก ชาวเยอรมัน ๖ คน   ซึ่งมีพื้นความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ กัน คือด้านสังคม มานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ เกษตร เศรษฐศาสตร์เกษตร และป่าไม้   ได้เสนอประสบการณ์ของตนที่มีกับป่าชุมชนจากการทำงานในประเทศไทยมายาวนานพอสมควร  คนละ ๓ ๕ ปี   และจากการศึกษาวิจัยภาคสนามอย่างเข้มข้นเมื่อปี ๒๕๔๐   การวิจัยของนักศึกษาแต่ละคนมุ่งเน้นแง่ต่างๆ กันของการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น   และการพัฒนานโยบายป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ในภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

 

นี่คือตัวอย่างของการวิจัยเชิงนโยบาย ที่มีการตั้งโจทย์ และจัดทีมวิจัยแบบสหวิทยาการที่น่าสนใจมาก    น่าจะเป็นตัวอย่างแก่ผู้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยได้เป็นอย่างดี    ไม่ใช่เฉพาะงานวิจัยป่าชุมชน    แต่เป็นเรื่องๆ สำคัญๆ เชิงนโยบาย ที่มีความซับซ้อน มีมุมมองที่ขัดแย้ง    หรือเป็นเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรอย่างเรื่องป่าชุมชน หรือเรื่องอื่นๆ 

 

ผมอยากเห็นประเทศไทยมีการจัดทำโจทย์วิจัย และจัดหา นศ. ป. เอกที่ทำงานเป็นทีม และลงสนามจริงจังอย่างทีมเยอรมันนี้

 

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ต.ค. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 222330เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2008 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณอย่างสูงครับสำหรับตัวอย่างการสร้างองค์ความรู้ด้วยวิธีสหวิทยาการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน กระผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ อยากให้มีการทำงานที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ(ถึงจะช้าหน่อยแต่ก็คุ้มค่าจริงหรือเปล่าครับ) ไม่ใช่แก้กันแค่เฉพาะหน้าแล้วก็ต้องรอรุ่นต่อไปเข้ามาแก้กันต่อไปเรื่อยๆ แทนที่จะได้พัฒนาก็กลายเป็นการย่ำอยู่กับที่หรือถอยหลังกลับไปอีก แล้วเมื่อไหร่จะได้มีเวลาคิดทำอะไรที่ใหม่ๆขึ้นไปกันหละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท