พลังความคิด - นศ.กิจกรรมบำบัดมหิดลรุ่นแรก


ผมได้สอนวิชาแนะนำกิจกรรมบำบัดรวม 3 ครั้ง วันนี้ลองประเมินความก้าวหน้าจึงเห็นพลังความคิด หลังจากวางแผนดึงพลังความคิดด้วยการสอนแบบเรียนรู้ระหว่างอาจารย์และนักศึกษา

ผมปรับปรุงแผนการสอน หลังจากที่ประเมินกระบวนการสอนของตนเองจาก 2 ครั้งต่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนี้

  • ลดภาษาวิชาการลง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ที่ต้องมีการแปลความหมายเชิงลึก
  • ลดจำนวน slide เนื้อหาลง แต่นำเสนอแผนภาพกระบวนการและแนวคิดในลักษณะแผนภาพที่ง่ายขึ้น พร้อมอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ เป็นกับเอง แบบเล่าเรื่อง/ประสบการณ์ที่ผ่านมา
  • ใช้สื่อวิดีทัศน์ให้ชมและคิดตาม หลังจากเห็นแนวคิดต่างๆ ในระยะเวลาที่ไม่เกิน 15 นาที
  • เปิดโอกาสให้นักศึกษาถามอย่างหลากหลาย ตามความสนใจและข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ที่คิดขึ้นมาใหม่ หรือ บูรณาการกับความรู้ที่เรียนมาก่อนหน้านี้
  • ฝึกนักศึกษาให้คิดและตัดสินใจถามอย่างสนใจ เช่น เรียกชื่อเพื่อให้ถามอาจารย์ แต่ต้องให้เวลาและไม่ใช้คำพูดสั่งหรือจี้มากจนเกินไป เน้นการถามและตอบอย่างกัลยาณมิตร
  • ฝึกนักศึกษาให้คิดและตอบคำถามเชิงวิเคราะห์ เช่น ทำไมนักกิจกรรมบำบัดจึงเป็นวิชาชีพสำคัญ โดยวางเงื่อนไขเรื่องเวลาเขียนตอบ จำกัดหน้า/ขนาดของกระดาษ ที่สำคัญแนะนำข้อตกลงของการให้คะแนนเมื่อตอบตรงประเด็นและสร้างสรรค์
  • ฝึกนักศึกษาให้รู้จักเข้าเรียนตรงเวลา โดยตั้งการให้คะแนน 3 รูปแบบ ได้แก่ 5% สำหรับผู้มาตรงเวลาคือ 8.30 น. 2% สำหรับผู้มาในช่วงภายใน 15 นาทีหลังจากเริ่มเรียน และ 0% สำหรับผู้มาเกิน 8.45 น.

วันนี้ผมลองใช้แผนการสอนที่คิดแล้วคิดอีกว่า "ต้องพัฒนาศักยภาพแห่งทักษะชีวิตนักศึกษา" ก่อนที่จะ "ดึงพลังความคิดของนักศึกษา"

ผมเชื่อว่า หากนักศึกษารู้จักประเมินคุณค่าในตนเอง เขาน่าจะรู้จักสร้างพลังความคิดสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดคุณค่าในแง่การเรียนรู้วิชาชีพที่เขาสนใจ เช่น กิจกรรมบำบัดในอนาคตของเขา (4 ปีข้างหน้า)

ผมประเมินพบว่า นักศึกษากว่า 10 คน จาก 35 คน ในช่วงเวลา 15 นาที มีความสนใจและแลกเปลี่ยนคำถามที่น่าสนใจ เมื่อผมตอบไปก็มองพวกเขาอย่างปลื้มปิติว่า เรากำลังจะพัฒนานักกิจกรรมบำบัดที่มีคุณภาพให้กับสังคมไทยอีกหลายคนครับ

ตัวอย่างคำถาม-คำตอบที่น่าบันทึกไว้ ได้แก่

  1. นักกิจกรรมบำบัดช่วยผู้ป่วยที่ไม่ได้สติอย่างไร 

ตอบ: ช่วยวางแผนจัดกิจกรรมการกระตุ้นความรู้สึก-ความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ตื่นตัวต่อการนำเสนอ "คุณค่าของการพัฒนาทักษะดูแลตนเอง" หลังจากฟื้นจากการไม่ได้สติ ทั้งนี้ต้องประสานงานกับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยให้สร้างโอกาสการพัฒนาทักษะการดูแลตนเองมากขึ้น แทนที่พยาบาลจะดูแลให้ทุกกิจกรรม

   2.  นักกิจกรรมบำบัดช่วยผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร

ตอบ: ช่วยในระยะแรกในการใช้กิจกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยคิด ยอมรับ และมีกำลังใจทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ในระยะต่อมาผู้ป่วยควรได้ความรู้ถึงการจัดการตนเองเรื่องผลกระทบของเคมีบำบัดต่อสุขสถาวะและการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมดำเนินชีวิต (เช่น อาการล้าและไม่ยอมใช้เวลาอย่างมีคุณค่า) และนักกิจกรรมบำบัดให้กำลังใจและส่งเสริมการทำกิจกรรมที่อยากทำในช่วยระยะสุดท้ายของชีวิต

   3. นักกิจกรรมบำบัดเปิดคลินิกได้อย่างไร

ตอบ: ปัจจุบันกำลังดำเนินการร่าง กม. รับรองการเปิดคลินิก นักกิจกรรมบำบัดหลายท่านเปิดเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลหรือร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ ในการเปิดสถานที่บริการพัฒนาการเด็ก ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เข้าไปตั้งแผนกในหน่วยงานเอกชนเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล ฯลฯ

   4. นักกิจกรรมบำบัดจะทำงานอย่างไรกับนักฝึกอาชีพที่มีอยู่แล้วในราชทัณฑ์ หรือ หน่วยงานจิตเวช

ตอบ: นักกิจกรรมบำบัดต้องนำเสนอภาพลักษณ์ของความรู้ความสามารถของตนเองให้ผู้บริหารหน่วยงานข้างต้นเข้าใจ ได้แก่ ความรู้ทางการแพทย์และความรู้ทางการให้บริการทางกิจกรรมบำบัด ที่มิใช่บังคับฝึกอาชีพแก่ผู้ป่วย แต่สร้างกิจกรรมให้กับผู้ป่วยในรูปแบบค้นหาความสนใจ แรงจูงใจ และทัศนคติของคุณค่าในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและมีการประเมินความก้าวหน้าอย่างมีระบบ

   5. นักกิจกรรมบำบัดจะช่วยคนที่เคลื่อนไหวไม่ได้อย่างไร

ตอบ: นักกิจกรรมบำบัดมีความรู้และสามารถประดิษฐ์เครื่องดามแขน-มือ อุปกรณ์เสริม อุปกรณ์ช่วย รวมทั้งแนะนำออกแบบอุปกรณ์ที่ช่วยผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีเครื่องช่วย เช่น อุปกรณ์ยกตัวให้ผู้ป่วยมานั่งกินข้าว-อ่านหนังสือได้

   6. นักกิจกรรมบำบัดจะช่วยผู้สูงอายุเข่าเสื่อมอย่างไร

ตอบ: นักกิจกรรมบำบัดสนใจประเมินและหากิจกรรมยามว่างให้ผู้สูงอายุ พร้อมให้ความรู้ในการจัดการตนเองเรื่อง การระวังข้อเข่าเสื่อมจากการทำกิจกรรมประเภทต่างๆ บางครั้งอาจทำงานร่วมกับนักกายภาพบำบัดในการเดินทำกิจกรรมที่มีคุณค่า เช่น เดินทางจากบ้านไปซื้อของที่ร้านอย่างไรแบบสงวนพลังงานและไม่ให้ข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น

   7. นักกิจกรรมบำบัดจะช่วยผู้ป่วยอาการคลุ้มคลั้งและไม่อยากทำกิจกรรม อย่างไร

ตอบ: คงต้องปรึกษาทีมสหวิชาชีพ ขอความเห็นเรื่องการใช้ยาจากจิตแพทย์ การปรับพฤติกรรม-อารมณ์จากนักจิตวิทยาคลินิก นักกิจกรรมบำบัดวางแผนและใช้กิจกรรมเบี่ยงเบนความรู้สึกที่เกิดอารมณ์ไม่เหมาะสม จากนั้นวางแผนสร้างกิจกรรมที่ให้กำลังใจและดึงศักยภาพของผู้ป่วยผ่านกระบวนการคิดและทำกิจกรรมที่เข้าใจความชอบของตนเองมากที่สุด

 

 

หมายเลขบันทึก: 222215เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2008 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • มาชื่นชมการสอน
  • ดีใจที่มีการปรับการสอน
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจและคำชื่นชมจากอาจารย์พี่ขจิตครับ

อ.ป๊อบครับ ผมไปไฟท์ให้มีตำแหน่ง พนักงานราชการ นักกิจกรรมบำบัด ในโรงพยาบาลของผมครับ ได้มา 1 ตำแหน่งปีนี้

ไม่รู้ว่าจะมีคนมาสมัครหรือเปล่า น้อง ๆ จบกันน้อยจริงๆ นะครับ 

นักกิจกรรมบำบัดทำอะไรได้มากจริง ๆ ครับ

น่าปลื้มใจแทนน้องๆนะคะ

ดีใจแทนน้องๆ นะคะ ที่อ.ใส่ใจและดูแลอย่างใกล้ชิดจริงๆ

น้องๆทั้ง35คนนี้ จะเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่มีคุณภาพแน่นอนค่ะ

.........

สู้ๆนะคะอ. เป็นกำลังใจให้ค่ะ

ขอบคุณมากครับคุณหมอรักษ์พงศ์ที่ช่วยหาตำแหน่งให้นักกิจกรรมบำบัดครับ ผมจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้อีกทางหนึ่งครับ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจจากน้อง PTPT มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท