เคยได้ยินคำพูดนี่ไหมค่ะที่ว่า ”แค่เราไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ทำความชั่วก็พอแล้ว ไม่ต้องทำบุญมาก ไม่ต้องไปปฏิบัติธรรมอยู่วัดให้ตัวเองลำบากหรอก” หรือเคยคิดแบบนี้บ้างไหมค่ะ ว่า "เราเป็นคนดีก็พอแล้ว แค่ทำบุญทำทาน ไม่เบียดเบียนใคร เป็นคนดีของสังคมก็พอแล้ว" เราได้ยินบ่อยเลยล่ะ เวลาชวนใครทำบุญ ปฏิบัติธรรม หรือบางคนเรายังไม่ได้ชวน แค่เค้าเห็นเราทำบุญ ปฏิบัติธรรมแบบตั้งใจ ทุ่มเทใจเต็มที่ เค้าก็รีบบอก รีบสอนเราแล้ว ให้เอาเวลาไปหาเงินดีกว่าหรือไม่ก็ไปกินไปเที่ยว ใช้ชีวิตให้สุขสบาย แบบเป็นคนดีแบบเค้าน่ะที่ไม่ช่วยเหลือใคร ไม่ทำอะไร แต่ก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน..55
เราเป็นคนดีก็พอแล้ว จริงหรือ ถ้าจริง ทำไมเป็นคนดี ก็ยัง "ทุกข์" อีกล่ะ แถมบางทียังทุกข์มากกว่าคนไม่ดีซะอีก เฮ้อ!....จนบางครั้งหลายคนก็เลยคิดว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” ซะงั้น ถ้างั้น เป็นคนดีแบบไหนล่ะค่ะ ถึงจะดีจริง ถึงจะพ้นทุกข์ ดีแบบไหนที่ไม่ "ติดดี" ติดทุกข์
ลองหาคำตอบได้ที่นี่ค่ะ แล้วถามใจตัวเราเองดีๆนะคะว่า "เราเป็นคนดีแล้ว จริงหรือ...."
ฉบับที่ ๐๔๑ พฤหัสบดีที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑
จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว
ช่วงเดือนสองเดือนนี้นี่ มีวันหยุดให้เลือกหยุดได้หลายช่วงดีจังเลยนะคะ
นี่มองไปข้างหน้า สุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ก็จะเป็นลองวีคเอนด์หรือวันหยุดยาวกันอีกแล้ว
หลายคนคงปลอดโปร่งโล่งใจและใช้โอกาสช่วงนี้ปลีกตัวไปภาวนา
แต่บางคนที่ได้คุยกัน ก็มีเหมือนกันค่ะที่บอกว่า คงต้องให้เวลาไปเที่ยวกับที่บ้าน
แล้วก็ชวนคุยไปถึงว่า พ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ ยังไม่ค่อยเห็นดีเห็นงาม
กับการหันเข้ามาทางธรรมอย่างเต็มตัวของลูกหลานสักเท่าใดนัก
แม้ที่จริงแล้วท่านเหล่านั้นจะเป็นคนจิตใจดี เอื้อเฟื้อ ทำบุญทำทานตามโอกาสก็ตาม
"เราเป็นคนดีก็พอแล้วนี่ ไม่เห็นจำเป็นต้องไปนอนอยู่ว้งอยู่วัดอะไรอย่างนั้นเลย"
"แค่รักษาศีล ๕ ทำบุญทำทาน ไม่เบียดเบียนใคร เป็นคนดีของสังคมก็พอแล้ว"
นี่ล่ะค่ะ คำสำคัญที่ได้ยินบ่อย ๆ เลย
"แค่เราเป็นคนดีก็พอแล้ว..."
การเป็นคนดี อาจจะ "พอ" แล้วจริง ๆ ถ้าเราเกิดมาในยุคที่ไร้ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา
แต่เมื่อเราเกิดมาในกาลที่ยังมีโอกาสได้สดับตรับฟังความจริงอันเป็นที่สุดจากพระพุทธเจ้า
เสมือนมีผู้ปลดปมผ้าผูกตาสีดำที่ปิดมายาวนานของเราให้คลายออก เปิดเปลือกแห่งมายา
และชี้เส้นทางไปสู่ประตูออกจากการเดินทางอันเวิ้งว้างยาวนานราวกับไม่มีที่สิ้นสุดนี้ได้
เราจะรู้สึกเลยว่า การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ครั้งนี้ แค่เป็นคนดี... ไม่พอ
อย่างน้อย ไม่ต้องมองไปไหนไกล เอาแค่ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เห็นกันอยู่แล้วว่า
เป็นคนดี ก็ยัง "ทุกข์"
คนดี... ยังถูกนินทาว่าร้าย คนดี... ยังถูกคนรักทิ้ง ยังผิดหวัง ยังพลัดพราก
ยังป่วยไข้ ยังมีคนริษยา ยังธุรกิจล้มไม่เป็นท่า ยังเผชิญหน้ากับความตาย ฯลฯ
หลายคนในโลก ก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นคนดี...
แต่กลับหาทางออกให้กับตัวเองในสถานการณ์เหล่านี้ไม่เจอ
และกระทั่ง อาจร้องไห้ฟูมฟายทำร้ายตัวเองในเวลาที่เศร้าอย่างที่สุดได้ด้วยซ้ำไป
ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว แก่นอันเป็นที่สุดของศาสนาพุทธ
แจกแจงและบอกไว้ให้หมดแล้วว่า เราจะอยู่กับโลกอย่างไรโดยไม่ต้องเป็นทุกข์
แต่เหมือนหลายคนจะพอใจอยู่แค่ที่ว่า ไปวัดทำบุญ ใส่ซองผ้าป่า ชวนกันไปเวียนเทียน
หรือถวายสังฆทาน ฯลฯ แล้วก็กลับออกจากวัดมาหน้ามืดหน้ามัวเหมือนเดิม
โดยที่ไม่เคยรู้ หรือมีความสนใจใคร่ศึกษาให้รู้ลงไปเลยว่า
ที่สุดของพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้ามุ่งตรัสสอนนั้น ทรงมุ่งชี้แนะสิ่งใดกันแน่
เป็นประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยตัวเองเหมือนกันนะคะ
สมัยก่อนตอนยังเป็นวัยรุ่น ยังไม่รู้จักธรรมะ ก็เป็น "คนดี" แบบนั้นกับเขาเหมือนกันค่ะ
แต่เป็นคนดีที่ช่างอ่อนไหว เห็นใจใครต่อใครเขาไปทั่ว ช่วยสุดตัวแม้ต้องลำบาก
แถมถ้าไม่ช่วย ถ้าทำไม่ดี ก็พลอยรู้สึกไม่ดีอีก เข้าข่ายที่เขาเรียกว่า "ติดดี" นั่นล่ะค่ะ : )
มองย้อนไปแล้วก็รู้สึกเห็นอย่างนั้นจริง ๆ ค่ะว่า แม้จะดำรงตนอยู่ในความดีงามแค่ไหน
แต่ถ้าขาดภูมิคุ้มกันทางด้านการ "เห็นตามจริง" ด้วยเหตุด้วยผลเสียแล้ว
ถึงเวลาทุกข์ คนดีก็ทุกข์ไม่ได้น้อยไปกว่าใครเลย หรืออาจจะมากกว่าได้ด้วยซ้ำ
จนเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อตัวเองได้ค่อย ๆ เข้ามาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า
ได้เริ่มเข้าใจเหตุผลแห่งกรรมวิบาก ได้เริ่มมีความเข้าใจว่า ทุกข์ในนิยามของพุทธ
กินความกว้างขวางแค่ไหน อะไรเป็นเหตุ อะไรคือวิธีการไปสู่การไม่ต้องทุกข์อีกเลย
ได้เริ่มน้อมนำธรรมะนั้นสู่ใจ และเริ่มลงมือปฏิบัติเตาะ ๆ แตะ ๆ ไปกับเขาบ้าง
ก็กลับได้พบด้วยตนเองว่า เพียงเบื้องต้นเท่านี้
ถึงคราวลงสนามสอบที่เจอทุกข์จริง ๆ ก็ทุกข์ไม่นานอย่างแต่ก่อนแล้ว
แม้จะมิใช่หมดสิ้นในทันที แต่จิตใจก็มีความมั่นคงขึ้น ดำเนินชีวิตได้ต่อไปด้วยใจที่ยอมรับ
และเรียนรู้ที่จะแหงนหน้าเชิดปีกออกตัวทิ้งห่างจากความทุกข์ได้เร็วขึ้นโดยไม่เสียดาย
รู้เลยค่ะว่า ถ้าเราไม่อบรมสั่งสอนจิตใจของเราให้มีรากฐานของธรรมะไว้ก่อน
เวลาเจอทุกข์หนัก ๆ ในชีวิต เราคงต้องเจ็บแรงกว่านี้มาก เพราะอาจรับมือไว้ไม่ทัน
ขนาดตัวเองยังเป็นเพียงผู้ศึกษา ผู้เริ่มปฏิบัติที่ยังเพียงเตาะแตะ ๆ เท่านั้น
แค่มีความเข้าใจอันถูกตรงตามจริง น้อมรับคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าสู่ใจด้วยศรัทธา
และฝึกเจริญสติไว้ตามกำลังเท่าที่พอจะทำได้ ทุกข์ก็บรรเทาเบาบางได้ถึงเพียงนี้แล้ว
หากใครฝึกหัดเจริญสติภาวนาอย่างพากเพียร ไม่ละทิ้ง วันต่อวัน เดือนต่อเดือน ปีต่อปี
จนเห็นความจริงที่เกิดขึ้นกับกายกับใจนี้ได้ละเอียดตามจริงลึกซึ้งยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
เชื่อจริง ๆ ค่ะว่า ผู้นั้นย่อมเป็นอิสระจากทุกข์ทางใจได้จนหมดสิ้นวันหนึ่งอย่างแน่นอน
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ท่านยังเคยเน้นไว้เลยนะคะว่า
"เราต้องฝึกของเราไว้ ไม่มีใครช่วยเราได้ เราจะต้องช่วยตัวเอง
เพราะฉะนั้น การช่วยตัวเองก็คือ ต้องฝึกซ้อมไว้
เหมือนเราจะต้องหัดว่ายน้ำก่อนที่จะตกน้ำ
เราต้องหัดเจริญสติก่อนที่จะเจอความทุกข์ย่ำยีจนกระทั่งโงหัวไม่ขึ้น
ต้องสู้ไว้ก่อนนะ ถ้าตอนนี้เราไม่ยอมสู้ เราไม่หัดว่ายน้ำ ตกน้ำก็ตาย
ตกน้ำไป กะว่าจะไปหาตำราว่ายน้ำนี่ ไม่ทันแล้วนะ..."
อย่างที่ท่านว่านี่ล่ะค่ะ
ถึงยามทุกข์ขึ้นมาจริง ๆ ธรรมะนี่แหละ ที่จะช่วยเราได้
และธรรมะที่จะแก้ทุกข์ได้ จะต้องเป็นธรรมะที่เข้าถึงจิตถึงใจจริง ๆ
และธรรมะจะเข้าถึงจิตถึงใจได้ ก็ไม่ได้เกิดจากการจดจำพร่ำท่องจนคล่องแคล่ว
แต่ต้องเกิดจากการลงมือปฏิบัติ หัดมีสติตามรู้กายตามรู้ใจ ตามจริง ด้วยตนเอง
ไม่ได้ทำอะไรให้ผิดแผกแตกต่าง หรือบังคับร่างกายจนเหน็ดเหนื่อยราวกับเรียน ร.ด. : )
หลวงพ่อท่านว่า หิวก็กิน ง่วงก็นอน ง่ายเพียงนั้น (แต่ไม่ใช่ตะกละ หรือขี้เกียจนะคะ) : )
ขอเพียงเข้าใจวิธีการจริง ๆ ค่อย ๆ ศึกษาไป ไม่ทันไร ย่อมเห็นผลด้วยตนเองแน่นอน
บางคนอาจจะนึกแย้งว่า "การมองโลกในแง่ดี ก็ช่วยแก้ทุกข์ได้เหมือนกันไม่ใช่หรือ?"
ก็ได้อยู่เหมือนกันนะคะ หลายคนก็ใช้วิธีนั้นและก็ได้ผล แต่อยากลองคัดคำสอนของ
หลวงพ่อปราโมทย์ ที่ท่านเขียนไว้เมื่อครั้งยังเป็นฆราวาส มาฝากกันสักนิดค่ะ
"การมองโลกในแง่ดีเพื่อสร้างความพอใจในสิ่งที่ตนมี ยอมรับในสิ่งที่ตนได้
เป็นคำสอนของปราชญ์ทั่วไป รวมทั้งพระศาสดาของเราชาวพุทธด้วย
เช่น ทรงสอนให้เรามองโลกด้วยความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกและสรรพสัตว์
แต่คำสอนทางพระพุทธศาสนา ยังก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง
เหนือการมองโลกในแง่ดี คือ "การมองโลกตามความเป็นจริง"
การมองโลกตามความเป็นจริงของพระพุทธศาสนานั้นลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมาก
คือท่านสอนตั้งแต่วิธีการมองโลกตามความเป็นจริง
ให้รู้ปรากฏการณ์ทั้งปวงที่สัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจตามที่มันเป็น
โดยไม่นำประสบการณ์ หรือความคิด เข้าไปเบี่ยงเบนการเรียนรู้นั้น
ท่านชี้บอกกระทั่งว่า เมื่อมองโลกตามความเป็นจริงแล้ว เราจะเห็นอะไร
คือเราจะเห็นว่า สิ่งที่ถูกเห็นทั้งปวงนั้น มีความเกิดขึ้นด้วยเหตุ และดับไปเมื่อเหตุดับ
ท่านสอนให้มองย้อนเข้ามาที่ตนเองด้วย ไม่ใช่เพียงรู้โลกตามความเป็นจริงเท่านั้น
หากแต่ยังให้ รู้จักมองตนเอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประสบการณ์ทั้งปวงด้วย
ความรู้ทางพระพุทธศาสนาจึงเป็นความรู้ที่แจ่มแจ้ง
คือรู้ตามความเป็นจริงถึงสิ่งภายนอก อันได้แก่ปรากฏการณ์ทั้งปวง
และรู้ชัดถึงสิ่งภายใน อันได้แก่สิ่งที่เรียกว่า เรา เรา เรา ด้วย
เมื่อมองทุกอย่างตามความเป็นจริงจนถึงขั้นปราศจากตัวเราแล้ว
สิ่งภายนอกทั้งปวงจะมีความหมายอะไร
ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ต้องคอยนั่งปลอบใจตนเอง
หรือพยายามมองโลกในแง่ดีเป็นคราว ๆ ไป
การแก้ปัญหาความทุกข์ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจึงมีจุดสิ้นสุด
หากจะสรุปรวบย่อ ก็อาจกล่าวได้ว่า
มองโลกแง่ดี มีความสุข
มองโลกตามความเป็นจริง พ้นทุกข์"
การมีพื้นฐานเป็นทานและศีลนั้น ย่อมนำชีวิตไปสู่เส้นทางที่ดีแน่นอนนะคะ
แต่เป็น "คนดี" แบบที่เป็น "คนไม่ทุกข์" ด้วย ชีวิตน่าจะสุขเบากว่ากันเป็นไหน ๆ
เจริญสติไปเรื่อย ๆ ถึงวันนึง ไม่ต้อง "เป็น" อะไร ๆ ที่สมมติกันขึ้นมาสักอย่างเดียว
ละทิ้งความสำคัญมั่นหมายผิด ๆ ได้หมด วันนั้นล่ะค่ะ ที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านว่า
จะพบกับความสุขประณีตชนิดที่สุขอย่างที่เราเคย ๆ รู้จัก จะไม่มีวันเทียบเคียงได้เลย...
วัน ๆ จิตก็วิ่งไปมา ผมพยายามรวบรวมสติเป็นระยะ ๆครับ ขอบคุณครับ ที่ช่วยแนะให้มองโลกตามความเป็นจริง
การเป็นคนดีที่ข้าพเจ้ายึดถือก็คนการแค่เราไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ทำความชั่วก็พอแล้ว ไม่ต้องทำบุญมาก ไม่ต้องไปปฏิบัติธรรมอยู่วัดก็สามารถเป็นคนดีได้ อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวมาในเบื้องต้น แต่เมื่อได้อ่านข้อความทั้งหมดแล้ว ทำให้ข้าพเจ้ามองว่าการเป็นคนดีมันชั่งยากเหลือเกิน เพราะการเป็นคนดีที่ข้าพเจ้ายึดถือยังคงทำให้ข้าพเจ้ายังคงเป็นทุกข์อยู่ เช่น การช่วยเหลือเพื่อนทุกอย่างที่เพื่อนต้องการเท่าที่เราจะทำได้ ให้เพื่อนสบายใจ แต่ว่าเพื่อนไม่ได้มองเห็นถึงสิ่งที่เราทำให้ แถมยังมาเบียดเบียนเราอีก มันชั่งยากเหลือเกินกันการเป็นคนดีที่ไม่เป็นทุกข์ หลายครั้งที่ข้าพเจ้าใช้หลักมองโลกในแง่ดีบางครั้งก็ได้ผลดีทำให้เราลืมมันไปได้บ้าง แต่หลายครั้งข้าพเจ้ากลับคิดว่าเรามองโลกในแง่ดีเกินไปเหมือนกำลังหลอกตัวเองปิดหูปิดตาตัวเอง มองไม่เห็นความจริงในสิ่งที่เพื่อนเราเป็น แต่เมื่อได้อ่านดูแล้วข้าพเจ้าคิดว่าได้ข้อคิดแง่มุมอีกหลายอย่างที่ดีมากๆ ข้าพเจ้าจะพยายามมองโลกให้เห็นความจริงมากที่สุด ขอบคุณค่ะ
ทุกวันนี้ผมพยยายามไม่เบียดเบียนใคร แต่พยายามมีน้ำใจให้คนอื่นเสมอ และบ่อยครั้งน้ำใจของผมก็ไม่ได้ช่วยให้ผมมีความสุขเลย เพราะคนที่ผมให้เค้าไม่เห็นค่าของมัน ผมก็ไม่อยากให้เค้าเห็นค่าของมันหรอกครับ แต่เมื่อเค้าไม่เห็นมันกลับเอามันมาเบียดเบียนผม ทำให้ผมเกิดความทุกข์ จนผมไม่อยากจะให้ใครแล้ว ผมไม่มั่นใจนักหรอกครับว่าผมเป็นคนดีแค่ไหน ผมได้อ่านข้อความข้างต้นทำให้ผมเข้าใจถึงคำว่า คนดี มากขึ้น และผมก็เชื่อนะครับว่าข้อความข้างตนนั้นเป็นเรื่องจริงเป็นความจริง ผมเห็นอย่างนั้น ขอบคุณนะครับที่แนะให้มองโลกตามความเป็น
การเป็นคนดีนั้นดีแล้วคะ
เพราะเราไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
แล้วเราก็อยู่อย่างเป็นสุขได้ด้วย