สถาบันอุดมศึกษา หันหาภูมิปัญญาไทย (ตอนที่ 1)


หากได้ย้อนกลับไปมองอดีตเพื่อนำเอามาเป็นข้อมูลในการเชื่อมต่อกับปัจจุบันไปจนถึงอนาคต ก็น่าที่จะเกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น

สถาบันอุดมศึกษา

เรียกหาภูมิปัญญาไทย

(คอนที่ 1) คนเก่า

เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้

โดยประสบการณ์ตรง สัมผัสกับความจริง

 

          การเริ่มต้น ไม่มีคำว่าช้าหรือสายเกินไป ถึงแม้ว่าวันที่เริ่มต้นจะหลุดพ้นจากยุคนั้น ๆ ไปนานแล้วก็ตาม  สัตว์โลกยุคดึกดำบรรพ์อย่างไดโนเสา สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้นานนับ 100 ล้านปี ก็ยังมีผู้คนให้ความสนใจสืบหาเผ่าพันธุ์ ชนิด ประเภทของไดโนเสา นำเอาเรื่องราวมาสร้างเป็นภาพยนตร์  สร้างเป็นหุ่นยนต์ จัดทำเป็นหนังสือการ์ตูนให้เด็ก ๆ ได้ศึกษากันมากมาย นี่มิใช่เป็นเรื่องที่จะจัดว่าล้าสมัยเลย

 

          ในความเก่าแก่ของศิลปวัฒนธรรมไทยนั้น หากเราได้มองให้ดี คิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งจึงจะรู้ว่า ยังมีของใหม่ที่ผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก ยังไม่ได้เรียนรู้ ไม่รู้จัก ยังไม่ได้ทำการศึกษาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจอีกเป็นจำนวนมาก บางอย่างถูกกลบอยู่ใต้แผ่นดินลึกลงไปจนมิอาจที่จะขุดขึ้นมา หรือรื้อฟื้นความทรงจำให้กลับมาได้ สิ่งที่ว่านั้นเราคงจนปัญญาที่จะสำรวจหาให้พบได้

 

          แต่ในวันนี้ ผมได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ ทางจดหมาย ทางอี-เมล และในบล็อกแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นจำนวนมากขึ้นทุกวัน น่าปลื้มใจที่นิสิต นักศึกษา นักเรียนในระดับตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงระดับชั้นปริญญาให้ความสนใจที่จะเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในหลาย ๆ ประเภท  และที่ประทับใจมากคือ สถาบันจัดให้มีกิจกรรมที่นักศึกษาต้องนำเอาภูมิปัญญานั้นไปนำเสนอ เพื่อเป็นการเรียนรู้ในวิชาเรียน จึงนับได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สถาบันในระดับอุดมศึกษา เริ่มที่จะมีความเข้าใจว่า การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นจะต้องไปสัมผัสเรียนรู้ด้วยตนเองกับปราชญ์ชาวบ้าน

         

             

          ความสูญเสียในเวลาที่หมดไป ความสูญเสียในทรัพย์สมบัติของชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นต้องสูญหายไปหลายต่อหลายอย่างก็เพราะหลงทาง คิดว่าสิ่งที่ตนรังสรรค์ขึ้นมานั้นคือ สิ่งวิเศษที่สามารถดลบันดานให้เกิดมีเกิดเป็นและทำได้ ความเป็นจริงแล้วมิใช่ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ

          1. ให้ความสำคัญกับตำรามากจนเกินไป ตำราให้ความรู้แต่ไม่สามารถสอนให้คนเป็นอะไรแทนคนที่เคยเป็นมาก่อนได้

          2. ผลงานประเภทที่หาคำตอบได้อย่างน่าเชื่อถือ เป็นเพียงบทพิสูจน์ว่าได้ผลในเวลานั้น แต่มิอาจศึกษาจากข้อมูล สัญลักษณ์จนสามารถปฏิบัติได้

          3. ตำแหน่งในฐานะนักวิชาการด้านเพลงพื้นบ้านที่ได้รับมาโดย ไม่มีบทพิสูจน์ว่า เขาผู้นั้นเชี่ยวชาญด้านนั้นต่างๆ ที่โต๊ะทำงานหรือบนเวทีการแสดงในระดับมืออาชีพกันแน่

 

          เมื่อผู้ที่ทำหน้าถ่ายทอดความรู้ได้เข้ามาทำงานการศึกษา จึงเกิดความสับสน มีการกำหนด เปลี่ยนแปลง กฎ กติกาตามที่ตนเรียนรู้หลักการมายาวนาน  แต่มิเคยได้ไปสัมผัสกับเจ้าของเรื่องนั้นจริง ๆ เลย ยกตัวอย่าง เช่น

          - แสดงเพลงพื้นบ้านจะต้องฝึกนักเรียนให้รำให้ถูก รำให้สวย ให้พร้อมเพรียงกัน ผมไม่รู้นะ ผมสัมภาษณ์ ผมสอบถามนักเพลงรุ่นเก่าๆ มา รุ่นยายย่าหลายสิบคนท่านไม่รู้จักท่ารำที่ท่านยกมือขึ้นมาตั้งวง ม้วนแขนเลย ท่านรู้แต่ว่ารำไปตามความถนัด เป็นความสามารถที่ติดตัวมาเฉพาะบุคคล เรียกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น

          - การร้องและรับจะต้องให้มีระดับเสียงเดียวกันโดยตลอดเวลาการแสดง ในประเด็นนี้พอเห็นด้วยบ้างเล็กน้อย เพราะป้าอ้น ป้าทรัพย์ ลุงหนุนครูเพลงที่สอนผมมา ท่านบอกว่าเสียงใครเสียงมัน เวลาร้องต่อกันเกริ่นขึ้นต้นเสียก่อนแล้วจึงร้องต่อไป

          - จังหวะที่ใช้ในการแสดงเพลงอีแซว จะต้องใช้ตะโพนไทย ตีหน้าทับลาว ตีตามตัวโน๊ตเท่านั้น  ข้อนี้ให้ตายซิ เหมือนกับส่งคนมาฆ่าศิลปะพื้นบ้านเลย เพราะท่านผู้รู้กำลังกำหนดให้ของเดิมที่เขามีมากลายเป็นการเล่นดนตรี ไม่ใช่การแสดงเพลงพื้นบ้านเสียแล้ว

          หากท่านผู้อ่านได้ชมการแสดงเพลงพื้นบ้านของผู้แสดงตลกทางหน้าจอทีวี หรือชมการแสดงเพลงพื้นบ้านของดารานักแสดงละครโทรทัศน์ จนถึงการแสดงของศิลปินเกียรติยศในโอกาสต่าง ๆ วิธีการแสดงท่วงท่าลีลาจะแตกต่างไปจากต้นฉบับจริงโดยสิ้นเชิง แต่ข้อบกพร่องนั้นไม่สามารถนำเอามาตำหนิติได้เลย เพราะความสามารถเฉพาะบุคคลแตกต่างกัน ที่มาของผู้แสดงแตกต่างจากนักเพลงพื้นบ้านตัวจริงมากครับ

          ยังมีอีกหลายประเด็นที่ผมพบเห็นด้วยตนเอง และถ้ามีโอกาสจะนำเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบล็อกนี้เพื่อเป็นความเข้าใจที่ตรงกัน จะได้ช่วยกันจรรโลงไว้ซึ่งของดั้งเดิมที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง ส่วนที่ประยุกต์ได้ก็ขอให้ทำไปแต่ขออย่าให้แปรเปลี่ยนไปจนจำเค้าโครงเดิมไม่ได้  ในส่วนของสิ่งที่เป็นของดั้งเดิม นักวิชาการที่เป็นผู้รู้แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติก็อย่าได้แก้ไขเสียจนของเดิมถูกทำลาย เพราะความไม่รู้จริงของท่าน นักแสดงเพลงพื้นบ้านตัวจริง เขาไม่ถือว่าตัวท่านเป็นผู้รู้ ผมไม่เคยพบว่าคนนั้นผิด คนนั้นถูก แต่ในเพลงเดียวการขับร้องไม่เหมือนกันเขาเรียกว่า เพลงเหนือ เพลงกลาง เพลงใต้ เพลงผู้ชาย เพลงผู้หญิง เพลงหวาน เพลงเกรี้ยว (โกรธ) เพลงตลก เพลงเศร้า เพลงแดง

         

          การที่สถาบันอุดมศึกษา จัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ศิลปะพื้นบ้านในหลักสูตรระดับปริญญาตรี โทขึ้นในเวลานี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในปัจจุบันน่าที่จะได้มีความรู้รากเหง้า ที่มาของวัฒนธรรมไทยในแต่ละด้าน แล้วเลือกที่จะยึดถือปฏิบัติเอาไว้เป็นการรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ของชาติต่อไป ในจำนวนนักศึกษาที่ติดต่อมายังผมมีหลายรูปแบบ แตกต่างกันตามจุดประสงค์ ได้แก่

 

1.     มาขอศึกษาดูงานการแสดงเพลงพื้นบ้านเป็นหมู่คณะ 25-40 คน หรือมากกว่า

2.     มาขอคำแนะนำวิธีการฝึกหัดเพลงพื้นบ้านเรียนรู้เพื่อนำเอาไปรายงานบอกเล่าได้

3.     มาขอฝึกหัดเพลงฉ่อย เพื่อที่จะนำเอาไปแสดงหน้าห้องเรียน

4.     มาขอเรียนรู้วิธีการขวัญนาค ร้องแหล่ ร้องส่ง ฝึกร้องทำนองเสนาะ

5.     มาขอบทเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงเรือ ลำตัด เพลงเต้นกำ

6.     มาขอฝึกร้องเพลงแหล่ และฝึกด้นกลอนสดแบบฉับพลัน

7.     มาศึกษาชุดฝึกหัดเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านตามขั้นตอน

8.     มาขอคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์การเรียนเพลงพื้นบ้าน

9.     มาขอคำแนะนำการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น วิชาเพลงอีแซว

 

          นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผมได้รับการติดต่อมา ในจำนวนนักศึกษาหลายต่อหลายคณะ บางคนเรียนในสถาบันอันดับหนึ่งของเมืองไทย บางคนเรียนในคณะแพทย์ พยาบาล นิเทศศาสตร์ ศิลปะและอื่นๆ ไปจนถึงในสถาบันที่รองๆ ลงมาและไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมาจากที่ไหนเขาคือคนไทยที่เห็นคุณค่าของแผ่นดิน ความสวยงามและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติดำเนินสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน จนเป็นเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่นได้ก็ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แทรกอยู่ในทุกหัวระแหง หากได้ย้อนกลับไปมองอดีตเพื่อนำเอามาเป็นข้อมูลในการเชื่อมต่อกับปัจจุบันไปจนถึงอนาคต ก็น่าที่จะเกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น

         

 

ชำเลือง มณีวงษ์ ผู้สืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่น เพลงพื้นบ้านจังหวัดสุพรรณบุรี

                      รางวับชนะเลิศประกวดเพลงอีแซว จังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2525

                      รางวัลราชมงคลสรรเสริญ (พุ่มพนมมาลา) เพลงพื้นบ้าน ปี 2547

                      โล่รางวัลความดีคู่แผ่นดินจาก ททบ.5  ปี 2549

หมายเลขบันทึก: 220066เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2008 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คุณใยมด (หน้าตาเฉย)ครับ

  • ขอบคุณ ที่ส่งความสุขมาให้ด้วยภาพวาดสด ๆ มีความหมายมากครับ
  • เป็นภาพมด 2 คน (ตัว) มีภาระงานที่จะต้องทำต่อไปด้วยสายใยแห่งความรักและความเป็นห่วง

สวัสดี ครูบรรเจิด

เป็นอีกแรงหนึ่ง ที่ช่วยค้ำจุนให้งานดนตรีพื้นบ้านยังคงอยู่ได้ เพราะครูบรรเจิดเป็นผู้หนึ่งที่สืบสานงานดนตรีทุกชนิด ให้อยู่ในตนเอง ขอให้มีความเจริญยิ่งขึ้นตลอดไป

ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบเพลงพื้นบ้าน และเคยอบรมเพลงอีแซวกับ อ.ชำเลือง เหมือนกันเมื่อประมาณปี 2543 ที่โรงเรียนบรรหารดอน และก็ได้แสดงประกวดที่วัดป่าเลไลย์ปัจจุบันนี้ผมเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ทำงานแล้วแต่ยังหลงไหลกับบทเพลงพื้นบ้านอยู่วันไหนว่างๆผมก็มาค้นหาเนื้อเพลงเก่าๆๆ จากอินเตอร์เน็ท บ้างครั้งก็ได้ดูเพลงพื้นบ้านที่ไปเล่นแถวบ้านเหมือนกัน บ้านผมอยู่อำเภอศรีประจันต์ ผมอยากได้เนื้อร้องเพลงพื้นบ้านเหมือนกันครับอยากมีโอกาศที่จะเล่นเป็นอาชีพเหมือนกัน ปัจจุบันผมอายุ 25 ครับ

สวัสดี ครับ มณฑล

  • ขอแสดงความชื่นชมในความคิดที่มีความห่วงใยศิลปะท้องถิ่น
  • มีความสนใจในเนื้อเพลง หาได้ที่คนเล่นเพลงแถวศรีประจันต์ ส่วนของอาจารย์จะเป็นเพลงวัยรุ่นที่เขียนให้เด็ก ๆ ฝึกแสดง
  • ส่วนโอกาสในการเล่น วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ยินดี ครับ มณฑลสามารถขึ้นเวทีเล่นกับน้อง ๆ หรือกับอาจารย์ได้เลย เมื่อได้พบวงไปแสดง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท