เรื่องสั้นๆ จากประสบการณ์


การบริการสุขภาพด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care)
บริโภคเวลา

     หลาย คนพูดว่า ทุกคน ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ จะถูกมฤตยูร้ายตนหนึ่ง กลืนกิน เจ้าตัวนั้น คือ เวลา หลายคนจึงวุ่นวายอยู่กับเวลา มีเวลาน้อย ไม่มีเวลา หมดเวลา หลายคนให้เวลาอยู่กับวัตถุ เงินทอง ทรัพย์สินที่เป็นโลกิยะทรัพย์ จนไม่มีเวลา มี ๑๐ ล้าน ไม่พอ ๑๐๐ ล้าน ไม่พอ ๑๐๐๐ ล้าน หมื่นล้านก็ยังไม่มีความสุข ต้องหาเพิ่มอีก เวลาหมดไปกับวัตถุ แต่สำหรับคนที่พอในปัจจัยสี่ ทรัพย์สินเงินทอง จะมีเวลาเหลือเฟือให้บริโภค ได้บริโภคเวลาอย่างมีความสุข และเหมาะสม มีเวลามากพอที่จะได้ทบทวนดูจิตใจตนเอง ทำสิ่งที่มีประโยชน์ และบริโภคอริยะทรัพย์แทน โลกิยะทรัพย์ คือ มี ๑) ศรัทธา ๒) ศีล ๓) หิริ ๔) โอตัปปะ ๕)พาหุสัจจะ ๖) จาคะ ๗) ปัญญา คือหันมามีความเชื่อในสิ่งดีงาม สร้างกุศลกรรม มีศีล อย่างน้อยก็ศีล ๕ มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป ฟังมาก ๆในสิ่งที่ดีงาม ระบายสิ่งชั่วร้ายหรือกิเลสออกจากใจและมีปัญญาที่จะพิจารณาแก้ไขสิ่งต่าง ๆ เมื่อบุคคลพอ พอดี พอใจ พอเพียง ในวัตถุ หรือโลกิยะทรัพย์
ย่อมสามารถบริโภคเวลาอย่างสงบ หลุดพ้นจากกิเลส โลภ โกรธ หลง สำรวมใน
กาย วาจา ใจ ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ประกอบกุศลกรรม โลกนี้ก็จะมีเวลาให้บริโภค
อย่างเพียงพอ ความสงบ สันติย่อมเกิดอย่างยั่งยืนตลอดไป

น้ำ...มาแล้ว

     ผม เป็นเด็กริมคลอง บ้านอยู่ห่างคลองประมาณ 100 เมตร ทุกปีจะมีน้ำคลองไหลบ่าท่วมประมาณปีละ 2 -3 ครั้ง ปี 2518 น้ำเคยท่วมสูงสุด ประมาณ 1.20 เมตร เด็กๆ จะมีความสุข และรอถึงวันน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมโรงเรียนจะหยุดเรียน เด็กได้อยู่บ้านเล่นน้ำ ลงตาข่ายดักปลา ช่วยพ่อ แม่ เก็บของ ขนย้ายสัตว์เลี้ยง หมู ไก่ วัว ควาย ขึ้นที่สูง และช่วยล้างทำความสะอาดบ้านวันน้ำลด และช่วยขนทรายเข้าบ้านหลังจากหมดหน้าฝนแล้ว

     คนบ้านริมคลองและเด็กๆ จึงคุ้นกับน้ำท่วมเป็นอย่างดี เด็กทุกคนต้องว่ายน้ำเป็นแต่เล็ก ถ้ายังว่ายไม่เก่ง พ่อ แม่ จะเอาลูกมะพร้าวห้าว (ลีบ) 2 ลูก มาผูกติดทำเป็นชูชีพให้ทุกคน เด็กริมคลองจะมีบ้านยกพื้นสูง มียุ้งข้าว มีที่เก็บของสูงเลยระดับน้ำท่วม มีการเตรียมไม้ฟืน ถ่าน เชื้อเพลิงไว้ช่วงน้ำท่วม ข้าวสาร ปลาเค็ม หมูเค็ม พืชผัก ที่สามารถกินได้ 1-2 สัปดาห์ ช่วงน้ำท่วมสามารถหาปลา กบ เพิ่มได้อีก เตรียมน้ำฝนไว้ในโอ่งและในขวด เป็นน้ำดื่มสะอาดสำหรับคนในครอบครัวได้เพียงพอ ช่วงน้ำท่วมพวกเราจะหันมาดื่มน้ำฝนและน้ำต้มสุก เพราะบ่อน้ำตื้นมักจะโดนน้ำท่วม ใช้ดื่มไม่ได้ สิ่งที่ชอบมากที่สุดของเด็กๆ คือเก็บกล้วยน้ำว้ามาปิ้งกิน ช่วงน้ำท่วม ฝนตกพรำๆ กินกล้วยปิ้งแก้หิวและแก้หนาวดีนักแล เด็กริมคลองจึงไม่เดือดร้อนเมื่อมีน้ำท่วมติดต่อกันหลายวัน และไม่จำเป็นต้องได้รับถุงยังชีพจากทางราชการ และเด็กริมคลองทนต่อน้ำ ไม่ค่อยเจ็บป่วยช่วงน้ำท่วม ภาวะน้ำท่วมจึงเป็นเรื่องธรรมดา และกลับเป็นความสุขของเด็กเสียอีก

     ดังนั้น ใครก็ตามที่อยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสน้ำท่วมจะต้องมีการเตรียมการให้พร้อม เสมอ และมีแนวโน้มในอนาคตว่าภาวะน้ำท่วมจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ภัยเหล่านี้ต้องเตรียมการตั้งแต่ ปลูกบ้านยกพื้นสูง เตรียมการเหมือนเด็กริมคลอง และมีเรือเป็นของตัวเอง เหมือนมีรถจักรยานยนต์ เป็นเรือพายก็พอ ไว้ใช้ช่วงน้ำท่วม จะได้ไปไหนมาไหนได้

     เมื่อน้ำท่วม การพึ่งตนเอง การเตรียมการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และดูแลรักษาสุขภาพด้วย ระวังเรื่องน้ำกัดเท้า เป็นแผล บาดเจ็บ ตาแดง เป็นหวัด ช่วงน้ำลดระวังโรคฉี่หนู ระวังเด็กจมน้ำ ระวังสัตว์เลื้อยคลาน งู ตะขาบ สัตว์มีพิษอื่นๆ ที่จะมานอนกับเราช่วงน้ำท่วม ถ้าเตรียมการหรือระมัดระวังโรคภัยไข้เจ็บได้ น้ำมามากก็มีความสุขครับ

....จากเด็กริมคลอง

เปลี่ยน “ if thinker” เป็น “ how thinker "
ความคิด ที่ดีๆ กับอารมณ์มักสวนทางกัน ในจิตและอารมณ์ที่สงบเย็น จึงจะได้ความคิด ที่ดีๆ ออกมา ในจิตใจและอารมณ์ที่รุ่มร้อนย่อมยากที่จะคิดแก้ปัญหาได้ การฝึกจิตและอารมณ์ให้สงบเย็น ย่อมเป็นวินัยชีวิตที่ต้องทำอยู่เสมอ “ if thinker ” เป็นคนที่ติดอยู่กับประโยค ถ้า.........ขมขื่นอยู่กับความหลังของปัญหา “ถ้าเราได้ทำอย่างนั้น ก็จะไม่เกิดปัญหาอย่างนี้” “ถ้าคนอื่น ไม่ทำกับเราอย่างนี้ เราก็ไม่เป็นอย่างนี้” คนที่คิดติดอยู่กับ ประโยคถ้า จะขมขื่น หมดหวังอยู่กับปัญหา เรามาเปลี่ยนเป็น “ how thinker ” ดีกว่า ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้เสมอ ด้วยเงื่อนไขของเหตุผล เวลา สถานที่ และบุคคล “ how thinker ” คิดเสมอว่าจะแก้ไขปัญหาได้เสมออย่างไร และมั่นใจว่าเราต้องทำได้ ไม่มีความเครียด มีแต่ความมุ่งมั่น และไฟของการแก้ไขปัญหาได้เสมอ “ how thinker ” จึงมีความสุขอยู่เสมอ สุขกว่า “ if thinker” เหมือนคำโบราณของไทยที่ว่า “คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว” “ how thinker ” เป็นคนชอบแก้ไข มีความสุข “ if thinker” เป็นคนชอบแก้ตัว มีความทุกข์ เรามาเปลี่ยนจาก “ if thinker” เป็น “ how thinker ” กันดีกว่านะครับ

การบริการสุขภาพด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์
(Humanized Health Care)

     สมัยเด็ก ๆ ผมเติบโตอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในชนบท จะชินกับการพบปะทักทายของคน ในชุมชน“ไปไหน” “กินข้าวหรือยัง” “กินข้าวกับอะไร” เป็นการทักทายถามสารทุกข์สุกดิบ ชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันแบบที่คนในสังคมพบ ปะทักทายกัน และคนในชุมชนรู้จักมักคุ้นกันเกือบทั้งหมด รู้จักลูกหลานญาติพี่น้องซึ่งกันและกันอย่างดี พอผมมีโอกาสได้มาเยี่ยมพี่ชาย ที่อยู่กรุงเทพฯ กลับพบว่าผู้คนอยู่กันตัวใครตัวมัน สนใจแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองและครอบครัว รู้จักทักทายกันน้อยมาก เพื่อนบ้านที่อยู่ รั้วติดกันกับบ้านพี่ชายเกือบยี่สิบปีแล้ว ยังไม่รู้จักกันเลย พูดคุยทักทายกันนับครั้งได้ ต่างคนต่างอยู่ สังคมแบบนี้เหงาและจืดชืดขาด ความสัมพันธ์เชิงสังคมอย่างยิ่ง ขาดการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ขาดความเอื้ออาทร ขาดความสุข บางอย่างที่สัตว์สังคมควรให้แก่กัน

     การดูแลสุขภาพที่มีผู้ให้บริการประกอบด้วยแพทย์,ทันตแพทย์,เภสัชกร, พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ อีกฝ่ายมีผู้ป่วย ผู้รับบริการและญาติพี่น้องที่ต้องพบปะพูดคุยกันบ่อย ๆ ถ้าผู้ให้บริการคุยกับผู้ป่วย ผู้รับบริการ และญาติ แบบคนในสังคมชนบทพูดคุยดูแลกัน คงทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างกันมีความสุขไม่น้อย แต่ถ้าความสัมพันธ์เหินห่างหมางเมิน แบบสังคมคนกรุงฯ ก็คงอึดอัด ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นทุกข์เกิดความเครียดทั้งสองฝ่าย การให้บริการสุขภาพด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ จึงต้องมีพื้นฐานของความรัก ความเมตตาให้ผู้รับบริการ มีความสุข ความกรุณาสูงสุด ที่ช่วยให้เขาพ้นจากทุกข์โศกโรคภัย ความเข้าอกเข้าใจในความทุกข์ ความต้องการของอีกฝ่าย เอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าถ้าเราเจ็บป่วย ไม่สบายเป็นทุกข์เหมือนเขาบ้าง เราต้องการให้เขาทำอย่างไรกับเรา ถ้าเป็นญาติเราพ่อแม่ ลูกหลานเรา เป็นแบบนั้นบ้าง เราจะดูแลเอาใจใส่เขาแบบไหน เมื่อคิดได้ดังนี้ ผู้ให้บริการก็จะดูแลเขาเหล่านั้นด้วยหัวใจที่ปิติ เปี่ยมบุญเปี่ยมสุขจากการเห็นผลดีของการกระทำ ถึงแม้งานจะหนัก เหน็ดเหนื่อย ก็เพียงแต่ร่างกายที่พักผ่อนก็หายเหนื่อย แต่จิตใจที่เป็นกุศล ย่อมใสดั่งแก้วอยู่ภายใน

      คืนหนึ่ง ในโรงพยาบาลชุมชนในชนบท ที่เราลุกขึ้นมาตอนเที่ยงคืน เมื่อทราบจากพยาบาลห้องคลอดว่า มีผู้ป่วยท้องแรก เด็กอยู่ในท่าก้นที่จะเป็นอันตรายถ้าคลอดปกติ ทีมงานก็เตรียมผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องอย่างเร่งด่วน ประมาณตี 1 กว่า ผลการผ่าตัดสำเร็จ แม่ลูกปลอดภัย ทีมงานเหนื่อย แต่มีความสุข ถัดมาตอนตี 3 ก็มีผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบมาอีก อาการแน่ชัดมีอาการปวดมาก ไข้สูง หลายคนเลือกที่จะให้ผู้ป่วยรอให้สว่างก่อน เพื่อให้แพทย์เวรเข้ามาผ่าตัด บางคนเลือกส่งต่อโรงพยาบาลอื่น เพราะเราเหนื่อยแล้ว ให้โรงพยาบาลอื่นเหนื่อยดีกว่า ไม่ต้องรับผิดชอบด้วย แต่ผมและทีมงานเลือกที่จะทำผ่าตัดให้เขาในอีก 30 นาทีต่อมา การผ่าตัดสำเร็จในเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ผู้ป่วยปลอดภัยกลับบ้านได้ใน 3- 4 วัน ทีมงานเหนื่อย แต่มีความสุขที่เห็นผู้ป่วยปลอดภัยหายจากโรค มีบางคืนทีมงานเคยผ่าตัดใหญ่ 3 ราย ในคืนเดียวกันทั้ง ๆ ที่เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง แต่ถ้ากรณีไหนเกินความสามารถ เราก็จะดูแลและส่งต่อไปรักษาที่อื่นอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทุกครั้งที่ส่งผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ เราจะคอยโทรศัพท์ถามความคืบหน้า ถ้ามีโอกาสเข้าจังหวัดก็จะแวะไปเยี่ยมผู้ป่วยและญาติที่โรงพยาบาลจังหวัด เสมอ ด้วยความรู้สึกรับผิดชอบ รู้สึกเหมือนญาติ สิ่งเหล่านี้จะเกิดความปิติ และเป็นผลบุญตอบสนองทันที จะมีแต่ผู้ป่วยและญาติ พูดถึงในแง่ดีมาตลอด โอกาสเกิดความขัดแย้งหรือความไม่เข้าใจ จนเป็นเรื่องร้องเรียน ระหว่างผู้ให้บริการ กับผู้รับบริการ มีน้อยมาก การดูแลผู้ป่วยครบทุกด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม ครอบคัว ที่มองเห็นความเชื่อมโยง ในตัวคน ที่ไม่ใช่ดูแลเฉพาะโรคที่เจ็บป่วย จึงเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพ ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ทำให้สม่ำเสมอเถอะครับ สิ่งที่เป็นกุศลจะเกิดกับวงการแพทย์ และสาธารณสุข ประชาชนจะได้รับบริการในสิ่งดี ๆ ตลอดไป

หารแบ่งเสียบ้าง

     วันหนึ่งได้ฟังวิทยุขณะขับรถ เป็นรายการธรรมะของหลวงพ่อทางภาคอีสานรูปหนึ่ง ไม่ทราบชื่อท่าน เพราะฟังช่วงกลางๆ ของรายการ ท่านบอกให้ชาวโลกที่แบกความทุกข์อยู่ทั้งหลาย ให้หัดหารแบ่งหรือลบทุกข์เสียบ้าง อย่าบวกหรือแบกทุกข์เพิ่มแต่อย่างเดียว ให้มองโลกในแง่ดี และหารแบ่งเสียบ้างยก ตัวอย่างเช่น เรามีลูกชายอยู่สักคน วันหนึ่งเขาไปเที่ยว กลับบ้านดึก หรือไม่เอาใจใส่ช่วยงานบ้าน แม่หรือพ่อก็แล้วแต่มักจะดุด่าลูกด้วยอารมณ์ โดยไม่ค่อยได้ถามเหตุผลก่อน แต่ความดีหรือสิ่งดีๆ ที่ลูกเคยกระทำไว้หลายต่อหลายวันไม่เคยนำมาลบ มาแบ่งความผิดครั้งนั้นเลย ทำให้เป็นทุกข์กันทุกคน เพราะไม่ได้ตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ที่จะนำสิ่งดีๆ มาตั้งหลักในการบรรเทาหรือคลี่คลายปัญหาต่างๆ

      ได้ฟังหลวงพ่อบรรยายธรรม ทำให้คิดได้ว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันหรือปัญหาครอบครัวของหลายครอบครัว เกิดจากการมองเห็นเป็นปัญหามากกว่ามองหาคำตอบ มองในแง่ลบ แง่ร้าย มากกว่าแง่บวกหรือแง่ดี อย่างตอนผมขับรถทางไกลพาภรรยาและลูกๆ กลับบ้านเยี่ยมปู่ ย่า ของเด็กๆ บางครั้งมักขับรถหลงทาง ผิดเส้นทางอยู่บ้างในบางจังหวัดที่เราไม่เคยไป แรกๆ ภรรยาจะบอกว่า “พ่อหลงอีกแล้ว เสียเวลา พ่อแซ่หลง” ลูกๆ จะส่งเสียงพร้อมกันลั่นรถ “หลงอีกแล้ว พ่อแซ่หลง” บางครั้งเด็กๆ รู้สึกว่าขับรถหลงทางเป็นปัญหา เป็นความผิดพลาดขั้นร้ายแรง และสร้างความกังวลใจให้ผู้ร่วมเดินทาง ทั้งๆ ที่ถ้าผมไม่บอกว่าหลงทาง ทั้งแม่ และเด็กๆ ก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ไม่ทุกข์ แต่เมื่อรู้ก็เป็นทุกข์ เพราะจิตยึดติดว่าเป็นปัญหา ผมเลยต้องบอกทุกคนในรถว่า “การหลงทางอาจ เสียเวลาบ้างก็จริง แต่ก็มีส่วนดีมากมาย เช่น ทำให้เราได้ไปในที่ที่ไม่เคยไป ได้รู้จักเส้นทางอื่นเพิ่มขึ้น และเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่จะสอนเราต่อไป ทำให้การขับรถในครั้งต่อไปมีความมั่นใจมากขึ้น และทำได้ดีกว่าเดิม” แม่และลูกๆก็มีความมั่นใจและมีอารมณ์ดีขึ้น แต่ยังแซวว่า พ่อชอบพูดเข้าข้างตัวเองอยู่เรื่อย เลยบอกไปว่าการเข้าข้างใครก็ตามในทางบวกและทำให้แก้ปัญหาได้ดีขึ้นย่อมเป็น สิ่งดีไม่ใช่หรือ การมองโลกในแง่บวก แง่ดี ย่อมเห็นคำตอบในปัญหาต่างๆ ได้ง่าย ในโลกนี้ไม่มีอะไรดีเลว บวกลบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในสิ่งได้ย่อมมีเสีย ในสิ่งที่เสียย่อมมีได้ ฝึกหัดจิตใจ หารแบ่งเสียบ้าง จะสบายใจขึ้นครับ

หมายเลขบันทึก: 219467เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2008 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เข้ามาเป็นกำลังใจครับ

สวัสดีครับ  มาเยี่ยมเป็นกำลังใจ นำของดีจาก บึงฉวากมาฝาก ครับ

Pageyy7

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท