TU LIBS
นาง ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ

ดูงานห้องสมุดฮ่องกง


ห้องสมุด มหาวิทยาลัยฮ่องกง HKUL HKUST สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 22 - 25 ตุลาคม 2551 ชาวสำนักหอสมุดและชาวสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเพื่อนร่วมทีมอีก 46 คนได้เดินทางไปดูงานห้องสมุดที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง

การเดินทางครั้งนี้นอกจากชาวธรรมศาสตร์แล้วยังมีนักศึกษาฝึกงานชาวเยอรมัน Jorg Schmitt ร่วมทีมไปด้วย บริษัททัวร์ (Orienta Vista) แจ้งให้ Jorg ไปถึงสนามบินก่อนเวลานัดหนึ่งชั่วโมงเพื่อยื่นขอวีซ่าเข้าเมือง

วันพุธที่ 22 ตุลาคม 2551

การเดินทางเริ่มจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย Airport Express ซึ่งมาจอดรอรับทุกคนที่หน้าหอประชุมใหญ่ มีบางคนที่ขอแยกไม่มาขึ้นรถที่มหาวิทยาลัยแต่นัดไปพบกันที่สุวรรณภูมิเวลา 11.30 น.

ไปถึงจุดนัดพบที่เคาน์เตอร์สายการบิน Emirates พบว่าวันนั้นไฟฟ้าขัดข้อง แอร์ไม่เย็น คอมพิวเตอร์ไม่ทำงาน ต้องรอจนเกือบเที่ยงถึง check-in ได้

บริษัททัวร์แจ้งว่าให้ Jorg มายื่นขอวีซ่าขาเข้าเมื่อเดินทางกลับมาถึงสุวรรณภูมิในวันเสาร์ที่ 25 ต.ค.

เครื่องบินจะออกเดินทาง 13.45 น. ผ่านจุดตรวจ ตม. เข้าไปก็ใกล้เวลาจะบินเต็มทีแต่ทุกคนก็ไปขึ้นเครื่องเรียบร้อย

 

   

เครื่องบินออกเดินทางตามเวลา หลังจากเครื่องขึ้นสักครู่แอร์เริ่ม serve อาหารเป็นปลาและไก่ 

หลังจากทานอาหารแล้วก็นั่งเล่น ๆ ไปสักครู่ เครื่องบินถึงสนามบินเช็คหลำก๊กของฮ่องกงตรงเวลาคือห้าโมงสี่สิบนาที

 

 

หลังจากรับกระเป๋าเรียบร้อย ทุกคนออกมาพบไกด์ที่จุดนัดพบแล้วไปทานข้าวเย็นกันที่ร้านในสนามบิน

 

 

หลังอาหารเย็นก็เคลื่อนขบวนไปเซินเจิ้น ผ่่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อย ไกด์ที่เซินเจิ้นชื่อจ๋า มารับไปที่พัก ถึงที่พักโรงแรม Kindlion ประมาณสามทุ่มครึ่ง ทุกคนแยกย้ายกันขึ้นไปเก็บกระเป๋าบนห้องพักแล้วลงมาเดินเล่นรอบ ๆ โรงแรมนิดหน่อย ไกด์บอกว่าข้าง ๆ โรงแรมมีร้านน้ำเต้าหู้อร่อย หลายคนพยายามไปหาแต่ไม่มีใครหาเจอ

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม 2551

ตอนเช้าทุกคนถูกปลุกให้ตื่นหกโมง ลงมาทานข้าวเช้าในห้องอาหารของโรงแรมที่ไม่ค่อยจะมีอะไรมากนัก เป็นข้าวต้มกับ แซนวิชนิดหน่อย ผักต้ม ไข่ต้ม ไส้กรอก

นี่คือผักต้ม อาหารประจำที่ได้กินเกือบทุกวัน เป็นผักกาดขาวต้มกับไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า ผักอร่อยดีแต่บางร้านก็เค็มขาดใจ สงสัยเกลือจะถูก

นี่คือไข่ต้มเกลือกับซาละเปา อาหารเช้าวันแรกที่โรงแรม

มีสลัด ขนมและผลไม้เล็กน้อย

หลังอาหารเช้า ไกด์จะพาไปซื้อของที่เขาบอกว่าเป็นของปลอมที่เหมือนของจริง เขาเรียกว่า "โกดังเกรดเอ" เมื่อไปถึง เขาบอกว่ายังขึ้นไปไม่ได้เพราะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจ ระหว่างนั้นจะพาไปทานข้าวเที่ยงก่อน หน้าตาข้าวเที่ยงเป็นแบบในรูปนี้ล่ะจ๊ะ

มีผักต้มอีกเห็นมั๊ย ทางขวามือ ถัดมาเป็นเป็ด ในหม้อดำ ๆ นั่นเป็นมะเขือยาวเผาแล้วผัดกับอะไรสักอย่าง มีไข่เจียวแบน ๆ ที่บางคนเรียกว่า "ไข่พิซซ่า"

หลังข้าวเที่ยงก็พากลับไป "โกดังเกรดเอ" ที่ว่า พบว่าเป็นห้องเล็ก ๆ หนึ่งห้องบนชั้นสิบ เก็บกระเป๋าของ Louis Vuitton (ปลอม), Coach (ปลอม), Gucci (ปลอม), ฯลฯ จำนวนไม่มาก มีผู้อุดหนุนเล็กน้อย

เสร็จจาก "โกดังเกรดเอ" ไกด์พาลงมาชั้นสามซึ่งมีทางเชื่อมเดินไป Lo Wu (มาบุญครอง) ของเซินเจิ้น แล้วนัดหมายมาเจอกันตอนสามโมงเย็น ทุกคนแยกย้ายกันไปตามอัธยาศัย ก่อนสามโมงก็มีผู้คนทยอยมาที่จุดนัดพบ บางคนก็ได้หลาย บางคนก็ได้บ้าง คนที่ไม่ได้เลยก็มี

หลังจากนั้น ไกด์พาไป Splendid of China

เพื่อประหยัดเวลาเดิน เขาก็เลยบอกให้นั่ง monorail และเก็บเงินคนละยี่สิบหยวนเป็นค่ารถ

ตามโปรแกรมจะมีการดูโชว์ ระหว่างรอเลยไปทานข้าวเย็นก่อนที่ร้านใกล้ ๆ นั้น

เห็นมั๊ย มีผัดผักอีกแล้ว วันนี้มีกุ้งตัวน้อย ๆ ชุบแป้งทอด (ขยายขนาด) มีเป็ดพะโล้ ซุปอะไรซักอย่างที่จืดเหมือนลืมใส่เกลือ มีหอยเชลล์กับวุ้นเส้น ปลา (ที่มีก้างคล้าย ๆ ปลาตะเพียน)

หลังอาหารเย็น ระหว่างรอไกด์ มีเหตุการณ์เล็ก ๆ เกิดขึ้นคือมีป้าขอทานสองคนเดิน ๆ ขอเงินอยู่แถว ๆ นั้น บังเอิญไปขออุทัยซึ่งใจดีให้เงินไป อีกคนมองเห็นก็รีบมาขอบ้าง ทุกคนในทีมก็บอกอุทัยว่าอย่าให้อีกเดี๋ยวมาอีกหลายคนแน่ ป้าขอทานคนที่ไม่ได้เงินถึงจะฟังไม่เข้าใจแต่ก็คงสังเกตรู้ว่าเพื่อน ๆ ห้ามอุทัย เขาก็เลยส่งเสียงพร้อมออกอาการด่าว่าคนที่ห้ามอุทัย พี่มาลีต้องพาอุทัยเดินหนึไป เขาถึงเดินไปบ่นที่อื่น

สักครู่ไกด์มาพาเข้าไปชมโชว์ มีผู้ชมจำนวนมากทีเดียว ตอนเดินเข้าไปก็มีที่นั่งพิเศษเป็นเบาะสีแดงนั่งตรงกลางที่เห็นชัดมาก หลายคนเข้าใจว่าจะได้นั่งตรงนั้น เปล่าค่ะ ไปเรื่อย ๆ ขึ้นไปสูงสุด ไกลสุดของผู้ชมในรอบนั้น

สังเกตเห็นเก้าอี้ข้างหลังว่างเปล่าเพราะแถวที่พวกเรานั่งเป็นแถวสุดท้ายของผู้ชมในรอบนั้น

ดูโชว์จบแล้วก็มาขึ้นรถกลับโรงแรม ไกด์บอกในรถว่าพรุ่งนี้จะปลุกหกโมง กินข้าวเจ็ดโมง ขึ้นรถแปดโมง ตอนนี้ฟังดูแล้วไม่น่าจะมาฮ่องกงทันสิบโมง ฉันไปถามเขาว่าเราจะไปถึงที่ดูงานทันสิบโมงเหรอ เขาบอกว่านัดรถฝั่งฮ่องกงไว้เก้าโมงเช้า ไกด์ฝั่งฮ่องกงเป็นคนจัดโปรแกรม เขาดูรายละเอียดแล้วคิดว่าทัน

คืนนี้หลายคนมุ่งมั่นจะไปหาน้ำเต้าหู้ให้เจอให้จงได้และได้พบจริง ๆ ปรากฎว่าทุกคนไปรวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมายที่ร้านน้ำเต้าหู้ แบ่ง ๆ กันนั่ง กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือพากันไปทั้งหมดสิบกว่าคน นั่งปุ๊บก็สั่งน้ำเต้าหู้และปาท่องโก๋ หลายคนสั่ง 1 ชุด บางคนสั่งสองคนหนึ่งชุดแต่รวม ๆ แล้วทั้งหมดกว่าสิบชุด ทุกคนนั่งรอและจ้องมองว่าเมื่อไรจะมา น้ำเต้าหู้มาถึงก่อน เป็นขนาดชามก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา

หลังจากน้ำเต้าหู้ ทุกคนก็ตั้งตารอปาท่องโก๋ สักครู่ปาท่องโก๋ก็มาถึง หนึ่งจาน สองจาน สามจาน สี่จาน ห้าจาน หกจาน ตอนนี้เริ่มไม่ค่อยเข้าที เมื่อไรจะหยุดมานะ ยัง ๆ ยังไม่หยุด มาอีกเรื่อย ๆ เพราะสั่งไปเป็นสิบชุด

อร่อยค่ะ อร่อยมาก ขอบอกแต่ตอนนี้ไม่สามารถบรรจุได้อีกต่อไปเพราะปาท่องโก๋เธอยาวเป็นฟุต คิดดูเอาเถอะนะว่ามาพร้อม ๆ กันเป็นสิบจาน ไม่สามารถจริง ๆ สุดท้ายต้องขอให้เขาห่อให้กลับไป

หลังจากน้ำเต้าหุ้ก็พากันไปเดินเล่นที่ซอยข้าง ๆ โรงแรม มืด ๆ มีของรถเข็นขายนิดหน่อย บ๊อบไปซื้อเกาลัก บางคนไปซื้อแคนตาลูปที่เขาหั่นเสียบไม้ เดินเล่นสักครู่ก็พากันกลับโรงแรม คืนนี้หลายคนมีปัญหาเรื่องรูดบัตรเข้าห้องพักเพราะบัตรน่าจะหมดอายุ โทรไปแจ้งเคาน์เตอร์ข้างล่างเขาบอกให้ติดต่อ Housekeeping ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้ชายที่มีกลิ่นปากแรงมาก เขามาเปิดให้แล้วบอกว่าเวลาจะเข้าห้องครั้งต่อไปให้เรียกเขา มีอย่างนี้ด้วยเหรอ ไม่เคยเจอ

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม 2551

ตื่นเช้าลงมาทานข้าวพร้อมกระเป๋า คืนห้องเรียบร้อย ออกเดินทางจากโรงแรมตรงเวลา ผ่านด่านเซินเจิ้น ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณแปดโมงกว่า ๆ เปลี่ยนรถเป็นรถฮ่องกง ไกด์ย้ำให้จำทะเบียนรถให้ดี เก้าโมงกว่า ๆ รอเข้าแถวผ่านด่านฮ่องกง สิบโมงยังไม่สามารถผ่านด่านฮ่องกงได้เพราะผู้คนมากมาย แถวยาวกว่าหนึ่งร้อยเมตร ฉันเริ่มรู้ชะตากรรมของตัวเองแล้วว่าไม่สามารถจะรักษาคำพูดกับห้องสมุดที่จะไปดูงานได้ บอกไกด์ให้ติดต่อแจ้งห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกงให้ทราบว่าจะไม่สามารถไปถึงทันเวลาได้ เขาบอกว่าต้องให้เข้าไปในเขตฮ่องกงก่อนโทรศัพท์เขาถึงจะใช้ได้ ฉันโทรกลับมาเมืองไทยหาบริษัท Orienta Vista บอกให้เขาโทรมาฮ่องกงแจ้งยกเลิกกำหนดการเยี่ยมชมเพราะไม่สามารถไปถึงได้แน่นอนในครึ่งวันนั้นและฉันไม่สามารถโทรแจ้งได้ด้วยเหตุอะไรไม่ทราบ

สักครู่ แถวเริ่มเคลื่อน เราทุกคนผ่านด่านฮ่องกงมาขึ้นรถเมื่อเวลาประมาณสิบเอ็ดโมง เมื่อผ่านด่านออกมาพบผู้คนมากมายหน้าประตูแต่ไม่ทราบว่ารถอยู่ไหน คนที่ออกมาก่อนเดินหารถเลี้ยวไปทางซ้าย หาไม่เจอ ต้องเดินกลับมาทางขวาถึงพบว่ารถอยู่ทางออกด้านขวา ระหว่างนั้นคุณไกด์เธอหายตัวไปไหนไม่ทราบ ฉันและน้อง ๆ ต้องยืนคอยบอกคนอื่น ๆ ให้ออกประตูแล้วเลี้ยวไปทางขวา รอจนทุกคนมาครบ ฉันจะเดินไปขึ้นรถ ปรากฎว่ารถกำลังเคลื่อนจะออกจากด่านไป ฉันขึ้นรถมาแล้ว น้อง ๆ ถึงได้บอกว่าไกด์กำลังจะออกรถไปโดยไม่นับคน

ฉันขึ้นรถมาแล้วพบว่าคุณไกด์คนนี้ชื่อ เน็ต เธอพยายามช่วยมากด้วยการโทรไปแจ้งมหาวิทยาลัยฮ่องกงและได้รับแจ้งว่าสามารถมาได้ตอนบ่ายสอง เธอมาบอกฉันว่าเปลี่ยนเป็นบ่ายสองได้ ฉันบอกเธอไปว่าบ่ายสองโมงครึ่งฉันมีอีกแห่งที่ต้องไป ถ้าฉันย้ายตอนเช้าไปบ่ายแล้วของตอนบ่ายฉันจะไปอีกเมื่อไรเพราะวันรุ่งขึ้นเป็นวันเสาร์ เฮ้อ

สุดท้ายหลังจากคุยกับห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกงตอนสิบเอ็ดโมงกว่า ๆ เจ้าหน้าที่เขาใจดีมาก เขาบอกว่าให้มาตอนนี้เลยเพราะเขาพักบ่ายโมง รถรีบไปถึงมหาวิทยาลัยตอนเกือบเที่ยง ตามกำหนดการจะทานข้าวเที่ยงที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัยแต่ฉันแน่ใจแล้วว่าโปรแกรมของเขาไม่สามารถทำได้เพราะการเดินทางจาก HKUL ไป HKUST ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง หากทานข้าวเที่ยงจะไม่สามารถไปถึงอีกที่ได้ทันเวลาเลยบอกไกด์ให้เขาไปซื้อข้าวกล่องมาให้ทุกคนทานในรถ

เมื่อไปถึงได้เข้าไปฟังบรรยายในห้อง E-Learning Labs เรื่องการพัฒนาบุคลากร งานเทคนิคและงานบริการ ระหว่างนั้นมีโทรศัพท์มาแจ้งว่า Dr.Ferguson มีเวลาว่างตอนบ่ายสอง สามารถพบพวกเราได้ ฉันเลยตัดสินใจว่าจะอยู่พบท่านและให้แบ่งทีมไป HKUST

การพัฒนาบุคลากรของ HKUL มีระบบที่ดีมาก มีการกำหนดโปรแกรมอบรมคอมพิวเตอร์ อบรมภาษาอังกฤษ ภาษา Putonghua อบรมการบริหารและอบรมการตลาด การประชาสัมพันธ์ตลอดทั้งปี บุคลากรสามารถทราบกำหนดการอบรมและกำหนดแผนการอบรมของตนเองได้

 

ส่วนงานบริการของ HKUL พบว่าห้องสมุดในมหาวิทยาลัยนี้ประกอบด้วยห้องสมุดกลางที่เน้นสิ่งพิมพ์ภาษาต่างประเทศ ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ที่มีภูมิทัศน์สวยงามติดทะเล ห้องสมุดกฎหมาย ห้องสมุดการศึกษา ห้องสมุดทันตแพทย์ ห้องสมุดดนตรีและห้องสมุด Fung Ping Shan

นอกจากนี้ HKUL ปรับเปลี่ยนจากระบบการยืมด้วย barcode มาเป็น RFID เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ใช้เวลาหกเดือนเปลี่ยนและปรับระบบเรียบร้อยสำหรับหนังสือหนึ่งล้านเล่ม

HKUL มีการจัดพื้นที่เป็นพื้นที่สีแดง (ห้ามส่งเสียงพูดคุย ห้ามรับประทานขนม ให้นำน้ำเปล่าเข้าไปได้) พื้นที่สีเหลือง (ห้ามพูดคุย ห้ามขนม นำเครื่องดื่มเข้าไปทานได้) พื้นที่สีเขียว (นำขนม น้ำและอาหารเข้าไปได้)

Img_0351_1

ส่วนงานเทคนิค HKUL ปรับรวมงานเทคนิคของทรัพยากรสารสนเทศที่เป็น CJK เข้ากับภาษาต่างประเทศ ใช้ระบบ LC กับทรัพยากรสารสนเทศทุกภาษา มีบรรณารักษ์งานจัดหาเต็มเวลาและกำลังดำเนินการ digitize หนังสือหายากทั้งหมด

หลังจากฟังบรรยายจบเมื่อบ่ายโมงตรง กลุ่มใหญ่กลับไปขึ้นรถเพื่อไป HKUST มีฉันและป้อมรออยู่พบ Dr.Ferguson เราเดินไปทานข้าวผัดหนึ่งจานสองคนเพราะจานใหญ่มาก เสร็จแล้วเดินกลับมาที่ห้องสมุด บอกเจ้าหน้าที่ที่ประตูว่าจะมาพบ Dr.Ferguson เขาเปิดประตูทางเข้าให้ขึ้นลิฟท์ไปชั้น 5 พบว่า Dr.Ferguson ลงไปรออยู่ที่ชั้นหนึ่งเพราะเข้าใจผิดว่าพวกเราทั้งหมดเปลี่ยนเวลามาพบเขาเป็นตอนบ่ายตามที่คุณไกด์แจ้ง เฮ้อ

หลังจากขอโทษ Dr.Ferguson แล้ว เขาเชิญไปห้องประชุมเล็กข้าง ๆ ห้องทำงานเพื่อสนทนากัน ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมาก ๆ คือ

1. HKUL มีบุคลากรทั้งหมด 240 คน เป็นผู้ปฏิบัติงานเต็มเวลา 200 คน

2. มีหนังสือทั้งหมด 2 ล้าน 4 แสน 8 หมื่นรายการ

3. มีวารสารอิเล็กทรอนิกส์ 40,566 รายการ

4. มีฐานข้อมูล 563 ฐาน

5. มีจำนวนการยืมในรอบปีที่ผ่านมาประมาณ 1.4 ล้านรายการแต่จำนวนการยืมนี้ลดลงจากปีที่ผ่านมา Dr.Ferguson ได้กรุณาอธิบายให้ฟังว่าน่าจะเป็นเพราะการสืบค้น การใช้ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตสะดวกมากขึ้น ผู้ใช้จึงเดินทางมาถึงห้องสมุดเพื่อยืมสิ่งพิมพ์น้อยลง ห้องสมุดได้พยายามเพิ่มจำนวนการยืมด้วยการเพิ่มจำนวนสมาชิก โดยอนุญาตให้ครอบครัวของบุคลากรมหาวิทยาลัยสามารถสมัครเป็นสมาชิกเพื่อใช้ห้องสมุดได้ด้วย

6. ใช้งบประมาณ 12 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อจัดหาหนังสือ

7. มีความร่วมมือระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัย 8 แห่งในฮ่องกง รวมกันเรียกว่า HKALL ให้บริการสืบค้นข้อมูลระหว่างห้องสมุดและยืมระหว่างห้องสมุดได้โดยผู้ใช้แจ้งความประสงค์โดยตรงได้ในหน้าเว็บและจะได้รับหนังสือในอย่างช้าอีกสองวันต่อมา

8. Dr.Ferguson ย้ำว่าการทำงานโดยเป็นพันธมิตรกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์จะอำนวยประโยชน์ให้ห้องสมุด

9. HKUL มีคลังหนังสือที่เก็บหนังสือได้ประมาณ 5 แสนเล่ม ขณะนี้เต็มแล้วและได้ร่วมมือกับ HKALL ของบประมาณจากรัฐบาลจัดตั้งคลังหนังสือรวมซึ่งจะสามารถเก็บหนังสือได้ประมาณ 7 ล้านเล่ม มีระบบการจัดการแบ่งค่าใช้จ่ายตามจำนวนหนังสือที่แต่ละมหาวิทยาลัยนำไปจัดเก็บ

10. มีแผนจัดตั้ง Information Commons ที่ตึกใหม่ของมหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่ให้บริการข้อมูลปราศจากตัวเล่ม (No-print allowed) ในปี 2010

11. HKUL เป็นสมาชิก ACRL, OCLC และปัจจุบัน Dr.Ferguson เป็น Committee ของ OCLC ด้วย ในปีที่ผ่านมา HKUL ส่งข้อมูลให้ OCLC มากเป็นอันดับสองของโลก ปีก่อนหน้านั้นเคยได้เป็นอันดับหนึ่ง

12. หน้าที่ของ Dr.Ferguson อีกประการหนึ่งซึ่งสำคัญมากคือการระดมทุนเพื่อสนับสนุนกิจการห้องสมุด Dr.Ferguson เล่าว่าเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คในห้อง e-learning labs ได้รับบริจาคจากผูัมีอุปการะคุณของห้องสมุดและได้บันทึกชื่อผู้บริจาคบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องด้วย

13. ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดกับคณาจารย์เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้งานห้องสมุดพัฒนาไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

14. มีการปรับปรุงโครงสร้างให้ลดขั้นตอนการบังคับบัญชาลงเพื่อความสะดวกในการบริหาร

ได้สอบถาม Dr.Ferguson ถึงประสบการณ์การทำงานในแถบเอเชียกับในอเมริกาว่าต่างกันมากหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าต่างกันมากที่ความสัมพันธ์ส่วนตัว ในประเทศแถบเอเชียต้องการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (personal relationship) มากกว่าในอเมริกามาก อีกประการหนึ่งคือห้ามทำให้ใครเสียหน้าเพราะถ้าเขาเสียหน้ามีสองอย่างที่เขาจะทำคือไม่ใส่ใจหรือแค้นเคืองและต้องแก้แค้น

ประสบการณ์สองชั่วโมงกับ Dr.Ferguson เป็นเหมือนการเข้าชั้นเรียนกับอาจารย์ผู้ใหญ่สมัยไปเรียนปริญญาโทเพราะท่าน (ต้องเรียกว่าท่านเพราะอายุท่านเข้าขั้นอาจารย์อาวุโสของไทยหลาย ๆคน) ให้ความรู้จนรู้สึกได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่คุ้มค่าจริง ๆ

ก่อนออกจากห้องสมุด Dr.Ferguson มอบของที่ระลึกให้เป็นผ้าพันคอรูป Dr.Sun Yat Sen ซึ่งเก็บมาด้วยความชื่นชมเพราะเป็นของที่ระลึกที่ได้รับจาก "ครู" ผู้มีน้ำใจล้นพ้น

ข้อความต่อไปนี้คัดมาจากงานเขียนของ "กั้ง" ที่เล่าเรื่องไปดูงานในอีกมุมมองหนึ่ง ขอนำมารวมไว้ด้วยกันเพื่อเสนอความเห็น มุมมองที่ต่างไป

การดูงานที่ University of Hong Kong :
ทีมงานของห้องสมุดที่นี่ดูแข็งขัน และมีความเป็นมืออาชีพอยู่มากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเตรียมหัวข้อมาบรรยายไม่ให้มีตกหล่น การเตรียมเอกสาร และการจัดเตรียมบุคลากรที่จะเข้ามาเป็นวิทยากร ทุกคนพยายามรักษาเวลากันให้มากที่สุดเพื่อที่จะ ไม่ให้มีผลกระทบกับการดูงานแห่งที่ 2  จากการฟังบรรยาย รู้สึกได้เลยค่ะว่าที่นี่มีความคิดที่จะตอบสนองผู้ใช้บริการในทุกรูปแบบ เช่น การจัดห้องสมุดเป็น Zone ต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการได้สามารถทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่ตัวเองต้องการ โดยไม่ต้องยึดติดกับข้อจำกัดของห้องสมุดแบบเดิม ๆ ที่ต้องเงียบ หรือห้ามรับประทานอาหาร/น้ำดื่มในห้องสมุด โดยห้องสมุดของเค้าจัดแบ่งเป็น 3 Zone คือ
- Red Zone
คือพื้นที่สำหรับการอ่านหนังสือโดยเฉพาะ จะไม่มีการทำกิจกรรมใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนในพื้นที่นี้เป็นอันขาด
- Yellow Zone
คือพื้นที่ที่อนุญาตให้มีการส่งเสียงดังได้บ้างเล็กน้อย (แต่ไม่ควรรบกวนผู้ใช้ท่านอื่นให้มากนัก) นอกจากนี้ยังอนุญาตให้นำเครื่องดื่มเข้าไปในส่วนนี้ได้ด้วย
- Green Zone
คือพื้นที่ของห้อสมุดที่เปิดฟรีในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้เสียง การรับประทานอาหาร/เครื่องดื่ม ทุกคนสามารถทำอะไรได้อย่างอิสระ (นโยบายแบบนี้โดนใจมาก ๆ ค่ะ) 

นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ชอบในนโยบายของที่นี่ คือการมีแผนพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม โดยหลักสูตรที่วางเอาไว้ล้วนน่าสนใจ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานได้จริง เช่น หลักสูตรการพัฒนาความรู้ด้าน IT ที่จัดแบ่งเป็นหลายระดับ ที่แต่ละระดับมีความเข้มข้นแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับผู้เข้ารับการอบรม และระดับความจำเป็นที่ต้องนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน  น่าเสียดายค่ะที่เรามีเวลาอยู่ที่นี่เฉพาะการเข้าฟังการบรรยายในห้องเท่านั้น  จึงไม่มีโอกาสได้เดินดูสถานที่กันเลย  และที่สำคัญที่นี่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการมาก  โดยไม่อนุญาตให้เราถ่ายรูปเป็นการรบกวนผู้ใช้  อันนี้ไม่ว่ากันค่ะ กฎย่อมเป็นกฎ  และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ไม่ควรรบกวนผู้ใช้ห้องสมุด  ดังนั้นเราจึงไม่มีรูปภายในห้องสมุดนี้มาอวดกันเลย

การดูงานที่ Hong Kong University of Science and Technology
ห้องสมุดที่นี่ดูภายนอก เหมือนจะไม่มีอะไรโดดเด่นนะคะ เพราะด้วยอาคารสถานที่ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีให้บริการก็ไม่ได้หวือหวาแต่อย่างใด  แต่พอมีบรรณารักษ์พานำชม เราก็เริ่มเห็นอะไรดี ๆ ในห้องสมุดแห่งนี้แล้ว  สิ่งแรกที่สะดุดตาก็เริ่มจากชั้นหนังสืออ้างอิงที่ความสูงของชั้นไม่น่าจะเกิน 120 ซ.ม.  ก็สงสัยนะคะทำไมทำชั้นเตี้ย ๆ  เพราะมันจะเก็บหนังสือได้น้อย  แต่เหตุผลของเค้าน่าสนใจมากค่ะ เพราะเค้ามองว่าชั้นหนังสือพวกนี้ใช้เก็บหนังสืออ้างอิง  และด้วยความที่เป็นหนังสืออ้างอิงนี่เอง  ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือนั้นทั้งเล่ม จะใช้เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น  เพราะฉะนั้นสันชั้นหนังสือเตี้ย ๆ นี่แหละค่ะที่ผู้ใช้ก็สามารถนำหนังสือดังกล่าวมาวางและเปิดอ่านได้ถนัด โดยไม่ต้องหยิบหนังสือกลับไปอ่านที่โต๊ะ ขอบอกว่านี่ไม่ใช่ความบังเอิญนะคะ  แต่เป็นความตั้งใจในการออกแบบชั้นหนังสือนี้มาเลย

ถัดมาเราก็มาเจอชั้นหนังสืออัตโนมัติค่ะ ที่เรียกอย่างนี้เพราะชั้นหนังสือนี้สามารถควบคุมการเลื่อนชั้นเข้า-ออกได้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์   และด้วยระบบเซ็นเซอร์ของชั้นหนังสือ  หากมีบุคคลใดยืนอยู่ระหว่างชั้น  จะกดปุ่มเลื่อนเข้า-ออกอย่างไรก็ไม่เป็นผลค่ะ  เพราะระบบตรวจจับแล้วพบว่ามีวัตถุใด ๆ มาคั่นอยู่ระหว่างชั้น ทำให้ระบบล็อคอัตโนมัติ  และระบบจะกลับสู่การทำงานได้ปกติก็ต่อเมื่อระบบตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีวัตถุอยู่ระหว่างชั้นนั่นเอง     จะว่าไปแล้ว เรื่องของชั้นหนังสือของที่นี่ยังไม่หมดค่ะ  ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าชั้นหนังสือของเค้าจะมีเหล็กค้ำยันด้านบน  โดยเพื่อป้องกันชั้นหนังสือล้ม  เป็นไงคะ ที่นี่เน้นความปลอดภัยและเอื้อต่อการใช้งานจริง

จากบริเวณชั้นหนังสือ เราเดินชมมาถึงห้องฝึกอบรมของที่นี่  ชะโงกหน้าเข้าไปดูพบว่ามีคอมพิวเตอร์ประมาณ 30 เครื่อง  แล้วมีนักศึกษาเตรียมเข้ารับการอบรมเต็มห้อง  บริเวณหน้าห้องก็มีตารางการอบรมในแต่ละวัน และจำนวนคนเข้ารับการอบรมที่เป็นระบบระเบียบอย่างดี  บรรณารักษ์เล่าให้ฟังว่าที่นี่มีการจัดอบรมให้ผู้ใช้เป็นประจำ โดยมีช่องทางการประชาสัมพันธ์หลายทางทั้งที่หน้าโฮมเพจ  และบริเวณป้ายประชาสัมพันธ์ของห้องสมุดเอง  เห็นอย่างนี้แล้วชื่นใจค่ะ ที่ผู้ใช้ของเค้ามีความกระตือรือร้นที่จะใฝ่หาความรู

หมายเลขบันทึก: 219276เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2008 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท