254 นักการทูตไทยในแดนธรรม ตอนสุดท้าย


อนุโมทนาบุญ

 

 

นักการทูตไทยในแดนธรรม

ตอนสุดท้าย

...........................

 

            ลุมพินี นี่สถาน อุทยานพุทธ 

เป็นต้นจุด ถือกำเนิด โอรสา 

เป็นหนึ่งเดียว เที่ยวสุดท้าย ปลายมรรคา 

คือศาสดา องค์สัมมา สัมพุทโธ 

 ผลบุญ 13 ธค..50 

 

วัดไทยลุมพินีเป็นวัดไทยในต่างประเทศที่สวยงามมากอีกวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ในพุทธอุทยานลุมพินี ประเทศเนปาล สร้างขึ้น ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี โดยมีพระราชรัตนรังษีปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาส 

ส่วนพุทธอุทยานลุมพินีแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งปีฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ สมัยที่ นายอูถั่นชาวพุทธพม่า ครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เชื้อเชิญชาวพุทธทั่วโลก ให้รวมใจกันสร้างพุทธานุสรณ์สถาน น้อมเป็นพุทธบูชาองค์พระบรมศาสดา ผู้ประกาศพุทธธรรม นำสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกมาแล้ว ๒,๕๐๐ ปี  

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เป็นแกนประสานงาน กับโครงการพัฒนาลุมพินีสถาน ของรัฐบาลเนปาล  จัดสรรพื้นที่ให้เป็นพุทธอุทยาน เชื้อเชิญประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามาดำเนินการก่อสร้างวัด เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ศิลปะ และวัฒนะธรรม ตามแบบสถาปัตยกรรมของชาตินั้น ๆ ในปัจจุบัน มีวัดพุทธจากประเทศต่าง ๆ มากกว่า ๑๓ แห่งแล้ว  

ลุมพินีวัน สังเวชนียสถานแห่งที่ 3

 

ในช่วงบ่าย คณะภิกษุนวกะได้เดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 ณ ลุมพินีวัน ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า รวมทั้งชมเสาหินพระเจ้าอโศก  หินแกะสลักภาพพุทธประวัติตอนประสูติ และสระโบกขรณี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดเดียวกับสระโบราณที่พระนางสิริมหามายา พุทธมารดาสรงน้ำก่อนถวายการประสูติพระราชกุมา

เนื่องจากคณะของเรามีจำนวนมากจึงต้องทะยอยเข้าไปชมเป็นกลุ่ม เสียดายที่ผมไม่ได้เตรียมทองคำเปลวไปปิดด้วย เห็นพระนวกะบางองค์เตรียมตัวมาดีเหลือเกิน ได้นำแผ่นทองคำเปลวปิดที่แผ่นหินด้วย ทำให้คิดได้ว่าการไปแสวงบุญที่อินเดียนั้นต้องศึกษาข้อมูลให้ดีและเตรียมตัวพอสมควรก็จะทำให้สามารถทำบุญและสักการะได้อย่างสมบูรณ์แบบและครบถ้วนในทุกจุดเป็นต้นว่า การเตรียมเงินธนบัตรใบย่อยให้มากพอเพราะทุกสถานที่ไปจะมีโอกาสให้ทำบุญเสมอโดยเฉพาะธนบัตร 10 รูปี 20 และ 50 รูปี นอกจากนั้นก็ต้องเตรียมแผ่นทองคำเปลวจากเมืองไทยไปด้วย เช่นที่ผมเอ่ยถึงเพราะเราสามารถที่จะปิดทองได้แทบทุกที่

ต่อมา คณะภิกษุนวกะได้เดินทางกลับวัดไทยลุมพินี เพื่อสวดมนต์ และทำวัตรเย็นเช่นที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตรทุกวัน พูดถึงวัดไทยลุมพินี ........มีเรื่องเล่าว่า บริเวณที่ตั้งของสวนพุทธนี้เป็นป่าใหญ่ที่มีอาณากว้างมาก พอตกกลางคืนก็จะมีหมอกลงและมืดสนิท และจะได้ยินเสียงหมาไนซึ่งได้รับการบอกเล่าว่ามีเยอะมาก นับพันตัว แม้ในขณะที่นั่งรถบัสแล่นกลับวัดซึ่งยังไม่มืดดีนัก ก็ยังเห็นหมาไนวิ่งตัดหน้ารถไป

ตกดึก จากที่พักในวัด เราจะได้ยินเสียงหมาไนหอนเป็นระยะๆ พระท่านจึงเตือนว่าตอนกลางคืนอย่าได้ออกไปเดินเพ่นพ่านนอกวัดเป็นอันขาด เพราะอาจถูกหมาไนจู่โจมได้ ยิ่งเป็นพระบวชใหม่ หมาจะยิ่งชอบเพราะเนื้อหวาน ทำเอาพระใหม่เสียวกันไปตามๆ กัน

Baby Buddha

พระอุโบสถวัดไทยลุมพินีแห่งนี้ มีสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนที่อื่นในโลกก็ว่าได้ คือมีพระรูปยืนปางพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นทารกโดยทรงยืน พระหัตถ์ขวาชูนิ้วชี้ชี้ฟ้า ขณะที่พระหัตถ์ซ้ายชี้นิ้วชี้ลงต่ำ เรียกกันว่าพระปาง Baby Buddha ความหมายของปางนี้ เท่าที่ได้รับการบอกเล่าก็คือ

การชูนิ้วชี้มือขวาขึ้น คือการบอกว่าพระองค์ประสูติมาเพื่อเป็นศาสาดาหนึ่งเดียวในโลก และการทำมือซ้ายชี้นิ้วชี้ลงนั้น คือบอกว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของพระองค์ที่จะเวียนว่ายตายเกิด  นับเป็นความหมายที่ลึกซึ้งมาก ผมจึงได้บูชาพระรูปปางนี้ 4 องค์สำหรับนำไปฝากให้ลูกชายทั้ง 4 คน

ตอนบ่าย คณะพระภิกษุนวกะได้เดินทางออกจากเมืองลุมพินี ข้ามชายแดนเนปาลกลับเข้าไปในอินเดีย เพื่อไปยังเมืองกุสินาราสังเวชนียสถานตำบลสุดท้าย โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง คณะพระนวกะถึงวัดไทยกุสินาราในตอนค่ำ และได้จำวัด ปักกลดปฏิบัติธุดงค์วัตร และเจริญสมาธิภาวนา ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศล

กุสินารา

สังเวชนียสถานแห่งที่ 4

กุสินาราเป็นสังเวชนียสถานสุดท้ายสำหรับการแสวงบุญครั้งนี้  ผมและพระพ่อตื่นเช้ามืดตามเคย อากาศที่กุสินาราตอนเช้ามืดเย็นสบาย มีหมอกลงนิดๆ

หลังจากฉันเช้า คณะพระนวกะ 89 รูปได้เดินทางไปยังวิหารปรินิพพาน ซึ่งประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ อยู่บนพระแท่น แกะสลักจากหินทรายแดงเนื้อละเอียดหรือที่เรียกว่าจุณศิลา องค์พระมีขนาดความยาว 20 ฟุต 1 นิ้ว ที่พระแท่นมีรูปสลักของสุภัททะปริพาชก กำลังเข้าไปขอบวชและมีรูปพระอนุรุทและพระอานนท์อยู่ด้วย ส่วนด้านพระเศรียรและปลายพระบาท ส่วนฐานมีลวดลายดินเผาประดับตกแต่งสกุลศิลปะเดียวกันกับพระพุทธรูปนั่นคือสกุลศิลปะคุปตะราวพุทธศตวรรษที่ 9-12

ผมยืนชมพระพุทธรูปด้วยจิตใจที่สงบ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามตรึงตาตรึงใจ ด้วยปางที่ทำให้ชาวพุทธสะเทือนใจและโศกายิ่งนัก

พวกเราได้ยืนล้อมรอบองค์พระและได้ทำพิธีคลุมผ้าและสวดบังสกุล เป็นที่ประทับใจมาก หลังจากเสร็จพิธีแล้ว โอกาสต่อจากนั้น ใครใคร่ปิดทองก็ปิด ใครใคร่สัมผัสองค์พระก็ได้สัมผัสเป็นกรณีพิเศษ  โดยเฉพาะการเอาศรีษะไปสัมผัสกับเบื้องพระบาทเพื่อความเป็นศิริมงคล หลังจากนั้น ได้ไปนะมัสการมหาปรินิพพานสถูป ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของวิหารปรินิพพาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า   

ลักษณะของสถูปเป็นทรงกระบอก ถึงแม้ว่าจะได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่แต่ก็ยังคงรักษารูปแบบสกุลศิลปะคุปตะ ส่วนซากสถูปรอบบริเวณวิหารและสถูปปรินิพพานนั้นบางองค์อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก อายุการสร้างอยุ่ในพุทธศตวรรษที่ 9-12 เช่นกัน

                    

วันนี้พระนวกะได้มีโอกาสเดินรับบิณฑบาตจากญาติโยมไปติดตามคณะ และเป็นวันสุดท้ายที่ได้ฉันในบาตรใต้ต้นไม้ ผมฉายาพระเตชะพละโพธิและพระพ่อฉายาพระวรโพธินำบาตรที่มีอาหารมานั่งฉันใต้ต้นไม้หน้าอาคารที่พัก 2 รูป เป็นบรรยากาศที่ไม่รู้ลืมจริงๆ ท่ามกลางความสงบเงียบของวัดไทยกุสินารา ต้นไม้แม้ไม่ได้มีร่มเงามากพอที่จะบังแดดได้ทั้งหมด แต่ผมกลับไม่รู้สึกถึงความร้อนใดๆ นอกจากความเย็นฉ่ำในจิตใจ เราต่างมีสมาธิฉันอาหารในบาตรอย่างช้าๆ ผมนั้นนึกถึงสมัยพุทธกาลที่พระสงฆ์ต่างดำรงชีพด้วยการบิณฑบาตอาหารจากชาวบ้าน เขาถวายอะไรก็ต้องฉันง่ายอยู่ง่าย เป็นอาหารที่มีรสชาดอร่อยที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่ง

ที่สำคัญที่ทำให้การฉันอาหารในบาตรประทับใจมากขึ้นก็คือโยมแม่ของผม(เพียรวิชญ์ วรฉัตร) อายุ 78 ได้ติดตามใส่บาตรทุกครั้ง ซึ่งในทุกครั้งที่มีการบิณฑบาตร ผมก็จะให้พระพ่อเดินนำหน้า ทำให้เห็นโยมแม่ทำบุญกับพระพ่อและต่อจากนั้น ก็ใส่บาตรของผม คงเป็นอาหารที่มีค่าเทียบกับอาหารทิพย์กระมั้ง ทำให้แม้ฉันไม่มาก แต่ก็อิ่มท้อง ไม่เคยหิวเลยทั้งวัน นี่ละพลังบุญ

ในช่วงบ่าย  คณะได้เดินทางไปสักการะมกุฎพันธนเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองกุสินาราโดยปัจจุบันเหลือเพียงซากเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ ลักษณะรูปแบบอย่างสถูปสัญจิในสกุลศิลปะอโศกใต้ซึ่งอยุ่ในพุทธศตวรรษที่ 3-6  เนื่องจากเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้ว คณะพระนวกะได้เวียนเทียนบูชามกุฎพันธนเจดีย์ด้วย

 

การเวียนเทียน ณ ที่มกุฎพันธนเจดีย์นี้เป็นที่ประทับใจมากเพราะเป็นการระลึกถึงการดับขันธ์ของพระพุทธองค์ พระราชรัตนรังษีบอกว่า ณ จุดนี้ ใครใคร่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็ให้เอาสิ่งที่ไม่ดีมาเผาทิ้งไปซะ และรับแต่สิ่งใหม่ๆ ดีๆ เข้ามาในชีวิตต่อไป ผมตั้งใจถวายเป็นพุทธบูชาในวาระนี้มาก เป็นบรรยากาศที่ดูศักดิสิทธิ์ ท่ามกลางความมืดที่ปกคลุม พระนวกะและพระรวมร้อยกว่ารูปยืนเรียงกันอธิษฐานจิต ณ มกุฎพันธนเจดีย์ ท่ามกลางแสงเทียน ควันธูปและจิตที่ตั้งมั่นของแต่ละองค์

วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ที่พักแห่งสุดท้ายของพระนวกะนั้น เป็นวัดไทยที่สวยงามมาก สวยงามด้วยพระอุโบสถ ที่ออกแบบให้ตั้งอยู่สูงเด่นเป็นสง่า สวยงามด้วยพระมหาเจดีย์ธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานนามว่า พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา สวยงามด้วยอาคารที่พักในวัด ซึ่งมีสภาพราวกับโรงแรมชั้นดี และสวยงามด้วยจิตที่เป็นกุศล โดยมีคลินิคบุญของวัดตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัด เป็นสถานพยาบาลของวัดไทยให้บริการแก่คนยากคนจนในเมืองกุสินาราและบริเวณใกล้เคียง โดยคิดค่าบริการถูกมาก (คนละ 3 รูปี) และในวันพระไม่คิดค่าบริการเลย

*เรื่องคลินิคบุญนี้ต่อมาผมได้มีโอกาสทำโครงการส่งอาสาสมัคร(คุณหมอบุญรุ่ง ตันติราพันธ์) ไปเช่วยงานคลินิคที่กุสินาราโดยการจัดทำหนังสือหนึ่งคนวาดหนึ่งคนแต่ง ร่วมกับคุณหมอบุญรุ่ง  ซึ่งปรากฏผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นการเชื่อมใต สายใยบุญ ตอบแทนคุณสองแผ่นดิน

http://gotoknow.org/blog/kusinara/154546

วันลาสิกขา

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ต้องสึกจากความเป็นพระ สิบวันที่ผ่านมากล่าวได้ว่า เป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุด เป็นบุญใหญ่ที่สุดแต่ก็หนักที่สุดและเหนื่อยที่สุดในชีวิตของผมทีเดียว เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่และผมได้อยู่ร่วมกันทำบุญมากที่สุดในชีวิต ผมยืนมองดูตัวเองในกระจกในห้องพักเป็นครั้งสุดท้าย เป็นวันสุดท้ายแล้วหนอ ที่จะได้ห่มผ้าเหลือง ชักเริ่มชินกับการมีศรีษะโล้นเตียน ไม่ต้องคำนึงถึงทรงผมว่าจะดูดีไหม เอามือลูบศรีษะครั้งใดก็รู้สึกถึงความโล่งสบาย เสื้อผ้าที่ห่มร่างกาย นับจากวันพรุ่งนี้นี้เป็นต้นไป ก็จะต้องเปลี่ยนสีไปทุกวันและหลากสีสัน สู้ผ้าสามผืนไม่ได้เลย ผมคิดในใจ แต่จะทำอย่างไรได้ ผมยังมีภาระทางโลก มีตำแหน่งทางราชการ มีครอบครัวให้ดูแล มีภรรยาและลูกเล็กๆ ให้ดูแลถึง 5 คน ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุดให้สมกับที่ทุกคนไว้ใจและอนุโมทนาให้ผมมาบวชในครั้งนี้ 

เช้าวันนั้น คณะพระภิกษุนวกะมาพร้อมกันที่พลับพลารับเสด็จภายในวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์  เพื่อเข้าร่วมในพิธีปิดโครงการฯ  ในช่วงก่อนเข้าพิธีการก็มีการให้พระนวกะแต่ละท่านได้ออกมาแนะนำตัวเองให้เพื่อนนวกะได้รู้จัก หลังจากที่ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ มาด้วยกันตลอด 10 วัน ต้องบอกว่าเป็นรุ่นพระนวกะที่มีคนที่มีชื่อเสียงในสังคมมาบวชร่วมกันมากที่สุดครั้งหนึ่ง  ไม่ว่าท่านวาสนา เพิ่มลาภ ท่านมงคล สิมะโรจน์ ท่านศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ หรือท่านวิกรม คุ้มไพโรจน์ เป็นต้น

ต่อมา คณะพระภิกษุนวกะได้ร่วมบันทึกภาพหมู่ไว้เป็นอนุสรณ์ ก่อนที่จะประกอบพิธีลาสิกขาบท ณ พระอุโบสถวัดไทยกุสินารา หลังจากนั้นช่วงเพล ทิดใหม่ได้ทำบุญตักบาตรพระอาจารย์ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี และสิ้นสุดโครงการฯ

ณ บ่ายวันนั้น หลังจากสึกแล้ว พระนวกะทั้ง 89 รูปก็กลายสภาพเป็นทิดกันถ้วนหน้า ทิดใหม่ในชุดเสื้อสีขาวกางเกงขาวได้ทานอาหารกลางวันร่วมกัน ในตอนบ่าย ทิดทั้งหลายจึงได้ใช้เวลาว่างบำเพ็ญประโยชน์ตามความเหมาะสม บางคนกวาดลานวัดบ้าง  เก็บเศษใบไม้บ้าง ทุกคนทำด้วยความเต็มใจ อิ่มบุญและเก็บเกี่ยวบุญกันจนถึงนาทีสุดท้าย ผมช่วยเก็บใบไม้จากลานพระเจดีย์มหาธาตุจนเรียบร้อย

หลังจากทำวัตรเย็นในอุโบสถเช่นทุกวัน ทุกคนก็แยกย้ายกันไปพักผ่อนตามอัธยาศัย ผมใช้เวลาว่างนั่งดูบรรยากาศในวัดอย่างเงียบๆ คนเดียว หลังจากพ้นคืนนี้ไปแล้ว ในวันรุ่งขึ้น ทุกคนก็จะจากวัดไทยกุสินาราแห่งนี้ เพื่อแยกย้ายกันกลับประเทศไทยหรือกลับไปตามทางของตน ทิ้งไว้แต่ความทรงจำดีๆ ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา

ขอกุศลผลบุญ.......ที่ผมและพระพ่อได้ทำมาด้วยดีแล้ว จากการอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาในครั้งนี้ จงดลบันดาลให้ผู้อ่านทุกท่านมีแต่ความสุขความเจริญ คิดหวังสิ่งใดในทางที่ชอบ จบสมหวัง และขอให้เจริญทั้งทางโลกและทางธรรมและบรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลโดยเร็วเทอญ

 

 23 ตุลาคม 2551

นิวเดลี อินเดีย

*************************************

            

หมายเลขบันทึก: 218363เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2008 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

พลังบุญทำให้อิ่มทิพย์ เห็นด้วยครับพี่ ชอบมากเลย

คุณ suksom

สาธุครับ

ขอให้ได้พลังบุญ พลังทิพย์โดยพลัน

สวัสดีค่ะ

เห็นภาพพระสองรูป นั่งฉันภัตตาหารแล้ว

ปิติใจจนน้ำตาคลอเลยค่ะ

ขออนุโมทนาบุญ ด้วยบทนี้นะคะ

บุญสำเร็จ เป็นอัศจรรย์ค่ะ

 

    "บุญสำเร็จ"

  จะกี่หมื่นพันครั้งยังสาธุ

เพื่อบรรลุกุศลผลทั้งหลาย

ให้ได้ส่วนโมทนาอย่ารู้คลาย

สุดสัมปรายภพอบอุ่นใจ

    ให้จดจำภาพไว้ในดวงจิต

พรประสิทธิ์ตรึงตราอสงไขย

พลังบุญหนุนเนื่องเฟื่องฟูไกล

บุญมัยอิทธิพลจนนิพพาน

   เมื่อเริ่มเดินเจริญธรรมนำกุศล

 มรรคมงคลจึงขยายหลายสถาน

ก้าวต่อไปจนพ้นอลธกาล

บริบาลให้พิสุทธิ์จนสุดปลาย

   แด่นักสู้ผู้เดินทางอย่างสองท่าน

ถึงฝั่งฝันอันโสภิตดั่งจิตหมาย

กาสาวพัสต์เรืองรองผ่องประกาย

น้อมจิต-กายเป็นนิมิตนิจนิรันดร์

   สาธุ  สาธุ  สาธุ

  โยคีน้อย

 ๒๓ ตุลาคม  ๒๕๕๑

โยคีน้อย ตันติราพันธ์

สาธุ

ยังเป็นคนหนึ่งแต่ง(กลอน) ที่ไพเราะเสมอ

พลังบุญ พลังทิพย์ พลังบวก คิดเมื่อใด ก็ได้รับผล

ขอให้เรามาธรรมจัดสรรกับพลังเหล่านี้กันเถิดครับ

ดร.อโลกขึ้นเครื่องบินไปเมืองไทยและน่าจะถึงเรียบร้อยแล้ว

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องขอให้โยคีน้อยถ่ายทอดพลังบุญ 2 แผ่นดินผ่านในบล๊อคนี้

เพื่อที่กัลยาณมิตรจะได้ร่วมอนุโมทนาบุญกันต่อไป

เจริญสุขจ๊ะ

 

ส่งข่าวค่ะ

เมื่อ ๑๘.๐๐ น. เวลาในประเทศไทย ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว โดยคุณรจนา เป็นผู้ไปรับที่ สนามบิน ผู้เขียนได้โทรไปหาเธอ ปรากฏว่า ได้ยินเสียงหวานๆ ตอบว่า กำลังนั่งคุย กับดร.อโลกอยู่

เมื่อวานนี้ ได้มีโอกาส พูดคุยทางโทรศัพท์กับคุณรจนา และนัดหมายการรับดูแล ดร.อโลกต่อนั้น เธอได้แจ้งว่า ขอหารือกับดร.อโลกก่อน ที่จริง ก็อยากมีวันได้พูดคุย กับ ดร.อโลกด้วย เพราะตลอดระยะเวลา จนถึง ๒๖ ตุลาคม นั้น มีงานตลอด

ก็ตามสะดวกของทุกคนค่ะ

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยินดีรอ และต้อนรับ ดร.อโลก ผู้มาจากแดนไกล เพื่อจะหมายใจ เชื่อมสายใยบุญ สร้างเครือข่ายของพระพุทธศาสนาของสองประเทศต่อไป

มีข่าวคืบหน้า จะได้แจ้งให้ชาว gotoknow ได้ทราบต่อไป

ไปก่อนนะ ไปเตรียมตัวรับเพื่อนใหม่ก่อนค่ะ

กราบท่านอ.พลเดชค่ะ

ตามไปอนุโมทนาบุญด้วยค่ะ คนไม่มีรากได้ดูสารคดีเรื่องตามรอยพระพุทธเจ้า ซึงก็มีการนำไปชมสังเวชนียสถานนี้เช่นกันค่ะ

หวังว่าอาจารย์คงสบายดีนะคะ

ระลึกถึงอาจารย์อยู่เสมอค่ะ

โยคีน้อย ตันติราพันธ์

สาธุจ๊ะ

ลองประสานกันดูนะ ทราบว่าท่านวุฒิสมาชิกอนุศักดิ์ก็ยินดีที่จะต้อนรับ ดร.อโลกที่ลุพรรณบุรี

 

คุณ คนไม่มีราก ครับ

ชาวพุทธสามารถตามรอยพระพุทธเจ้าได้เช่นกันครับ

และจะเป็นบุญกุศลสูงสุดในชีวิตนี้ทีเดียว

เจริญสุขครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท